• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หยางแท้-ยินเทียม ร้อนแท้-เย็นเทียม

"ดิฉันเป็นคนขี้หนาว แขนขาเย็น แต่ตัวร้อน ท้องผูก เป็นแผลร้อนในบ่อย ดิฉันเป็นโรคอะไรค่ะ"Ž
"คนใกล้ชิดมักจะบอกว่า ผมมีกลิ่นปาก ผมไปหาหมอฟันแล้วหาสาเหตุไม่ได้ หมอจีนบอกว่าผมร้อนภายใน เพราะเป็นคนกระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หงุดหงิด ลิ้นและชีพจรก็บ่งบอก และให้ยาผมมากิน ปรากฏว่าดีขึ้นมาก"Ž


อาการหลายๆอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์แผนจีน มักจะถูกรวบรวมเป็นกลุ่มอาการ ประสานกับการตรวจวินิจฉัยด้วยการมอง (ดู), ถาม, ดม-ฟัง และจับชีพจร-สัมผัส สรุปเป็นการวินิจฉัยแยกแยะภาวะของโรค เพื่อวางแผนการรักษา

อาการต่างๆ ของผู้ป่วยข้างต้น ๒ รายอาจจะมีรายละเอียดบางอย่างเหมือนกัน บางอย่างต่างกันบ้าง แต่บางครั้งสรุปว่า มีพื้นฐานของการเสียสมดุลคล้ายกัน การวางแนวการรักษาก็จะเป็นแนวเดียวกัน แต่มีรายละเอียดที่ต้องปรับวิธีการ หรือการใช้ยาจำเพาะแตกต่างกัน เรียกว่า การปรับลดตำรับยา

๑. ร้อนแท้-เย็นเทียม มีอาการแสดงออกทางคลินิกที่สำคัญอย่างไร

- อาการ ที่ผู้ป่วยมาหาบ่อยๆ ได้แก่
อาการแขนขาเย็น ตัวร้อน (ส่วนอกและท้อง)
- อาการร่วมอื่นๆ ได้แก่ ไข้สูง กลัวความเย็น ใบหน้าไม่ค่อยมีชีวิตชีวา (บางรายหมดสติ) สีดำคล้ำ
ในผู้ป่วยที่ไม่มีไข้สูง มักมีกลิ่นเหม็น ปากเหม็น กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก ท้องผูก อุจจาระแห้งเป็นก้อน ปัสสาวะเหลืองเข้ม
- การตรวจลิ้น ชีพจร พบว่า ลิ้นแดง บนลิ้นมีฝ้าสีเหลือง ชีพจรลึกเร็ว และมีแรง

๒. ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ร้อนแท้-เย็นเทียมมีสาเหตุจากอะไร
พื้นฐานโดยรวมของร่างกายมีหยางชี่มาก ทั้งนี้มีสาเหตุ จากหยางหรือความร้อนจากภายนอก กระทบและเข้าสู่ภายในร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมเป็นความร้อน ผลการต่อสู้ของเสี่ยชี่กับเจิ้งชี่ (สิ่งก่อโรคกับพลังพื้นฐานของร่างกาย) พลังความร้อนที่อุดกั้นอยู่ภายใน ไม่สามารถกระจายไปสู่แขนขาได้ทำให้แขนขาเย็น
นอกจากนี้ ยังมีโรคอีกหลายอย่างที่ไม่ใช่โดนกระทบจากภายนอก แต่เป็นเพราะการสะสมความร้อนภายในอันเนื่องมาจากของเสีย เช่น เสมหะตกค้าง เลือดอุดกั้น อารมณ์อุดกั้น พลังอุดกั้น

๓. กลไกการเกิดร้อนแท้-เย็นเทียมคืออะไร
หยางและความร้อนที่มาก จมลึกอยู่ภายในร่างกาย พลังหยางถูกกด อุดกั้นอยู่ภายใน ไม่สามารถออกสู่ร่างกายภายนอก ไม่สามารถให้ความอบอุ่นกับกล้ามเนื้อและผิวหนังบริเวณแขนขา

ความร้อนภายในเป็นภาวะแท้ (เป็นร้อนแท้) ทำให้ร่างกายภายในร้อน (หน้าอก ช่องท้อง) กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก ปากเหม็น อุจจาระแข็ง ปัสสาวะเข้มเหลือง ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นสีเหลือง

ความเย็นของแขนขาเป็นภาวะเทียม (เป็นเย็นเทียม) ทำให้มีอาการแขนขาเย็น หรือกลัวความเย็น ใบหน้าไร้ชีวิตชีวา มีสีคล้ำม่วง ชีพจรจะลึกและค่อนเร็ว เพราะพลังหยางถูกกด (ภาวะเทียม) ชีพจรแรงบ่งบอกภาวะแกร่งร้อน (ภาวะแท้)

๔. ข้อแตกต่างระหว่างเย็นแท้กับเย็นเทียมคืออะไร

                    


๕. หลักการรักษาและตำรับยาพื้นฐานที่ใช้รักษาคืออะไร
หลักการรักษาคือ
๑. รักษาอาการเย็นด้วยยาเย็น
๒. ระบายขับร้อนภายใน

ตำรับยาพื้นฐานที่ใช้

๑. ตำรับ ไป๋-หู่-ทั่ง
มีตัวยาสำคัญคือ สือกาว, จือหมู่, จิงหมี่, กันเฉ่า
สือกาว เป็นยาหลัก ขับร้อนเสริมสารจิน (ของเหลวใสในร่างกาย) แก้กระหายน้ำ ขับความร้อนระดับชี่
จือหมู่ เป็นยารอง ขับร้อนของปอดและกระเพาะอาหาร เช่นเดียวกับยาหลัก แก้กระหายน้ำ
จิงหมี่ เป็นยาเสริม บำรุงกระเพาะอาหาร ป้องกันไม่ให้ยาทั้งตำรับเย็นเกินไป ป้องกันการกระทบกระเทือนกระเพาะอาหาร
กันเฉ่า เป็นยาประสาน เช่นเดียวกับจิงหมี่ ยังเป็นตัวปรับยาทั้งตำรับให้เข้ากัน
(ตำรับนี้เหมาะสำหรับระบายความร้อนออกนอก)
๒. ตำรับ ต้า-เฉิง-ชี่-ทัง
มีตัวยาสำคัญคือ ต้าหวง, หมางเซียว, จื่อสือ, โฮ่ว-พ่อ
ต้าหวง รสขม คุณสมบัติเย็นขับร้อน ขับการอุดกั้นของเลือด ขับอุจจาระ
หมางเซียว รสเค็ม คุณสมบัติเย็น ขับร้อน ทำให้นุ่ม ให้ความชุ่มชื้น ขับอุจจาระ
จื่อสือ รสขมเผ็ด สลายก่อนลงล่าง
โฮ่ว-พ่อ รสขม คุณสมบัติร้อน ลดอาการแน่นลงล่าง
(ตำรับนี้เหมาะสำหรับมีการอุดกั้นของความร้อนภายในร่างกาย)

๖. ร้อนแท้-เย็นเทียม ในทางแพทย์แผนปัจจุบันได้แก่โรคอะไรบ้าง
ขอบเขตของภาวะร้อนแท้-เย็นเทียม ค่อนข้างกว้างขวาง เช่น
ภาวะไข้สูง ตัวร้อนจากการติดเชื้อ ทำให้เชื้อเพาะตัวในร่างกาย พลังยิน-หยางของร่างกายไม่กลมกลืน เป็นมากถึงขั้นแยกตัว เกิดภาวะช็อก
โรคการอักเสบ หรือเกิดหนองของท่อน้ำดี
โรคระบาด ที่ทำให้มีการสะสมของเชื้อภายในร่างกาย
ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรัง แน่นท้อง ปวดท้อง มีแผลร้อนใน ฝ้าบนลิ้นแห้งมีสีเหลือง มีกลิ่นปาก กลิ่นตัวเหม็น เป็นต้น

สรุป
ภาวะร้อนแท้-เย็นเทียม เป็นภาวะที่พบบ่อยจากความร้อน หรือพลังหยางภายในร่างกายมาก ทำให้เกิดไข้ เกิดความร้อนภายใน (ทั้งนี้อาจเกิดจากพลังความร้อนภายนอกเข้าสู่ร่างกาย) ตามด้วยอาการต่างๆ เช่น แขนขาเย็น ท้องผูก หงุดหงิด เป็นแผลในปาก ปากเหม็น มีกลิ่นปาก ในผู้ป่วยที่มีไข้สูงอาจตามมาด้วยอาการช็อก ชัก หมดสติ ซึ่งต้องมีการปรับใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายๆ ไป แต่มีหลักการที่สำคัญคือ ขับระบายความร้อน เพื่อให้พลังสามารถกระจายสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่การขับสวนลำไส้ใหญ่ การป้องกันไม่ให้ท้องผูกเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้ภายในร่างกายไม่มีการสะสมความร้อนจนทำให้เกิดการเสียสมดุล

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

312-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 312
เมษายน 2548
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล