• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เล็ปโตสไปโรซิส

เล็ปโตสไปโรซิส


เล็ปโตสไปโรซิส หรือไข้ฉี่หนู ความจริงเป็นโรคติดต่อที่มีมาแต่เก่าก่อน  แต่เพิ่งจะมาโด่งดังในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องเพราะมีคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างผิดสังเกต โดยเฉพาะในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคอีสาน และขณะนี้ก็พบในทุกภูมิภาคแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมหรือมีน้ำขัง อาจพบโรคนี้แพร่กระจายได้มากขึ้น ฉบับนี้มาทำความรู้จักกับโรคนี้กันดีไหมครับ

ชื่อภาษาไทย   ไข้ฉี่หนู, เล็ปโตสไปโรซิส
ชื่อภาษาอังกฤษ  Leptospirosis

สาเหตุ   เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า เชื้อเล็ปโตสไปร่า (leptospira) ซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์ย่อย เชื้อนี้จะมีอยู่ในไตของสัตว์แทะ ที่พบบ่อย คือ หนูท่อ หนูนา หนูพุก นอกจากนี้ยังพบในสุนัข หมู วัว ควาย  เชื้อที่ก่อโรครุนแรงมีชื่อว่า Leptospira icterohaemorrhagiae อาศัยอยู่ในหนู สัตว์เหล่านี้จะปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ เชื้อจะสามารถมีชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะได้นานหลายเดือน คนเราจะรับเชื้อเข้าร่างกายโดยผ่านเข้าทางบาดแผลถลอกหรือขีดข่วนตามผิวหนัง หรือเข้าทางเยื่อบุตา จมูก หรือช่องปากที่ปกติ วิธีติดเชื้อที่สำคัญ ได้แก่ การย่ำน้ำที่ท่วมขัง (เช่น ตามซอกซอยในเมือง) หรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ (เช่น ตามท้องนา) และการแช่อยู่ในน้ำตามห้วยหนองคลองบึง เป็นเวลาเกิน ๒ ชั่วโมงขึ้นไป (เช่น จับปลา เก็บผัก เล่นน้ำ แข่งกีฬาทางน้ำ) นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อโดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะหนู หรือสัมผัสถูกเลือด ปัสสาวะ หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยตรง ระยะฟักตัว ๒-๒๖ วัน (ที่พบบ่อย คือ ๗-๑๔ วัน)

อาการ   ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น เกิดขึ้นเฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะปวดมาก ตรงบริเวณน่อง เมื่อใช้มือบีบบริเวณกล้ามเนื้อน่อง จะรู้สึกปวดมาก บางรายอาจมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเดิน หรือปวดตรงชายโครงขวา หลังมีไข้ ๒-๕ วัน อาจมีอาการตาเหลือง (ดีซ่าน) เล็กน้อย ในรายที่เป็นรุนแรง (พบได้ประมาณร้อยละ ๑๐ ของผู้ป่วย) หลังมีไข้ ๔-๙ วัน จะมีอาการตาเหลืองจัด ปัสสาวะเหลืองเข้ม ปัสสาวะออกน้อย บางรายอาจมีเลือดกำเดาไหล มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอกรุนแรง หายใจหอบ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

การแยกโรค  อาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว  อาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงอาการของไข้หวัดใหญ่ (ซึ่งอาจมีอาการเจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหลร่วมด้วย) ดังนั้น คนไข้ที่สงสัยว่าไข้หวัดใหญ่ ถ้าหากอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเล็ปโตสไปโรซิส ควรติดตามเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนอาการไข้สูง หนาวสั่น หรือมีอาการดีซ่านร่วมด้วย อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น

๑. มาลาเรีย จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น มีประวัติอยู่หรือกลับจากเขตป่าเขา หรือพื้นที่ที่มีมาลาเรีย

๒. ไทฟอยด์ จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ท้องผูก หรือท้องเดิน ไข้มักมีลักษณะตัวร้อนตลอดเวลา กินยาลดไข้ไม่บรรเทา

๓. ไทฟัส มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อาจพบรอยแผลคล้ายรอยบุหรี่จี้ตามบริเวณร่มผ้า มักพบในคนที่อยู่ตามไร่ หรือป่าเขา

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยโรคใดโรคหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

การวินิจฉัย 
 มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดง ได้แก่ ไข้ สูงหนาวสั่น ปวดน่อง ตาแดง ตาเหลือง เลือดออก ปัสสาวะออกน้อย แพทย์อาจทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ เจาะหลัง หรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด

การดูแลตนเอง  หากมีอาการสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว และรับการรักษาอย่างจริงจัง จากทางโรงพยาบาลจนกว่าจะปลอดภัย

การรักษา   แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล โดยให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีเซิลลิน เตตราไซคลีน ดอกซีไซคลีน) และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ , ให้น้ำเกลือถ้ามีการขาดน้ำ, ให้เลือด ถ้ามีเลือดออก ถ้ามีภาวะไตวาย อาจต้องทำการฟอกล้างของเสียด้วยเครื่องไตเทียม (dialysis)

ภาวะแทรกซ้อน  อาจมีโรคปอดอักเสบ (ไข้สูง หายใจหอบ เจ็บหน้าอกรุนแรง), กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อบุหัวใจอักเสบ, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ปวดศีรษะ และอาเจียนรุนแรง ก้มคอไม่ลง), ภาวะตกเลือด, ไตวาย (ปัสสาวะออกน้อย หรือไม่ออกเลย)

การดำเนินโรค  ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) ร่วมด้วย การให้ยารักษาแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้คนไข้หายจากโรคได้ภายใน ๑๐-๑๔ วัน ส่วนรายที่เป็นรุนแรง (พบได้ประมาณร้อยละ ๑๐) ซึ่งมักจะมีอาการตาเหลืองจัดร่วมด้วย อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง และมีอัตราตายถึงร้อยละ ๑๕-๒๐ ซึ่งมักเกิดจากภาวะไตวาย หรือช็อกจากการเสียเลือด ภาวะรุนแรงมักเกิดในคนสูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์

การป้องกัน 

๑. กำจัดหนู (ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ) ทั้งในนาข้าวและในที่อยู่อาศัย

๒. รักษาความสะอาดบริเวณบ้านเรือน อย่าให้มีขยะและเศษอาหารตกค้าง อันจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู

๓. ถ้ามีบาดแผล รอยถลอก ขีดข่วน ให้ปิดแผล และหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่ท่วมขัง หรือพื้นที่ชื้นแฉะ หรือลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึง

๔. ถ้าต้องเดินย่ำน้ำหรือพื้นดินที่ชื้นแฉะ (ตามตรอก ซอย คันนา ท้องนา ท้องไร่) ให้ใส่รองเท้าบู๊ต หรือรองเท้าหุ้มข้อ

๕. อย่าลงแช่น้ำในห้วยหนองคลองบึงนานเกินครั้งละ ๒ ชั่วโมง และเมื่อขึ้นจากน้ำควรฟอกสบู่และชำระด้วยน้ำสะอาด

๖. เก็บหรือปกปิดอาหารและน้ำดื่มให้มิดชิด อย่าให้หนูปัสสาวะใส่

๗. ดื่มน้ำต้มสุก และกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน

๘. หมั่นล้างมือภายหลังจับต้องเนื้อ ซากสัตว์ และสัตว์ทุกชนิด

๙. ในกรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในแหล่งที่มีโรคนี้ชุกชุมในช่วงเวลาสั้นๆ (เช่น การตั้งค่ายของกองทหาร นักเรียน นักศึกษา) และไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นๆ ได้ ควรกินยาดอกซีไซคลีนป้องกันล่วงหน้า ครั้งละ ๒๐๐ มิลลิกรัม ตั้งแต่ในวันแรกที่เข้าไปต่อมากินทุกต้นสัปดาห์ และวันสุดท้ายก่อนกลับ

ข้อมูลสื่อ

295-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