โอกาสที่คุณจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในอีก ๑๐ ปี ข้างหน้า : การประเมินความเสี่ยงรวม (ตอนที่ ๒)
โอกาสที่คุณจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในอีก ๑๐ ปี ข้างหน้า : การประเมินความเสี่ยงรวม (ตอนที่ ๒)
ตอนที่แล้วได้พูดถึงสาเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงวิธีการประเมินความเสี่ยงรวมของสหรัฐอเมริกา ในตอนนี้มาดูวิธีการประเมินความเสี่ยงรวมของชาวยุโรปกันดีกว่า ที่เรียกว่าระบบ SCORE อีกวิธีหนึ่งที่น่าจะใช้ได้กับคนไทยอย่างเหมาะสมกว่าคือ วิธีการประเมินความเสี่ยงรวม โรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับชาวยุโรป เรียกว่าระบบ SCORE (Systematic Coronary Risk Evaluation) ซึ่งเป็นแผนภูมิสำหรับการประเมินความเสี่ยงรวมของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดใน ๑๐ ปีข้างหน้า โดยได้ข้อมูลจาก ๑๒ การศึกษาระยะยาวจาก ๑๒ ประเทศ ในประชากรยุโรปกว่า ๒ แสนคน
วิธีใช้แผนภูมิการประเมินความเสี่ยงรวม SCORE (ดูรูปที่ ๑)
๑. ใช้ได้กับชายและหญิง อายุ ๔๐-๖๕ ปี ที่ไม่เป็นเบาหวาน และไม่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดจากโรคหลอดเลือดแดงแข็งมาก่อน (เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ถือว่ามีความเสี่ยงรวมสูงแล้ว)
๒. ค่าต่างๆ ที่ต้องมีพร้อมก่อนประเมิน คือ อายุ (age, หน่วยเป็นปี) เพศ (women or men ชายหรือหญิง) การสูบบุหรี่ (non-smoker or smoker, ไม่สูบบุหรี่ หรือสูบบุหรี่อยู่) ความดันเลือดตัวบน (systolic blood pressure, หน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท) ค่าไขมันโคเลสเตอรอล (total cholesterol หน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) และไขมันเอชดีแอล (HDL cholesterol, หน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) คำนวณหา Total cholesterol : HDL cholesterol ratio โดยใช้ค่าโคเลสเตอรอลหารด้วย เอชดีแอล
๓. เลือกตารางโดยใช้ค่าที่ใกล้เคียงที่สุด เช่น อายุ ๕๖ ปี เลือกใช้ตารางกลุ่มอายุ ๕๕, อายุ ๕๘ ปี เลือกใช้ ตารางกลุ่มอายุ ๖๐, ความดันเลือดตัวบน ๑๔๖ เลือก ใช้ตารางกลุ่มความดันเลือด ๑๕๐, โคเลสเตอรอลหารด้วยเอชดีแอลได้ค่า ๕.๘ เลือกใช้ตารางกลุ่ม Total cholesterol : HDL cholesterol ratio ที่ ๖ เป็นต้น
๔. อ่านค่าตัวเลขในตารางที่ได้และดูว่าอยู่ในโซนอะไร ค่าโอกาสเสี่ยงใน ๑๐ ปีข้างหน้าของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ ๕ จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อวางแผนการป้องกันรักษาต่อไป
ส่วนผู้ที่มีค่าตัวเลขความเสี่ยงรวมน้อยกว่า ๕ ให้ลองเพิ่มอายุขึ้นจนถึงกลุ่มอายุ ๖๐ ปี ถ้าค่าตัวเลขความเสี่ยงรวมยังน้อยกว่า ๕ แสดงว่า มีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าสูงเท่ากับหรือมากกว่า ๕ ก็ถือว่า มีความเสี่ยงสูงเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ชายอายุ ๕๒ ปี ไม่สูบบุหรี่ ความดันเลือดตัวบน ๑๖๒ มิลลิเมตรปรอท (ไม่ได้กินยารักษาความดันเลือดสูง) ระดับไขมันโคเลสเตอรอล ๒๕๒ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไขมันเอชดีแอล ๔๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร คำนวณค่า total cholesterol: HDL ratioได้เท่ากับ ๖.๓
วิธีใช้แผนภูมิประเมินความเสี่ยงรวม
- เลือกตารางผู้ชายไม่สูบบุหรี่ (Men non-smoker คือ แถวที่ ๓ จากซ้าย) ลงมาจนถึงกลุ่มอายุ ๕๐ (age ๕๐ คือ ลงมาช่องที่ ๔ จากบน)
- ในช่องดังกล่าว (แถวที่ ๓ จากซ้ายและช่องที่ ๔ จากบน) อ่านค่าในช่องเล็กที่ Systolic blood pressure เท่ากับ ๑๖๐ ตัดกับค่า Total cholesterol : HDL cholesterol ratio เท่ากับ ๖ จะได้ค่าในช่องเลขเท่ากับ ๒ แสดงว่าความเสี่ยงรวมใน ๑๐ ปีข้างหน้าของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับร้อยละ ๒ หรือแปลว่า คนที่มีปัจจัยเสี่ยงแบบเดียวกันนี้ ๑๐๐ คนจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ๒ คนใน ๑๐ ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
- แต่ถ้าเลื่อนจากตำแหน่งกลุ่มอายุ ๕๐ ปี ขึ้นไป กลุ่มอายุ ๖๐ ปี (เลื่อนขึ้นไป ๒ ช่อง) อ่านค่าในช่องเลขที่ Systolic blood pressure เท่ากับ ๑๖๐ ตัดกับค่า Total cholesterol : HDL cholesterol ratio เท่ากับ ๖ จะได้ค่าในช่องเลขเท่ากับ ๖ แสดงว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะค่ามากกว่าร้อยละ ๕
