• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การพัฒนาสติและจิตสำนักของเด็ก

การพัฒนาสติและจิตสำนักของเด็ก
 

มูลนิธิสดศรี–สฤษดิ์วงศ์ร่วมกับบริษัทแปลนพับลิชชิ่ง จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จัดโครงการประชุมทางวิชาการเรื่อง “การศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญาและจิตสำนึกของเด็ก” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๒๕๐ คน มีทั้งข้าราชการ นักวิชาการ ครู-อาจารย์ สื่อมวลชน และผู้สนใจงานด้านเด็กโดยทั่วไป ผู้บรรยายคนสำคัญของงานนี้ คือ Dr. Joseph Chilton Pearce (เขาเรียกว่า ดร.เพรียส) นายแพทย์นักคิด นักเขียนชาวอเมริกันผู้มีความรอบรู้หลายด้านคือ จิตวิทยา มานุษยวิทยา ฟิสิกส์ และชีววิทยา ดร. เพรียสเน้นงานศึกษาด้านพัฒนาการทางสมองและจิตใจของเด็ก หนังสือของท่านติดอันดับขายดีในสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า The Magical Child (๑๙๙๒) เป็นที่กล่าวขวัญถึงในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ ดร. เพรียสได้รับเชิญไปบรรยายในประเทศต่างๆ อยู่เสมอ

เราโชคดีที่มีโอกาสฟังคำบรรยายของท่าน พร้อมกับทัศนะของแพทย์และนักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยหลายท่าน นับว่าเป็นการประชุมทางวิชาการที่ให้ผลคุ้มค่ามาก ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคน คงรู้สึกขอบคุณผู้จัดและดีใจที่ได้รับเชิญ เสียดายอยู่นิดเดียวที่เครื่องเสียงที่ประชุมมีปัญหา ทำให้ฟังการบรรยายของ ดร.เพรียส แบบขาดเป็นห้วงๆ ภาษาอังกฤษของดิฉันก็ไม่ค่อยดีนัก จับความได้กระท่อนกระแท่น จะฟังคำบรรยายภาษาไทยผ่านหูฟัง คนข้างๆ ก็บอกว่าไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนกัน แม้จะจับความได้ไม่หมด แต่ก็รู้สึกว่าสิ่งที่ได้ฟังมีค่ามากเกินกว่าจะเก็บไว้โดยไม่ถ่ายทอดให้ผู้ไม่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมได้รับรู้ด้วย และหากมีอะไรเข้าใจผิดไปบ้างก็คงจะมีท่านผู้รู้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมตามมา เรื่องสำคัญมากอย่างนี้ไม่ควรปล่อยให้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งเลือนหายไปจากความสนใจ ดร.เพรียสสรุปงานวิจัยด้านสมองและจิตใจซึ่งท่านเรียกว่า Neuro Cardiology และเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็กว่า

สมองของมนุษย์เราแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ

๑. ส่วนที่เป็นสมองพื้นฐาน (Basic brain system) ซึ่งเหมือนกับสมองของสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายที่พัฒนามาร้อยล้านปีแล้ว เป็นสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวทางกายภาพ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Rertilian-amphibian brain structure อาจารย์หมอประเวศ วะสี ตั้งชื่อภาษาไทยให้ว่า สมองตะกวด

๒. สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก คือ Emotional-cognitive brain system อยู่ในส่วนที่
เรียกว่า “ระบบลิมบิก” (The limbic system)

๓. สมองส่วนที่เป็นสมองมนุษย์ คือ New human brain เป็นส่วนที่ควบคุมจิตสำนึกระดับสูง เป็น
Intellectual creative brain อยู่ในส่วนที่เรียกว่า “นีโอคอร์เท็กซ์” (Neo cortex) เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ดร.เพรียสวาดรูปให้ดูด้วย (ดูรูปที่ ๑)


ดร.เพรียสกล่าวว่า พัฒนาการของเด็กสัมพันธ์กับโครงสร้างของสมอง ระบบคลอดบุตรในโรงพยาบาลของอเมริกาโดยแพทย์ผู้ชายนั้นแย่งหน้าที่คลอดลูกโดยธรรมชาติไปจากแม่ ทำให้แม่ลูกขาดความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ ความรู้สึกตั้งแต่ แรกเกิดและมีผลต่อสมองส่วนที่สองคือ Emotional cognitive brain system ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในระยะยาว เช่น ปัญหาเด็กฆ่าตัวตาย ปัญหาความรุนแรงในวัยเด็ก ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในอเมริกาและญี่ปุ่น

พัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นฐานของพัฒนาการในช่วงถัดไปตามลำดับ โดยแบ่งระยะพัฒนาการของเด็กได้ดังนี้ คือ แรกเกิด หนึ่งขวบ สี่ขวบ เจ็ดขวบ สิบเอ็ดขวบ และสิบห้าขวบ (ดูรูปที่ ๒)
ศักยภาพทางสติปัญญาและความสามารถของเด็กจะต้องได้รับการกระตุ้นและอบรมปมเพาะในช่วงพัฒนาการนั้นๆ จึงจะเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม เราไม่สามารถรอได้ถึงเวลาที่เด็กเข้าโรงเรียนเสียก่อน จึงค่อยพัฒนา เพราะหากรอถึงเวลานั้น เด็กก็จะขาดพื้นฐานที่ดีเสียแล้ว การศึกษาจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยแรกเกิด และทุ่มเทให้มากที่สุดในช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการในช่วงถัดไป พัฒนาการของเด็กเริ่มจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไปสู่สิ่งที่เป็นนามธรรม จากด้านกายภาพ ไปสู่ด้านความรู้สึกนึกคิด ภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญมากต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะเด็กจะไม่เป็นอย่างที่เราบอกให้เป็น แต่จะเป็นเหมือนที่เราเป็น

การให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์เป็นการทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็ก ผลการวิจัยทางการแพทย์หลังจากกำเนิดโทรทัศน์มา ๕๐ ปี แสดงว่า ตัวทำลายพัฒนาการทางสมองของเด็กมิได้เกิดจากเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ แต่เกิดจากตัวเครื่องโทรทัศน์นั่นเอง เพราะเด็กอเมริกันใช้เวลาถึง ๖ พันชั่วโมงอยู่กับโทรทัศน์ก่อนอายุ ๕ ขวบ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ

คน เท่านั้น ที่จะสอนคนด้วยกันได้

เครื่อง สอนคนให้เป็นคนไม่ได้

สติปัญญาของคนมาจากหัวใจ (Intelligence of the heart) ดร.เพรียส ค้นพบเรื่องนี้เมื่อไปทำสมาธิที่อาศรมในประเทศอินเดีย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองและหัวใจ (Interaction between heart and brain system) ทำให้เกิด (ดูรูปที่ ๓)

๑. ปฏิสัมพันธ์ของระบบประสาท (Neuronal dialogue)

๒. ฮอร์โมน (Hormones)

๓. พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า (Electro-magnetic energy)

กล่าวคือ สัญญาณจากหัวใจมีผลต่อสมองส่วน E-C(Emotional coguitive brain System) ซึ่งควบคุมฮอร์โมนของร่างกายทั้งหมด นอกจากนั้น หัวใจยังก่อให้เกิดพลังงานแม่เหลกไฟฟ้า ซึ่งมีพลังสูงกว่าสมองถึง ๔๐-๖๐ เท่า (๒ วัตต์) (ดูรูปที่ ๔)



หัวใจ คือ อวัยวะแรกที่ถูกสร้างขึ้นและมีท่อประสาท (neural tube) ต่อกับสมองส่วนที่สอง คือ ระบบลิมบิก (emotional cognitive structure) ซึ่งสร้างฮอร์โมนควบคุมการทำงานของสมองส่วนนี้ ซึ่งไปควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกายอีกทีหนึ่ง

กล่าวโดยสรุป คือ สมองเป็นเครื่องมือของหัวใจ ร่างกายเป็นเครื่องมือของสมอง ดร.เพรียสได้แสดงให้เห็นเส้นกราฟของคลื่นหัวใจ (Electro cardio gram, ECG) ซึ่งเป็นคลื่นแสดงอารมณ์ขุ่นมัว และอารมณ์ยินดี แสดงให้เห็นความแตกต่างของอารมณ์ เด็กแรกเกิดที่ถูกแยกจากแม่ และเด็กแรกเกิดที่อยู่ในอ้อมกอดของแม่

ท่านสรุปว่า ในช่วง ๔ ปีแรกของชีวิต ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างแม่ลูกมีความสำคัญมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย อันมีผลต่อพัฒนาการของสมองส่วนที่สาม คือ Intellectual-creative brain (I-C) ที่เป็นสมองมนุษย์ (New human brain) หากเด็กไม่ได้รับความรู้สึกอบอุ่นในวัยแรกเกิด เด็กจะรู้สึกถูกตัดขาดจากทุกสิ่ง ไม่สามารถเรียนรู้ ไม่สามารถสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆรอบตัว เพราะสมองส่วนที่เป็นสมองมนุษย์ไม่พัฒนา เหลือแต่สมองตะกวด แม้ว่าจะฟังมาอย่างกระท่อนกระแท่นเต็มที แต่เรื่องสำคัญอย่างนี้ ฟังแล้วก็อยากถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้ กลับจากการประชุมวันนั้น ดิฉันก็เก็บความไปนั่งเล่าให้ลูกๆ ฟัง พอฟังจบ ลูกคนโตก็ถามว่า

“แม่...แล้วพวกที่ใช้หัวใจเทียมและจะเป็นยังไง”

แม่ก็ถึงบางอึ้ง ตอบไม่ได้ สงสัยว่าสมองของตัวเองคงไม่ไกลสมองตะกวดสักเท่าไรนักหรอก ก็ถูกสอนให้ท่องจำมาตลอดชีวิตการศึกษานี่คะ

ข้อมูลสื่อ

218-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 218
มิถุนายน 2540
พ่อ-แม่-ลูก