• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยินแท้-หยางเทียม เย็นแท้-ร้อนเทียม

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยหรือหมอจีนเอง ก็จะสับสนกับภาวะของร่างกาย ที่มีทั้งภาวะร้อนและภาวะเย็น จนไม่รู้จะสรุปว่าร่างกายเป็นยินหรือเป็นหยาง

"หน้าตาเธอดูเลือดฝาดดี ใบหน้าแดง ทั้งๆ ที่ไม่ได้แต่งหน้ามา แต่ทำไมชอบบ่นว่าหนาว อยู่ในสำนักงานก็ใส่เสื้อหนากว่าคนอื่น"Ž
"ผู้ป่วยบอกว่ามีไข้สูง เม็ดเลือดขาวสูง ให้ยาฆ่าเชื้อก็ไม่ดีขึ้น พอให้ยาจีนบำรุงกลับดีขึ้นได้ ฉันไม่ค่อยอยากจะเชื่อ"Ž
"ผู้ป่วยมะเร็ง หลังฉายรังสีครบคอร์สแล้ว บางทียังมีไข้ต่ำๆ และเป็นตอนกลางคืน เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย กินยาพาราเซตามอลก็ไม่ดีขึ้น หมอจีนแนะนำให้ไปกินยาบำรุงเสริมยิน ขับร้อน บอกว่าเป็นเพราะร่างกายเสียสมดุล"Ž


ความจริง ที่รับรู้โดยทั่วไป คือถ้าร่างกายร้อน หรือมีสิ่งบ่งบอกว่าเป็นหยาง เรามักจะขับร้อน ระบายร้อน ซึ่งมักจะใช้ยาเย็น แต่มีปรากฏการณ์ในผู้ป่วยในบางระยะที่มีพื้นฐานองค์รวมของร่างกายเป็นยิน (เย็น) แต่แสดงออกให้เห็นว่าเป็นหยาง (ร้อน) ในทางกลับกัน ผู้ป่วยบางรายมีพื้นฐาน องค์รวมของร่างกายเป็นหยาง (ร้อน) แต่แสดงออกให้เห็นว่าเป็นยิน (เย็น)

๑. เย็นแท้-ร้อนเทียม มีอาการแสดงออกทางคลินิกที่สำคัญคืออะไร
- ผู้ป่วยมักมีการตรวจพบที่สำคัญคือ แก้มแดงคล้ายประแป้ง (แต่ใบหน้าโดยรวมรอบๆ แก้มมักมีสีขาวซีด), ใบหน้าไม่ค่อยมีชีวิตชีวา หงุดหงิดง่าย แขนขาเย็น แต่ตัวร้อน
- อาการอื่นที่พบร่วม ได้แก่ ร่างกายร้อนแต่ชอบห่มผ้า กระหายน้ำ แต่ดื่มน้ำน้อย ชอบดื่มน้ำอุ่นปริมาณน้อย บางครั้งมีท้องเสีย ถ่ายเหลว ปัสสาวะปริมาณมากและสีจาง
- การตรวจดูลิ้น ลิ้นจะซีด ฝ้าขาว ชีพจรลอย ใหญ่ไม่มีราก หรือเล็ก อ่อนแอมาก (แทบคลำไม่เจอ)

๒. ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ เย็นแท้-ร้อนเทียม

พื้นฐานองค์รวมร่างกายเป็นยิน เป็นเพราะพลังหยางอ่อนพร่อง ทำให้ความเย็นสะสมภายใน เกิดความเสียสมดุล ยิน-หยางเริ่มจะแยกตัว หยางลอยสู่เบื้องบนและสู่ภายนอก ปรากฏพลังหยางที่บริเวณแก้มที่ลอยอยู่ ส่วนผิวทำให้ดูแดงเหมือนประแป้ง พลังหยางที่ลอยสู่ภายนอกทำให้ลำตัวรู้สึกว่าร้อน ทั้งที่ภายในร่างกายเย็น

๓. สาเหตุที่ทำให้เกิดเย็นแท้-ร้อนเทียมคืออะไร

ในผู้ป่วยที่ป่วยเรื้อรัง ทำให้เกิดการเสียสมดุลของยิน-หยาง พลังและความร้อนของร่างกายที่สูญเสียต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ทำให้เกิดความเย็น (ยิน) สะสมในร่างกายมากกว่าปกติ จนเริ่มเกิดภาวะแยกตัวของยิน-หยาง อย่างกรณีหนึ่งคือ โรคที่มีความรุนแรงเกิดการต่อสู้ระหว่างร่างกายกับปัจจัยก่อโรค และร่างกายเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ ต้องสูญเสียพลังอย่างมาก จนถึงจุดที่การเสียสมดุลมากขึ้น ทำให้เกิดการแยกตัวของยินและหยาง

๔. กลไกสำคัญของเย็นแท้-ร้อนเทียม คืออะไร
การแยกตัวของหยางสู่เบื้องบน ทำให้แก้มแดงเหมือนประแป้ง แต่ไม่กระจายไปถึงแขนขาทำให้แขนขาเย็น
การแยกตัวของหยางสู่ภาย นอก ทำให้ตัวร้อนเหมือนมีไข้ 
- เนื่องจากภายในร่างกายมีความเย็นเป็นพื้นฐาน ถึงแม้จะมีตัวร้อน แต่จะดื่มน้ำไม่มาก แถมยังชอบ ดื่มน้ำอุ่น ชอบห่มผ้า ใส่เสื้อผ้าหนาๆ 
- เพราะพลังหยางในร่างกายน้อย ทำให้ใบหน้าไร้ชีวิตชีวา มีอารมณ์หงุดหงิดแปรปรวน
ชีพจรเป็นชีพจรที่ลอย ไม่มีราก (ขาดรากฐานของพลัง) ลิ้นขาว ซีด ฝ้าบนลิ้นขาว (มีความตกค้างของ ความชื้น)

๕. ข้อแตกต่างระหว่างร้อนแท้-ร้อนเทียมคืออะไร

                                     


๖. หลักการรักษาและตำรับยาพื้นฐานที่ใช้รักษาคืออะไร
หลักการรักษาคือ
- ดึงหยางกลับ กู้ชีวิต
- เชื่อมประสานนอกใน

ตำรับยาพื้นฐานที่ใช้
ทง-ม่าย-ซื่อ-นี่-ทัง, ฟู่จื้อ, กานเจี่ยง, กานเฉ่า
ฟู่จื้อ = อุ่นหยางของไต
กานเจียง = อุ่นหยางของม้าม
กานเฉ่า = บำรุงส่วนกลางของร่างกาย ทำให้เกิดหยาง
ยาทั้ง ๓ ตัว เสริมประสานกัน สลายความเย็นภายใน เสริมพลังหยาง ทำให้พลังหยางย้อนกลับสู่ภายใน ทำให้เติมเต็มชีพจร ชีพจรกลับมาอีกครั้ง บางครั้งต้องเพิ่มโสมคน, หัวหอมขาว ทำให้ฤทธิ์ในการทะลวงเส้นลมปราณ ประสานนอก-ในได้ผลดียิ่งขึ้น

๗. การประยุกต์ใช้ทางคลินิก-ข้อแตกต่างกับแผนปัจจุบันคืออะไร

- ทางแผนปัจจุบัน เวลาผู้ป่วยบอกว่า ตัวร้อน เรามักจะต้องวัดปรอท ดูว่ามีไข้หรือเปล่า มีการติดเชื้อระบบไหน หรือเกิดจากสาเหตุอะไร มีการอักเสบที่ไหน แล้วให้ยารักษาที่สาเหตุ รวมถึงให้ยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการ
- ในทางแพทย์จีนแยกแยะภาวะร้อนที่ตรวจพบ ว่ามีพื้นฐานจากภายในร่างกาย หรือภายนอกมากระทบเป็นหลัก ถ้าจากปัจจุบันก่อโรคภายนอก มากระทำในขณะที่ร่างกายยังไม่อ่อนแอ ความร้อนที่ตรวจพบจะเป็นภาวะแกร่ง การทำลายหรือใช้วิธีการขับพิษ ขับเหงื่อ ระบายร้อน เป็นต้น สามารถใช้เป็นด้านหลักในการรักษาได้ แต่ถ้าถึงจุดที่ร่างกายอ่อนแอ จนถึงยิน-หยางเสียสมดุลแล้ว การรักษาจะต้องกลับมาสู่การปรับสมดุลร่างกายก่อนเป็นด้านหลัก

ตัวอย่าง
เช่น มีรายงานการรักษาผู้ป่วยที่มีไข้สูง มีการตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาว ๑๙,๘๐๐ ลูกบาศก์มิลลิเมตร เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล ร้อยละ ๘๐ อุณหภูมิวัดได้ ๓๙.๕ องศาเซลเซียส แสดงว่ามีการติดเชื้อ แต่ให้ยาปฏิชีวนะแล้วไม่ดีขึ้น แต่เมื่อวินิจฉัยภาวะโรคแบบแพทย์จีนพบว่าเป็นพื้นฐานภายในเป็นภาวะเย็นแท้-ร้อนเทียม (ร่างกายเสียสมดุลมาก ยิน-หยางเริ่มแยกตัว) ให้การรักษาตามแนวแพทย์จีน อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้บ่งบอกให้รู้ว่า บางครั้งปัจจัยก่อโรคไม่รุนแรง แต่เพราะความเสียสมดุลของร่างกายมีมาก จึงทำให้อาการของโรครุนแรง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ผู้ป่วย ยูรีเมีย (ไตทำงานบกพร่องมีสารไนโตรเจน สะสมในเลือด) ใบหน้าแดง ตัวร้อน ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา หน้าตาไม่สดชื่นง่วงเหงาหาวนอน บางครั้งมีอาการอาเจียน แขนขาเย็น อุจจาระเหลว เท้าทั้ง ๒ ข้างบวม ท้องบวม ผิวหนังแห้งคันตามตัว ตัวลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจรเล็กและอ่อนแอมาก การวินิจฉัยทางแพทย์จีนเรียกว่า ยินมากอาการหยาง เย็นแท้-ร้อนเทียม เมื่อรักษาด้วยตำรับดังกล่าว อาการไข้ลดลง หน้าตาสดใสขึ้น มีราศี อาการของหยางลดลง ไข้ลดลง (รายงาน : ซางหานลุ่นทังเจิ้งซินเปียน; ซ่างไห่เคอจี้ชูป่านเซ่อ, ๑๙๘๓)

สรุป
ไม่ว่าร่างกายจะเป็นโรคอะไรมาก่อน แต่ถ้าสมดุลร่างกายถึงจุดยิน-หยาง เริ่มเสียหายมาก แพทย์จีนจะหันกลับมาเน้นการปรับสมดุลร่างกายเป็นหลัก เพราะมีแต่การเสริมสมดุลของร่างกายให้ดีได้ระดับหนึ่ง แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถสู้รบกับโรคภายนอก หรือโรคภายในที่ก่อตัวอยู่ "คิดจะทำลายศัตรู ต้องรู้ภาวะของตนเอง ถ้ามุ่งแต่ทำลาย แต่รักษาตัวเองไว้ไม่ได้ ในที่สุดก็จะพบกับความพ่ายแพ้"

การรู้จักแยกยิน-หยาง หรือร้อน-เย็นอย่างแท้จริง ทำให้สามารถวิเคราะห์ปรากฏการณ์ของโรค ซึ่งเห็นเฉพาะส่วนสู่ธาตุแท้ (พื้นฐานโดยองค์รวม) และสามารถวางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีที่ถูกต้อง ให้สอดคล้องในการรักษาผู้ป่วย



 

ข้อมูลสื่อ

311-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล