• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะเพื่อจัดการความเครียดเกิน

โยคะเพื่อจัดการความเครียดเกิน
 
ท่าอูฐ

วิธีฝึกท่าอูฐครึ่งตัว
จากท่านั่งขัดสมาธิเพชร ค่อยๆลุกขึ้นคุกเข่า แยกเข่าและเท้าออกจากกัน ระยะห่างเท่ากับความกว้างของไหล่ ใช้มือทั้ง ๒ รองรับ ไว้ที่เอว บีบศอกเข้าหากัน จากนั้นแอ่นช่องท้องมาด้านหน้า พร้อมกับเอนทรวงอกและศีรษะไปด้านหลัง เรายังคงเก็บคางไว้กับทรวงอก (ไม่เปิดคาง) เพื่อกันไม่ให้กระดูกคอต้องรับน้ำหนัก (ของศีรษะ) มากเกินไป กำหนดรู้กับความเหยียดตึงของลำตัวทางด้านหน้า ตลอดทั่วแผ่นอกและช่องท้อง และกำหนดรู้กับการแอ่นโค้งของแนวกระดูกสันหลัง คงนิ่งอยู่ในท่าสักครู่ จากนั้นเปล่งเสียง "อาา" ดังๆ พร้อมกับกำหนดรู้ความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นบริเวณช่องท้อง แล้วจึงคืนลำตัวกลับ ลดตัวลงพักในท่าขัดสมาธิเพชร

 

 

ท่าอูฐเต็มตัว
สำหรับผู้ที่ทำท่าอูฐครึ่งตัวได้ชำนาญ ลองฝึกท่าเต็มดู จากท่าคุกเข่า เอี้ยวตัวไปทางซ้าย พร้อมกับลดมือซ้ายลงรวบส้นเท้าซ้าย ยึดให้มั่น แล้วเอี้ยวตัวไปทางขวา ลดมือขวาลงรวบส้นเท้าขวา (ในการทำท่าอูฐเต็ม เราสามารถเปิดคาง ปล่อยศีรษะให้ลู่ไปด้านหลังได้เต็มที่) คงนิ่งอยู่ในท่าสักครู่ แล้วเปล่ง เสีย "อาา" ดังๆ พร้อมกับกำหนดรู้ทุกๆความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย การคืนกลับ เรายกมือซ้ายขึ้น บิดลำตัวมาทางขวา และยกมือขวาขึ้น คืนลำตัวตั้งตรง แล้วกลับไปพักใหม่ในท่าขัดสมาธิเพชร

ผู้ฝึกควรหัดทำด้วยความระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป ท่าอูฐจัดเป็นท่าโยคะในขั้นยาก เราอาจใช้เวลาสักหน่อยในการฝึกทำ และแน่นอนมันเป็นท่าที่ให้ประโยชน์กับร่างกายมาก โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับแนวกระดูกสันหลังในทิศทางการแอ่นโค้งกลับ
 

 

ข้อมูลสื่อ

247-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 247
พฤศจิกายน 2542
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์