ในระยะแรกผู้ป่วยมะเร็งยังไม่มีปัญหาเรื่องการกิน จึงสามารถกินอาหารเหมือนคนปกติทั่วไป โดยเน้นการกินอาหารให้หลากหลายและครบหมวดหมู่ สะอาด ไม่มีสารปนเปื้อน และเลือกอาหารที่ย่อยง่าย ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารที่มีการปรุงแต่งมาก
ฉบับที่แล้วได้รู้จัก “กินอย่างไร ห่างไกลมะเร็ง” ในฉบับนี้มารู้จักในอีกมุมหนึ่งของการกินอาหาร ว่ามีส่วนช่วยในการรักษา หรือช่วยบรรเทาผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งได้อย่างไร
“มะเร็ง” โรคร้ายที่ไม่ต้องการเป็นได้ย่างกรายมาถึงตัวเรา สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขอให้มีกำลังใจในการดูแลรักษาตนเอง และเริ่มต้นปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เอื้อกับสุขภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องของอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการหลีกหนีจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ในวงการแพทย์มักจะรักษามะเร็งโดยการทำลายเซลล์มะเร็งให้หมดสิ้นไปด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การผ่าตัดก้อนมะเร็งหรือตัดอวัยวะที่เป็นมะเร็งออกไป
กรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้อาจใช้วิธีรังสีรักษา ซึ่งใช้รังสีฉายบริเวณที่เป็นครั้งละน้อยๆ เพื่อทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง หรือฝังแร่ในบริเวณที่เป็นมะเร็ง และยังใช้ยาหรือฮอร์โมนบางอย่างที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งด้วย ซึ่งเรียกกันว่าเคมีบำบัด
ใครก็ตามที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และกำลังรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้น มักมีอาการข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับความต้องการอาหาร และการย่อยอาหารที่ผิดปกติไป ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งกินอาหารได้น้อยลงจนทำให้น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมย่ำแย่ลง ดังนั้น ในผู้ป่วยมะเร็งทุกคนจึงควรใส่ใจในเรื่องการกินอาหารให้มากขึ้น
รู้จักกินไม่มีเบื่ออาหาร
ในระยะแรกผู้ป่วยมะเร็งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการกินเท่าไหร่นัก จึงสามารถกินอาหารเหมือนคนปกติทั่วไป โดยเน้นการกินอาหารให้หลากหลายและครบหมวดหมู่ สะอาด ไม่มีสารปนเปื้อน และเลือกอาหารที่ย่อยง่าย ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารที่มีการปรุงแต่งมาก เพราะอาหารเหล่านี้ย่อยยากและอาจมีการปนเปื้อนได้ง่าย
ในบางรายที่มีปัญหาเรื่องการกลืนอาหาร เช่น มะเร็งที่ปาก หลอดอาหารหรือกล่องเสียง ควรกินอาหารอ่อนๆ หรือถ้ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงอาจต้องนำอาหารมาปั่นผสมกันให้เหลวขึ้น เพื่อให้สามารถดื่มได้หรือให้อาหารทางสาย
หากผู้ป่วยมะเร็งเบื่ออาหารหรือมีความต้องการกินอาหารน้อยลง ไม่ควรปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ควรพยายามกินเพื่อให้ได้สารอาหารที่สมดุล เพื่อร่างกายแข็งแรงขึ้นมาสู้กับโรค ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารควรจะหันมาใช้วิธีกินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่กินบ่อยขึ้น อาจแบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ วันละ ๕-๖ มื้อ แทนที่จะกินวันละ ๓ มื้อ เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกหิว ให้รีบหาอาหารกิน ไม่จำเป็นที่จะต้องรอจนถึงมื้ออาหาร
ดังนั้น จึงควรจัดเตรียมอาหารที่สามารถนำมากินได้ทันที เช่น ผลไม้ ถั่วหรือธัญพืชแห้ง หรือเตรียมข้าวต้มข้าวกล้องที่อุ่นไว้เสมอ ซึ่งสามารถมานำมากินได้ง่ายๆ เป็นต้น
บรรยากาศการกินอาหารก็มีส่วนสำคัญ ลองนึกดูว่าผู้ป่วยซึ่งต้องต่อสู้กับโรคร้ายด้วยตัวเขาเองแล้ว ยังต้องอยู่ในภาวะนั่งกินอาหารเพียงลำพังจะทำให้ความต้องการอาหารมีมากน้อยเพียงใด ?
