• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผักเสี้ยน : จากวัชพืชสู่แถวหน้าในบรรดาผักดองไทย

ผักเสี้ยน : จากวัชพืชสู่แถวหน้าในบรรดาผักดองไทย

 

"สูงสุด คืนสู่สามัญ" ประโยคอันแสดงถึงสัจธรรมของโลกข้างบนนี้ จะมีกำเนิดมาจากที่ใดและนานเท่าไรแล้ว ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจนัก จึงขอเว้นเอาไว้ก่อน แต่เชื่อว่าผู้อ่านคอลัมน์นี้หลายท่านคงเป็นเช่นเดียวกันคือคุ้นเคยกับประโยคดังกล่าวและเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งที่แฝงอยู่ในประโยคสั้นๆ ธรรมดาๆนี้ แต่ไม่ทราบถึงความเป็นมาที่แท้จริง

หากพิจารณาถึงความรู้หรือ ภูมิปัญญาอันลุ่มลึกหลายๆอย่างที่ตกทอดมาแต่ครั้งโบราณ ดังเช่น ระบบฝึกกาย-ลมปราณ-จิต ที่เรียกว่า โยคะ จากอินเดียหรือระบบรักษาโรคที่เรียกว่า การฝังเข็ม แล้วจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนแน่นอนว่า เกิดจากใครตั้งแต่เมื่อใด ผู้เขียนนึกถึงประโยค "สูงสุด คืนสู่สามัญ" ขึ้นมาเมื่อคิดว่าจะเขียนเรื่องของผักพื้นบ้านไทยชนิดใดต่อจากผักหวานป่า ประโยคดังกล่าวทำให้ผู้เขียนเลือกนำเสนอผักที่เห้นว่าสามัญที่สุด จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นวัชพืชที่น่ารังเกียจจากผู้ที่ไม่รู้คุณค่า ผักพื้นบ้านชนิดนี้คนไทยภาคกลางเรียกว่า "ผักเสี้ยน"
 

ผักเสี้ยน : ผักที่มีลักษณะ "ข้างนอกขรุขระข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง"

ผักเสี้ยนเป็นพืชในสกุล Cleome ของวงศ์ Cleomaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cleome gynandra L. ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ คือ spider weed หรือ spider flower ภาษาไทยเรียก ผักเสี้ยน ผักเสี้ยนขาว (ภาคกลาง) ผักส้มเสี้ยน (ภาคเหนือ)
 

ผักเสี้ยนเป็นไม้ล้มลุก เนื้ออ่อน สูงไม่เกิน ๑ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง ตามลำต้นและกิ่งก้านมีต่อมขนอ่อนปกคลุม ใบเป็นแบบมือ ประกอบด้วยใบย่อย ๓-๕ ใบ ก้านใบยาว ออกสลับกันบนกิ่ง ดอกออกเป็นช่อปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว หรือเหลือบม่วง ดอกมีลักษณะเป็นเส้นยาวเล็กคล้ายเสี้ยน จึงชื่อผักเสี้ยน หรือคล้ายขาแมงมุม จึงเรียกในภาษาอังกฤษว่า spider flower ผลเป็นลักษณะฝักยาวทรงกระบอกปลายแหลม มีจงอยตรงปลาย เมล็ดสีน้ำตาลดำขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 

แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของผักเสี้ยน อยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย (รวมทั้งไทย) แล้วกระจายไปทั่วโลก ทั้งทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ พบขึ้นเองตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป จึงถือเป็นวัชพืชอย่างหนึ่ง ดังชื่อ ในภาษาอังกฤษว่า spider weed นั่นเอง ผักเสี้ยนนับเป็นพืชอาภัพ เพราะลักษณะภายนอกไม่น่าดู นอกจากจะมีขนอ่อนปกคลุมทั้งลำต้น กิ่งก้านและใบแล้ว ยังมีของเหลวเหนียวๆติดมือและกลิ่นฉุนเมื่อสัมผัส บางคนกล่าวว่ากลิ่นคล้ายมัสตาร์ด นอกจากกลิ่นแรงแล้ว ใบสดยังมีรสขมไม่ชวนกินอีกด้วย ชื่อของผักเสี้ยนก็ไม่ค่อยน่า ฟังหรือเป็นมงคลสำหรับคนไทย เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ คำจำกัดความของ "เสี้ยน" ว่า "เนื้อไม้ที่แตกเป็นเส้นเล็กๆ ปลายแหลมอย่างหนาม หรือเรียกสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น" นอกจากนี้เสี้ยนยังใช้ประกอบคำที่มีความหมายในทางร้าย เช่น "เสี้ยนหนาม" หมายถึง ศัตรูที่มีอันตรายร้ายแรง ดังเช่น คำว่า เสี้ยนหนามแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากนั้นผักเสี้ยนยังขึ้นได้เองทั่วไปตามที่รกร้างว่างเปล่า เช่นเดียวกับวัชพืชต่างๆ ผักเสี้ยนจึงถูกมองเหมือนพืชไร้ค่า เพราะหาได้ง่ายไม่ต้อง ลงทุนลงแรงเพาะปลูกหรือไปเสาะหาในป่าลึกแต่อย่างใด จากลักษณะต่างๆดังกล่าวมานี้ ผักเสี้ยนจึงมีฐานะต่ำกว่าความเป็น "สามัญ" เสียอีก จนอาจกล่าวได้ว่า ผักเสี้ยนมีฐานะต่ำต้อยอยู่ในกลุ่มล่างสุดของบรรดาผักพื้นบ้านไทย


ผักเสี้ยนในฐานะผัก
ชื่อเรียกผักเสี้ยนในภาคเหนือว่า ผักส้มเสี้ยน แสดงนัยยะถึงคุณสมบัติในการเป็นผักของผักเสี้ยนว่าเกี่ยวข้องกับรสเปรี้ยว (ส้ม) ทั้งนี้เนื่องจากผักเสี้ยนเหมาะสำหรับ นำมาดองเปรี้ยว ซึ่งให้รสชาติดีที่สุด (เมื่อเปรียบเทียบกับการนำไปปรุงอาหารด้วยวิธีอื่นๆ) เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่เคยกินผักดอง คงคุ้นเคยและชื่นชอบรสชาติของผักเสี้ยนดอง(เปรี้ยว) ซึ่งใช้จิ้มน้ำพริกกะปิใส่มะนาวให้มีรสออกไปทางเปรี้ยวนำมากเป็นพิเศษ ผักเสี้ยนดอง(เปรี้ยว)นั้น นับเป็นผักดองที่คนไทยนิยมกินทั่วทุกภาค ดังจะเห็นได้จากมีเกษตรกรหลายรายยึดอาชีพเพาะปลูกผักเสี้ยน แล้วดองขายเป็นหลักต่อเนื่อง มีรายได้แน่นอนและมั่นคงตลอดมา สำหรับผู้บริโภคก็จะพบว่าในตลาดมีผักเสี้ยนดองวางขายทั่วไปตลอดปีเช่นเดียวกัน แสดงถึงความนิยมแพร่หลายของชาวไทยที่มีต่ออาหาร ตำรับนี้ได้อย่างชัดเจน แม้ผักเสี้ยนจะนำไปประกอบอาหารด้วยวิธีอื่นๆ ได้อีก เช่น นำไปต้มหรือลวกให้สุกก็ทำให้หายขมและหมดกลิ่นเหม็น นำไปเป็นผักจิ้มได้เช่นเดียวกับการดอง แต่ชาวไทยไม่นิยมกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อนึกถึงผักเสี้ยนในฐานะผัก ก็จะนึกถึงผักเสี้ยนดอง (เปรี้ยว) และถึงแม้ผักเสี้ยนจะไม่ใช่ผักที่อยู่ในแถวหน้า แต่ในบรรดาผักดองด้วยกันแล้ว ผักเสี้ยนดองย่อมอยู่ในอันดับต้นๆของความนิยมอย่างแน่นอน


ประโยชน์ด้านอื่นๆของผักเสี้ยน
ผักเสี้ยนมีคุณสมบัติด้านสมุนไพรตามตำราแพทย์แผนไทยหลายประการ เช่น

ต้น : กลิ่นฉุนร้อน แก้เลือด ระดูเน่าเสียที่ทำให้จับสั่นสะท้าน

ใบ : บำรุงเสมหะให้เป็นปกติ

ดอก : แก้เลือดสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ

เมล็ด : ฆ่าไส้เดือน (พยาธิ) ในท้อง

ราก : แก้ลมอันเป็นพิษ

ผักเสี้ยนทั้งห้า (ต้น ใบ ดอก เมล็ด ราก) : รสร้อน แก้ปวดท้อง ลงท้อง แก้พิษฝี แก้ไข้ตรีโทษ ในตำราแพทย์แผนไทยมีคำเรียกผักเสี้ยนทั้งสอง หมายถึง ผักเสี้ยนกับผัก เสี้ยนผีรวมกัน ในอินเดียใช้เมล็ดผักเสี้ยน สกัดทำเป็นยากำจัดแมลง ในแอฟริกาใช้ยอดและใบอ่อนของผักเสี้ยนปรุงรสและกลิ่นซอสในอินโดนีเซียใช้เลี้ยงสัตว์ และใช้เมล็ด เป็นอาหาร ผักเสี้ยนเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากของธรรมดาสามัญที่มีอยู่ทั่วไป หาได้ง่าย ให้เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนธรรมดาหรือสามัญชน แนวทางดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นทิศทางหลักของการพัฒนาทรัพยากรของประเทศ ทั้งด้านการเกษตร อาหาร ยารักษาโรค หรือปัจจัยสำหรับชีวิตด้านอื่นๆ

ข้อมูลสื่อ

244-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 244
สิงหาคม 2542
อื่น ๆ
เดชา ศิริภัทร