• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาตระกะ

ตาตระกะเป็นเทคนิคการฝึกโยคะชนิดหนึ่ง  ซึ่งจัดอยู่ในหมวดของกริยาหรือการชำระล้าง  กล่าวโดยคร่าวๆ เทคนิคนี้ คือการนั่งเพ่งดวงไฟของเทียนสัก ๑ นาที จนกระทั่งน้ำตาไหล ผลที่ได้รับในเชิงกายภาพ คือการกระตุ้นให้ต่อมน้ำตาทำงานได้เป็นปกติ เป็นการทำความสะอาด ชำระล้างท่อน้ำตา  
นอกจากนั้น ตาตระกะยังช่วยผ่อนคลายการทำงานของกล้ามเนื้อตา เนื่องเพราะในเวลาปกติที่เราใช้สายตามองสิ่งต่างๆ วัตถุเหล่านั้นมักไม่ได้อยู่ในสภาวะที่นิ่ง กล่าวคือ วัตถุที่เรากำลังมองมักมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น เรานั่งมองคนที่เดินไป-มา หรือหากวัตถุที่เรากำลังมองนั้นอยู่นิ่ง ก็เป็นตัวเราที่เคลื่อนไหว เช่น เรากำลังมองสัญญาณไฟจราจรขณะขับรถ เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อตามีการเคลื่อนไหวเพื่อคอยปรับโฟกัสของภาพให้ชัดอยู่ตลอดเวลา  การฝึก  ตาตระกะเป็นการเอื้อให้กล้ามเนื้อตานิ่งในเวลาชั่วขณะ

วิธีทำ ขั้นเตรียมการ
- เราฝึกตาตระกะในตอนกลางคืน ปิดไฟ  ในห้องที่ไม่มีลม
- ตั้งเทียนให้สูงเสมอระดับสายตาของเราใน   ท่านั่ง  วางเทียนห่างจากตัวราว ๒-๓ เมตร 
- จุดเทียน รอสักครู่ ให้เปลวไฟนิ่ง  ในระหว่างนั้น นั่งในท่าสมาธิที่เราถนัด ผ่อนคลาย

วิธีฝึก

- วางสายตาไว้ที่พื้นก่อน แล้วจึงค่อยๆ เงยขึ้นมองดวงไฟช้าๆ 
- จับสายตาเราอยู่ที่ดวงไฟ ไม่กะพริบตา เป็นเวลาประมาณ ๑ นาที
- แล้วจึงลดสายตาลง หลับตา พักสัก ๑ นาที
- ทำซ้ำ ค่อยๆ เงยหน้าขึ้นมองดวงไฟ เป็นเวลา ๑ นาที สลับกับการพัก ๑ นาที ทำไม่เกิน ๓ รอบ
- ขณะที่ทำ เมื่อน้ำตาไหล ก็เพียงแต่เฝ้าดู เก็บรับความรู้สึก ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น  
- ทำครบ ๓ รอบแล้วพัก เราอาจใช้อุ้งมือนวดกล้ามเนื้อรอบๆ ดวงตาเบาๆ อย่างนุ่มนวล เพื่อให้กล้ามเนื้อตาผ่อนคลายได้ดีขึ้น

ข้อสังเกต
- หลายคนเมื่อฝึกตาตระกะใหม่ๆ น้ำตาอาจจะแค่เอ่อขึ้นมาเพียงเล็กน้อย  ก็ไม่ต้องไปฝืน  เมื่อฝึกมากขึ้น น้ำตาจะไหลง่ายขึ้น
- คนสายตาสั้นลองฝึกโดยไม่ใส่แว่น อาจขยับตัวเข้าใกล้เทียนสักนิด เพื่อให้มองได้ง่ายขึ้น
- พึงระลึกว่า ทุกเทคนิคของโยคะทำให้เราดีขึ้น มีความสมดุลมากขึ้น หากทำแล้วเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดตา เป็นต้น ให้หยุดพักทันที อย่าฝืนโดยเด็ดขาด
- พึงระลึกว่า เทคนิคโยคะไม่ได้มีไว้เพื่อการบำบัดรักษา แต่มีไว้เพื่อคงสภาพการทำงานของเราให้เป็นปกติ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตา ควรใช้วิจารณญาณแยกแยะ ว่าเหมาะกับเราหรือไม่ หรือควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

ดังที่ได้ย้ำมาตลอด โยคะไม่ใช่เรื่องของกายอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของจิตที่เกี่ยวเนื่องกัน   อย่างเป็นองค์รวม เทคนิคตาตระกะก็เช่นกัน นอกจากประโยชน์ที่ได้รับทางกายภาพแล้ว เรายังได้รับประโยชน์ทางใจด้วย

ในเบื้องต้นผู้ฝึกจะรับรู้ได้ถึงความสงบทางใจ เพราะการฝึกตอนกลางคืนและปิดไฟ เป็นการสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสงบ และการเพ่งจ้องไปที่เปลวเทียนคือการสร้างสมาธิได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความรู้สึกอ่อนน้อม  ถ่อมตน ขณะที่น้ำตาไหล ตาตระกะเป็นการลดความรู้สึกของอัตตา ลดความรู้สึก "ตัวกูของกู" ลง  ซึ่งเป็นไปตามหลัก "ไวราคยะ" หลักการสำคัญของการฝึกโยคะ อันหมายถึง การมีทัศนคติของความปล่อยวาง ละการยึดมั่นถือมั่น  ซึ่งโยคะถือว่า การยึดมั่นถือมั่นที่มนุษย์ ควรละมากที่สุด ก็คือ การยึดมั่นถือมั่นใน "ความเป็นตัวตนของเรา" นั่นเอง

 

ข้อมูลสื่อ

308-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์