• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การสำรวจเรื่อง การควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด

การสำรวจเรื่อง การควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด


"คุณป้าแกอายุประมาณ ๖๗ ปีได้กระมัง วันหนึ่งอยู่ดีๆ แกก็บ่นว่าเจ็บหน้าอก หายใจไม่คล่องหลังจากนั้นไม่นานแกก็นิ่งไป ไม่รู้สึกตัว ประมาณอีกไม่ถึงชั่วโมงแกก็ตาย ญาติๆ แกยังไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้แกยังดีๆ ก็มาเสียชีวิตอย่างนี้ " เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ข้อมูลแก่นักวิจัยเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะนี้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในประเทศไทย เป็นสาเหตุการตายอันดับ ๒ ของการตายทั้งหมดในประเทศไทย เฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกมีปีละกว่า ๖๕,๐๐๐ คน หรือคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มนี้ ชั่วโมงละ ๗๗ คน หรือทุกๆ ๘ นาทีมีคนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ๑ คน

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ได้แก่ โรคความดันเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ อ้วน (ไม่ค่อยได้ออกแรงกาย) และเบาหวาน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผนังหลอดเลือดในร่างกายมีสภาพแข็งไม่ยืดหยุ่น ต่อมามีการอุดตันง่าย ถ้าเป็นที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ถ้าไม่ได้ยาขยายหลอดเลือดทันท่วงทีก็จะทำให้หัวใจหยุดทำงานและเสียชีวิตในที่สุด ถ้าเป็นการอุดตันหลอดเลือดสมองก็ทำให้สมองขาดเลือด อาจตามมาด้วยอัมพาตหรือเสียชีวิตเช่นเดียวกัน ผลการวิจัยสำรวจความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ในประชาชน เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจ
แม้ว่าโรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่พบได้ไม่น้อย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักโรคหัวใจขาดเลือดว่าเกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าโรคนี้มาเงียบๆ 

ประเภทที่ ๑  ในคนที่เริ่มมีหลอดเลือดแข็ง ถ้าหลอดเลือดหัวใจยังสามารถส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อยู่ แม้จะตันไปบางส่วนก็ไม่มีอาการถ้าไม่ได้ออกแรงกายมาก จะมีอาการชัดเจนก็ตอนที่ขาดเลือดอย่างเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะหลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดบีบตัวเฉียบพลัน ซึ่งถ้าไม่ได้ยาขยายหลอดเลือดก็อาจจะแก้ไขไม่ทันกาล เช่น ถ้าบ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาล 

ประเภทที่ ๒ คิดว่าตนเป็น แต่ที่จริงไม่ได้เป็นโรค มีชาวบ้านบางส่วนสับสนเกี่ยวกับอาการใจสั่น ตกใจ หรือเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อว่าเป็นโรคหัวใจก็มี ดังนั้น อาจจะมีความกังวลมากกว่าความเป็นจริง สำหรับความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองนั้น ชาวบ้านเข้าใจว่าต้องมีอาการแขนขาชา หรืออัมพาต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ผิดแต่ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นชัดเจนแล้ว เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคหัวใจที่ในระยะแรกก็อาจไม่มีอาการได้เช่นกัน ฉะนั้นในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวถึงจึงมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

โรคความดันเลือดสูงมีอาการชัดเจนหรือไม่
สิ่งที่ยังเข้าใจกันไม่ถูกต้องคือ การเข้าใจว่าโรคความดันเลือดมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน จากการศึกษาพบว่ากว่าร้อยละ ๙๕ คิดว่าโรคความดันเลือดสูง มีอาการปวดศีรษะ และกว่าร้อยละ ๗๐ คิดว่ามีอาการวิงเวียน กระวนกระวาย ตื่นเต้น ทั้งที่ความดันเลือดส่วนใหญ่ไม่มีอาการชัดแจ้ง แต่สำหรับโรคเบาหวาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ ๗๐ ) ทราบเกี่ยวกับอาการของเบาหวาน ว่ามีอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หิวเร็ว และแผลหายช้า แต่ก็มีสิ่งที่ควรระลึกไว้ว่า อาการเหล่านี้เป็นอาการเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากแล้ว (>๒๐๐ มก./ดล.) แต่ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (>๑๒๖ มก./ดล.) แต่ยังไม่มากก็อาจไม่มีอาการได้เช่นกัน ดังนั้นในคนที่มีประวัติพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวาน ควรต้องมีการตรวจเช็กเบาหวานเช่นกัน
 
การตรวจวัดความดันเลือด 
ปัจจุบันการตรวจวัดความดันเลือดเป็นระยะๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ทุกคนปกติแล้วผู้ที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกรายควรได้รับการตรวจวัดความดันทุกครั้ง เพราะเป็นการตรวจที่ง่ายไม่ยุ่งยาก จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่อนามัยและพยาบาล เพียงร้อยละ ๕๐ ยอมรับว่าวัดความดันให้แก่ผู้ป่วยที่มีอายุ ๔๕ ปีขึ้นไปทุกคนเสมอ แต่ถ้าผู้ป่วยอายุระหว่าง ๓๐-๔๔ ปี ก็จะมีวัดความดันเลือดให้ทุกคนเพียงร้อยละ ๔๐ เท่านั้น และถ้าผู้ป่วยอายุน้อยกว่านี้ อายุ ๓๐ ปีก็จะมีโอกาสวัดให้ผู้ป่วยน้อยลง

ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน
ความสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น ก็คือว่าโรคกลุ่มนี้สามารถป้องกันได้ เพราะโรคกลุ่มนี้มีสาเหตุมาจากโรคความดันเลือดสูง การสูบบุหรี่ ไขมันเลือดสูงหรือเป็นเบาหวาน ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น รู้จักเลือกกินอาหารที่ถูกต้อง โดยเลือกกินอาหารผัก ผลไม้มาก แต่หลีกเลี่ยงพวกอาหารที่มีไขมันสูง ลดการกินอาหารเค็ม ลดอาหารหวาน  ส่วนในคนที่เป็นความดันเลือดสูง ถ้าเป็นแล้วก็ต้องรักษาควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ในคนเป็นเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับพอเหมาะ กินยารักษาเบาหวาน ออกกำลังกาย ในคนสูบบุหรี่ก็ต้องเลิกสูบ จากการสอบถาม พบว่า คนส่วนใหญ่ (ร้อยละ ๘๐) คิดว่า โรคหัวใจเกี่ยวข้องกับการไม่ออกกำลังกายและความเครียดมากที่สุด แต่คนที่ตอบว่า การสูบบุหรี่และความดันเลือดสูงเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นมีน้อยกว่า คือมี ๖ ใน ๑๐ คน และมีเพียงครึ่งหนึ่งที่ทราบว่า การเป็นเบาหวานทำให้เป็นโรคหัวใจได้ด้วย

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยตามคำแนะนำแพทย์
จากข้อมูลข้างต้น อาจคิดว่าความรู้ของประชาชนก็คงพอใช้ได้ แต่ถ้าถามว่ารู้แล้วสามารถปฏิบัติได้หรือเปล่าก็อาจแปลกใจ ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงกว่าร้อยละ ๗๐ ทราบว่าไม่ควรกินอาหารเค็ม แต่เมื่อถามว่าแล้วเติมซีอิ๊วหรือน้ำปลาเพิ่มเติมเวลากินอาหารหรือเปล่า ปรากฏว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่บอกว่าไม่เติมเลย แต่อีกร้อยละ ๒๑ บอกว่าเติมเกือบทุกครั้ง และที่เหลืออีกร้อยละ ๒๙ ตอบว่าเติมเป็นครั้งคราว เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการกินยาตามเวลาก็พบว่า มีร้อยละ ๕๐-๖๐ เท่านั้นที่บอกว่าไม่เคยลืมเลย แต่ที่เหลือบอกว่าลืมเป็นครั้งคราว

โรงพยาบาลชุมชนมี เครื่องมือ และยาที่จำเป็นรักษากลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเพียงพอหรือไม่
การสอบถามชาวบ้านส่วนหนึ่งคิดว่าปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนยังไม่พร้อมในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคิดว่าขาดแคลนในเรื่องเครื่องมือ และยาในการรักษาโรคหัวใจยังไม่เพียงพอ แต่ความจริงโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่มียาที่จำเป็นพื้นฐานสำหรับการรักษาความดันเลือดสูง เบาหวาน พร้อม มีเครื่องตรวจคลื่นหัวใจ (ยกเว้นกว่าครึ่งที่เครื่องมักมีปัญหาใช้ไม่ได้ เวลาต้องใช้ฉุกเฉิน) แล้ว รวมทั้งยาป้องกันโรคหัวใจด้วย มีเพียงส่วนน้อยที่ยาอาจขาดเป็นครั้งคราว  ผู้วิจัยคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับความคาดหวังของประชาชนว่า โรงพยาบาลน่าจะเป็นแหล่งที่พึ่งของประชาชนจนถึงที่สุด ไม่ควรที่จะต้องส่งต่อไปรักษาที่อื่นต่อ ซึ่งจะเกิดความยากลำบากสำหรับประชาชนที่ต้องเดินทางไปรักษาที่อื่น เพราะการส่งต่อไปรักษาที่อื่น สำหรับคนไข้และญาติแล้วถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ไม่มียานพาหนะของตนเอง

นโยบายการควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศ
ประเด็นนี้เป็นความคิดเห็นของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อนามัย ให้ความคิดเห็นว่า แนวโน้มของโรคนี้กำลังเพิ่มขึ้นในชุมชนและภาระการรักษาคนไข้เหล่านี้ ( โรคความดันเลือดสูง และเบาหวาน หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง) เป็นการรักษาระยะยาว มีค่าใช้จ่ายสูง ขณะนี้รัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างจริงจังเท่าที่ควร และรูปแบบการดำเนินการรณรงค์ การให้ความรู้ประชาชนโดยหน่วยงานรัฐ ยังไม่มีรูปแบบชัดเจน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างๆ มีความต้องการให้มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น 

การศึกษานี้ทำให้ทราบว่าการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดแก่ประชาชนยังเป็นเรื่องจำเป็น ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ลักษณะอาการเตือนของโรค สาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และการรณรงค์มีวิถีชีวิตที่ไม่ทำลายสุขภาพ แต่สร้างภูมิให้สุขภาพ ได้แก่ การไม่สูบบุหรี่ การเลือกกินอาหารเหมาะสม ( ไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ ไม่เค็ม ไม่หวาน ) การออกแรงกายเป็นประจำ เป็นต้น ในส่วนของรัฐก็ควรมีการจัดนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมอาหารที่มีคุณภาพ การจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย การพัฒนรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ป่วยรวมทั้งการฟื้นฟูความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

ข้อมูลสื่อ

295-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร