ไข้หวัด (ใหญ่) นก ๒๐๐๔
ไข้หวัดนก หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Bird flu หรือภาษาวิทยาศาสตร์ว่า Avian flu คำว่า flu ย่อมาจาก influenza หมายถึง โรคไข้หวัดใหญ่ คำว่า avian หมายถึงสิ่งที่บินหรือเหิรฟ้าได้ดังเช่นนก ถ้าส่งจดหมายไปรษณีย์อากาศ เราจะเขียนภาษาอังกฤษว่า By airmail หรือฝรั่งเศสว่า Par avian ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง พบการระบาดใหญ่ได้ในคนและสัตว์หลายชนิดที่พบบ่อย คือ การเกิดโรคห่าไก่อย่างรุนแรงรวดเร็ว ไก่เริ่มหงอย ป่วย และชักตายในเวลาไม่ข้ามวัน และตายยกเล้า นอกจากนี้พบได้ในหมู ม้า นกกระทา เป็ด ห่าน แมวน้ำ ปลาวาฬ มีรายงานเสือติดไข้หวัดใหญ่ ตายเพราะกินซากสัตว์ที่ป่วยในประเทศจีนเมื่อหลายปีก่อน และการระบาดครั้งนี้ในไทยเรา พบว่า สัตว์ปีกหลายชนิดตายร่วงตกต้นไม้เป็นเบือ เชื้อแพร่ไปทั่วในแหล่งน้ำ พื้นดิน เสือที่กินซากไก่ตายก็ติดเชื้อป่วยตายเช่นเดียวกับแมว อาจจะมีปัญหาในฟาร์มจระเข้ที่กินซากไก่ หรือวัวควายที่เผอิญได้รับเชื้อจากการกินหญ้าในบริเวณพื้นดินที่มีเชื้อ เรื่องเหล่านี้มีความเป็นไปได้ แต่ต้องรอการพิสูจน์ยืนยันให้แน่ชัดก่อน เพื่อหามาตรการป้องกันที่เหมาะสม
เชื้อไวรัส
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นเชื้อที่มีรหัสพันธุกรรมเป็นสารอาร์เอ็นเอจำนวน ๘ ชิ้น หุ้มล้อมด้วยโปรตีน เยื่อหุ้ม และเปลือกนอกซึ่งมีโปรตีนผสมอยู่กับแป้งและไขมัน รอบๆ เปลือกมีหนามแหลมและทู่ยื่นออกมาโดยรอบ เปรียบเหมือนผลทุเรียน มีเม็ดที่มีเนื้อหุ้มแยกเป็นพู รอบเปลือกนอกมีหนามยื่นออกมา รหัสพันธุกรรมที่แยกเป็นชิ้น แต่ละชิ้นทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบโครงสร้างของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีชื่อเรียกต่างๆ กัน ได้แก่ สารที่ทำให้เม็ดเลือดแดงสัตว์เกาะกลุ่ม (hemagglutinin; H) เอนไซม์ย่อยเมือกที่เคลือบผิวเซลล์ (neuraminidase; N) โปรตีนพันหุ้มสารอาร์เอ็นเอ (nucleoprotein) โปรตีนที่เป็นเหมือนเนื้อเยื่อ (matrix) และโปรตีนอื่นๆ
ดังรูปที่ ๑
สาร H และ N อยู่ที่ตำแหน่ง ที่เป็นหนามสลับกัน ทำหน้าที่ในการเกาะติดกับผิวเซลล์ เพื่อเข้าเซลล์ไปเพิ่มจำนวน และช่วยในการออกจากเซลล์ที่ติดเชื้อไปติดต่อยังเซลล์อื่น ทำให้เกิดโรครุนแรง เชื้อไข้หวัดใหญ่แยกตามคุณสมบัติทางชีวภาพ พันธุกรรม และโครงสร้างเป็น ๓ ชนิด คือ เอ บี และซี เชื้อที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในคนและสัตว์ เป็นอินฟลูเอนซาชนิดเอ ลักษณะคุณสมบัติของโปรตีนในส่วน H แตกต่างกัน แยกได้เป็น ๑๕ ชนิด คือ H1, H2, H3 ...... ถึง H15 สำหรับ N แยกได้เป็น ๙ ชนิด คือ N1, N2...ถึง N9 เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบก่อโรคในคน นับแต่รู้จักเชื้อนี้ในการระบาดครั้งใหญ่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ จนถึงปัจจุบัน คือ Influenza A H1N1, H2N2 และ H3N2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ เริ่มพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่จากนก คือ H5N1 ในฮ่องกง และเชื้อนี้กำลังก่อโรคระบาดเป็นปัญหารุนแรงในคนและสัตว์ นอกจากนี้พบการระบาดของ H7N7, H9N2, H5N2 ในไก่ ซึ่งติดต่อมายังคนได้ แต่ไม่พบอาการโรคและการระบาดในคนรุนแรงเท่า H5N1 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดย่อยของ H และ N พบได้ในนกน้ำและสัตว์ปีก แต่เชื้อที่พบในคน ได้แก่ H1, H2, H3, N1 และ N2 (โดย H1, H3, N1 และ N2 พบได้ทั้งในคนและหมู) ดังรูปที่ ๒ ทำให้เกิดสมมติฐานว่า เชื้อจากสัตว์ปีกน่าจะผ่านการติดเชื้อในหมูก่อนที่จะมาติดเชื้อในคน และเกิดการระบาดรุนแรงสมมุติฐานนี้สนับสนุนโดยลักษณะ โมเลกุลบนผิวเซลล์ของสัตว์ปีกต่างจากคน
