• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาการและโรค (ตอนที่๑)

กลางดึกคืนวันอาทิตย์ ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่ง ชายไทยอายุ ๔๐ กว่าปี ถูกพานั่งรถเข็นเข้ามาหาหมอ
 
หมอ : “สวัสดีครับ มีอาการฉุกเฉินอะไรหรือครับ”
คนไข้ : “ผมเป็นโรคท้องมานครับ วันนี้แน่นท้องมากจึงมาครับ”
หมอ : “คุณท้องมานมานานเท่าไหร่แล้ว เพิ่งจะแน่นท้องวันนี้เองหรือ”
คนไข้ : “ผมท้องมานมาปีกว่าแล้วครับ ประมาณ ๒ สัปดาห์นี้ ท้องมันแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ คืนนี้แน่นมาก จึงมาหาหมอครับ”
หมอ : “แล้วปกติคุณรักษาอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ไปรักษาที่นั่นต่อ คุณมีอาการมาตั้ง ๒ สัปดาห์แล้ว ทำไมคุณไม่ไปรักษา กับหมอที่เคยรักษาคุณอยู่ในเวลาปกติ คุณมาตรวจ รักษาที่ห้องฉุกเฉินกลางดึกอย่างนี้ คิดว่าถูกต้องหรือ”
คนไข้ : “ผมขอโทษครับ เพื่อนฝูง เขาแนะนำว่า มาห้องฉุกเฉินดึกๆคนไข้น้อย ไม่ต้องรอนาน และมาโรงพยาบาลของรัฐบาลจะถูกสตางค์ด้วยครับ ผมจึงทำตามคำแนะนำของเขา “เพราะผมเคยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน ไปแต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่ายมากครับ ตอนนี้ผมตกงานในยุคไอเอ็มเอฟสู้ค่ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ไหวครับ”
หมอ : “การจะย้ายมารักษาที่นี่ไม่ใช่ ปัญหาหรอก ปัญหาก็คือ
๑. การย้ายหมอย้ายโรงพยาบาล ควรจะขอใบส่งตัวจากหมอหรือจากโรงพยาบาลเดิมมาด้วย หมอคนใหม่จะได้รู้ว่า หมอคนเดิมเขาตรวจอะไรไปแล้วบ้าง วินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคอะไร ให้การรักษาอะไรไปบ้าง ได้ผลหรือไม่ได้ผล หมอคนใหม่จะได้ไม่ตรวจและไม่ รักษาในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว ถ้าไม่จำเป็น
มิฉะนั้น คุณจะต้องเสียเงินและเจ็บตัวซ้ำอีกจากการตรวจเลือด ส่องกล้อง หรืออื่นๆ รวมทั้งอาจได้รับยาที่คุณเคยใช้แล้วไม่ได้ผล หรือแพ้(เป็นพิษ)ซ้ำใหม่ได้ เพราะหมอไม่รู้ว่าคุณเคยได้รับการตรวจหรือได้ยาอะไรไปแล้วบ้าง
๒. การมาตรวจที่ห้องฉุกเฉินโดยไม่มีอาการฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรต่างๆ และทำให้ คนไข้ที่ฉุกเฉินหรือเจ็บหนักได้รับการตรวจรักษาช้าออกไปหรือไม่ดีเท่าที่ควร เพราะทรัพยากรทั้งบุคคล(แพทย์ พยาบาล และอื่นๆ) และวัตถุ(ยา เครื่องมือ และอื่นๆ)มีจำกัดในห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะในยามค่ำคืนเช่นนี้”
คนไข้ : “ผมขอโทษครับ ไหนๆผมก็มาแล้ว คุณหมอช่วยผมเอาบุญก่อนก็แล้วกันนะครับ แล้ววันหลังผมจะมาในเวลาปกติ และจะไปขอผลการตรวจรักษาจากหมอเดิมมาให้ครับ”
หมอ : “ตกลง แล้วหมอที่เคยรักษาคุณบอกหรือเปล่าว่าคุณท้องมานจากสาเหตุอะไร และให้ยาอะไรคุณไว้”
คนไข้ : “หมอเขาบอกว่าเป็นโรคท้องมานครับ และให้ยาขับปัสสาวะไว้ แต่ ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ท้องก็ยังโตขึ้นๆครับ”
หมอ : “ท้องมานไม่ใช่โรคท้องมาน แปลว่า มีน้ำในช่องท้องมาก เป็นสิ่งตรวจพบ(สิ่งที่หมอตรวจร่างกายพบ) หรือศัพท์ทางแพทย์เรียกว่า “อาการแสดง” ที่จริงท้องมานเป็นเพียงภาวะ นั่นคือ ภาวะที่มีน้ำในช่องท้องมาก อาจจะเกิดจากโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็งหรืออื่นๆ”
คนไข้ : “ใช่ครับ ใช่ครับ ท้องมานของผมเกิดจากโรคตับ หมอบอกว่าเป็นโรคตับแข็งครับ”
หมอ : “แล้วหมอบอกหรือเปล่าว่า โรคตับแข็งของคุณเกิดจากอะไร”
คนไข้ : “ไม่ได้บอกครับ แต่ผมคิดว่าคงจะเป็นเพราะผมดื่มเหล้ามาก ดื่มมาตั้งแต่หนุ่มๆ ตอนนี้เลิกแล้วครับ”
หมอ : “แล้ว ๒-๓ สัปดาห์ก่อน คุณไปดื่มเหล้าอีกหรือเปล่า”
คนไข้ : “ไม่ได้ดื่มครับ แต่เพื่อนเลี้ยงฉลองที่จะได้งานใหม่ เลยดื่มเบียร์เข้าไปหน่อยครับ ไม่คิดว่าจะทำให้อาการกำเริบขึ้นได้” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า “อาการ” ไว้ดังนี้

อาการ เป็นคำนาม
หมายถึง
๑. ความเป็นอยู่ ความเป็นไป สภาพ เช่น อาการไข้
 ๒. กิริยาท่าทาง เช่น อาการพิรุธ
 ๓. ทำนอง เช่น โดยอาการนั้น
๔. ส่วนของร่างกาย ซึ่งนิยาม ว่ามี ๓๒ อย่าง เรียกว่า อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ในด้านโรคภัยไข้เจ็บและสุขภาพ คำว่า “อาการ” จะใช้ในความหมายแรก(ความหมายที่ ๑)เป็นสำคัญ ซึ่งอาจแจกแจงออกไปได้ ดังนี้

ก. ความรู้สึกของคนไข้
ว่าไม่สบายอย่างไร เช่น ตัวร้อน หนาว สั่น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องเดิน ท้องผูก เป็นต้น อาการในความหมายนี้ ตรงกับคำอังกฤษว่า ซีมทัม (symptom)
ข. กลุ่มอาการที่รวมกันแล้วมีลักษณะเฉพาะ เช่น
“ไข้ทับระดู” หมายถึง อาการไข้ตัวร้อน ร่วมกับอาการระดูผิดปกติ (ระดูสีดำ เหม็น เป็นหนอง หรืออื่นๆ) ร่วมกับอาการปวดท้อง ปวดหลัง และ/หรืออาการอื่นๆ
“ตานขโมย” หมายถึง อาการซูบผอม ร่วมกับท้องป่อง ก้นปอด กินอาหารไม่ค่อยได้ ปวดท้อง และซึม ซึ่งมักเกิดจากโรคขาดอาหาร อันเนื่องมาจากโรคพยาธิลำไส้ หรืออื่นๆ
กลุ่มอาการที่รวมกันแล้วมีลักษณะเฉพาะ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า ซินโดรม (syndrome)
ค. สภาพหรือภาวะของความไม่สบาย ที่จะรู้ได้จากการตรวจพบ หรือที่แพทย์เรียกว่า “อาการแสดง” (physical signs) เช่น
อาการเป็นไข้ตัวร้อน ถ้าเป็นความรู้สึกของคนไข้ จะเรียกว่า อาการ แต่ถ้าเป็นสิ่งตรวจพบ(จะตรวจพบโดยคนไข้ ญาติคนไข้ แพทย์หรือพยาบาล) โดยใช้มือสัมผัสหน้าผาก ซอกคอ หรือผิวหนังคนไข้แล้วรู้สึกร้อน หรือใช้ “ปรอทวัดไข้” แล้วพบว่าไข้ขึ้น (อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ) ก็จะถือว่า เป็น “สิ่งตรวจพบ” หรือ “อาการแสดง”

อาการจึงมักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการแสดง หรือเป็นสิ่งเดียวกับอาการแสดง
แต่ในบางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น เช่น คนไข้อาจรู้สึกว่ามีไข้ นั่นคือมีอาการไข้ แต่เมื่อใช้ “ปรอทวัดไข้” (เทอร์โมมิเตอร์)วัด อาจพบว่าไม่มีไข้ก็ได้ หรือในด้านตรงกันข้าม คนไข้อาจไม่รู้สึกว่ามีไข้ตัวร้อน แต่เมื่อวัดไข้ กลับพบว่าไข้ขึ้นก็ได้ เป็นต้น
ง. โรค คือ ความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นสิ่งเดียวกับอาการหรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้น เช่น โรคปวดหัวเวลาเครียด ก็คืออาการปวดหัวเวลาเครียด โรคไข้ทับระดู ก็คืออาการไข้เมื่อมีระดู เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

232-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 232
สิงหาคม 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์