• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (๒)

เพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (๒)

พฤติกรรมเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
ความรู้จากประเทศอุตสาหกรรมยืนยันตรงกันว่าพฤติกรรมเสี่ยงเป็นเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดส่วนใหญ่พฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญมาก ๓ ประการได้แก่
๑. การสูบบุหรี่
ผู้ชายไทยทุกวันนี้เกือบครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่ ในขณะที่ผู้หญิงเพียงร้อยละ ๓ เท่านั้นที่สูบ แนวโน้มของพฤติกรรมสูบบุหรี่ในคนไทยมีทิศ ทางลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะในแต่ละปีการสูบบุหรี่ทำ ให้คนไทยเสียชีวิตมากถึง ๔๒,๐๐๐ คน และเยาวชน กำลังถูกชักนำให้สูบบุหรี่ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่เล็ดลอดช่องโหว่ของกฎหมายอยู่เสมอ
๒. การขาดการออกกำลังกาย สังคมไทยปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะ สิ่งบันเทิงที่เข้าถึงบ้านในรูปแบบต่างๆ ได้ชักนำให้วิถีชีวิตที่พึ่งพาการใช้แรงกายนับวันลดน้อย ถอยลง การขาดการออกกำลังกายเพิ่มความเสี่ยงที่ จะป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง ๒.๔ เท่า ใน ประเทศฟินแลนด์มีการวิจัยพบว่าหากอีกร้อยละ ๘ ของคนวัยทำงานเลือกที่จะเดินหรือขี่จักรยานเพิ่มขึ้น การเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะลดลงร้อยละ ๓-๗
๓. โภชนาการอันไม่เหมาะสม ทุกวันนี้คนไทยอายุ ๓๕ ปีขึ้นไปถึงร้อยละ ๓๕ มีปัญหาน้ำหนักเกิน ไปจนถึงอ้วน และเกือบครึ่งหนึ่งมีระดับโคเลสเตอรอล สูงเกิน ปัญหาทั้ง ๒ ประการมีอิทธิพลต่อการเกิด โรคหัวใจหลอดเลือด ความอ้วนและน้ำหนักเกินเป็น ดัชนีบ่งชี้ปัญหาโภชนาการไม่เหมาะสมและการขาด การออกกำลังกาย ระดับโคเลสเตอรอลสูงเกินเป็นอีก ดัชนีที่บ่งชี้ปัญหาทางโภชนาการ เร็วๆ นี้มีการวิจัย เกี่ยวกับการทดลองทางโภชนาการด้วยการให้คนหลายกลุ่มที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน เช่น คนที่ไม่มีความ ดันเลือดสูง กลุ่มที่อ้วนและไม่อ้วน คนสีผิวต่างกัน คนที่มีระดับการออกกำลังกายต่างกัน เศรษฐฐานะ ต่างกัน กินอาหารที่อุดมด้วยผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มีไขมันต่ำ อาหารที่มีไขมันรวมและไขมัน อิ่มตัวน้อย ลดการบริโภคเนื้อแดง ของหวานและน้ำหวาน พบว่าภายในเวลาเพียง ๔ สัปดาห์ ความ ดันเลือด โคเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) และกรดอะมิโนโฮโมซีสเตอีนเริ่มลดลง ถ้าจำกัดการ บริโภคเกลือโซเดียมด้วยจะยิ่งช่วยลดความดันเลือด ได้มากขึ้น
การวิจัยทางระบาดวิทยาในประเทศไทยพบว่า ภาวะความดันเลือดสูงและเบาหวานเพิ่มโอกาสเสีย ชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ๒.๑๖ เท่า และ ๔.๒๙ เท่า ตามลำดับ หากโคเลสเตอรอลรวมในเลือด สูงเกิน ๒๔๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น ๑.๒๗ เท่า หลักฐานเหล่านี้จะมาจากประชากรกลุ่มเดียว แต่ก็สอดคล้องกับองค์ความรู้ในระดับสากลที่มีมาก่อนหน้านี้ ปัจจัยเสี่ยงทางสรีระเป็นผลจากพฤติกรรมเสี่ยงซึ่งปรับเปลี่ยนได้ หากสามารถจัดสิ่งแวดล้อม ทางกายภาพและสังคมได้เหมาะสม

ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีกฎหมาย ควบคุมพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก นี่คือสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ส่งเสริมค่านิยมไม่สูบบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

สิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคม
คนส่วนใหญ่มักคิดถึงการให้ความรู้เพื่อมุ่งหวังเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น แนะนำให้คนเลิก สูบบุหรี่ แนะนำให้ออกกำลังกาย ให้ลดน้ำหนักด้วย การคุมอาหาร เป็นต้น วิธีการเช่นนั้นให้ผลจริงสำหรับ คนส่วนน้อย แต่ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการระบาดของพฤติกรรมเสี่ยงอันเป็นผลของปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างชีววิทยา พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการกินและออกกำลังกายซึ่งควบคุมผ่าน สมองจะมีอิทธิพลต่อสมดุลการใช้พลังงานและการปรับตัวทางสรีระ พฤติกรรมเป็นผลของอารมณ์ ความ รู้สึก ความรู้ ค่านิยมที่สะสมผ่านกระบวนการเรียน  รู้ตลอดชีวิต โดยมีอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง

เด็กในยุคก่อนทีวีใช้ชีวิตอยู่กับการเล่นนอกบ้านตามลานวัด  ตามต้นไม้  ชายทุ่ง  ริมถนน สวน สาธารณะ ผิดกับเด็กยุคนี้ที่ชีวิตอยู่หน้าจอคอม-พิวเตอร์ และโทรทัศน์ นี่คือพฤติกรรมถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อม

ทุกวันนี้การแก้ปัญหาน้ำหนักเกินด้วยการให้ คำแนะนำหรือใช้ยาผ่านคลินิกลดความอ้วนที่แพร่ หลายเป็นดอกเห็ด โดยละเลยต่ออิทธิพลของสิ่งแวดล้อมจึงไม่ค่อยได้ผลยั่งยืน การแก้ปัญหาอ้วน จึงต้องมุ่งปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายที่พอเพียง เช่น การจัดบริการขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงง่าย ราคาพอควรและปลอดภัย การส่งเสริมให้คนเดินหรือถีบจักรยาน ในระยะทางสั้นๆ (น้อยกว่า ๕ กิโลเมตร) ด้วยการ ออกแบบผังเมืองที่มีบาทวิถีและทางจักรยานอันร่มรื่น สะดวกสบาย และเชื่อมต่อกันเป็นตาข่ายในย่านชุมชน การวางนโยบายการเกษตรและการตลาดที่ส่งเสริมพืช ผัก ผลไม้ให้แพร่หลายและเป็น ที่นิยม ด้วยราคาที่คนส่วนใหญ่ซื้อหาได้ การใช้กลไกทางภาษีส่งเสริมน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงให้แพร่หลายในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น

มีความเชื่อมานานว่าอาหารไทยซึ่งอุดมด้วยพืช ผัก ผลไม้ เครื่องเทศ ปลา ปู กุ้ง หอยต่างๆ มี คุณค่าทางโภชนาการและกำลังเป็นที่นิยมในต่าง-ประเทศ  ถ้ามีการวิจัยให้ได้คำ ตอบที่ชัดเจนน่าเชื่อถือจะยังประโยชน์ในหลายด้านนอกเหนือจาก การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ยังจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ของไทยได้ด้วย ดังเช่นในยุโรปมีการจัดตั้ง International Task Force for Prevention of Coronary Heart Disease อันเป็นกลุ่มนักวิชาการเพื่อสังเคราะห์ผลการวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าของอาหารเมดิเตอเรเนียน ความรู้เช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมคุณค่าและการ บริโภคอาหารเมดิเตอเรเนียน อันจะนำไปสู่ความเจริญและยั่งยืนของชีวิตเกษตรกร และอุตสาหกรรม/ ธุรกิจอาหารของยุโรป
(ยังมีต่อ)

เก็บมาฝาก
การเลือกใช้ยากันแดดตามค่า SPF ให้เหมาะกับผิว
ค่า SPF (sun protection factor) คือ ค่าของการป้องกันแสงแดดที่ระบุในผลิตภัณฑ์กันแดด เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการเลือกใช้ยากันแดดให้เหมาะกับผิวพรรณ ดังนี้
 ๑. ผิวไหม้แดดง่าย (เปลี่ยนเป็นสีแทนยาก)  ใช้ค่า SPF ๒๐-๓๐
 ๒. ผิวไหม้แดดง่าย (เปลี่ยนเป็นสีแทนนิดหน่อย)  ใช้ค่า SPF ๑๒-๒๐
 ๓. ผิวไหม้แดดปานกลาง (ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแทน) ใช้ค่า SPF ๘-๑๒
 ๔. ผิวไหม้แดดได้น้อย  (เปลี่ยนเป็นสีแทนได้เสมอ) ใช้ค่า SPF ๔-๘
 ๕. ผิวไหม้ยากมาก  (เปลี่ยนเป็นสีแทนยากมาก อาจดำคล้ำไปเลย) ใช้ค่า SPF ๒-๔
 ค่า SPF = ๒ ดูดซับยูวีได้ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์
 ค่า SPF =  ๔  ดูดซับยูวีได้ประมาณ  ๗๕  เปอร์เซ็นต์
 ค่า SPF = ๘  ดูดซับยูวีได้ประมาณ  ๘๗.๕  เปอร์เซ็นต์
 ค่า SPF =  ๑๕  ดูดซับยูวีได้ประมาณ  ๙๓.๓  เปอร์เซ็นต์
 ค่า SPF =  ๒๐  ดูดซับยูวีได้ประมาณ  ๙๕  เปอร์เซ็นต์
 ค่า SPF =  ๓๐  ดูดซับยูวีได้ประมาณ  ๙๖.๗  เปอร์เซ็นต์
 ค่า SPF =  ๔๕  ดูดซับยูวีได้ประมาณ  ๙๗.๘  เปอร์เซ็นต์
 ค่า SPF =  ๕๐  ดูดซับยูวีได้ประมาณ  ๙๘  เปอร์เซ็นต์ 
ยากันแดดที่มีค่า SPF ยิ่งสูงมักมีปัญหาด้านความงามและราคาก็ยิ่งแพงด้วย ประสิทธิภาพก็
ต่างกันไม่มากนัก คนที่ตากแดดนานๆ ติดต่อกัน ใช้ค่า SPF ๑๕ ขึ้นไป ก็ป้องกันได้แล้ว
ข้อมูล : นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร. ร้อยแปดพันเก้าถามตอบปัญหาความงามกับหมอประวิตร. ๒๕๔๕:๕๘.

ข้อมูลสื่อ

282-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 282
ตุลาคม 2545
รศ.นพ.เกษียร ภังคานนท์