การติดเชื้อข้ามสปีชีส์จากนกมายังคนจึงน่าจะเป็นไปได้ยาก ในขณะที่บนผิวเซลล์ของหมูมีลักษณะโมเลกุลคล้ายกับทั้งของคนและนก การติดเชื้อจากหมูมายังคนมีโอกาสพบได้ แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดของไข้หวัดใหญ่จากนกมายังคน สามารถเป็นไปได้โดยตรงดังที่พบใน H2, H5 เชื้อที่แยกจากคนมีลักษณะรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่แยกได้ในนก ยังไม่พบการติดเชื้อ H5N1 ในหมู แม้ว่าจะมีรายงานการแยกเชื้อ H5N1 จากจมูกหมูในเวียดนาม การติดเชื้อในคนไปคนอาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่พบอาการป่วยรุนแรง พบการติดเชื้อในผู้พยาบาลผู้ป่วยหนักในฮ่องกง ๒ ราย รายหนึ่งมีอาการคล้ายหวัด อีกรายหนึ่งไม่มีอาการ ในขณะนี้ พบการติดเชื้อในคนจากการสัมผัสใกล้ชิดกับไก่ที่ติดเชื้อและมีอาการป่วย ยังไม่พบว่าติดจากสัตว์ชนิดอื่น การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มไก่ เริ่มรายงานในเดือน ธันวาคม ๒๕๔๖ จากเกาหลีใต้ ในเดือนมกราคม ๒๕๔๗ รายงานการติดเชื้อในฟาร์มไก่ในเวียดนาม ญี่ปุ่น ไทย กัมพูชา ฮ่องกง ลาว จีน อินโดนีเซีย เป็นการติดเชื้อ H5N1 นอกจากนี้พบการติดเชื้อ H5N2 ที่ไต้หวัน และ H7 ที่ปากีสถาน ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ พบการติดเชื้อ H7 ในฟาร์มไก่ที่สหรัฐอเมริกา และแคนาดาหลายแห่ง
การระบาดรุนแรงในประเทศไทย อาจเกิดจากนกน้ำหนีหนาวมาจากไซบีเรีย ร่วมกับการลักลอบซื้อไก่ชนพ่อพันธุ์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจากเวียดนามและอินโดนีเซีย นอกจากนี้มีข่าวลือเรื่องการลักลอบนำวัคซีนในสัตว์ปีก H5N3 ซึ่งไม่ผ่านการรับรองคุณภาพมาใช้ในไก่ แต่ควบคุมโรคไม่ได้ทำให้เชื้อกลายพันธุ์และระบาดรุนแรง สำหรับสถานการณ์โรคในคน เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยมีการเตรียมรับถ้าโรคซาร์สจะกลับมาระบาดในปีนี้ จึงพบผู้ป่วยไข้หวัดนกได้เร็ว ผู้ป่วยรายแรกเป็นเด็กชายอายุ ๗ ขวบ จากจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๗ ผู้ป่วยรายที่สอง คือ เด็กชาย อายุ ๖ ขวบ จากจังหวัดกาญจนบุรี จนถึงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ในประเทศไทย รายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกยืนยันว่าเป็น H5N1 จำนวน ๙ ราย เสียชีวิต ๗ ราย ผู้ป่วยที่สงสัย ๒๑ รายกำลังรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตาย ๘ ราย ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกในเวียดนามและไทยเท่านั้น คาดว่าน่าจะมีในประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดในไก่ การแพร่ระบาดในฟาร์มไก่ มีแนวโน้มลดลง แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดกว้างขวางในไก่ เป็ด ห่าน นกกระทา นกชนิดอื่นๆ รวมทั้งนกอพยพย้ายถิ่นในหลายประเทศ จึงทำให้การควบคุมทำได้ ยากกว่าโรคซาร์ส การพบการติดเชื้อในเสือ แมว ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อื่นๆ และเชื้ออาจกลายพันธุ์เป็นปัญหาโรคระบาดประจำถิ่นต่อไป
การติดต่อ
เชื้อออกมากับน้ำมูก น้ำลาย และมูลสัตว์ปีกทั้งที่ป่วยมีอาการโรค และติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ถ้าสัตว์มีอาการป่วยจะปล่อยเชื้อมากกว่าสัตว์ที่ไม่มีอาการ เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้ออาจติดอยู่ตามวัสดุอุปกรณ์ และมือที่ไปสัมผัสนำเชื้อ ป้ายเข้าจมูก ปาก เยื่อบุตา โอกาสที่จะสัมผัสได้รับเชื้อในอากาศพบได้น้อย ยกเว้นในรายที่ผู้ป่วยได้รับเครื่องช่วยหายใจและใช้เครื่องพ่นละอองฝอย
อาการโรคในคน
ไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดนก A (H5N1) มีอาการคล้ายคลึงกันกับไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากสายพันธุ์ที่พบในคน A (H1N1), A (H3N2) ระยะฟักตัวตั้งแต่สัมผัสได้รับเชื้อ จนเกิดอาการโรคประมาณ ๑-๓ วัน ผู้ป่วยมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ไอ มีเสมหะ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบปอดอักเสบซึ่งดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมักมีระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลประมาณ ๑-๓ สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ ๖-๑๒ ขวบ เข้าใจว่าน่าจะเป็น เพราะเด็กซุกซน เล่นกับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคโดยไม่ได้ระวังตัว พบได้ในผู้ใหญ่ที่มีประวัติสัมผัสกับไก่ที่ป่วย โดยทำการชำแหละไก่ปรุงเป็นอาหาร สำหรับนิยามการเฝ้าระวัง ไข้หวัดนก ของกระทรวงสาธารณสุข คือ
๑. ผู้ป่วยสงสัย ได้แก่ ผู้ป่วย มีอาการไข้สูงกว่า ๓๘ องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ หายใจลำบาก หอบ หรือพบว่าปอดบวม ร่วมกับประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตายในระยะ ๗ วันหรือมีการตายของสัตว์ปีกอย่างผิดปกติในพื้นที่ที่อาศัยอยู่
๒. ผู้ป่วยน่าจะเป็น ได้แก่ ผู้ป่วยสงสัย ที่มีอาการปอดอักเสบร่วมกับอาการที่เลวลง แม้จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ร่วมกับตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการ ติดเชื้ออื่นที่น่าจะเป็นสาเหตุ
๓. ผู้ป่วยยืนยัน ได้แก่ ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น และตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H5N1
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตัวอย่างตรวจจากทางเดินหายใจ ใช้เพื่อตรวจหาเชื้อและแยกเชื้อ เทคนิคที่ใช้ คือ การตรวจรวดเร็วหาโปรตีนของเชื้อ การตรวจขยายสารรหัสพันธุกรรม การเพาะเลี้ยงแยกเชื้อ และการตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะจากเลือดที่เจาะในระยะเริ่มป่วยและในเวลา ๑๔-๒๑ วันต่อมา
การรักษา
ถ้าวินิจฉัยได้โดยวิธีตรวจรวดเร็ว (ในเวลา ๕-๑๐ นาที) ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A แพทย์จะเริ่มให้ยา Oseltamivir (Tamifluโ) เร็วที่สุด และรอผลการตรวจโดยวิธี RT-PCR ว่าเป็นชนิด H5 หรือ H3 หรือ H1 ถ้าพบเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A และเป็น H5 จะให้การดูแลใกล้ชิดเพราะมีโอกาสเป็นโรคปอดบวมรุนแรงได้บ่อยกว่า H3 และ H1 นอกจากนี้ จะทำการแยกเชื้อในเซลล์เพาะเลี้ยงและพิสูจน์เชื้อยืนยันต่อไป
การป้องกันและควบคุม
การติดเชื้อไข้หวัดนกพบในผู้มีประวัติสัมผัสไก่ที่มีอาการผิดปกติ เช่น ซึม หงอย ขนฟู หน้าหงอน หรือเหนียงบวม มีน้ำมูก ท้องร่วง อาจเป็นผู้สัมผัสจับต้องใกล้ชิด ผู้เลี้ยงดู ผู้ชำแหละไก่ ในเครื่องในไก่ที่ป่วยมีเชื้อจำนวนมาก ดังนั้นผู้ที่ไม่จำเป็นจึงควรหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับสัตว์ที่มีอาการผิดปกติหรืออาการไม่แน่ชัด ผู้ที่เลี้ยงไก่จับไก่ ฆ่าไก่ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ เสื้อคลุมกันเปื้อน แว่นปิดตา ผ้าคลุมผม รองเท้าบู๊ต และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคหลัง ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำสระผม ทำความสะอาดร่างกาย หลังปฏิบัติงาน ห้ามเด็กและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกทั้งที่ป่วยมีอาการและไม่มีอาการ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ปีกเป็นสัตว์เศรษฐกิจในครัวเรือน หรือสัตว์เครื่องมือการพนัน สัตว์เลี้ยงสวยงาม ต้องเลี้ยงดูอย่างถูกสุขลักษณะ เลี้ยงในโรงเรือนที่ปิดมิดชิด สัตว์อื่นเข้าไปไม่ได้
ผู้ประกอบอาหาร ควรหลีกเลี่ยงไม่กินสัตว์ที่ตายผิดปกติ เลือกซื้อไก่ที่มีลักษณะเนื้อหนังสีขาวเหลืองสด สะอาด ไม่มีจ้ำเลือดออกหรือสีคล้ำ ไม่ควรซื้อไก่สดที่นำมาฆ่าเองที่ตลาด ควรซื้อไก่ที่ผ่านการฆ่าและชำแหละ โดยมีหน่วยงานรับรองคุณภาพ สำหรับไข่ไก่ ถ้าได้จากฟาร์มที่ไม่ติดเชื้อก็นับว่าปลอดจากโรค อย่างไรก็ตาม ควรล้างเปลือกไข่ให้สะอาดก่อนปรุงอาหาร หรือก่อนนำไปเก็บในตู้เย็น อาหารที่ทำจากไก่ผ่านกระบวนการทำให้สุกชนิดไม่เห็นมีเลือดอยู่ภายใน ถือว่าปลอดภัยจากเชื้อโรคทั้งปวง ไข่ที่ต้มสุก เช่น ต้มในน้ำเดือด ๕ นาที แล้วปล่อยให้น้ำเย็นลงจนจับได้ ถือว่าฆ่าเชื้อต่างๆได้หมด อันที่จริงเชื้อไข้หวัดนกไม่พบในไข่ แต่เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคอื่น การกินไข่สุกจะดีกว่ากินไข่ลวกหรือไข่ดิบ
ข้อสำคัญที่สุด คือ พฤติกรรม สุขภาพ ล้างมือบ่อย ล้างมือหลังจับต้องสิ่งที่เปื้อน แม้จะใส่ถุงมือก็ต้องล้างมือหลังถอดถุงมือ ล้างมือก่อนและหลังอาหาร ล้างมือก่อนและหลังเข้าห้องสุขา ไม่เอามือเข้าปาก แคะจมูก ขยี้ตา และไม่แตะต้องซากสัตว์ต่างๆ ถ้าจำเป็นต้องสวมถุงมือหรือถุงพลาสติก ก่อนจับซากสัตว์หรือสิ่งปฏิกูล ถ้าสัตว์ตาย ควรพิจารณาแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ฝังซากสัตว์ให้ลึกพอไม่ให้สัตว์อื่นคุ้ยเขี่ย อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแหล่งน้ำ หรือ ตามพื้นดิน เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ถ้าสัตว์ตายจำนวนมากผิดปกติ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ถ้ามีเตาเผาที่เป็นระบบปิด หรือเมรุศพ การบรรจุสัตว์ในภาชนะที่เป็นกล่องกระดาษ หรือกล่องไม้มิดชิด และเผาใช้ความร้อนสูงจะดีกว่าฝังกลบ ในผู้ที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ก่อโรคในคนที่มีจำหน่ายอยู่ คือ A (H1N1), A (H3N2) และ B ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และช่วยไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์กันระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนกับไข้หวัดนกซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าคนติดเชื้อสองสายพันธุ์พร้อมกันเพราะนักวิทยาศาสตร์คาดว่า เชื้อที่เกิดจากการผสมพันธุ์ของ H1N1 หรือ H3N2 กับ H5N1 จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงทั่วโลกดังที่เคยพบมาเมื่อ ๘๖ ปีก่อน