สรุปว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงรวมสูงที่จะเกิดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่
- ผู้ที่ไม่เป็นและไม่มีอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่มี
ก. ความเสี่ยงรวมใน ๑๐ ปีข้างหน้า ที่จะเกิดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ ๕ ในขณะนั้น หรือประเมินไปที่อายุ ๖๐ ปีแล้วความเสี่ยงรวม มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ ๕
ข. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งสูงกว่าปกติมาก ได้แก่ ไขมันโคเลสเตอรอล มากกว่าหรือเท่ากับ ๓๒๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, แอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL cholesterol) มากกว่าหรือเท่ากับ ๒๔๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร, ความดันเลือดเฉลี่ยสูงมากกว่า หรือเท่ากับ ๑๘๐/๑๑๐ มิลลิเมตรปรอท
ค. เป็นเบาหวานที่ตรวจพบไข่ขาวในน้ำปัสสาวะ (microalbuminuria)
จากตัวอย่าง ชายผู้นี้มีความเสี่ยงรวมสูงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ เพราะแม้ว่าตัวเลขเปอร์เซ็นต์ในขณะนี้จะเท่ากับร้อยละ ๒ แต่ที่อายุ ๖๐ ปี เขาจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ ๖ ดังนั้นเขาควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการ ใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องความดันเลือดสูง และไขมัน โคเลสเตอรอลสูง โดยการลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม เนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ธัญพืช ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย ๓๐ นาทีต่อวัน ฝึกโยคะ ไทเก้ก ชี่กง เจริญสมาธิ เป็นต้น ถ้าลดความดันเลือดลง ให้น้อยกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท ตัวเลขความเสี่ยงรวมเมื่ออายุ ๖๐ ปีของเขาจะลดลงเป็นร้อยละ ๔ ซึ่งถือมีความเสี่ยงต่ำ แม้ว่าระดับโคเลสเตอรอลจะยังสูง (แต่ต้องไม่เกิน ๓๒๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) โดยไม่ได้กินยาลดไขมัน ถ้าสามารถลดไขมันโคเลสเตอรอลให้ต่ำกว่า ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรได้อีก อัตราส่วน total cholesterol/ HDL จะเท่ากับ ๕ และตัวเลขความเสี่ยงรวมเมื่ออายุ ๖๐ ปีจะลดลงเหลือร้อยละ ๓ ความเสี่ยงจะต่ำลงไปอีก แต่ถ้าไม่สามารถลดความดันเลือดได้โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตในเวลา ๓-๖ เดือน น่าจะไปพบแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขเพื่อปรึกษาวิธีการลดความดันเลือดและปัจจัยเสี่ยงรวมต่อไป ถ้าชายผู้นี้ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงรวมสูง และไม่สามารถลดโคเลสเตอรอลให้ต่ำกว่า ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรได้ ควรจะปรับเปลี่ยนการ กินอยู่ให้มากขึ้น และประเมินความเสี่ยงรวมจากแผนภูมิ รวมทั้งตรวจไขมันในเลือดทุกๆ ๕ ปี
สรุป
โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญหนึ่งของประเทศ ทุกๆ คนที่อายุมากกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ กันตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน ซึ่งได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ เบาหวาน ความดัน (เลือดสูง) ไขมัน บุหรี่ เราสามารถที่จะประเมินความเสี่ยงรวมของการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในอีก ๑๐ ปี ข้างหน้าได้ด้วยตนเองโดยใช้ระบบ SCORE ของยุโรป เพื่อเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้อย่างเหมาะสม บูรณาการและพึ่งตนเอง การประเมินความเสี่ยงรวมวิธีนี้เป็นการประเมินคร่าวๆ เพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ใช้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพลดโอกาสเสี่ยงของแต่ละบุคคลเท่านั้น ไม่สามารถจะใช้ในการพยากรณ์การเกิดโรค หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น การประกันชีวิต เพราะที่มาของตารางความเสี่ยงนี้ ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากคนไทย
- อ่าน 8,124 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้