• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชักจากไข้

ชักจากไข้

เด็กเล็กอายุ ๖ เดือน ถึง ๕ ขวบ บางคนเวลาตัวร้อน (เป็นไข้) จะมีอาการชักกระตุกอยู่สักพักหนึ่งก็หายไปได้เอง พ่อแม่ผู้ปกครองที่พบลูกหลานมีอาการแบบนี้มัก
จะตกอกตกใจ และกังวลว่าโตขึ้นเด็กจะกลายเป็นโรคลมชัก หรือสติปัญญาทึบหรือไม่ จริงๆ แล้วอาการชักจากไข้เป็นสิ่งที่ไม่มีอันตราย และมีผลกระทบต่อสมองน้อยมาก

ชื่อภาษาไทย   ชักจากไข้, ชักจากไข้สูง
ชื่อภาษาอังกฤษ   Febrile convulsion, Febrile siezure

สาเหตุ   ชักจากไข้ ในที่นี้หมายถึง อาการชักที่พบร่วมกับอาการตัวร้อน (เป็นไข้) ในเด็กที่ไม่มีความผิดปกติของสมองมาก่อน โดยที่อาการตัวร้อนนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง (เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง พิษสุนัขบ้า บาดทะยัก เป็นต้น) แต่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเดิน บิด (ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด) ส่าไข้ เป็นต้น อาการชักจากไข้ มักพบในเด็กอายุ ๖ เดือน-๕ ขวบ (พบบ่อยในช่วงอายุ ๑-๒ ขวบ) ส่วนสาเหตุที่ทำไมอาการไข้จึงกระตุ้นให้เด็กชัก ยังไม่สามารถอธิบายได้ มีข้อน่าสังเกตว่าประมาณร้อยละ ๙๕ ของเด็กที่มีอาการชักจากไข้ จะมีอาการเกิดขึ้นก่อน อายุ ๕ ขวบ ในกลุ่มเด็กอายุเกิน ๗ ขวบ จะพบอาการนี้น้อยมาก นอกจากนี้ยัง พบว่า เด็กที่มีพ่อแม่หรือพี่ๆ มีประวัติชักจากไข้ จะมีโอกาสเกิดอาการชักจากไข้มากกว่าเด็กอื่น และจะชักซ้ำได้มากกว่าเด็กอื่น จากการศึกษาพบว่า อาการชักจากไข้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ 

อาการ   จะมีอาการเป็นไข้ (ตัวร้อน) ร่วมกับอาการของโรคที่เป็นสาเหตุของอาการไข้ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเดิน เป็นบิด เป็นต้น (ในรายที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ส่าไข้ ก็อาจมีไข้สูง โดยไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยก็ได้) แล้วต่อมาจะมีอาการชักแบบกระตุกทั้งตัว ตาค้าง กัดฟัน กัดลิ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมอาการตัวร้อนในวันแรก หรือในวันหลังๆ ก็ได้ โดยทั่วไปจะชักนานครั้งละ ๒-๓ นาที (เต็มที่ไม่เกิน ๑๕ นาที) ก็จะหยุดชักไปเอง หลังหยุดชัก เด็กจะฟื้นคืนสติเป็นปกติ ไม่ซึม ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรง และมักจะไม่ชักซ้ำอีกในการเจ็บป่วยครั้งนั้น บางคนเมื่อเว้นไปนานหลายเดือนหรือเป็นปี อาจมีไข้และชักซ้ำเหมือนเดิมอีก ลักษณะการชักดังกล่าว ภาษาแพทย์เรียกว่า "อาการชักจากไข้ชนิดไม่ซับซ้อน (simple febrile convulsion)" ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่มีอันตรายอะไร บางคนอาจเป็นชนิดรุนแรง ดังที่ภาษาแพทย์เรียกว่า "อาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน (complex  febrile convulsion)" กล่าวคือ จะมีอาการชักเพียงซีกใดซีกหนึ่ง หรือเฉพาะที่แขนขาข้างใดข้างหนึ่ง แต่ละครั้งชักนานเกิน ๑๕ นาที หรือมีอาการชักเกิดขึ้นซ้ำภายใน ๒๔ ชั่วโมงหรือในการเจ็บป่วยครั้งนั้นๆ หรือภายหลังการชักอาจมีอาการซึมหรือแขนขาอ่อนแรง ถ้ามีอาการชักต่อเนื่องนานเกิน ๓๐ นาที หรือชักสั้นๆ แต่เป็นหลายครั้งติดๆ กันในระยะใกล้กันมาก โดยที่ระหว่างการหยุดชักช่วงสั้นๆ แต่ละครั้งเด็กไม่ได้ตื่นขึ้นมาเป็นปกติ รวมเวลานานเกิน ๓๐ นาที เรียกว่า "อาการชักจากไข้ชนิดต่อเนื่อง (febrile status epilepticus)"

การแยกโรค   อาการชักร่วมกับเป็นไข้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

๑. โรคติดเชื้อของสมอง (เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง เป็นต้น) จะมีไข้ ปวดหัว อาเจียน ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชักต่อเนื่องกันนานหรือเกือบตลอดเวลา หรือหมดสติ

๒. บาดทะยัก จะมีไข้ ขากรรไกรแข็ง (อ้าปาก ลำบาก ทำท่าเหมือนยิ้มแสยะ) ชักกระตุกเป็นพักๆ เฉพาะเวลาที่สัมผัสถูกตัว ถูกแสงจ้าๆ หรือเสียงดัง มักมีบาดแผลตามผิวหนัง เช่น ตะปูตำ หนามเกี่ยว

๓. พิษสุนัขบ้า จะมีไข้ร่วมกับอาการกลัวลม กลัวน้ำ กระสับกระส่าย ชัก ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือหมดสติ มักมีประวัติถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ภายใน ๑-๓  เดือน (บางคนอาจนานเป็นปี)

๔. โรคลมชัก (ลมบ้าหมู) เด็กที่เป็นโรคลมชัก เวลามีไข้ขึ้นก็อาจเกิดอาการชักได้ บางคนอาจมีประวัติเคยเป็นโรคลมชักมาก่อน

หากสงสัยว่าเป็นจากสาเหตุข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล

การวินิจฉัย   ในการวินิจฉัยอาการชักจากไข้ แพทย์มักจะอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นพื้นฐาน ในกรณีที่เป็นการชักครั้งแรก อาจต้องทำการเจาะหลังเพื่อนำน้ำไขสันหลังไปพิสูจน์ว่ามีสาเหตุจากโรคติดเชื้อของสมองหรือไม่ นอกจากนี้หากจำเป็น อาจต้องทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นสมอง หรือตรวจพิเศษอื่นๆ

การดูแลตนเอง   อาการชักถือว่าเป็นภาวะที่รุนแรง อาจมีสาเหตุจากโรคทางสมอง และโรคติดเชื้อร้ายแรงอื่นๆ ได้ ดังนั้น เมื่อพบเด็กมีอาการชักร่วมกับมีไข้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. เป็นการชักครั้งแรกของผู้ป่วย อาจจำเป็นต้องให้แพทย์ทำการเจาะหลัง และตรวจพิเศษอื่นๆ
๒. มีประวัติถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน
๓. มีบาดแผลอักเสบตามผิวหนังร่วมด้วย
๔. มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง ซึม แขนขาอ่อนแรง หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว
๕. มีอาการชักนานเกิน ๑๐ นาที
๖. พบในเด็กอายุต่ำกว่า ๖ เดือน หรือมากกว่า ๕ ขวบ
๗. สงสัยว่าเป็นไข้จากโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ (มีอาการไข้สูง หายใจหอบ) หรือเป็นโรคที่ต้องการการวินิจฉัยจากแพทย์ หรือต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (เช่น ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ บิด เป็นต้น)
๘. มีความวิตกกังวล

ในกรณีที่เคยมีอาการชักจากไข้สูงมาก่อน และเคยให้แพทย์ตรวจรักษา แพทย์อาจจ่ายยา  ลดไข้และยากันชักให้ไว้ประจำบ้าน เมื่อเด็กเริ่มมีอาการไข้ ให้รีบเช็ดตัว ให้ยาลดไข้ และยากันชักตามขนาด ที่แพทย์แนะนำทันที อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้นก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ต่อไป ขณะที่พบมีอาการชัก ให้ทำการปฐมพยาบาลโดยการถอดเสื้อผ้าเด็กออก แล้วรีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวให้ไข้ลดโดยเร็ว ไม่แนะนำให้ใช้ไม้กดลิ้น ด้ามช้อน หรือดินสอสอดไว้ในปากเด็กเพื่อป้องกันการกัดลิ้น ดังที่เคยแนะนำกันมาในสมัยก่อน เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันเด็กได้รับบาดเจ็บได้ ขณะเด็กชัก ควรจับเด็กตะแคงข้างให้ศีรษะต่ำเพื่อป้องกันการสำลัก โดยทั่วไป อาการชักจากไข้จะเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาที แต่ถ้าชักนานเกิน ๑๐ นาที ควรรีบพาไปโรงพยาบาล และถ้ามียากันชักชนิดสวนทวาร (ซึ่งแพทย์ที่เคยรักษาอาจจ่ายให้ไว้ประจำบ้าน) ก็ให้รีบทำการสวนทวารก่อนนำส่งโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นอาการชักจากไข้ชนิดต่อเนื่อง

การรักษา   แพทย์จะให้การรักษา ตามสาเหตุของอาการไข้ และความรุนแรงของอาการชัก ดังนี้

๑. รักษาสาเหตุของไข้โดยให้ยาลดไข้และ  ยาบรรเทาอาการเท่าที่จำเป็น อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะ  เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรไมซิน เป็นต้น ในรายที่เกิดจากโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ บิด เป็นต้น

๒. ส่วนอาการชัก แพทย์จะให้การดูแลรักษา  ดังนี้

๒.๑ ถ้ายังชักต่อเนื่องเกิน ๑๐ นาที (ขณะตรวจยังไม่หยุดชัก) แพทย์จะให้ยาแก้ชัก เช่น ยาไดอะซีแพม (diazepam) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือสวนทางทวารหนัก หรือให้ยาไมดาโซแลม (midazolam) หยอดให้ทางจมูก

๒.๒ ถ้ามาถึงโรงพยาบาล เด็กหยุดชักแล้ว แพทย์จะให้ยากันชักร่วมกับยาลดไข้และยารักษาโรค (ตามข้อ ๑) ให้กลับไปกินที่บ้าน เมื่อไข้หายดีแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้มียาลดไข้และยากันชักเก็บสำรองไว้ประจำบ้าน ต่อไปทุกครั้งที่เด็กมีไข้ใหม่ก็ให้รีบกินยาลดไข้ร่วมกับยากันชัก (ได้แก่ ไดอะซีแพม กินขนาดวันละ ๑ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม แบ่งให้วันละ ๓-๔ ครั้ง) จนกว่าอาการไข้ในครั้งนั้นจะหายขาด (ถ้าเกิดจากไข้หวัด อาจมีอาการไข้อยู่นาน ๒-๔ วัน)

ส่วนเด็กที่เคยมีอาการชักจากไข้ชนิดไม่ซับซ้อนตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป หรือมีอาการชักจากไข้ชนิดซับ-ซ้อนเพียงครั้งเดียว แพทย์อาจพิจารณาให้เด็กกินยากันชักอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟีโนบาร์บิทาล (phenobarbital) กินก่อนนอนทุกคืน (ทั้งที่มีไข้และไม่มีไข้) ติดต่อกันนาน ๒ ปี หรือจนกว่าจะถึงอายุ ๕ ขวบเต็ม ยาชนิดนี้กินติดต่อกันนานๆ อาจมีผลข้างเคียง คือ เด็กซนผิดปกติ หรืออาจมีสติปัญญาอ่อนด้อยลงกว่าปกติได้ ดังนั้น แพทย์จะพิจารณาให้ยากันชักชนิดนี้กินต่อเนื่องกันนานๆ ก็แต่เฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

๒.๓ เด็กที่มีอาการชักจากไข้เป็นครั้งแรกในชีวิต แพทย์อาจพิจารณาทำการเจาะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ เดือน หรือมีประวัติกินยาปฏิชีวนะในการเจ็บป่วยคราวนี้ก่อนมาพบแพทย์ ทั้งนี้เพื่อนำน้ำไขสันหลังไปพิสูจน์ให้แน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากโรคติดเชื้อของสมอง

ภาวะแทรกซ้อน   อาการชักจากไข้ส่วนใหญ่ เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายต่อสมอง มีอัตราตายต่ำมาก (แม้จะเป็นอาการชักจากไข้ชนิดต่อเนื่อง คือชักนานเกิน ๓๐ นาทีก็ตาม) รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อระดับเชาวน์ปัญญาของเด็ก มีเพียงร้อยละ ๒-๑๐ ของเด็กที่ชักจากไข้ อาจเกิดโรคลมชักตามมาในภายหลัง (พบว่าร้อยละ ๑๕ ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคลมชัก มีประวัติเคยมีอาการชักจากไข้ในสมัยเด็กมาก่อน)

กลุ่มที่อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมชักตามมา มักมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

๑. มีประวัติว่าพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคลมชัก
๒. ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบประสาทและ สมองก่อนหน้าที่จะมีอาการชักจากไข้
๓. มีอาการชักจากไข้ชนิดซับซ้อน
๔. มีอาการชักจากไข้เกิดขึ้นภายในเวลาสั้น หลังมีไข้
๕. มีอาการชักจากไข้บ่อยครั้ง (ซึ่งก็เพิ่มโอกาสของการเกิดโรคลมชักมากกว่าคนปกติเพียงเล็กน้อย)

การดำเนินโรค   เด็กที่เคยมีอาการชักจากไข้มาครั้งหนึ่งแล้วมักจะไม่ชักซ้ำอีก มีโอกาสชักซ้ำประมาณร้อยละ ๓๐-๔๐ โดยทั่วไปมีเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้นที่อาจชักซ้ำเกิน ๓ ครั้ง และเมื่อพ้นอายุ ๕ ขวบ  อาการชักจากไข้มักจะหายไปได้เอง

กลุ่มที่อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการชักซ้ำ มักมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

๑. มีประวัติว่าพ่อแม่หรือญาติพี่น้องมีอาการชักจากไข้
๒. ชักครั้งแรกเมื่ออายุต่ำกว่า ๑๘ เดือน
๓. ชักร่วมกับอาการไข้ไม่สูงมาก (ถ้าชักร่วมกับไข้สูงมาก มีโอกาสชักซ้ำน้อย)
๔. อาการชักเกิดขึ้นภายใน ๑ ชั่วโมง หลังมีไข้
๕. เป็นไข้ (ตัวร้อน) บ่อยครั้ง

การป้องกัน 
๑. หาทางป้องกันไม่ให้เป็นไข้บ่อย เช่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่แออัด กินอาหารที่สุกและสะอาด ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เป็นต้น

๒. เด็กที่เคยมีอาการชักจากไข้มาครั้งหนึ่งแล้ว ควรมียาลดไข้ (พาราเซตามอล) และยากันชักไดอะซีแพมไว้ประจำบ้าน และเริ่มกินยาทันทีเมื่อมีไข้เกิดขึ้นครั้งใหม่ พร้อมกับให้การปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

ความชุก   อาการชักจากไข้พบได้ประมาณร้อยละ ๒-๕ พบมากในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง มักพบในช่วงอายุ ๖ เดือน-๕ ขวบ (ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ ๑-๒ ขวบ)

ข้อมูลสื่อ

300-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 300
เมษายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