• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เซียวเข่อ : เบาหวานในทรรศนะแพทย์แผนจีน

เซียวเข่อ : เบาหวานในทรรศนะแพทย์แผนจีน


"คุณหมอครับ ผมเป็นโรคเบาหวาน ถ้ารักษาด้วยยาจีนหายขาดไหม เพราะเบื่อกินยาฝรั่งจังเลย"

"คุณหมอค่ะ ฉันกินยาฝรั่งคุมเบาหวาน กินตั้งหลายขนาน หมอบอกว่าถ้าคุมไม่ได้ อาจต้องใช้ยาฉีด ฉันจึงอยากให้หมอจีนจัดยารักษาเบาหวานให้ ไม่ทราบว่ายาจีนรักษาเบาหวานได้จริงหรือเปล่า"

"คุณหมอครับ ถ้าผมกินยาจีนแล้วต้องงดยาฝรั่งเลยได้ไหม"

เรื่องของเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ได้น้อยหรือไม่ได้เลย ผลก็คือ น้ำตาลไม่สามารถเผาผลาญไปใช้เป็นพลังงาน มีการคั่งค้างของน้ำตาลในเลือดและอวัยวะต่างๆ น้ำตาลที่คั่งอยู่ในเลือดมากๆ ก็จะถูกกรองที่ไต มาพร้อมปัสสาวะ ดูดกลับไม่หมด ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน มีมดขึ้น เรียกว่าเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวาน มีปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากมีน้ำตาลออกมาพร้อมปัสสาวะ (ไตดูดกลับไม่หมด) ทำให้ผู้ป่วยเสียน้ำมาก กระหายน้ำ และเนื่องจากร่างกายขาดพลังงาน (เพราะขาดอินซูลินที่จะสลายน้ำตาลเป็นพลังงาน) ทำให้ผู้ป่วยหิวเก่ง ขณะเดียวกันก็จะซูบผอม เพราะร่างกายจะสลายไขมันและกล้ามเนื้อไปเป็นพลังงานแทน

โรคเบาหวานรักษาด้วยแพทย์แผนจีนได้ไหม

โรคเบาหวานเป็นโรคที่มีการบันทึกในตำราแพทย์จีนมาช้านาน เรียกเป็นภาษาจีน ว่า เซียวเข่อ คำว่า เซียว หมายถึง สูญเสีย หรือสลายอาหาร สูญเสียน้ำและสูญเสียพลัง (ร่างกายซูบผอม) คำว่า เข่อ หมายถึง กระหายน้ำ ดื่มมาก ดื่มแล้วไม่หายกระหาย รวมความแล้ว โรคเซียวเข่อ หมายถึง ดื่มมาก กินมาก ปัสสาวะมาก ซูบผอม และปัสสาวะมีรสหวาน เนื่องจากอาการดื่มมาก เป็นอาการที่อยู่ส่วนบนเกี่ยวข้องกับปอด ซางเจียว ช่องไฟธาตุส่วนบน อาการกินมากเป็นอาการที่อยู่ส่วนกลางเกี่ยวข้องกับม้าม จงเจียว ช่องไฟธาตุส่วนกลาง และอาการปัสสาวะบ่อยเกี่ยวข้องกับไต เซี่ยเจียว ช่องไฟธาตุส่วนล่าง ผู้ป่วยในแต่ละรายมีความรุนแรงของโรคในแต่ละอวัยวะไม่เหมือนกัน

สาเหตุของเบาหวานในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนต่างกันไหม

  • ในทรรศนะแพทย์แผนปัจจุบัน เบาหวานพบได้ประมาณร้อยละ ๓.๕ ของคนทั่วไป พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในคนอายุหลัง ๔๕ ปีขึ้นไป
  • คนอ้วนและหญิงมีลูกดก มีโอกาสเป็นโรคนี้มาก
  • เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มักมีพ่อแม่พี่น้องที่เป็นโรคนี้
  • คนอ้วนหรือกินหวานมากๆ จนอ้วน มีโอกาสเป็นเบาหวานได้ง่าย
  • การกินยาคุมกำเนิด ยาจำพวกสตีรอยด์ ทำให้เป็นโรคนี้ได้
  • นอกจากนี้ยังเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบจากการดื่มเหล้า มะเร็งตับอ่อน อุบัติเหตุทำให้ตับอ่อนได้รับบาดเจ็บ

สรุป เป็นผลจากกรรมพันธุ์ และภาวะต่างๆ ที่ทำให้การทำงานของตับอ่อนผลิตอินซูลินลดน้อยลง หรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้

