จนแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกก็เห็นความสำคัญ ในปัจจุบันการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง ๑.๔๘-๒.๓๘๖ ล้านล้านบาท เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเกือบ ๑ ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ ๙-๑๐ ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่นิยมและมีอัตราการเติบโตสูงมาก เนื่องจากไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตายเนื่องจากพิษหรือผลข้างเคียงนั้นน้อยที่สุด แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรค สำหรับในประเทศไทยนั้นมีสถาบันที่ทำการวิจัยและพัฒนาตลอดจนมีโรงงานมาตรฐานระดับสากลผลิตออกจำหน่ายบริการคนไทยมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑
ผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง นั้นก็คือ ผลิตภัณฑ์จาก สมุนไพร (herbal medicinal products)
ประเภทของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๔ กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปยาแผนปัจจุบัน (phytopharmaceuticals) ยาแผนโบราณ (herbal medicines) อาหารเสริม (nutraceu-ticals) และเครื่องสำอางจากสมุนไพร (cosmeceuticals)
ปัจจัยที่ส่งผลให้มีการขยายตัวในตลาดทั่วโลก คือ
๑. การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการทดลองทางคลินิกเพื่อสนับสนุนสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สมุนไพร
๒. ผู้บริโภคตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้น
๓. ความสนใจของสื่อต่างๆ
๔. การที่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ยอมให้มีการระบุถึงสรรพคุณบนภาชนะบรรจุ
๕. การวางตลาดของสินค้า
๖. การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตและควบคุมคุณภาพ
ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สามารถระบุสรรพคุณ (claim activity) ได้ มีตัวอย่างดังนี้
๑. แปะก๊วย (ginkgo biloba) ช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น (improves energy mood and brain function)
๒. เซนต์จอห์นเวิร์ต (St.John Wort) ช่วยรักษาซึมเศร้า (antidepressant)
๓. โสม (ginseng) ช่วยเพิ่มพลังงาน (increase energy and sex drive)
๔. กระเทียม (garlic) เพิ่มภูมิต้านทานและลดโคเลสเตอรอล (boosts immune system and lowers cholesterol)
๕. อีชินาเซีย (echinacea) เพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันหวัด (boosts immune system, prevents colds)
๖. ซอร์พาลเมตโต้ (saw palmetto) ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยว กับต่อมลูกหมาก (prostate problems)
๗. โกลเด้นซีล (goldenseal) บรรเทาอาการหวัด (colds and flus)
๘. ว่านหางจระเข้ (aloe) รักษาแผล (wounds)
๙. แครนเบอรี่ (cranberry) รักษาระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract health)
๑๐. วาลีเรี่ยน (valerian) รักษาภาวะทางระบบประสาท (insomnia, anxiety, headaches)
๑๑. คาวาคาวา (Kava Kava) รักษาภาวะตื่นตระหนกและเครียด (anxiety and stress)
การใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั่วโลก
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้หญิง ที่อายุมากกว่า ๔๕ ปีประมาณร้อยละ ๕๐ (๔๓ ล้านคน) มีปัญหาเกี่ยวกับ fibrocystic breast diseases และ อีก ๒๕ ล้านคนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องฮอร์โมน ในปัจจุบันวงการแพทย์ได้หันมาสนใจใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้นสำหรับการป้องกันและรักษาอาการต่างๆ ซึ่งเรียกว่าสมุนไพรวัยทอง
ประเทศต่างๆ ในยุโรปที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร แบ่งตามสัดส่วน คือ เยอรมนี (ร้อยละ ๓๘), ฝรั่งเศส (ร้อยละ ๒๑), อังกฤษ (ร้อยละ ๑๒), อิตาลี (ร้อยละ ๘), สเปน (ร้อยละ ๔), สแกนดิเนเวีย (ร้อยละ ๕), เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ ๓), สวิสเซอร์แลนด์ และออสเตรีย (ร้อยละ ๓), เบลเยียมและลักเซมเบิร์ก (ร้อยละ ๓) รวมมูลค่าในตลาด ๔.๔ แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ประเทศในยุโรปได้มีการนำเอาการรักษาโดยสมุนไพรและเครื่องหอม (aromatherapy) มาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ โดยมีสถาบันสำหรับสอนและฝึกอบรมในเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งได้มีการใช้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว
ในประเทศญี่ปุ่นปี พ.ศ.๒๕๔๐ มูลค่าการตลาดเป็นจำนวน ๒.๐๓ แสนล้านบาท ปี พ.ศ.๒๕๔๑ สูงถึง ๒.๑๑ แสนล้านบาท
สำหรับประเทศที่ผลิตและจำหน่าย ในตลาดสมุนไพรทั่วโลกนั้นประเทศสหรัฐอเมริกาสูงถึงร้อยละ ๓๓ รองลงมาคือประเทศในยุโรปร้อยละ ๓๑ และประเทศญี่ปุ่นร้อยละ ๑๖
แนวโน้มเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกันเป็นอย่างมากครับ ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยและเป็น ที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์เป็น อย่างมากเนื่องจากมีการใช้อย่างแพร่ หลายต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน ตลอดจนมีการพัฒนากระบวน การผลิตได้อย่าง มาตรฐานครบถ้วน คือ มีการ เพาะปลูกตามหลัก good agricultural practice (GAP) มีการผลิตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา (good manufacturing practice, GMP) มีการควบคุมคุณภาพตาม good laboratory practice (GLP) และมีการทดลองคลินิกถูกต้องตาม good clinical practice (GCP)
ดังนั้น หากผู้ผลิตใดไม่ได้ปฏิบัติ ตามนี้จะไม่สามารถเข้าสู่ระบบการตลาดสากลได้ นอกจากนั้น บริษัท ยาขนาดใหญ่ที่ผลิตยาแผนปัจจุบันอยู่ในขณะนี้ได้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ ธรรมชาติมากขึ้นจะทำให้การแข่งขันในอนาคตรุนแรงมาก ดังนั้นแต่ละประเทศจึงพยายามวิจัยและผลิตให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อบริการผู้บริโภคใน ประเทศของตน ลดการนำเข้า และสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศได้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของกระบวนการผลิตในประเทศไทย
นอกจากจะต้องพยายามผลิตให้ได้มาตรฐานสากลดังกล่าว แล้ว สมุนไพรในปัจจุบันยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิมมาก มีสารพิษ โลหะหนัก ยาฆ่าวัชพืชที่ตกค้างอยู่ในดินมากมาย ทำให้พืชได้รับสารเหล่านี้เข้าไป ผลที่ตามมาคือ สารสำคัญในพืชอาจจะไม่เหมือนในอดีตทุกประการ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องทดลองให้ได้ผลที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะให้ผลิตภัณฑ์ออกไปสู่ท้องตลาด
ประเทศไทยมีการวิจัยและผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ได้มาตรฐานระดับสากลแล้ว
องค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่ประสบผลสำเร็จในการผลิตยาแผนปัจจุบันมาแล้ว ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างต่อเนื่อง และขยายผลการวิจัยและพัฒนาไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีและกรรมวิธีการผลิตที่ดี (GMP) และระบบคุณภาพ ISO 9002 รวมทั้งมาตรการควบคุมคุณภาพ อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๘ องค์การเภสัชกรรมจึงได้สนองนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมสมุนไพรไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น โดยการร่วมทุนกับภาคเอกชนจัดตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า " Phyto care " ผลิตภัณฑ์ทุกรายการได้รับการควบคุมและรับรองคุณภาพโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรมในระดับที่คล้ายคลึงกับการผลิตและควบคุมคุณภาพยาแผนปัจจุบัน และจัดว่าโรงงานผลิตมีขีดความสามารถในการผลิตและควบคุมคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา
"ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย" ทางเลือกใหม่ ทันสมัยและไร้ผลข้างเคียง
คนไทยเรานั้นเป็นชนชาติที่ทันสมัยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ประเทศไทยจะก้าวทันโลกเช่นเดียวกับการหันกลับมาใช้สมุนไพร ซึ่งคือสิ่งที่ธรรมชาติมอบไว้ให้กับมนุษยชาติ ทดแทนการใช้สารเคมี ร่างกายของมนุษย์คือธรรมชาติเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน มาจากต้นตอ เดียวกัน ย่อมกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างไม่มีพิษมีภัย จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ให้ความสนใจและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกันดีกว่าครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม :
๑."สมุนไพรในตลาดโลก" R&D Newsletter ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๔ โดย ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์
๒. "สมุนไพรใน Expo 1999" R&D Newsletter ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒ โดย ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
- อ่าน 8,133 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้