ควรสร้างบรรยากาศให้มีการกินอาหารร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง ตลอดจนการกินอาหารนอกบ้านบ้าง จึงเป็นแนวทางที่สำคัญด้วย
ผู้ป่วยมะเร็งบางรายอาจมีภาวะเบื่ออาหารมาก กินอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว และมีน้ำหนักลดลงมาก ภาษาการแพทย์เรียกว่า คาแค็กเซีย ซินโดรม (Cachexia syndrome) ภาวะเช่นนี้ร่างกายจะขาดทั้งโปรตีนและพลังงานอย่างมาก
ในผู้ป่วยบางรายที่กินอาหารปกติได้น้อยลงอาจจำเป็นต้องให้กินอาหารเสริมทางการแพทย์ร่วมด้วย อาหารประเภทนี้เป็นอาหารเฉพาะที่แพทย์เป็นผู้แนะนำหรือสั่งให้ใช้ ซึ่งมีพลังงานและโปรตีนสูง ย่อยง่าย รวมทั้งมีการเติมเกลือแร่และวิตามินต่างๆ ด้วย ถ้าผู้ป่วยมะเร็งสามารถกินอาหารเสริมทางการแพทย์นี้ จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอื่นๆ ครบถ้วนมากขึ้น
รับมือกับอาการข้างเคียงต่างๆ
ยาต้านมะเร็งบางอย่างอาจมีผลทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนแปลง ที่พบบ่อยคือ เมื่อกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์สีแดงแล้วมีรสชาติขมคล้ายกลิ่นโลหะ (Bitter metallic taste) ถ้ามีอาการเช่นนี้ให้หันมาเลือกกินเนื้อไก่ ไข่ ปลา นมและผลิตภัณฑ์จากนม เต้าหู้ และถั่วชนิดต่างๆ นอกจากนี้ การเปลี่ยนภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหารจากโลหะมาใช้ภาชนะพลาสติกแทน และการปรุงรสชาติอาหารด้วยน้ำผลไม้ หรือซอสถั่วเหลืองจะช่วยทำให้ความรู้สึกของรสชาติขมลดลง
ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาบำบัดหรือรังสีรักษา มักจะมีอาการข้างเคียง คือคลื่นไส้ อาเจียน แพทย์จึงให้กินยาแก้อาเจียนร่วมไปกับการรักษาด้วย
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ควรกินอาหารอิ่มมากเกินไป เพราะจะทำให้อาเจียนได้ง่าย และหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภททอด อาหารมัน อาหารที่มีกลิ่นแรง รวมถึงอาหารที่จืด และอาหารร้อนจัด เพราะจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนง่ายขึ้น บางรายที่มีอาการอยากอาเจียนมากๆ น่าจะอยู่ห่างๆ จากห้องครัวเวลามีการปรุงอาหาร เพื่อหลีกกลิ่นอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ระวังไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำจากการอาเจียน โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ ๘-๑๐ แก้ว การดื่มน้ำในมื้ออาหารอาจทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนมากขึ้น ให้ใช้วิธีจิบน้ำบ่อยๆ ระหว่างมื้ออาหารแทน
ผู้ป่วยหลายท่านที่ใช้ยาบำบัดมะเร็งบางชนิดแล้วจะมีอาการปากคอแห้ง หรือมีแผลเปื่อยในปาก หรือท่านที่ใช้รังสีรักษาบริเวณศีรษะและคอ ก็จะเกิดอาการเหล่านี้ได้ง่าย การดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากจึงจำเป็นมาก วิธีง่ายๆ ทำได้โดยการบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำสะอาดผสมเบกกิ้งโซดา (Baking soda) ในอัตราส่วนน้ำ ๒ ถ้วย ต่อเบกกิ้งโซดา ๑ ช้อนชาเป็นประจำ นอกจากทำให้รู้สึกสดชื่นแล้วยังมีความสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อบริเวณช่องปากและลำคอด้วย อาหารที่กินควรเป็นอาหารอ่อนที่เคี้ยวและกลืนง่าย และหมั่นจิบน้ำบ่อยๆ
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องเสียหรือท้องผูกร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้จากยาบางชนิด ถ้ามีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำหรือของเหลวชนิดต่างๆ ให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสีย และควรกินอาหารอ่อนหรือเหลวใสเพื่อให้ร่างกายย่อยง่าย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารรสจัด อาหารมันๆ เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมจำพวกโคลา เป็นต้น
ถ้ามีอาการท้องเสียนานเกินกว่า ๒ วัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ อาจจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย
สำหรับคนที่มีอาการท้องผูกให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวง่ายขึ้น และกินอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง (เช่น รำข้าว ผักและผลไม้สด) ขนมปังที่ทำจากข้าวหรือข้าวสาลีที่ไม่ได้ขัดสี
การได้รับเคมีบำบัดแต่ละครั้ง อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียติดต่อกันหลายวัน ทั้งนี้เพราะเคมีบำบัดนอกจากทำลายเซลล์มะเร็งแล้วยังมีผลต่อเซลล์ปกติและไขกระดูกด้วย
ไขกระดูกเป็นเนื้อเยื่ออยู่ในกระดูกที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิด การได้เคมีบำบัดจึงอาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติได้
เซลล์เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่นำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้ามีปริมาณน้อยกว่าปกติ ทำให้อวัยวะต่างๆ และกล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงมีอาการอ่อนเพลีย มึนงง ไม่มีแรง ถ้าเป็นเช่นนี้ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อปลา ตับ ผักใบเขียวเพิ่มขึ้นเพื่อร่างกายจะนำไปสร้างเม็ดเลือดแดง
การที่เคมีบำบัดทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกตินั้น ยังส่งผลให้ความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับแบคทีเรียและไวรัสลดลงด้วย จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย การป้องกันเชื้อโรคที่ดีที่สุดคือ การล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และใส่ใจกินอาหารที่สดสะอาด พยายามอย่าทำให้ร่างกายเกิดบาดแผลหรือรอยถลอกที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหรือบริเวณที่มีคนหนาแน่นหรือคนที่มีโรคติดต่อ
ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ โดยเฉพาะช่วงที่ได้รับเคมีบำบัด เพราะแอลกอฮอล์อาจลดประสิทธิภาพของยาต้านมะเร็งได้ ในทางกลับกันช่วงที่ได้รับเคมีบำบัดควรดื่มน้ำสะอาดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะยาต้านมะเร็งบางชนิดมีผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะและไต
ขอส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งทุกคน และหวังว่าแนวทางการกินที่นำเสนอ คงจะเป็นแนวทางกินอาหารอย่างสมดุลเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งต่อไป
- อ่าน 27,360 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้