ในทรรศนะแพทย์แผนจีน

สาเหตุสำคัญ คือ ภาวะร่างกายพื้นฐานมีภาวะยินพร่อง มีปัจจัยร่วม ได้แก่ 

  • การดื่ม การกินไม่ถูกหลัก
  • จิต อารมณ์ขาดสมดุล
  • เพศสัมพันธ์มากเกินไป

พื้นฐานร่างกาย "ยินพร่อง" อาจเกิดจากพันธุกรรม (ทุนเดิมแต่กำเนิด) ไม่สมบูรณ์ หรืออาจเกิดภายหลังจากการขาดการหล่อเลี้ยงของสารยินในร่างกาย

  •  การดื่ม การกินไม่ถูกหลัก ทำให้เกิดการสะสมความร้อน สูญเสียสารน้ำ สาเหตุหลักเกิดจากการกินอาหารหวาน อาหารไขมันเป็นเวลานาน รวมทั้งการดื่มสุรา ทำให้กระเพาะอาหารและม้ามทำงานผิดปกติ เกิดความร้อนสะสม เกิดความแห้ง สารน้ำในร่างกายถูกทำลาย
     
  • จิต อารมณ์ขาดสมดุล ความอุดกั้นทางอารมณ์ทำให้เกิดไฟ ทำให้เกิดการทำลายยิน การที่จิต อารมณ์ได้รับการกระตุ้นยาวนาน ทำให้กลไกพลังผิดปกติ พลังถูกปิดกั้น ไม่กระจายตัวตามปกติ นำไปสู่ไฟที่สะสมในร่างกาย เกิดไฟร้อนของระบบปอดและกระเพาะอาหาร ทำให้สูญเสียยินและสารน้ำ
     
  • เพศสัมพันธ์ที่มากเกินควร เกิดการสูญเสียจิงของไต และทำให้ไตพร่อง

แพทย์แผนจีนถือว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินควร ทำให้สูญเสียยินและจิง เมื่อร่างกายขาดยินจะเกิดไฟจากภาวะพร่อง ทำให้เสียยินกระทบถึงปอดและกระเพาะอาหาร เกิดไตพร่อง ปอดแห้ง และกระเพาะอาหารร้อน ซึ่งเป็นอาการของเบาหวาน

การแบ่งชนิดเบาหวานตามแพทย์แผนจีน และการดำเนินของโรคเป็นอย่างไร

  • ภาวะยินพร่อง เป็นเนื้อแท้ของโรค
  • ภาวะแห้งร้อน เป็นปรากฏการณ์อาการที่แสดงออก
  • เซียวเข่อ แบ่งเป็นส่วนบน (ปอดแห้ง) ส่วนกลาง (กระเพาะอาหารร้อน) ส่วนล่าง (ไตพร่อง) มีอาการหนักเบาของส่วนทั้ง ๓ ต่างกัน
  • ถ้าอาการดื่มมากเป็นอาการหลัก กินมาก ปัสสาวะมากเป็นอาการรอง เรียกว่า ซ่างเซียว
  • ถ้าอาการกินมากเป็นอาการหลัก ดื่มมาก ปัสสาวะมากเป็นอาการรอง เรียกว่า จงเซียว
  • ถ้าอาการปัสสาวะมากเป็นอาการหลัก ดื่มมาก กินมากเป็นอาการรอง เรียกว่า เซี่ยเซียว 
  • อาการระยะแรกมีลักษณะแห้งร้อน ระยะต่อมาของโรคของยินพร่องร่วมกับแห้งร้อน ระยะสุดท้ายของโรค คือ ยินพร่องเป็นหลัก แล้วทำให้หยางพร่องร่วมด้วย

ตามหลักแพทย์แผนจีน เบาหวานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปอด กระเพาะอาหารและไตอย่างไร มีอาการอื่นๆ ที่ตามมาอย่างไร

เบาหวาน หรือเซียวเข่อ มีสาเหตุพื้นฐานจากยินพร่อง สารน้ำร่างกายถูกทำลาย ทำให้เกิดความแห้งร้อนของอวัยวะภายในจั้งฝู่ โดยเฉพาะปอด กระเพาะอาหารและไต (สำคัญที่สุด คือ ไต) ตามหลักสรีระของศาสตร์แพทย์แผนจีน ปอดเป็นอัวยวะส่วนบนที่มีหน้าที่ปรับและควบคุมน้ำของร่างกาย ถ้าปอดร้อนและแห้ง น้ำจะถูกส่งผ่านโดยตรงไปที่ไต ทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก ขณะเดียวกันน้ำก็ไม่สามารถกระจายไปส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ

  • กระเพาะอาหารเป็นทะเลของน้ำและอาหาร (เป็นที่เก็บรวบรวมอาหารและน้ำที่กินเข้าไปสำหรับย่อยสลาย) ถ้ากระเพาะอาหารแห้งและร้อนไฟกระเพาะอาหารจะแกร่ง การย่อยเร็ว หิวเก่ง อุจจาระแห้ง
     
  • ไต มีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำของร่างกาย และมีหน้าที่เก็บสารจิง ถ้าไตขาดสารยินเกิดไฟจากภาวะพร่อง เกิดความร้อนแห้งของไต ทำให้ไตสูญเสียการดูดน้ำกลับเพื่อส่งไปที่ปอด เกิดปัสสาวะมากและบ่อย มีการไหลออกของสารอาหารทำให้มีปัสสาวะรสหวาน
     
  • ปอดแห้งมีผลต่อการกระจายน้ำไปยังกระเพาะอาหารและไต กระเพาะอาหารแห้งและร้อน มีผลกระทบต่อปอดและไต และไตพร่อง ไตแห้งร้อน ก็มีผลต่อปอดแห้ง และกระเพาะอาหารร้อน
     
  • ไตแห้ง ตับก็แห้ง ตับขาดการหล่อเลี้ยง ไฟตับมาก ทำให้เกิดปัญหาของตา (ตับเปิดทวารที่ตา) เช่น ต้อกระจก ทำให้เกิดปัญหาของหู (ไตเปิดทวารที่หู) เช่น หูหนวก หูมีเสียงดัง

แพทย์แผนจีนมีหลักการรักษาเบาหวานอย่างไร

หลักการรักษา : ต้องเสริมยิน สร้างสารน้ำ และทำให้ชุ่มชื้นขจัดแห้ง ขับร้อน ขับพิษ เป็นหลัก เวลารักษาต้องคำนึงถึงปอด กระเพาะอาหาร และไตควบคู่กัน

  • รักษา "ซ่างเซียว"  เบาหวานส่วนบน ให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ร่วมกับขับร้อนของกระเพาะอาหาร
  • รักษา "จงเซียว" เบาหวานส่วนกลาง ให้ขับร้อนของกระเพาะอาหาร เสริมบำรุงไต
  • รักษา "เซี่ยเซียว"  เบาหวานส่วนล่าง ให้บำรุงไต และเสริมการบำรุงปอด
  • ถ้ามีพลังและยินพร่อง ต้องเสริมพลังและบำรุงยิน
  • ถ้ามียินและหยางพร่อง ต้องบำรุงยินและหยางคู่กัน
  • ถ้ามีเลือด เสมหะอุดกัน ต้องสลายการอุดกันกระจายเลือด

ชนิดของเบาหวานและตำรับยาจีนรักษาเบาหวานเป็นอย่างไร

แบ่งเป็นประเภทๆ ใหญ่ ๓ แบบ

๑. เบาหวานส่วนบน (ซ่างเซียว) ปอดร้อนขาดสารน้ำ
อาการ : คอแห้ง กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ร่วมกับน้ำหนักลด ซูบผอม ปัสสาวะบ่อยและมาก
การตรวจ : ขอบลิ้น ปลายลิ้นแดง ฝ้าเหลืองขาว ชีพจรแรง เต็ม เร็ว
ตำรับยา : อวี้เฉวียนหวาน

๒. เบาหวานส่วนกลาง (จงเซียว) กระเพาะอาหารร้อนแกร่ง
อาการ : กินมาก หิวง่าย อุจจาระแห้ง ร่วมกับร่างกายซูบผอม
การตรวจ : ฝ้าเหลืองแห้ง ชีพจรลื่น แรง
ตำรับยา : อวี้หนี่วเจียน

๓. เบาหวานส่วนล่าง (เซี่ยเซียว)

๓.๑ ไตยินพร่อง
อาการ : ปัสสาวะบ่อย ปริมาณมาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และร้อนบริเวณหน้าอก
การตรวจ : ลิ้นแดง ชีพจรจม เล็ก เร็ว
ตำรับยา : ลิ่วเว่ยตี้หวงหวาน

๓.๒ ไตยิน ไตหยางพร่อง
อาการ : ปัสสาวะบ่อย (ดื่ม ๑ ส่วน ปัสสาวะ ๒ ส่วน) กลัวเย็น กลัวหนาว ร่วมกับปัสสาวะขุ่นขาว ใบหน้าดำคล้ำ ใบหูแห้ง เอว เข่าปวดเมื่อย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การตรวจ : ลิ้นซีด ฝ้าขาว ชีพจรจม เล็ก ไม่มีแรง
ตำรับยา : เสิ่นชี่หวาน

