• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะ วิชาการ และการประชุม

โยคะ วิชาการ และการประชุม


เวลาที่พวกเราวิเคราะห์ วิจารณ์เมืองไทย เรามักจะเห็นพ้องกันว่าประเทศไทยนี้โชคดี เราอยู่ในภูมิประเทศที่อุดม ปราศจากภัยธรรมชาติ ซึ่งคงมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมสบายๆ แต่คำถามก็คือ เราจะโชคดีอย่างนี้ไปได้ตลอดหรือ? โลกวิวัฒน์ไปเร็วเหลือเกิน โดยเฉพาะถ้าในยุคนี้ ก็คือ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสาร ผลของการพัฒนาทางด้านนี้ก็คือ การที่มนุษย์สามารถเข้าถึง"ความรู้" จำนวนมากมายมหาศาล และใครที่สามารถจัดการความรู้เหล่านี้ได้เหมาะสม ก็สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาโยคะก็เช่นกัน ที่ผ่านมาแม้บรรยากาศการเรียนรู้โยคะในบ้านเราเป็นไปด้วยดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ ตรงกันข้ามเลย เพื่อสร้างสรรค์วงการโยคะให้สามารถทำประโยชน์ให้กับคนได้มากขึ้น การเรียนรู้โยคะก็ต้องพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะการมุ่งสู่ "ความรู้" ด้วยเช่นกัน

สำหรับโยคะ ความรู้อะไรบ้าง ที่จะเอื้อต่อการเรียนโยคะ?
โยคะเป็นศาสตร์โบราณของอินเดีย ดังนั้น การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินเดีย ความรู้เกี่ยวกับตำราโยคะดั้งเดิม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ดอกเตอร์กาโรเต้ ครูโยคะชาวอินเดียที่เป็นอาจารย์ของพวกเรา ดอกเตอร์กาโรเต้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงานโยคะมากว่า 40 ปี  ท่านเป็น ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลักดันโยคะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับมหาวิทยาลัยในอินเดีย วิสัยทัศน์ของดอกเตอร์กาโรเต้ คือ ทำอย่างไรให้โยคะมีความเป็นวิชาการ มีมาตรฐาน ตัวอย่างงานที่ท่านกำลังทำอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ของท่าน คือ การรวบรวมท่าอาสนะ จากตำราโยคะดั้งเดิม เพื่อจัดทำสารานุกรมท่าอาสนะ

ไม่เพียงเท่านั้น โยคะเป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาความเป็นมนุษย์  นักเรียนโยคะจึงต้องแสวงหาความรู้เชิงวิชาการทางด้านปัญญา ทางด้านจิตวิทยา ทางด้านสรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ด้วย ยิ่งโยคะได้รับความสนใจ มากขึ้นเท่าใด เหล่านักวิชาชีพในสาขาที่โยคะเชื่อมโยงไปถึง ก็หันมาสนใจโยคะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการสุขภาพ เช่น หมอ พยาบาล นักจิตวิทยา ตลอดจนถึงพระสงฆ์ ผู้แสวงหาหนทางสู่ปัญญาแห่งความหลุดพ้น ผลที่ได้ ก็คือ นับวันเราจะยิ่งมีความรู้ มาประกอบเพื่อการศึกษา เรียนรู้ศาสตร์โยคะได้ดียิ่งขึ้น ในฐานะของผู้สนใจโยคะ การยกระดับการเรียนรู้โยคะของตนเข้าสู่ความเป็นวิชาการมากขึ้น ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกโยคะ เป็นส่วนหนึ่งของนิยามะใน ข้อที่ 4 ก็คือ สวาสดิยายะ หมั่นศึกษานั่นเอง

ระหว่างวันที่ 23-25  กุมภาพันธ์ โครงการเผยแพร่โยคะเพื่อสุขภาพ ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และองค์กรภาคีอื่นๆ มากมาย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดงานประชุมโยคะวิชาการขึ้น เพื่อพัฒนาการศึกษาโยคะของเมืองไทย ขึ้นสู่ระดับของความรู้เชิงวิชาการนั่นเอง ในวันแรก (จันทร์ที่ 23) จะเป็นการสัมมนาในหัวข้อ "โยคะกับจิต โยคะกับวิถีชีวิต โยคะกับพุทธศาสนา"  วันที่ 2 (อังคารที่ 24) เป็นเรื่องของ "โยคะกับสุขภาพกาย การฝึกท่าโยคะอย่างไรให้มีความปลอดภัย" การรวบรวมตัวอย่างการนำโยคะไปใช้รักษาโรคต่างๆ มีเวิร์กชอปโยคะบำบัด และในวันสุดท้าย (พุธที่ 25) เป็นประเด็น "โยคะประยุกต์" มีการนำเสนอภาพรวมของวงการโยคะในบ้านเรา การนำโยคะไปเป็น ส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชน ฯลฯ 

แม้จะเป็นงานวิชาการ แต่ผู้จัดก็มิได้ละเลยมิติสำคัญของโยคะ คือ การปฏิบัติ กล่าวคือ ตลอดการสัมมนาจะมีการฝึกปฏิบัติ การทำเวิร์กชอปควบคู่กันไปโดยตลอด ดังนั้น แม้วิทยากรจะเป็นหมอ เป็นอาจารย์กัน แต่ทั้งงานก็ไม่จำเป็นต้องใช้เสื้อนอก เนกไท แต่อย่างใด เรียกว่ามากันด้วยเสื้อยืด กางเกงวอร์ม ทั้ง 3 วัน การประชุมครั้งนี้ วางแผนที่จะรองรับผู้เข้าร่วมประชุมราว 400 คนทั่วประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทำงานในแวดวงของการส่งเสริมสุขภาพร้อยละ 30 ครูอาจารย์ที่ทำงานด้านการพัฒนา ความเป็นมนุษย์ร้อยละ 20 ครูโยคะ ผู้สนใจโยคะจริงจังร้อยละ 30 และอื่นๆ อีกร้อยละ 20 การประชุมจัดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต

ข้อมูลสื่อ

298-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 298
กุมภาพันธ์ 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์