• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วันกำหนดคลอด

วันกำหนดคลอด

คำถาม “ดิฉันมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนล่วงหน้าเกี่ยวกับงานในการลาคลอด ทำอย่างไรจึงจะทราบวันกำหนดคลอดที่แน่นอน”

 

ตอบ  เราไม่สามารถกำหนดอนาคตได้เช่นไร การกำหนดวันคลอดก็เช่นกัน เป็นการยากลำบากที่จะกำหนดวันที่แน่นอนได้ จากสถิติพบว่ามีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่มีการคลอดตรงตามวันที่กำหนด แต่อย่างไรก็ดีการคลอดโดยทั่วไปจะเกิดภายในระยะเวลา 38-42 สัปดาห์ของอายุครรภ์ คือวันกำหนดคลอดบวกลบ 2 สัปดาห์

วันกำหนดคลอดมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “วันคลอดที่คาดคะเนได้” ซึ่งได้มาจากการคำนวณนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของรอบเดือนปกติ การคำนวณใช้รอบเดือน 28 วัน ของการมีประจำเดือนเป็นมาตรฐาน ดังนั้นผู้ที่มีรอบประจำเดือนช้าๆ หรือเร็วกว่า 28 วันก็จะมีกำหนดคลอดผันแปรไปตามรอบประจำเดือนของแต่ละบุคคล การคำนวณวันกำหนดคลอดจะใช้วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายบวก 7 วัน และนับต่อไป 9 เดือน หรือจะนับถอยหลัง 3 เดือน ก็ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 11 เมษายน วันคลอดที่คาดคะเนได้จะเป็น 11 + 7 = 18 มกราคมในปีถัดไป ดังนี้เป็นต้น

สำหรับผู้ที่มีรอบประจำเดือนไม่แน่นอนจะไม่สามารถคำนวณวันกำหนดคลอดได้จากวิธีนี้ เนื่องจากไม่สามารถกำหนดวันที่มีการตกไข่หรือการปฏิสนธิได้ การคาดคะเนวันกำหนดคลอดจะต้องใช้การตรวจขนาดของมดลูกและปรากฏการณ์อื่นๆ ในการตั้งครรภ์ประกอบการคาดคะเนวันคลอด ในบางรายอาจจะมีการตรวจวัดการตกไข่ด้วยอุณหภูมิกายพื้นฐาน เช่น การฟังเสียงหัวใจ เด็กได้ยินเป็นครั้งแรกเมื่ออายุครรภ์ 1o-12 สัปดาห์ นับต่อไปจนครบ 4o สัปดาห์ก็จะเป็นกำหนดคลอดที่คาดคะเนได้ หรือการดิ้นของทารกในครรภ์ที่รู้สึกได้โดยที่ครรภ์แรกจะรู้สึกในอายุครรภ์ 2o-22 สัปดาห์ และครรภ์หลัง 16-18 สัปดาห์ เกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้สามารถนำมาใช้คาดคะเนวันคลอดได้แม่นยำเท่าเทียมกับประวัติการมีประจำเดือน กล่าวคือ คลาดเคลื่อนได้ 2 สัปดาห์เช่นกัน

การคาดคะเนกำหนดคลอดอีกวิธีหนึ่ง คือการตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของขนาดมดลูกเป็นระยะๆ ความสูงของยอดระดับมดลูกที่คลำได้ทางหน้าท้องครรภ์ 12 -14 สัปดาห์ และจะสูงถึงระดับสะดือเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 22 สัปดาห์ ในบางรายแพทย์จะทำการตรวจดูขนาดของมดลูก และทารกในครรภ์ด้วยคลื่นเสียง(อัลตร้าซาวนด์) ซึ่งจะช่วยให้คาดคะเนกำหนดคลอดได้ใกล้เคียงมากขึ้น

การคาดคะเนกำหนดคลอดทุกวิธีไม่สามารถบอกวันที่ได้ตรงวันคลอดจริงๆ มีเพียงทารกในครรภ์เท่านั้นที่รู้วันเกิดของตัวเอง อาการเตือนก่อนคลอดและลักษณะการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จะเป็นอาการบอกการคลอดที่จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์ หรือ 2  วัน รายละเอียดเรื่องนี้จะกล่าวถึงในบทต่อไปที่พูดถึงกระบวนการคลอด
เรื่องสำคัญที่คุณควรทราบ ฝากครรภ์กับใครดี?

เมื่อพูดถึงเรื่องฝากครรภ์มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 คน คือ พ่อ-แม่ สูติแพทย์ การปฏิสนธิเป็นเรื่องของคู่สมรสพ่อและแม่ แต่หลังจากนั้นผู้ที่ดูแลให้ทารกมีชีวิตรอดจนถึงครบกำหนดคลอด และเกิดมาเป็นเด็กที่แข็งแรงสมบูรณ์เป็นเรื่องราวหรือฝีมือของสูติแพทย์ผู้รับฝากท้อง รวมไปถึงผู้ที่จะทำคลอดให้ลูก

ย้อนอดีต
ในอดีตที่ผ่านมาการคลอดเกิดภายในบ้าน ญาติพี่น้อง และผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็น “หมอตำแย” จะเป็นผู้ดูแลการคลอด การปฏิบัติตัวของหญิงตั้งครรภ์อยู่ภายใต้คำแนะนำของผู้มีประสบการณ์ ผู้สูงอายุในบ้าน การแพทย์และการสาธารณสุขดีขึ้น การคลอดในบ้านเปลี่ยนเป็นการคลอดในโรงพยาบาล การคลอดโดยใช้ยาระงับปวด และใช้ยาเร่งคลอดตามกำหนดที่ต้องการ เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปเริ่มรู้จัก และนำมาใช้เป็นข้อกำหนดในการเลือกสถานที่คลอด และผู้ทำคลอด ข้อพิจารณาในการเลือกสถานที่และบุคคลเป็นไปตามข้อมูลบอกเล่าของเพื่อนและญาติ บางกรณีมารดาและคู่สมรสต้องเผชิญกับภาวะที่ไม่พึงประสงค์ โดยไม่สามารถต่อรองหรือออกความเห็นได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและนโยบาย

ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดเป็นเรื่องของคู่สมรสที่ต้องเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง การคลอดมีหลากหลายวิธีที่ผู้คลอดมีสิทธิที่จะเลือกเพื่อความพึงพอใจของตนและคู่สมรส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลือกสถานที่คลอดและผู้ดูแลการคลอดตามเป้าหมายที่ต้องการ นั่นคือคุณต้องรู้ความต้องการของตนเอง และความเป็นไปได้ตามหลักวิชาทางการแพทย์ที่จะเอื้ออำนวยและสถานที่ที่มีบริการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นสถานที่ที่คุณเลือกฝากครรภ์และคลอด

คุณเป็นคนไข้ประเภทใด?
การที่จะเลือกแพทย์ผู้ดูแลได้ถูกใจคุณ คุณตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณเป็นคนไข้ประเภทใด เช่น คุณเป็นคนไข้ที่มอบความไว้ใจและความศรัทธาทั้งหมดให้แพทย์ผู้ดูแล เพราะคุณเชื่อว่าเขาร่ำเรียนมาทางนี้ย่อมตัดสินใจแทนคุณได้ดี หรือคุณรู้สึกปลอดภัยในสถานที่มีเครื่องมือทันสมัยที่จะให้บริการคุณ หรือคุณคาดว่าแพทย์ที่ดูแลคุณจะต้องเป็นผู้ที่เก่งกล้าสามารถและเปรื่องปราดในวิชาการ หรือคุณชอบแพทย์หัวโบราณที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และวิถีทางอนุรักษ์นิยม หรือตัวคุณเองเชื่อมั่นว่าร่างกายและสุขภาพของคุณเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคุณในการดูแล เป็นกิจกรรมส่วนตัวที่คุณต้องรับผิดชอบในการกระทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยแพทย์ผู้ดูแลจะมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยที่สุด หรือคุณคิดว่าแพทย์ผู้ชำนาญการทั้งหลายมีหน้าที่ในการบอกเล่าข้อมูลทั้งหมดให้คุณได้เลือกตามความชอบใจ หรือคุณต้องการให้แพทย์เปิดโอกาสให้คุณมีส่วนร่วมในการวางแผนการดูแลตัวคุณเองในฐานะผู้ร่วมรับผิดชอบ

คุณต้องการแพทย์ที่มีทั้งความชำนาญและความรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ให้คำแนะนำคุณเมื่อคุณสนใจที่จะคลอดโดยวิธีทางธรรมชาติและไม่ลังเลที่จะเสนอให้คุณผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้องในกรณีที่จำเป็น หรือแพทย์ผู้ปฏิเสธที่จะใช้เครื่องตรวจสอบหัวใจเด็กในขณะคลอด แต่เขาให้การดูแลที่เฝ้าระมัดระวังอย่างละเอียดถี่ถ้วนในชีวิตของแม่และทารกในครรภ์ โดยไม่คำนึงถึงความพอใจของผู้คลอด ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าแพทย์จะเป็นแบบใด สิ่งที่จำเป็นสำหรับคุณคือความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณและแพทย์ผู้ดูแล ความเข้าอกเข้าใจและสอดประสานกันเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้

และไม่ว่าคุณจะเป็นคนไข้ประเภทใด ถ้าคุณเชื่อว่าสามีเป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนในงานนี้เท่ากับคุณ คุณควรจะแจ้งความประสงค์นี้ให้แพทย์ผู้ดูแลคุณทราบ และสามีคุณควรจะได้รับการเชื้อเชิญให้พบปะกับแพทย์ผู้ดูแลตั้งแต่การนัดพบครั้งแรกของคุณ และทุกครั้งที่มีการตรวจ สามีควรจะได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมดพร้อมๆกับคุณ และเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจเลือก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการคลอดที่จะเกิดขึ้นด้วย

สูติแพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ หรือแพทย์ประจำครอบครัว
บุคคล...ทั้ง 3 ประเภท คือ บุคคลที่ท่านต้องเลือกในการฝากครรภ์และให้เป็นผู้รับผิดชอบการตั้งครรภ์ของท่าน ท่านจะเลือกใคร อย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของท่านเป็นหลัก ในที่นี้จะกล่าวถึงบทบาทและขอบเขตความรับผิดชอบของบุคคลในแต่ละประเภทเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของท่าน ดังนี้

สูติแพทย์
ถ้าการตั้งครรภ์ของคุณมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติหรือโรคแทรกซ้อน คุณจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากสูติแพทย์ เพื่อการดูแลที่เหมาะสมปลอดภัย ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดและหลังคลอด และในบางกรณีคุณต้องการการดูแลจากสูติแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะสาขา เพิ่มเติมจากสูติแพทย์ทั่วไป
แต่โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์นิยมที่จะเลือกให้สูติแพทย์ดูแลการตั้งครรภ์และทำคลอด แม้ว่าจะไม่มีภาวะเสี่ยงแต่อย่างใด

แพทย์ประจำครอบครัว
เป็นแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพของคุณมาตลอด และโดยทั่วไปการตั้งครรภ์และการคลอดปกติ มักจะมีวิถีทางโดยธรรมชาติที่ไม่ยุ่งยากนัก แพทย์ที่จบหลักสูตรแพทย์ปริญญาสามารถทำคลอดได้ ดังนั้น คุณสามารถเลือกให้แพทย์ประจำตัวคุณเป็นผู้ดูแลการตั้งครรภ์ ตลอดจนทำคลอดให้คุณได้เช่นกัน

พยาบาล-ผดุงครรภ์
ถ้าคุณต้องการการดูแลที่ใกล้ชิด และปราศจากช่องว่างระหว่างแพทย์และคนไข้ พยาบาลผดุงครรภ์คือผู้ที่เหมาะสมในการดูแลคุณในขณะตั้งครรภ์และคลอดเธอมีเวลามากพอที่จะพูดคุยกับคุณ ตอบคำถามที่คุณสงสัยได้ในเวลานานๆ ช่วยคุณได้มากในการคลอดตามธรรมชาติ แต่มีข้อจำกัดคือพยาบาล-ผดุงครรภ์จะสามารถดูแลคุณได้เฉพาะกรณีที่การตั้งครรภ์ปกติ หรืออยู่ในกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงเพียงเล็กน้อย และข้อดีของพยาบาลผดุงครรภ์คือ คุณจะมีความรู้สึกของการได้รับการยอมรับสูงกว่าที่ได้รับจากแพทย์ และมีความใกล้ชิดกับผู้ดูแลมากกว่า

ชนิดของบริการการฝากครรภ์และการคลอด
นอกจากบุคลากรผู้ดูแลการตั้งครรภ์และการคลอด คุณจะต้องพิจารณาถึงชนิดของการคลอด บริการที่คุณสามารถเลือกได้โดยพิจารณาจากข้อดีข้อเสียของแต่ละชนิดบริการดังนี้

  • บริการที่รับผิดชอบโดยแพทย์เพียงผู้เดียว

ลักษณะบริการเช่นนี้สูติแพทย์หรือแพทย์ประจำครอบครัวจะทำงานคนเดียว ไม่มีผู้ร่วมงาน ดุจดังศิลปินเดี่ยว จะมีผู้ทำงานแทนต่อเมื่อได้รับการมอบหมายเป็นกรณี ซึ่งเป็นระบบแพทย์เจ้าของไข้ที่พบเห็นโดยทั่วไป
ข้อดีของบริการชนิดนี้คือท่านจะได้พบแพทย์คนเดิมตลอดเวลาของการฝากครรภ์ ทำให้เกิดความคุ้นเคย และสะดวกใจในการดูแลระหว่างการคลอด
ข้อเสีย ถ้าเกิดแพทย์ผู้ดูแลติดธุระหรือไม่สามารถมาดูแลคุณได้ โดยเฉพาะในการคลอดคุณก็จะได้แพทย์ผู้อื่นที่ไม่คุ้นเคยมาทำคลอดให้ และข้อเสียอีกประการหนึ่งคือ ในบางรายพบว่ามีความไม่สอดคล้องกันในความคิดเห็นระหว่างแพทย์และคุณ ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนแพทย์ผู้ดูแลคนใหม่แทน ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเวลาเพิ่มขึ้น

  • บริการโดยทีมการแพทย์

ลักษณะบริการเช่นนี้จะมีแพทย์ 2-3 คน ที่รวมกลุ่มกันทำงาน โดยที่ทุกคนจะมีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้บริการ

                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

                                                     ***********************************
 

ข้อมูลสื่อ

205-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 205
พฤษภาคม 2539
บทความพิเศษ
ผศ.พวงน้อย สาครรัตนกุล