สรุป
เบาหวาน ในศัพท์แพทย์แผนจีน มีชื่อว่า "เซียวเข่อ" มีอาการดื่มมาก กินมาก ปัสสาวะมาก ซูบผอม สาเหตุพื้นฐานเกิดจากยินพร่อง ร่วมกับวิถีการดำเนินชีวิตไม่ได้สมดุล โดยเฉพาะจากอาหารการกิน อารมณ์ ความเครียด และมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป ผลที่ตามมาคือ ยินพร่องมีความร้อนแห้งในอวัยวะภายใน ตามด้วยการพร่องของยินและพลัง และท้ายสุดคือ การเสียทั้งไตยิน ไตหยางของร่างกาย ภาวะแห้งร้อนและยินพร่อง ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการแสดงออกมากมาย รวมทั้งเกิดเสมหะและเลือดอุดกั้น มีอาการแทรกซ้อนมากมาย เช่น ที่ตา (ต้อกระจก) ที่หู (หูอื้อ) หูมีเสียง ที่ปลายมือปลายเท้า หัวใจ ไตเสื่อม ไตวาย แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง เป็นต้น

เบาหวานแสดงออกของโรคมี ๓ ตำแหน่ง เกี่ยวข้องกับปอด กระเพาะอาหาร และไต จึงต้องแบ่งเบาหวานเป็น ๓ ช่วงบน คือ ช่วงบน ช่วงกลาง และช่วงล่าง มีอาการร้อนแห้ง เป็นปรากฏการณ์ แต่ธาตุแท้คือ ยินพร่อง

หลักการรักษา คือ บำรุงยินทำให้เกิดสารน้ำ เสริมความชุ่มชื้น ขจัดความแห้ง และขับความร้อน ปรับเปลี่ยนยาให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายแต่ละบุคคล ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อให้การรักษาดีขึ้น ขณะเดียวกันต้องระวังภาวะเบาหวานรุนแรงจนทำให้หยางแยกตัวจากยิน จนเกิดภาวะหมดสติ อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการควบคุมอาการด้วยยาแผนปัจจุบันค่อนข้างคุมได้รวดเร็ว เพราะทำให้กระตุ้นการสร้างอินซูลินมากขึ้น หรือใช้ฉีดอินซูลินเข้าทดแทน แต่ในแพทย์แผนจีนมุ่งเน้นการปรับสมดุลของร่างกายเป็นหลัก เพื่อให้อวัยวะจั้งฝู่ทำงานปกติ เกิดสมดุลและสามารถสร้างอินซูลินได้มากขึ้น ทำให้สามารถลดยาเบาหวานทางแพทย์แผนปัจจุบันลงได้ แต่ในรายที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เลย จำเป็นต้องฉีดอินซูลินทดแทน เพราะการปรับสมดุลเพื่อให้ตับอ่อนที่ไม่ทำงานสร้างอินซูลินยังเป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยากให้ทำงานปกติ

หลักการรักษาที่ดีที่สุด คือ แบบผสมผสาน ระยะแรกต้องควบคุมน้ำตาลในเลือดด้วยยาแผนปัจจุบัน แล้วให้ยาสมุนไพรจีนร่วมกับในการปรับสมดุลร่างกายและร่วมกับการควบคุมปัจจัยอาหาร อารมณ์ เพศสัมพันธ์ให้สมดุล ตรวจเช็กน้ำตาลในเลือดควบคู่กันไป ถ้าระดับน้ำตาลและสภาพร่างกายดีขึ้น (ตรวจแบบแพทย์แผนจีนและอาการแสดงออกดีขึ้น) ก็อาจพิจารณาลดยาเบาหวานลงตามความเห็นของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาควบคุมน้ำตาลทันที ในขณะที่ร่างกายยังไม่สามารถสร้างสมดุล หรือการทำงานของตับอ่อนยังไม่ดีขึ้น ผลการรักษาได้ผลดีหรือไม่ขึ้นกับหลายปัจจัย แต่โดยภาพรวม ควรรักษาโรค (ควบคุมน้ำตาล=แผนปัจจุบัน) และรักษาคน (ปรับสมดุล=แพทย์แผนจีน) ควบคู่ไปด้วยกัน 

ข้อมูลสื่อ

295-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 295
พฤศจิกายน 2547
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล