• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กริยา : เดาติ นาอุลิ และ บาสติ

พึงระลึกว่า โยคะเป็นภูมิปัญญาโบราณจากอินเดีย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะพามนุษย์ไปสู่เป้าหมายสุดท้ายแห่งการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือทำกิจที่ควรทำให้เสร็จสิ้น ให้หมดจด เพราะเมื่อเราได้ทำกิจที่ควรทำเรียบร้อยแล้ว เราจะได้ "ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก" และเทคนิคการฝึกโยคะทั้งหลาย ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะนำพาผู้ฝึกไปเพื่อการนี้ทั้งสิ้น

เรากำลังอยู่ในเรื่องของเทคนิคกริยา ที่หมายถึงการชำระล้าง ฉบับที่แล้วได้อธิบายถึง เดาติ คือการทำความสะอาดบริเวณ ระบบย่อยอาหารส่วนบน ทั้งกระเพาะและหลอดอาหาร ได้อธิบาย วามันเดาติ ซึ่งเป็นการดื่มน้ำเข้าไปแล้วอาเจียนออกมา

เดาติชนิดที่ 2 คือ วาสตระ (Vastra Dhauti) Vastra แปล ว่า ผ้า ซึ่งก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้ทำความสะอาดในเทคนิคนี้นั่นเอง

วิธีทำ
ทำยามเช้าก่อนกินอาหาร นำผ้าก๊อซสะอาดหน้ากว้างประมาณ 1 นิ้ว ยาว 5 เมตร มาแช่น้ำให้นุ่ม แล้วค่อยๆ กลืนผ้าเข้าไปทีละนิดๆ จนเหลือเพียงส่วนปลาย คาอยู่ที่ปากไว้เล็กน้อย รอสักไม่เกิน 10 นาที แล้วจึงค่อยๆ ดึงผ้ากลับออกมา บางคนจะพบว่าผ้าที่ดึงคืนกลับมานั้นมีสีเหลือง ซึ่งก็คือเมือก หรือสิ่งต่างๆ ที่เคลือบอยู่ตามผนังหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร

ข้อควรระวัง เราจะไม่รอนานเกิน 10 นาที เพราะต้องระวังไม่ให้ผ้าเคลื่อนจากกระเพาะ เข้าไปในลำไส้เล็ก ซึ่งจะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นผลดี

ข้อพิจารณา
ระหว่างกลืนผ้า เราจะเกิดอาการขย้อน รู้สึกอยากจะอาเจียนตลอดเวลา เพราะร่างกายรู้สึกว่าผ้าเป็นสิ่งแปลกปลอม ผู้ฝึกจึงต้องคอยกดข่มอาการเอาไว้ ดังที่ย้ำ มาตลอดว่า อย่ามองเทคนิคโยคะเป็นเพียงเรื่องกายภาพ เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังละเลยมิติที่สำคัญมากกว่า คือ การควบคุมจิต วาสตระเดาติ กระตุ้นให้กลไกตอบสนอง reflex ทำงานได้ดีขึ้น ในกรณีนี้ เป็นการช่วยให้เรามีความสามารถในการกดข่ม อารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น

กริยา นาอุลิ

นาอุลิเป็นอีกเทคนิคหนึ่งในกริยา เป็นการทำความสะอาดอวัยวะภายในช่องท้อง โดยอาศัยการกดนวดของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง คำว่า nau หมายถึงเรือ ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึง กล้ามเนื้อหน้าท้องที่ขยับไหว เหมือนเรือกำลังโต้คลื่น

                           

วิธีทำ
1. ทำในท่ายืน งอเข่า โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
2. หายใจออกท้องแฟบ กลั้นลมหายใจไว้ ยกกะบังลมขึ้น ทำให้ช่องท้องเว้าเข้ามากขึ้น (อุทธิยานะ)
3. ปล่อยให้กล้ามเนื้อหน้าท้อง recti ตกออกมาบริเวณด้านหน้า มองด้วยตาเปล่าจะเห็นกล้ามเนื้อ recti ปรากฏเป็นเส้นชัดเจน เรียกว่านาอุลิกลางตลอดเวลา เรายังคงกลั้นลมหายใจ
4. ผ่อนคลายช่องท้อง สูดลมหายใจเข้าช้าๆ

ข้อพิจารณา
- เราสามารถทำนาอุลิ โดยทำเฉพาะกล้าม-เนื้อ recti ข้างซ้าย เรียกว่า นาอุลิซ้าย หากทำเฉพาะกล้ามเนื้อ recti ข้างขวา เรียกว่า นาอุลิขวา 
- เราสามารถทำนาอุลิทั้ง 3 กับ อุทธิยานะ เรียงตามลำดับ กลาง-ขวา-อุทธิยานะ-ซ้าย ต่อเนื่องกัน (ตามเข็มนาฬิกา) หรือ กลาง-ซ้าย-อุทธิยานะ-ขวา ต่อเนื่องกัน (ทวนเข็มนาฬิกา) จะดูเหมือนกล้ามเนื้อหน้าท้องหมุนวนเป็นวง เรียกว่า จะละนาอุลิ ซึ่งก็จะได้ผลทางด้านการกดนวด การทำความสะอาดภายในช่องท้องอย่างเต็มที่ 
- การปฏิบัตินาอุลิสม่ำเสมอ ช่วยให้ผู้ฝึกมีสมาธิดีขึ้น เพราะต้องคอยจดจ่ออยู่กับกล้ามเนื้อหน้าท้องเหล่านี้ ที่สำคัญ กล้ามเนื้อหน้าท้องที่เกี่ยวเนื่องในนาอุลิเป็นกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งไม่อยู่ในความควบคุมของเรา แต่ทำงานโดยระบบประสาทอัตโนมัติ และทำงานขึ้นกับสภาวะอารมณ์ จะสังเกตเห็นว่า หากเรามีสภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ การทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบดูดซึม ระบบขับถ่าย ก็ผิดปกติ การฝึกนาอุลิสม่ำเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องเชิงกายภาพเท่านั้น หากแต่เป็นการช่วยทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบบริเวณหน้าท้องทำงานได้เป็นปกติ ช่วยทำให้เราเป็นผู้มีอารมณ์มั่นคง
ข้อควรระวัง เทคนิคกริยาทั้งหลาย เป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน ควรเริ่มต้นเรียนรู้กับครูผู้ชำนาญ เพื่อความปลอดภัย

 

ข้อมูลสื่อ

312-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 312
เมษายน 2548
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์