• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ควรดูแลการใช้ยาในผู้สูงอายุอย่างไร

ควรดูแลการใช้ยาในผู้สูงอายุอย่างไร


ถาม? ควรดูแลการใช้ยาในผู้สูงอายุอย่างไร
ผู้สูงอายุมักประสบกับการเสื่อมถอยของการทำงานของร่างกาย ทำให้มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้นๆ เริ่มต้นจากโรคเดียว ต่อมาก็เพิ่มขึ้นทีละโรคจนเป็นหลายๆ โรคพร้อมกัน ทำให้ต้องใช้ยาหลายชนิด เพื่อควบคุมรักษาโรค มิหนำซ้ำโรคเหล่านี้เป็นโรคที่ไม่หายขาด จึงจำเป็นต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายต่อยา มีการปรับเปลี่ยนการใช้ยา หรือเสาะแสวงหาการรักษาอื่นๆ มาร่วมในการรักษา เช่น การใช้ยาจีน ยาลูกกลอน สมุนไพร เป็นต้น ด้วยความเชื่อและความหวังของผู้ป่วย ในการแก้ปัญหาสุขภาพของตนเองที่ประสบอยู่ ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้จะเป็นการดี ถ้าผู้ป่วยและญาติ ได้แจ้งหรือนำยาสมุนไพร และอาหารเสริมทั้งหมดของผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่ให้การดูแลรักษาท่านอยู่ ทั้งนี้เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ทบทวนและประเมินความจำเป็นในการใช้ยาเก่าร่วมกับยาใหม่ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาเท่าที่จำเป็นและใช้อย่างถูกต้องเท่านั้น โดยในส่วนของเภสัชกรจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเรื่องการใช้ยาของผู้สูงอายุ ดังนี้

๑. เภสัชกรจะช่วยเลือกเฉพาะ "ยาที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น" เท่านั้นให้กับผู้ป่วย (เนื่องจากผู้ป่วยมักต้องใช้ยาหลายชนิด) เพราะต้องการลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นของผู้ป่วย เพื่อช่วยลดภาระในการใช้ยา ลดจำนวนยาที่ต้องใช้ ลดภาระเรื่องค่าใช้จ่าย และผลเสียหรืออาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ยาเหล่านี้
 

๒. เภสัชกรจะแนะนำ "รูปแบบยาที่เหมาะสม" เพื่อความสะดวกสบายในการใช้ยาของผู้สูงอายุเมื่อต้องใช้ยาด้วยตนเอง เช่น

  • เลือกภาชนะบรรจุยาชนิด "ขวดใส" เพื่อให้สามารถมองเห็นยาได้ง่ายและชัดเจน (ยกเว้นในกรณีที่ยานั้นถูกทำลายเมื่อโดนแสง ซึ่งควรบรรจุในขวดสีชา)
     
  • ควรเลือกภาชนะชนิด "ขวดปากกว้าง" เพื่อให้ปากขวดที่ขนาดเหมาะมือ ใหญ่เพียงพอ และง่ายต่อการเปิดใช้
     
  • ควรเลือกภาชนะที่มี "ฝาที่เปิดได้ง่าย" ไม่ควรใช้ชนิดที่ป้องกันเด็ก เพราะจะเป็นปัญหาต่อผู้สูงอายุได้
     
  • ควรหลีกเลี่ยงยาที่บรรจุแผงแบบ bubble pack หรือแผงยาที่ต้องกดเพื่อเอาเม็ดยาออกมาใช้ เพราะมีรายงานว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากที่กดเม็ดยาออกมาใช้ไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถจับเม็ดยาได้ทัน ทำให้มีเม็ดยากระเด็นตกลงพื้น ทำให้สูญเสียเม็ดยานั้นๆ ไป หรือในบางครั้งถึงแม้จะกดเม็ดยานั้นออกมาได้ แต่ก็ทำให้เม็ดยาเกิดแตกหัก และเสียหายได้เช่นกัน
     
  • ควรเลือก "ขนาดเม็ดยาที่เหมาะสม" เป็นยาเม็ดที่ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป เพราะถ้าเม็ดใหญ่เกินไป ก็ยากต่อการกลืนยา ในขณะที่เม็ดยาเล็กเกินไป ก็ยากต่อการหยิบยา และตกหายได้
     
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องหักยา เช่น ครั้งละครึ่งเม็ด หรือ ๑ เม็ด ผู้จ่ายยาควรจะหักยาให้แก่ผู้ป่วยให้พร้อมเลย ไม่ต้องให้ผู้ป่วยสูงอายุมาหักเอง เพราะอาจจะเสียหายได้
     
  • ควรเลือกยาที่สะดวกในการใช้ เช่น ยาที่ใช้วันละ ๑-๒ ครั้ง ซึ่งสะดวกกว่าชนิดที่ใช้วันละ ๓-๔ ครั้ง เป็นต้น
     
     

๓. เภสัชกรจะช่วยในการอธิบายถึงการใช้ยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย ญาติ และ/หรือผู้ดูแลผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความเข้าใจและความร่วมมือในการรักษา เช่น ในเรื่องระยะเวลาที่ควรใช้ยา ซึ่งอาจแบ่งยาได้เป็น   ๓ ประเภท ดังนี้

  • ยาชนิดแรกที่ "ควรใช้เมื่อมีอาการเท่านั้น" เมื่ออาการหายดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีก ยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยารักษาตามอาการเท่านั้น เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ เป็นต้น
     
  • ยาชนิดที่สองที่ "ควรใช้ติดต่อกันครบตามจำนวน" แล้วก็หยุดยาได้เลย ซึ่งได้แก่ ยาต้านเชื้อ ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น เมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการมักจะดีขึ้น ก็ไม่ควรหยุดยา ควรใช้ติดต่อกันจนครบตามจำนวน จึงค่อยหยุดยา ทั้งนี้เพราะยาเหล่านี้เป็นยาต้านเชื้อ ในขณะที่อาการเริ่มดีขึ้นหรือไม่มีอาการแล้วนั้น ยังอาจมีเชื้อหลงเหลืออยู่ในปริมาณหนึ่งซึ่งต่ำกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดอาการ ถ้าหยุดใช้ยา เชื้ออาจเพิ่มจำนวนขึ้นมาใหม่ และอาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ จึงควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนครบ เพื่อให้เหลือเชื้อน้อยที่สุด หรือไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่เลย
     
  • ยาชนิดสุดท้ายที่ "ควรใช้ติดต่อกันตลอดเวลา" เพื่อควบคุมอาการโรคไม่ให้รุนแรงและอาจเกิดอันตรายได้ ถึงแม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม จะต้องคงใช้ยาอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่าหยุดยาเอง ซึ่งมักเป็นยาในโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการใช้ยาในผู้สูงอายุ

ในเรื่องระยะเวลาการใช้ยานี้จะมีข้อยกเว้น เมื่อใช้ยาไปแล้ว เกิดมีอาการผิดปกติขึ้นจากการใช้ยา เช่น การแพ้ยาซึ่งควรหยุดยา พร้อมทั้งให้การรักษาเบื้องต้น และกลับไปพบแพทย์ที่สั่งจ่าย
 

๔. ในผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยาง ซึ่งกินอาหารเองไม่ได้
เภสัชกรจะให้คำแนะนำการให้ยาทางท่อสายยาง และคัดกรองยาบางชนิดที่ "ไม่ควรบด" ให้ทางท่อสายยาง ได้แก่

  • ยาเม็ดเคลือบที่ลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน เป็นต้น
  • ยาเม็ดเคลือบที่ต้องการให้ออกฤทธิ์ในลำไส้ เช่น ยาระบายบิสโคดิล เป็นต้น
  • ยาที่ออกแบบให้ออกฤทธิ์นาน เช่น ยาทีโอฟิลลีน ยาขยายหลอดเลือดแก้อาการปวดเค้นหน้าอก (angina) ไอโซซอไบด์ เป็นต้น

เหตุผลที่ไม่ควรบดยาเหล่านี้ เพราะเป็นรูปแบบยาที่ออกแบบมาให้ค่อยๆ ปลดปล่อยตัวยาออกมา ณ ตำแหน่งที่ต้องการ หรือปลดปล่อยตัวยาออกมาตามเวลาที่ต้องการอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการบดยาระบาย บิสโคดิล รูปแบบการปลดปล่อยยาของยานี้ที่ออกแบบมาให้ออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่จะถูกทำลายไป ทำให้เกิดการออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง และไม่ได้ผลในการรักษา

ดังนั้น ในการใช้ยาในผู้สูงอายุ ควรเลือกใช้ยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลตนเองได้ดี ควรมีผู้ดูแลทั้งในเรื่องยาและอื่นๆ และเมื่อมีปัญหาเรื่องยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยาและโรค เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ยาอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็นตามคำสั่งของแพทย์ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด

ข้อมูลสื่อ

298-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 298
กุมภาพันธ์ 2547
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด