• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเลือกขนาดของอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน

มีคำกล่าวที่ได้เคยกล่าวมาในช่วงแรกๆ ของบทความ คือประโยคที่ว่า "fitting the task to the man" การจัดงานให้เข้ากับคน หรือบางคนก็อาจพูดกลับกันเป็น "fitting the man to the task" การจัดคนให้เข้ากับงาน สองประโยคนี้มีการพูดถึงบ่อยในวงการการยศาสตร์ (ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน สภาพงาน และสิ่งแวดล้อมของการทำงานให้เข้ากับผู้ที่ใช้งานเพื่อประโยชน์ของการลดการบาดเจ็บของการทำงาน และให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานสูงสุด) หลายๆ ครั้งเราจะไม่ทราบว่าขนาดของอุปกรณ์ที่เราใช้อยู่หรือกำลังเลือกซื้อหามาใช้จะมีขนาดเหมาะสมกับเราหรือไม่ เนื้อหาสำหรับครั้งนี้จะกล่าวถึงหลักการง่ายๆ ที่อาจปนด้านวิชาการบ้าง แต่ก็จะพยายามให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด

ความแตกต่างกันของขนาดและสัดส่วนร่างกายของคน
คนเราทุกคนมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งสัดส่วนของร่างกาย ซึ่งมีผลต่อการออกแบบ และการ เลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นเนื่องจาก เพศ อายุ เชื้อชาติ ตลอดจนภูมิลำเนา ดังเห็นตัวอย่างได้จากเพศชายมักจะมีร่างกายที่สูงกว่าเพศหญิง เด็กย่อมมีร่างกายที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ และผู้ที่สูงอายุอาจมีการทรุดตัวลงของกระดูกสันหลังทำให้ตัวเตี้ยลงได้ ในขณะที่คนไทยตัวจะไม่สูงใหญ่เท่าคนฝรั่งผิวขาว แต่ก็ค่อนข้างสมส่วน ดังสังเกตได้จากช่วงขาและช่วงตัวจะยาวใกล้เคียงกัน ขณะที่คนหลายๆ ประเทศ อาจมีช่วงขาที่สั้นกว่าตัว หรือบางประเทศ เช่น ประเทศแอฟริกาที่มีช่วงขายาวกว่าช่วงตัวมาก นอกจากความสูงแล้วความอ้วนที่ขยายออกด้านข้างก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละคนเช่นกัน

ความแตกต่างของคนกับการออกแบบอุปกรณ์
เพราะทุกคนมีความแตกต่างกัน ทำให้เราต้องเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสม รวมทั้งขนาดของเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นขนาด S M L หรือ XL หรือบางยี่ห้อแบ่งเป็น ขนาดสำหรับเด็ก ผู้หญิง และผู้ชายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การออกแบบขนาดที่แตกต่างกันนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หมด เพราะยังมีอีกหลายคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเสื้อผ้า เพราะหาขนาดที่เหมาะสมไม่ได้ เช่น บางคนต้องใส่ขนาด XXL หรือ SS นั่นคือขนาดที่ใหญ่หรือเล็กไปกว่านั้น หรือบางคนอ้วนแต่ไม่สูงถ้าใส่ XXL จะพอดีแต่ความยาวเสื้อยาวเกินไปไม่เหมาะสม ทำให้แก้ไขโดยการจ้างช่างตัดเสื้อผ้า ให้ตัดให้เหมาะเฉพาะกับตนเอง

อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำงานก็เช่นเดียวกับเสื้อผ้า ถ้าขนาดของผู้ที่ใช้ไม่เท่ากันขนาดของอุปกรณ์ก็ควรจะแตกต่างกันด้วย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ความสูงของชั้น ประตู หน้าต่าง และอุปกรณ์อื่นๆ อุปกรณ์เหล่านี้มักเป็นอุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด โดยที่ขนาดของอุปกรณ์ต่างๆ อาจได้รับการออกแบบโดยใช้ค่าสัดส่วนมาตรฐานของคนไทยหรืออุปกรณ์บางอย่างก็ถูกลอกแบบหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งสัดส่วนของคนต่างชาติย่อมแตกต่างจากคนไทยอย่างแน่นอน ดังนั้น อุปกรณ์หลายอย่างอาจไม่เหมาะสมกับคนไทย

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการใช้ค่าสัดส่วนมาตรฐาน ในการออกแบบจะมีรูปแบบที่ชัดเจนอยู่ ๓ รูปแบบคือ

๑. การออกแบบโดยการใช้ค่า สัดส่วนเฉพาะให้เหมาะสมกับบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ลักษณะตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การตัดเสื้อผ้าให้เข้ากับคนใดคนหนึ่ง หรือเก้าอี้ที่สร้างขึ้นโดยใช้สัดส่วนของคนที่ใช้ การออกแบบแบบนี้เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด แต่ราคาก็อาจแพงขึ้น

๒. การออกแบบเพื่อให้มีช่วงการ ปรับระดับได้ เช่น เก้าอี้ที่สามารถปรับความสูงได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ในลักษณะนี้อาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่เตี้ยหรือสูงเกินไป โดยมากการใช้ค่าสัดส่วน เพื่อการออกแบบให้ปรับได้นั้นจะครอบ-คลุมคนตั้งแต่ ๕-๙๕ percentile หรือ เรียกง่ายๆ คือ ถ้ามีคน ๑๐๐ คน ๕ คนแรกที่เตี้ยที่สุด กับ ๕ คนหลังที่สูงที่สุด จะไม่เหมาะกับเก้าอี้ที่ปรับได้นี้ อุปกรณ์ที่ปรับได้นี้ถือว่า เหมาะสมที่สุดที่สามารถใช้ได้กับคนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การปรับได้มากก็หมายถึงราคาที่สูงขึ้นและความ มั่นคงของอุปกรณ์นั้นๆ อาจลดลง เช่น เก้าอี้ที่ปรับได้ย่อมมีราคาแพง และถ้าปรับให้สูงมากก็อาจไม่มั่นคงเท่าเก้าอี้ที่ปรับไม่ได้

๓. การออกแบบโดยใช้ค่าเฉลี่ย ๕๐ percentile ซึ่งเป็นค่ากลางที่คนที่เหมาะสมที่สุดคือกลุ่มคนที่มีสัดส่วนความสูงอยู่ที่ประมาณค่าเฉลี่ย ส่วนคนที่เตี้ยกว่าหรือสูงกว่าก็ต้องยอมรับที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านั้นด้วยความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่ เก้าอี้ที่ใช้ตามห้องเรียนของโรงเรียนประถมหรือมัธยมต่างๆ

เลือกอุปกรณ์อย่างไรให้เหมาะสมกับคน
เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะบอกว่า โต๊ะ เก้าอี้ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ต้องมีขนาดความสูง ความกว้าง ความลึก เท่าไร ถึงจะเหมาะสม เนื่อง จากมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ลักษณะของงาน และอุปนิสัย ตลอดจนความถนัดในการทำงานนั้นๆ เช่น ชนชาติฝรั่งจะไม่ถนัดการนั่งทำงานบนพื้นเหมือนคนไทย ดังนั้นอุปกรณ์ต่างๆ จะอยู่ในลักษณะที่ต้องนั่งเก้าอี้ หรือยืน ทำ แต่ของคนไทยอาจมีลักษณะของนั่งพื้นทำงานเข้ามาร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม มีหลักการง่ายๆ ที่พอจะนำมาพิจารณาได้ โดยให้ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑. ต้องให้รู้ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ใช้ เช่น โต๊ะที่รอง รีดผ้า ผู้ที่จะใช้คือผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีวัยที่มีวุฒิภาวะพอ ควร ดังนั้น ความสูงของโต๊ะที่รองรีดนั้นคงไม่เตี้ยขนาดที่เด็กเล็กๆ จะใช้ หรือตำแหน่งของปลั๊กไฟ หรือของที่อันตรายก็ต้องสูงเพียงพอที่เด็กเล็กๆ จะเอื้อมไม่ถึง

๒. อุปกรณ์นั้นใช้เฉพาะคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม ถ้าใช้เฉพาะคนเดียวการเลือกซื้อหรือออกแบบก็ควรเหมาะกับบุคคลนั้นๆ แต่ใช้สำหรับหลายๆ คน ควรเลือก อุปกรณ์ที่ปรับระดับได้ แต่ถ้าอุปกรณ์นั้นไม่สามารถ ทำให้ปรับระดับได้ เช่น ประตู หน้าต่าง ปลั๊กไฟ ให้พิจารณาในข้อต่อไป

๓. ต้องรู้ว่าอุปกรณ์นั้นเมื่อใช้งาน เราต้องการช่องว่างหรือพื้นที่เพื่อการผ่านเข้าออกได้โดยสะดวก ลักษณะเช่นนี้จะใช้ความสูงของคนสูงเป็นตัวกำหนด เช่น ความสูงของประตูถ้าต่ำเกินไปจะทำให้คนสูงต้อง ก้มศีรษะเมื่อเดินลอดผ่าน แต่ถ้าประตูสูงคนเตี้ยย่อมสามารถเดินลอดผ่านโดยสะดวก ความสูงของโต๊ะ เก้าอี้ โต๊ะทำครัว ที่รองรีดผ้า ก็เช่นกันหากโต๊ะนั้นต่ำเกินไปจะทำให้คนสูงเอาขาสอดเข้าไปไม่ได้ ในขณะที่คนเตี้ยสามารถใช้โต๊ะที่สูงได้ด้วยการหาที่พักเท้าให้สูงขึ้น

๔. ต้องรู้ว่าอุปกรณ์นั้นเมื่อใช้งานเราต้องเอื้อมหรือ ยื่นมือเพื่อหยิบหรือสัมผัสสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ ลักษณะการ เอื้อมแบบนี้จะใช้สัดส่วนของคนเตี้ยเป็นผู้กำหนด เช่น กลอนประตู สวิตช์ไฟ ความลึกของโต๊ะ หากใช้สัดส่วนของคนสูงเป็นตัวกำหนดจะทำให้คนเตี้ยที่แขนย่อมสั้นกว่าคนสูง ต้องเอื้อมหรือโน้มตัวค่อนข้างมาก

๕. เมื่อกำหนดได้ว่าอุปกรณ์นี้ควรใช้สัดส่วนของผู้ใดแล้ว ให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่กำหนดขนาดของอุปกรณ์ ในที่นี้ผู้หนึ่งอาจเป็นผู้กำหนดระยะเอื้อม อีกผู้หนึ่งอาจเป็นผู้กำหนดความสูงก็ได้ จากนั้นทำการทดลองกำหนดระยะหรือทดลองปรับ แล้วทำการทดลองนั่ง ทดลองเอื้อม ทดลองใช้งาน โดยท่าที่ทดลองต้องไม่อยู่ในท่าที่เสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บในการทำงาน นั่นคือ เป็นท่าที่ไม่เอื้อมมากเกินไป ไม่มีการบิดตัวขณะยกหรือย้ายของ หลังอยู่ในท่าตรง ศีรษะและคอไม่บิดหรือก้มหรือเงยอยู่ในท่าหนึ่งนานๆ ไม่มีจุดสัมผัสหนักๆ ของร่างกายกับอุปกรณ์เป็นเวลานานๆ และที่สำคัญที่สุดคือ รู้สึกสบายเมื่อใช้งานกับอุปกรณ์นั้นๆ

๖. หากอุปกรณ์นั้นๆ ถูกใช้กับคนที่มีความแตกต่างกันมากทำให้ยากแก่การปรับอุปกรณ์ให้เหมาะกับสัดส่วนของแต่ละคน เช่น เด็กกับผู้ใหญ่ ดังนั้น อาจต้อง ใช้โต๊ะ เก้าอี้ สำหรับเด็กเล็ก และโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับผู้ใหญ่ เพราะการปรับให้เด็กสามารถใช้งานกับโต๊ะ เก้าอี้ ของผู้ใหญ่ได้นั้นเป็นเรื่องที่ยาก

๗. หากอุปกรณ์นั้นๆ หายากและมีขนาดเดียว เช่น เครื่องจักรที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีขนาดเหมาะสำหรับคนของประเทศนั้นๆ อาจทำให้ปรับเครื่องจักรให้เข้ากับผู้ที่ใช้ยาก วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการบาดเจ็บจากการทำงานและให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพคือ คัดเลือกคนที่มีขนาดเหมาะสมกับเครื่องจักรนั้นๆ ตั้งแต่ต้น

๘. เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ควรทำการประเมินว่าขนาดอุปกรณ์ที่เราปรับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ด้วยการ ดูอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้น ดูปริมาณงานและคุณภาพของงานเทียบกับอดีต แล้วทำการปรับอุปกรณ์นั้นให้เหมาะสมอีกครั้ง

เมื่อท่านได้ลองใช้วิธีดังกล่าวแล้ว คาดว่าท่าน คงมีความสุขกับการทำงานมากขึ้นไม่มากก็น้อย สำหรับรายละเอียดข้อมูลเรื่องค่าสัดส่วนมาตรฐานของคน ไทยนั้น เท่าที่ผู้เขียนทราบมีการทำการรวบรวมอยู่บ้างในกลุ่มชายไทยภาคอีสาน และในกลุ่มอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า
 

ข้อมูลสื่อ

312-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 312
เมษายน 2548
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา