• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลูกชอบกัดคนอื่น

ดิฉันมีลูกสาวคนเดียว ปัจจุบันอายุ ๑๔ เดือน ชื่อน้องมีน น้องมีนเริ่มมีฟัน ๒ ซี่ล่าง เมื่ออายุประมาณ ๘ เดือน และ ๒ ซี่บน ขึ้นตอนอายุ ๑๒ เดือน ลูกเป็นเด็กที่ชอบกัดมาก แรกๆดิฉันก็ซื้อของเล่นแบบให้เด็กกัดให้ลูก ลูกกัดได้ไม่นานก็ไม่เอาแล้ว และหันมากัดคนแทน ใครที่เข้ามาเล่นกับน้องมีนถ้าเผลอจะโดนน้องมีนกัดทันที หรือใครที่เข้ามาอุ้มก็จะโดนกัดตรงไหล่บ้าง แขนบ้าง ตัวดิฉันหรือพ่อเขาก็โดนจนไม่มีใครกล้าเล่นกล้าอุ้ม เวลาที่เพื่อนๆพาลูกมาเล่นด้วย หรือตอนที่ดิฉันพาน้องมีนไปสนามเด็กเล่น น้องมีนก็จะไปกัดเด็กคนอื่น พ่อแม่ของเด็กคนอื่นก็โกรธ แต่ดิฉันเข้าใจเขา เพราะถ้าเป็นดิฉัน ดิฉันก็คงจะโกรธเหมือนกัน ดิฉันไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี เพื่อจะให้เขาเลิกนิสัยชอบกัด ให้เขากัดของเล่นเขาก็ไม่ชอบ

ทุกวันนี้ที่บ้านต้องคอยดูเวลามีใครมาหาไม่ให้น้องมีนไปกัดเขา แต่แกก็จะหันมากัดคนที่บ้านแทน ป้าหมอกรุณาแนะนำด้วยนะคะว่าดิฉันจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ เพราะตอนนี้น้องมีนยังไม่รู้เรื่องในเวลาที่เราบอกว่า อย่า หรือไม่ได้ เขาไม่ฟังเลย

นฤมล/นนทบุรี

คุณนฤมลคะ น้องมีนแม่สาวน้อยอายุ ๑๔ เดือน ลูกสาวคนเดียวของคุณแม่ เธอยังอยู่ในวัยที่ไร้เดียงสา แต่ไม่ใช่ว่าจะสอนหรือแนะนำไม่ได่ น้องมีนก็เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ ที่อายุระดับนี้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแปลกขึ้นไปทุกวัน เริ่มตั้งแต่สามารถยืน เดิน และวิ่งได้ รวมทั้งยังมีพัฒนาการทางร่างกาย เช่น ใช้แขนใช้ขาคล่องขึ้น เริ่มมีฟันสามารถขบเคี้ยวอาหาร วัยนี้แหละที่พ่อแม่ทั้งหลายเริ่มต้องเวียนหัวมากขึ้นทุกที เพราะลูกบางคนก็ซนมาก วิ่งได้ทั้งวันไม่หยุด มิหนำซ้ำกลางคืนก็ยังละเมอหัวเราะคิกคัก หรือร้องไห้โฮๆ หรือมีท่าทีเหมือนฝันร้าย จนพ่อแม่ชักเริ่มเครียดเสียแล้ว

เด็กเริ่มเรียนรู้ชีวิตรอบๆตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะก้าวสู่การปรับตัวต่อไปในอนาคต นอกจากเรียนรู้แล้วเด็กยังทดสอบตัวเอง ทดสอบคนรอบตัว และทดสอบสิ่งของต่างๆ ป้าหมอเคยคุยกับคุณแม่คนหนึ่งที่มีลูกสาวยอดรักอายุขนาดน้องมีนที่สนใจแต่บันไดทั้งวัน เธอจะเริ่มขึ้นบันไดทีละขั้นๆ โดยที่คุณแม่จะต้องขึ้นตาม วันละ ๑-๒ ครั้งก็ยังดี แต่แม่สาวน้อยนี่ดูจะสนใจเป็นพิเศษขึ้นเป็นสิบๆครั้ง จนคุณแม่แทบจะหมดแรงคาบันได แต่พอเปลี่ยนสิ่งที่น่าสนใจอื่นขึ้นมาแทนที่ สาวน้อยก็หันไปสนใจอย่างอื่นแทนบันได เพราะของรอบๆตัวเธอนั้นมันน่าเรียนน่ารู้และน่าทดลองไปหมด ซึ่งสภาพแวดล้อมรอบๆตัวจะช่วยกระตุ้นให้เด็กที่ไร้เดียงสาทั้งหลายเริ่มฝึกฝนตัวเอง และก็เป็นโอกาสทองที่พ่อแม่สามารถสอนลูกได้อย่างง่ายๆ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่รู้เท่ากับเรา แต่เธอก็รู้เท่ากับเด็กที่มีอายุขนาดเท่ากับเธอว่าเมื่อผู้ใหญ่ห้ามนั้นคือการปฏิเสธ ทำให้เธออยากหรือปรับพฤติกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เลี้ยงดู

แต่ถ้าไม่ห้ามไม่สอน เด็กก็ขาดโอกาสขาดประสบการณ์ในชีวิต ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเมื่อไหร่ทำอะไรได้ และเมื่อไหร่ทำอะไรไม่ได้ และขาดการปรับตัวเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆในสังคม ซึ่งมีนิสัยใจคอ ความประพฤติ และความคิดอ่านแตกต่างกันไป คือเรียกว่าขาดทุนตั้งแต่เด็ก ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่เริ่มเข้าไปสอน
น้องมีนเธอมีสมบัติใหม่ที่ตื่นเต้นและน่าสนใจ คือเธอมีฟันขึ้นถึง ๔ ซี่ ของใหม่ๆเหล่านี้ เด็กทั้งหลายอยากทดสอบ อยากเรียนรู้ว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง การทดสอบของเด็กก็ทำแบบผิดบ้างถูกบ้าง

ขอให้เราทุกคนเริ่มต้นใหม่กับน้องมีน อันแรกคืออย่าให้น้องมีนกัดใครอีก เช่น เราอุ้มน้องมีนแล้วน้องมีนทำท่าจะกัด ต้องพยายามจับเอาไว้ไม่ให้กัด พร้อมกับบอกว่าไม่ได้ๆ เดี๋ยวเจ็บ ทำอย่างนี้ทุกคน วิธีการห้ามก็คือวิธีการปฏิเสธพฤติกรรมน้องมีนอย่างนุ่มนวล อย่าให้กัดอีก สิ่งเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะน้องมีนอาจจะเคยชินกับการกัดมามาก คุณแม่ต้องหาสิ่งอื่นที่มาเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งคุณแม่ก็ได้ลองพยายามทำแล้ว เช่น ซื้อของเล่นแบบให้เด็กกัดมาให้กัด จริงอยู่น้องมีนก็กัดแต่ไม่นานก็เลิกกัด ก็ต้องซื้อใหม่เพิ่มขึ้น เราอาจเปลี่ยนจากของเล่นที่ให้เด็กกัดมาเป็นของกิน ซึ่งทำให้เด็กได้ใช้ฟันมากขึ้น

บางคนใช้มันฝรั่งทอด กินแล้วกรอบๆกรุบๆดี เด็กก็จะเบี่ยงเบนความสนใจไปกินมันฝรั่งแทน บางคนก็ให้กินขนมหรือผลไม้ที่ต้องใช้ฟันเพื่อกัดแทะ เลือกผลไม้หรือขนมที่เด็กชอบ ก็จะทำให้เด็กเพลิดเพลินกับการใช้ฟัน รวมทั้งเอร็ดอร่อยแล้วได้คุณค่าจากของกินเหล่านั้น ถ้าเป็นไปได้คุณแม่คุณพ่อควรเล่าให้ลูกฟังถึงประโยชน์ของฟันในทางสร้างสรรค์ อาจจะเป็นในรูปของการร้องเพลง หรือการเล่านิทาน เช่น “มีกระรอกตัวหนึ่ง มันมีฟัน ๔ ซี่สวยงาม ทุกเช้ามันก็ยิงฟันพร้อมกับทำความสะอาดฟันที่หน้ากระจก มันภูมิใจในฟันของมันมาก เพราะฟันของมันใช้ในการกัดลูกผลไม้ สร้างบ้าน หรือแม้แต่ทำสิ่งอื่นๆเพื่อให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้” สิ่งเหล่านี้เล่าได้หลายๆครั้ง จะทำให้เด็กเพลิดเพลิน พร้อมกับชี้ให้ลูกดูว่าฟันของลูกก็ใช้ทำสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน

ถ้าจะเป็นจริงๆและเป็นวิธีสุดท้ายคือการลงโทษ แต่เป็นการลงโทษแบบไม่รุนแรงในเชิงสั่งสอน เช่น ถ้ากัดก็ต้องถูกตี ๑ ที แต่วิธีนี้ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากพฤติกรรมที่
เกิดขึ้นในวัยเด็กจะโยงไปถึงพฤติกรรมที่จะตามมาในอนาคต เมื่อโตขึ้น สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกมองข้าม แต่ความจริงเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อเด็กสามารถแยกแยะโดยดูแบบอย่างจากผู้ใหญ่ โดยวิธีการลอกเลียนแบบ โดยวิธีการสอนให้แก้ปัญหาและโดยวิธีการเลี้ยงดู เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้กับตัวเองในสังคม ในครอบครัว และในการทำงาน ความสำเร็จในชีวิตขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก ที่เกิดขึ้นทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวนั่นเอง

ป้าหมอดีใจที่คุณนฤมลเป็นห่วงลูก และสนใจที่จะแก้ไข สิ่งเหล่านี้ต้องกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเวลานานจนลูกเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และมั่นใจว่าตราบใดที่คุณนฤมลยังยืนอยู่ข้างลูกและดูแลใกล้ชิดอย่างนี้ น้องมีนก็จะเติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพและมีคุณประโยชน์ต่อสังคม ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว และต้อประเทศชาติ ด้วยความปรารถนาดีค่ะ
จากป้าหมอ


 

 

ข้อมูลสื่อ

229-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 229
พฤษภาคม 2541
ป้าหมอ