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ประกาศกำหนดให้ทั้งจังหวัดเป็น "เขตสงสัยโรคระบาด" อันเนื่องมาจากโรคแซลโมเนลลา และโรคอหิวาต์เป็ด-ไก่
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ประกาศให้จังหวัดนครสวรรค์และพิจิตรเป็นเขตโรคอหิวาต์ระบาด พร้อมทั้งสั่งทำลายไก่ทั้งหมด
๑-๓ ธันวาคม ๒๕๔๖
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑-๓ ธันวาคม รายงานข่าวว่า "นครสวรรค์ห่าลงไก่ตายเป็นเบือ ประกาศปิดฟาร์มคุมโรคระบาด" เหตุการณ์นี้เกิดที่อำเภอหนองบัว และรอบๆ บึงบอระเพ็ด โดยไก่ที่ตายเหล่านั้นมีอาการคล้ายกับไข้หวัดนก และระบาดไปยังจังหวัดใกล้เคียง...(ไม่มีความคืบหน้าในการจัดการปัญหา)...
๑๗ มกราคม ๒๕๔๗
แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เพื่อตรวจสอบอาการเจ็บป่วยของคนไข้ชายอายุ ๔๙ ปี อาชีพ ฆ่าไก่ ซึ่งมีอาการเริ่มจากอาการอักเสบของปอดข้างขวาแล้วลามไปข้างล่าง ซึ่งผลตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการแจ้งว่าไม่ได้เป็นโรคปอดบวม หรือโรคเอดส์ จึงมีความเชื่อมั่นว่าเป็นโรคไข้หวัดนกแน่นอน
๑๙ มกราคม ๒๕๔๗
กรรมาธิการการสาธารณสุข กรรมาธิการการต่างประเทศ และกรรมาธิการความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมประชุมปรึกษาหารือถึงสาเหตุการปกปิดข้อมูลโรคไข้หวัดนกของรัฐบาล และแพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยความจริงกรณีโรคไข้หวัดนก ต่อมาแพทย์หญิงมาลินีถูกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถากถางว่าเป็นผู้ไม่รักชาติ
๒๐ มกราคม ๒๕๔๗
คณะรัฐมนตรีกินไก่โชว์สร้างความเชื่อมั่น
๒๑ มกราคม ๒๕๔๗
ข่าวลือว่าประเทศไทยมีไข้หวัดนกระบาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยตกอย่างหนัก
๒๒ มกราคม ๒๕๔๗
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยาระดับโลก ยืนยันว่ามีไข้หวัดนกระบาดสู่คนแล้ว และเรียกร้องรัฐบาลเลิกปิดข่าว
๒๓ มกราคม ๒๕๔๗
กระทรวงสาธารณสุข ประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ผู้ป่วยในกลุ่มต้องสงสัย ติดเชื้อจากไข้หวัดนก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงการณ์โรคระบาดไก่ และออกมาตรการควบคุมพื้นที่ระบาดใน ๒๔ จังหวัด
๒๕ มกราคม ๒๕๔๗
ประกาศเขตควบคุมไข้หวัดนก ๒ จังหวัด คือ สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
๒๖ มกราคม ๒๕๔๗
รัฐบาลยืนยันมีคนเสียชีวิตจากไข้หวัดนกเพียง ๑ คน พร้อมประกาศขยายพื้นที่อันตรายเป็น ๑๐ จังหวัด เด็กชายกัปตัน บุญมานุช อายุ ๖ ขวบ ผู้ป่วยไข้หวัดนกจากอำเภอพนมทวนเสียชีวิต
๒๗ มกราคม ๒๕๔๗
คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก เด็กชายกรรชัย นิลจันทร์ อายุ ๖ ขวบ ผู้ป่วยไข้หวัดนกจากจังหวัดสุโขทัยเสียชีวิต
๒๘ มกราคม ๒๕๔๗
ประกาศเขตพื้นที่ควบคุมโรคระบาดไข้หวัดนกรวมทั้งสิ้น ๒๕ จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (เขตบึงกุ่มและเขตจตุจักร) นางเล็ก พรสง่า อายุ ๕๘ ปี ผู้ต้องสงสัยเป็นไข้หวัดนก จากอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีเสียชีวิต
๒๙ มกราคม ๒๕๔๗
รัฐบาลประกาศพื้นที่ควบคุมเพิ่มเป็น ๓๑ จังหวัด และกำจัดไก่ในพื้นที่ควบคุม
๓๐ มกราคม ๒๕๔๗
รัฐบาลประกาศเพิ่มให้ "พังงา" เป็นพื้นที่ควบคุมจังหวัดแรกของภาคใต้
๓๑ มกราคม ๒๕๔๗
นายกรัฐมนตรีประกาศใครตายจากการกินไก่ให้ ๓ ล้าน พร้อมรายการกินไก่โชว์
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
