• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเอดส์

ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ เพิ่งจะมีการค้นพบมา ๒๐ กว่าปี และทั่วโลกต่างหวาดกลัว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้

ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ก่อนอื่นคงต้องพูดถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ Carlos Ribeiro Justiniano Chagas แพทย์ชาวบราซิล ค้นพบเชื้อที่ตอนนั้นคิดว่าเป็นโปรโตซัวชื่อ Pneumocystis carinii ซึ่งก่อโรคปอดบวม(Pneumonia) ในหนูและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) โรคปอดบวมนี้เรียกว่า Pneumocystis carinii Pneumonia (PCP)
ต่อมา Otto Jirovec นักปรสิตวิทยาชาวเช็ก เสนอว่าเชื้อนี้ที่ก่อโรคในคนกับสัตว์เป็นคนละชนิดกัน แต่ไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่นอน
พ.ศ. ๒๕๒๔ Michael Gottlieb แพทย์ชาวอเมริกันรายงานว่าพบผู้ป่วยที่เป็นชายรักร่วมเพศ ๕ คนป่วยเป็นโรค PCP และอีก ๕ เดือนต่อมาทั้งหมดก็ติดเชื้อไวรัส CMV ซึ่งมักจะเป็นในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่หาสาเหตุไม่พบว่าภูมิคุ้มกันของคนเหล่านี้บกพร่องจากอะไร จึงเชื่อว่าเป็นโรคใหม่ เนื่องจาก ๔ ใน ๕ คนนี้ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วยซึ่งติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงคาดว่าโรคที่พบใหม่นี้น่าจะติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริกา (CDC) ตั้งชื่อโรคนี้ว่า Acquired Immunodeficiency Syndrome หรือโรคเอดส์ (AIDS) นั่นเอง
พ.ศ. ๒๕๒๖ Luc Montagnier และทีมวิจัยจากสถาบัน Pasteur ใน Paris ค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้โดยใช้ชื่อว่า Lymphadenopathy Associated Virus (LAV)

อีกหนึ่งปีต่อมา Robert Gallo และทีมวิจัยจากสถาบันไวรัสวิทยาใน Baltimore ก็ค้นพบเชื้อไวรัสนี้เช่นกันโดยเรียกว่า Human T-cell Lymphotrophic Virus-III (HTLV-III) แต่ Gallo อ้างว่าตนเป็นผู้ค้นพบเชื้อนี้เป็นคนแรกทำให้เกิดการถกเถียงกัน ท้ายที่สุดพิสูจน์ได้ว่าทั้งสองเป็นเชื้อเดียวกันจึงให้ใช้ชื่อเดียวกันว่า Human Immunodeficiency Virus (HIV) และถือว่าทั้งสองเป็นผู้ค้นพบร่วมกัน

ยา AZT
พ.ศ. ๒๕๒๘
Mitsuya และ Broder คิดค้นยาต้านไวรัสชื่อ Azidothymidine (AZT) ซึ่งเป็นยาตัวแรกของกลุ่ม NRTI ยา AZT นี้ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาผู้ป่วยเอดส์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ แต่การใช้ยาเพียงตัวเดียวไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพมากนัก จึงมีการคิดค้นยาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
พ.ศ. ๒๕๓๓ E. De Clercq ค้นพบยากลุ่ม NNRTI และในปีเดียวกันนั้นเอง Joe A. Martin และ Noel Roberts ก็ค้นพบยา Saquinavir ซึ่งเป็นยาตัวแรกของกลุ่ม PI ทำให้ปัจจุบันมียารักษาเอดส์อยู่ ๓ กลุ่ม
พ.ศ. ๒๕๓๘ เริ่มใช้ยา ๓ ตัวร่วมกันเป็นครั้งแรก โดยให้ยา NRTI ๒ ตัวร่วมกับยา NNRTI หรือ PI ๑ ตัว เรียกการรักษาแบบนี้ว่า HAART พบว่าได้ผลดีมากแต่ค่าใช้จ่ายสูงคือ ๒๐,๐๐๐ – ๓๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน
เมื่อเทคโนโลยีการตรวจ DNA พัฒนาขึ้นก็พิสูจน์ได้ว่าเชื้อ Pneumocystis นั้นไม่ใช่โปรโตซัวแต่น่าจะเป็นเชื้อรา และเชื้อที่ก่อโรคในคนกับสัตว์เป็นคนละสายพันธุ์กันจริงๆ พ.ศ.๒๕๔๒ เชื้อที่ก่อโรคในคนจึงได้รับการตั้งชื่อว่า Pneumocystis jiroveci เพื่อเป็นเกียรติแก่ Jirovec ส่วนชื่อโรคนั้นให้เรียกว่า Pneumocystis pneumonia เพื่อให้ใช้อักษรย่อ PCP ได้ตามเดิม (จริงๆ แล้ว Frenkel เสนอให้ใช้ชื่อ P. jiroveci ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ แต่ไม่ได้รับการยอมรับในขณะนั้น)

วัคซีนเอดส์
เมื่อพูดถึงโรคนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงวัคซีน ปัจจุบันมีโครงการทดลองวัคซีนเอดส์ ๓๓ โครงการทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่จะสะดุดอยู่ที่ phase II-III
พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยมหิดลทดลองวัคซีนชื่อ AIDSVAX B/E ของบริษัท VAXGEN INC. จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการทดลอง phase III ที่กรุงเทพฯ มีอาสาสมัคร ๒,๕๐๐ คน โดยสรุปผลในปี พ.ศ. ๒๕๔๖
พ.ศ. ๒๕๔๕ องค์การเภสัชกรรมของไทยก็โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อสามารถรวมยาต้านไวรัส ๓ ตัวไว้ในเม็ดเดียวกันได้สำเร็จ มีชื่อทางการค้าว่า GPO-vir ซึ่งลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง ๑,๒๐๐ บาทต่อเดือน กระทรวงสาธารณสุขจึงสนับสนุนยานี้ให้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ
พ.ศ. ๒๕๔๖ AIDSVAX B/E ได้ข้อสรุปว่าไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค หลังการประกาศผลวิจัย หุ้นของ VAXGEN INC. ร่วงลงทันที เมื่อการใช้วัคซีนตัวเดียวไม่ได้ผล มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับกรมแพทย์ทหารบกจึงทดลองใช้วัคซีน ๒ ชนิดร่วมกัน โดยตัวแรกคือ ALVAC ของบริษัท Aventis Pasteur ของฝรั่งเศสเป็นวัคซีนปูพื้น (Prime) และใช้ AIDSVAX B/E เป็นวัคซีนกระตุ้น (Booster) ซึ่งผ่าน phase I และ II ไปแล้ว ปัจจุบันกำลังทดลอง phase III ที่จังหวัดชลบุรีและระยอง โดยมีอาสาสมัครมากถึง ๑๖,๐๐๐ คน (นับเป็นโครงการที่มีอาสาสมัครมากที่สุด แต่คงต้องรอกันสักหน่อย เพราะโครงการนี้จะสรุปผลในปี พ.ศ. ๒๕๕๑
อย่างไรก็ตาม สิทธิบัตรของวัคซีนดังกล่าวก็เป็นของบริษัทผู้ผลิต นักวิจัยไทยจึงร่วมมือกับญี่ปุ่นคิดค้นวัคซีนขึ้นมาเองคือ rBCG-Gag E และ rVaccinia-Gag E ผลการทดสอบในหนูพบว่าได้ผลดี ปัจจุบันกำลังทดสอบในลิง ถ้าได้ผลดีก็จะทดลองในมนุษย์ต่อไป
วัคซีน rBCG-Gag E และ rVaccinia-Gag E นี้เกิดจากการคิดค้นร่วมกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นกลับไปจดสิทธิบัตรเพียงผู้เดียว ไทยจึงทำการประท้วงจนในที่สุดก็ยินยอมให้จดสิทธิบัตรร่วมกัน

วัคซีนเอดส์ยังคงเป็นเพียงความหวัง ดังนั้น ทางที่ดีอย่าไปเสี่ยงดีกว่า ทำได้โดยไม่สำส่อนทางเพศและไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น

สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงก็ขอให้รีบไปตรวจกับแพทย์ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อแล้วก็ควรไปรับการรักษาแต่เนิ่นๆ และที่สำคัญคือขอให้มันหยุดที่ตัวท่านเถิด อย่าไปแพร่ให้คนอื่นอีกเลย

 

ข้อมูลสื่อ

320-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
นพ.ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์