กระทรวงสาธารณสุขสั่งซื้อยาต้านไวรัสเพิ่ม และแจกจ่ายสติกเกอร์ที่มีข้อความว่า "ไก่สุก ไข่สุก ปลอดภัยรับประทานได้" เด็กชายนิธิกร คิดนอก อายุ ๖ ขวบ ผู้ต้องสงสัยเป็นไข้หวัดนก จากจังหวัดกาญจนบุรีเสียชีวิต กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งห้ามชนไก่ทั่วประเทศ
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
๓ องค์กรใหญ่ระดับโลกเปิดประชุมในประเทศไทย ผนึกกำลังหาทางควบคุมโรคไข้หวัดนก
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
รัฐบาลประกาศลดความรุนแรง ของโรคระบาดไก่จากสีแดง (พื้นที่ควบคุม) เป็นสีเหลือง (พื้นที่เฝ้าระวัง)
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ระวังกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๒ ขวบ
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
มหกรรมกินไก่ไทยปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศ
๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวยืนยันว่าสามารถควบคุมพื้นที่ระบาดของไข้หวัดนกได้แล้ว ๑๕๘ จุดจากพื้นที่ที่มีปัญหา ๑๖๓ จุด ในส่วนกรุงเทพฯ เหลือพื้นที่สีแดงเพียงพื้นที่เดียว คือ เขตลาดกระบัง
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
รัฐบาลสั่งทำแผนวิจัยวัฏจักรนกอพยพ พร้อมดึงอาจารย์ ๔ มหาวิทยาลัยช่วยควบคุม "ไข้หวัดนก" แบบยั่งยืน
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ขณะนี้จำนวนผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกลดลงจาก ๒๔ คน เหลือ ๒๒ คน เนื่องจากเด็กอายุ ๓ และ ๔ ขวบ จากสุพรรณบุรี ถูกตัดออกจากบัญชีหลังผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันได้ว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดธรรมดา ที่ฮ่องกง เด็กหญิงชาวฮ่องกง ๔ พี่น้อง อายุ ๒, ๓, ๗ และ ๑๑ ขวบ ถูกกักบริเวณหลังตรวจพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ที่เวียดนาม ยืนยันว่าพบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายที่ ๒๐ เป็นชายอายุ ๒๒ ปี เป็นเจ้าของไก่ชน ๒ ตัว ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนกคงอยู่ที่ ๑๔ คน มีผู้หายป่วยแล้ว ๒ คน และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ๔ คน (รวมทั้งรายที่ ๒๐ ด้วย)
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยืนยันว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกเพิ่มขึ้น ๑ ราย เป็นเด็กชายอายุ ๑๓ ปี อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ จากเดิมขึ้นบัญชีเป็นผู้ต้องสงสัย ถือเป็นรายที่ ๖ ของประเทศไทย ที่จังหวัดสุโขทัยผู้ป่วยต้องสงสัยอีก ๑ ราย เป็นชายวัย ๔๑ ปี องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ผลการตรวจดีเอ็นเอเหยื่อไข้หวัดนก ๑๔ คน ที่เสียชีวิตจากไวรัส H5N1 ไม่มีการติดไข้หวัดนกจากคนสู่คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าหน่วยวิจัยไวรัสตับอักเสบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิจัยร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถถอดรหัสพันธุกรรมไข้หวัดนกในประเทศไทย
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้หวัดนก ๖ ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ๒ ราย รวมเป็น ๘ ราย ในจำนวนผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก ๘ รายนี้ เสียชีวิตแล้ว ๕ ราย สำหรับ ๒ ราย ล่าสุดเป็นเด็กชายอายุ ๒ ขวบ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และหญิงอายุ ๒๗ ปี ที่จังหวัดอุตรดิตถ์
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในรายการ "นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน" วันเสาร์ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ว่าสถานการณ์ไข้หวัดนกขณะนี้ดีขึ้นมาก ขอขอบคุณคนไทยทั่วประเทศที่ออกไปแสดงพลังที่ท้องสนามหลวง
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงผู้ป่วยไข้หวัดนก ว่ามีทั้งหมด ๘ ราย เสียชีวิต ๖ ราย อีก ๒ ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว
๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
สหรัฐอเมริกาพบไข้หวัดนกแห่งที่ ๓ คือ รัฐเพนซิลเวเนีย พบ ชนิด H2N2 ซึ่งต่างจาก H7N2 ที่พบในรัฐเดลาแวร์
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
นายแพทย์สมชาย พีระปกรณ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไข้หวัดนกในสัตว์คงไม่จบในระยะเวลาอันสั้น องค์การอนามัยโลกประเมินว่าโรคนี้จะระบาดอยู่ในระยะเวลาประมาณ ๖ เดือน ถึง ๒ ปี
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายสงสัย ๑ ราย เป็นชายอายุ ๖๗ ปี จากจังหวัดอุทัยธานี นายสัตวแพทย์ธานีรัตน์ สานติวัตร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมคณะนักวิจัย แถลงตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในแมว เนื่องจากแมวกินไก่ตายและมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
นายสัตวแพทย์ธานีรัตน์ สานติวัตร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทีมวิจัย ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในแมว นายสัตวแพทย์ธีระพล ศิรินนฤมิตร หนึ่งในทีมวิจัยชุดนี้ กล่าวว่า จากการตรวจซากแมวซ้ำๆ จำนวน ๓๕ ครั้ง สามารถยืนยันได้ว่า แมวดังกล่าวติดเชื้อ H5N1 ถือเป็นการตรวจพบการติดเชื้อ H5N1 ในแมวโดยวิธีตามธรรมชาติครั้งแรกของโลก
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดนก ๙ ราย เสียชีวิต ๗ ราย ผู้ป่วยทั้ง ๙ ราย เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๗ มีผู้ป่วยสงสัยว่าเป็นไข้หวัดนกสะสม ๒๑ ราย รักษาหาย ๘ ราย และยังรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ๕ ราย เสียชีวิตไปแล้ว ๘ ราย (ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นไข้หวัดนก) สหรัฐอเมริกาพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ย่อย H5N2 ซึ่งมีการระบาดของไข้หวัดนก รวม ๔ รัฐ คือ รัฐเดลาแวร์ รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐนิวเจอร์ซีย์ และรัฐเท็กซัส
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
ผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนกมี ๒๒ ราย จากเวียดนาม ๑๕ ราย จากไทย ๗ ราย
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
จีนห้ามนำเข้าไก่จากแคนาดา หลังจากแคนาดาประกาศตรวจพบเชื้อไวรัสนกสายพันธุ์ H7 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่อันตรายเท่า H5N1
(รวบรวมข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และนิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ หน้า ๑๖-๑๗)
- อ่าน 5,201 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้