• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แคลเซียม ธาตุสำคัญในกระดูก

แคลเซียม ธาตุสำคัญในกระดูก

 

“นี่เธอ อายุเข้าวัยหมดประจำเดือนแล้วระวังกระดูกพรุนนะ”

 
“อาหารที่กินไม่รู้มีแคลเซียมพอหรือเปล่า เขาพูดกันจัง”


"เห็นโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์เขามีแคลเซียมช่วยป้องกันกระดูกพรุน จะกินดีหรือไม่นะ”


“นี่ฉันจะประสาทกินอยู่แล้ว เดี๋ยวก็ว่าจะขาดสารอาหารนี้สารอาหารโน้น ชักเลอะกันใหญ่”


"ใครก็ไม่รู้ ยกหลักฐานของฝรั่งพูดว่าผู้ใหญ่ต้องกินยาเม็ดแคลเซียมเท่านั้นเท่านี้ ฉันยังไม่รู้ว่าต้องเชื่อฝรั่งขนาดนั้นหรือ”

ฯลฯ


ข้อสงสัยต่างๆ ข้างต้น อาจทำให้คนตื่นตัวและตื่นกลัวไม่น้อย จนอาจกินมากเกินจำเป็น หรือกินโดยไม่จำเป็นหรือกินโดยไม่ถูกต้องสูญเสียเปล่า มีผู้ใหญ่กล่าวว่า คนไทยของเราเมื่อได้ยินได้ฟังอะไรมักไม่แสวงหาความรู้ต่อ ดังนั้นจริงไม่จริง เรายุคต่อๆ ไปทำให้เชื่อกันไปเรื่อยๆ เหมือนข่าวลือ หมอชาวบ้านฉบับนี้จึงขอพาท่านมารู้จักกับแคลเซียม แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เพราะเป็นแร่ธาตุที่มีมากที่สุดในร่างกาย ในร่างกายของผู้ใหญ่ประกอบด้วยแคลเซียมประมาณร้อยละ ๑.๕-๒.๐ ของน้ำหนักตัว ซึ่งประมาณร้อยละ ๙๙ ของแคลเซียมจะอยู่ในกระดูกและฟัน ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ ๑ จะอยู่ตามของเหลวและเนื้อเยื่อต่างๆ

 
ความสำคัญของแคลเซียมต่อร่างกาย
กระดูกเป็นโครงสร้างของร่างกาย ทำให้ร่างกายทรงตัวอยู่ได้ และเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อ ซึ่งแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูก คือ แคลเซียม

แคลเซียมไม่ได้มีบทบาทต่อกระดูกและฟันเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อระบบต่างๆ ของร่างกายด้วย หน้าที่ของแคลเซียมต่อร่างกายพอจะจำแนกได้ดังนี้

๑. สร้างกระดูก ฟัน เล็บ และเส้นผม รวมทั้งซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

๒. ทำให้ระบบประสาทส่วนที่ควบคมการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อทำงานเป็นปกติ

๓. ควบคุมให้กลไกการแข็งตัวของเลือดเป็นไปตามปกติ

๔. ช่วยระบบประสาทในการส่งสัญญาณให้เร็วขึ้น

๕. เป็นส่วนผสมของน้ำย่อยทุกชนิด และช่วยให้ระบบของน้ำย่อยทำงานเป็นปกติ

๖. ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี ๑๒

๗. ป้องกันอาการผิดปกติในวัยใกล้หมดประจำเดือน

จากหน้าที่ทั้งหมดจะเห็นได้ว่าแคลเซียมมีความจำเป็นต่อร่างกายมาก หน้าที่โดยรวมของแคลเซียมในเด็กและผู้ใหญ่คงไม่ต่างกัน เพียงแต่สัดส่วนของการทำหน้าที่อาจไม่เท่ากัน คือ ในเด็กวัยที่กำลังเจริญเติบโตทุกด้านโดยเฉพาะกระดูกและฟัน แคลเซียมจึงต้องทำหน้าที่หนักไปในด้านนี้ แต่ก็ยังต้องรักษาหน้าที่อื่นให้ปกติด้วย ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่หลังจากอายุ ๓๕ ปีไปแล้ว แคลเซียมไม่สามารถเสริมสร้างกระดูกได้ แต่ก็ยังต้องทำหน้าที่รักษาสมดุลของเนื้อกระดูกให้อยู่ได้นานที่สุดโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีกหลายประการ


ความต้องการแคลเซียมในแต่ละวัน
ในแต่ละวันของคนเรามีความต้องการแคลเซียมต่างกัน ในวัยเด็กย่อมต้องการมากกว่าผู้ใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่มีภาวะต่างกัน เช่น หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรก็ยังต้องการมากกว่าหญิงปกติ ค่าโดยประมาณของความต้องการแคลเซียมในปัจจุบันนี้คือ (ดูตารางที่๑) คนเราจะใช้แคลเซียมสำหรับการเสริมสร้างกระดูกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จนถึงอายุประมาณ ๓๐-๓๕ ปี หลังจากนั้นไปแล้ว การเสื่อมสลายจะมีมากกว่าการเสริมสร้าง การกินแคลเซียมในช่วงหลังอายุ ๓๐-๓๕ ปี ไม่ช่วยเสริมสร้างกระดูกแต่ช่วยลดการเสื่อมสลายได้ ดังนั้นถ้าเรากินแคลเซียมมากพอตั้งแต่ก่อนอายุ ๓๕ ปี จะช่วยให้เรามีกระดูกที่หนาแน่นดีพอเมื่อถึงคราวต้องเสื่อมสลายไปตามวัย กระดูกก็มักจะไม่เปราะบางเร็วเกินไป วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกทั้งด้านยาว (สูง) และความหนาแน่น (ความแข็งแรง) มากที่สุด จึงต้องการแคลเซียมมากกว่าวัยอื่นๆ


สำหรับหญิงมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรต้องการสารอาหารทุกประเภทเพิ่มขึ้นไม่เฉพาะแคลเซียม เพราะยังมีความต้องการของอีกหนึ่งชีวิตที่เพิ่มขึ้นมา ในหญิงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลให้ร่างกายดึงแคลเซียมจากกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นหญิงวัยหมดประจำเดือนจึงต้องการแคลเซียมมากเพื่อลดการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก


อาหารที่มีแคลเซียมสูง
แหล่งอาหารที่ดีของแคลเซียมและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป คือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เพราะนอกจากจะมีแคลเซียมสูงแล้วยังมีสารอาหารบางอย่างที่ช่วยส่งเสริมการใช้แคลเซียมเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกายด้วย สำหรับแหล่งอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่นม และผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนผสมแต่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง อาหารทะเล (เช่น หอยต่างๆ เนื่องจากมีกระดูกอ่อนผสมอยู่ในส่วนที่กินได้) นอกจากนั้นก็มีเต้าหู้ ถั่วเมล็ดแห้ง (เช่น ถั่วเหลือง เมล็ดอัลมอนด์) ผักและผลไม้หลายชนิด เช่น คะน้า มะขาม (ดูตารางที่๒ ประกอบ)



คำถามที่หลายคนคงจะสงสัย คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้รับแคลเซียมเพียงพอในแต่ละวัน ปริมาณแคลเซียมให้อาหารที่จะได้รับ หากเทียบกับนมโดยที่เราต้องการแคลเซียมวันละ ๘๐๐- ๑, ๒๐๐ มิลลิกรัม ก็ควรดื่มนมสด (รสจืด) ประมาณ ๗๐๐-๑,๐๐๐ มิลลิลิตร หรือ ๓-๔ แก้ว (ขนาดปกติ) โดยต้องคิดว่าไมได้รับแคลเซียมจากอาหารชนิดอื่นเลย แต่ถ้าได้รับจากอาหารอื่นด้วยก็ลงปริมาณนมลงได้ตามสัดส่วน


ปัจจัยที่มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียม
การปฏิบัติตัวเพื่อให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีนั้นบอกได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการที่ซับซ้อนภายในร่างกาย แต่ที่จะช่วยได้ ก็คือ ควรกินอาหารที่มีแคลเซียมและสารอาหารอื่นๆ ให้เหมาะสมตามวัยและเพศ เช่น โปรตีน วิตามินดี ซึ่งร่างกายสร้างได้โดยได้รับแสงแดดพอเพียงเพราะแคลเซียมต้องทำงานร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นการสร้างเสริมกระดูกหรือหน้าที่สำคัญอื่นตามที่กล่าวมาแล้ว และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายใช้แคลเซียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนปัจจัยที่ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลงก็มี เช่น

๑. อายุ ในเด็กจะดูดซึมได้มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นอายุมากกขึ้นการดูดซึมก็จะลดลง และเพศชายการดูดซึมจะมากกว่าเพศหญิง

๒. ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายได้รับ ถ้ากินมากร่างกายจะปรับให้การดูดซึมลดลง

๓. องค์ประกอบอื่นๆ ในอาหาร เช่น แร่ธาตุฟอสฟอรัส ถ้ามีไม่สมดุลหรือมีมากเกินไปจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง

๔. องค์ประกอบบางชนิดที่มีสูงในพืชผักบางชนิด เช่น ใยอาหาร ไฟเตต ออกซาเลตจะจับกับแคลเซียมทำให้ดูดซึมลดลง

๕. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมหรือยาปฏิชีวนะบางชนิดก็จะลดการดูดซึมแคลเซียม


ผลของการขาดแคลเซียม

๑. ถ้ามีการขาดแคลเซียมในวัยเด็กจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก คือ จะทำให้เป็นโรคกระดูกอ่อน หรือทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกทั้งความยาวและความหนาไม่สมบูรณ์ ตัวเตี้ยกว่าปกติได้ การที่มีภาวะเนื้อกระดูกน้อย เป็นเหตุทำให้โครงสร้างกระดูกผิดปกติ โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กระดูกแขน กระดูกขา และกระดูกสะโพก ที่สังเกตได้ คือ เด็กที่ขาดแคลเซียมจะมีขาโก่ง โค้ง

นอกจากนี้จะมีผลต่อเนื่องให้เกิดกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่ายเมื่อได้รับการกระแทกเพียงเล็กน้อย เพราะกระดูกเปราะบางลง

๒. กล้ามเนื้อและประสาทตาเกิดอาการเกร็งกระตุก กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ชัก

๓. การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ


ผลจากการได้รับแคลเซียมเกิน
การได้รับแคลเซียมเกินความต้องการของร่างกาย พบได้ ๒ แบบ คือ จากอาหารธรรมชาติซึ่งโดยปกติมักจะไม่เกิดขึ้นและการได้รับแคลเซียมสังเคราะห์ในรูปยาเม็ดสูงเกินไป จากผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเป็นพิษของแคลเซียมในกรณีที่ได้รับมากๆ เช่น ๓,๐๐๐ มิลลิกรัม/วัน ยังไม่ปรากฏชัด เท่าที่รายงาน อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ท้องผูก สำหรับการเกิดนิ่วในไต ถ้าหากได้รับปัจจัยอื่นเสริม เช่น ได้รับออกซาเลต ดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ ชอบกลั้นปัสสาวะ ก็จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงได้


บทบาทของแคลเซียมต่อโรคกระดูกพรุน
คนปกติความหนาแน่นของกระดูกสูงสุดในอายุระหว่าง ๒๕-๓๕ ปี หลังจากนั้นความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงทั้งหญิงและชาย โดยลงลดอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๖-๘ ทุกๆ ๑๐ ปี  หากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอในวัยเด็ก จะส่งผลให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่ายขึ้น ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนอีกอย่าง คือ หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง มีผลทำให้มีการดึงแคลเซียมออกจากกระดูกเข้ามาในกระแสเลือด ทำให้อัตราเสื่อมสลายของกระดูกเพิ่มขึ้น แคลเซียมจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ ถ้าหากมีการบริโภคเพียงพอ ส่งเสริมให้กระดูกเจริญเติบ โตเต็มที่ และมีการบริโภคแคลเซียมอย่างเพียงพอในวัยสูงอายุ จะช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูกได้
แต่ในการป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้นต้องมีปัจจัยอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รับแสงแดดในยามเช้าบ้าง หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (เช่น สุรา บุหรี่ ชา กาแฟ) บริโภคอาหารที่เหมาะสม
 

สารพันปัญหาแคลเซียม

ถึงแม้จะมีการพูดคุยกันถึงเรื่องแคลเซียมแล้ว เชื่อว่าหลายคนก็ยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับแคลเซียมอยู่ จึงได้พยายามรวบรวมคำถามเกี่ยวกับเรื่องแคลเซียมพร้อมคำตอบมานำเสนอ

ถาม แคลเซียมจากอาหารแต่ละชนิดเหมือนกันหรือไม่
ตอบ ไม่เหมือนกัน การนำไปใช้คงไม่เหมือนกัน แต่คิดว่าใช้ได้แต่อาจจะใช้ได้ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน นมถือว่าเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด ถ้าลองเทียบว่าร่างกายสามารถนำแคลเซียมจากนมไปใช้ได้มีร้อยละ ๑๐๐ อาหารชนิดอื่นก็น้อยกว่า อาจจะใช้ได้มีเพียงร้อยละ ๗๐-๘๐ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกายคนเรานั้นไม่สามารถนำแคลเซียมที่เข้าสู่ร่างกายไปใช้ได้หมด ต้องมีการสูญเสียทางการขับถ่ายด้วย

การที่เราจะไปให้คนทุกคนดื่มนมก็คงทำได้ยาก บางโอกาสฐานะไม่ให้ ไม่สามารถซื้อนมกินได้ ก็ต้องกินปลาทดแทน แม้แต่ปลาร้าก็หมักทั้งตัวแล้วเรากินได้ทั้งกระดูกก็ให้แคลเซียมได้ไม่น้อย อาหารทะเลบางชนิด เช่น หอยแครง หอยลาย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเอ็นหรือกระดูกอ่อน ซึ่งตรงนั้นเป็นแหล่งแคลเซียมที่ค่อนข้างดี ส่วนเต้าหู้แข็งที่ขายเป็นก้อน จะมีแคลเซียมที่เติมลงไปใกล้เคียงกับนมมากทีเดียว เต้าหู้ขาวอ่อน (ไม่ใช่เต้าหู้ไข่) จะมีน้อยกว่าเต้าหู้แข็ง แต่ถ้าเป็นน้ำเต้าหู้จะน้อยมาก เพราะเจือจาง โดยปกติถั่วเหลืองมีแคลเซียมปริมาณพอสมควร แต่ถ้าไปทำเป็นน้ำถั่วเหลืองแล้วจะได้แคลเซียมที่ละลายออกมาน้อยมากเพราะแคลเซียมไปอยู่ในส่วนที่เป็นกากที่เราไม่ใช้ แต่ถ้าเราเอากากถั่วเหลืองไปทำเป็นอะไรกินได้ เราก็จะได้แคลเซียมจากตรงนั้น

ในเต้าหู้ ตามกระบวนการผลิตจะใส่เกลือแคลเซียมลงไป แต่บางโรงงานใช้เกลือแมกนีเซียม ซึ่งจริงๆ แล้วแมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นเหมือนกัน ถึงอย่างไรกินเต้าหู้ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายทั้งนั้น เต้าหู้ที่กล่าวถึงนี้ ชาวบ้านรู้จักดีเป็นเต้าหู้แข็ง เต้าหู้เหลืองที่ผัดกับถั่วงอก หรือเต้าหู้ทอดจิ้มน้ำจิ้มนี่แหละ อาหารง่ายๆ ราคาก็ถูกแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายไม่ใช่น้อย


ถาม มีนมผงบางยี่ห้อ ระบุว่าเพิ่มแคลเซียม อยากทราบว่าในแง่ความเป็นจริงเป็นไปได้หรือไม่
ตอบ นมผงที่ระบุว่าเพิ่มแคลเซียมอาจจะไม่ใช่การเพิ่มโดยการเติมลงไปโดยตรง แต่เป็นกระบวนการแยกหรือสกัดสารอาหารบางตัว เช่น แยกไขมันออกไป ทำให้สารอาหารอื่นๆ เพิ่มความเข้มข้น ซึ่งก็คงจะไม่ใช่แต่แคลเซียมเท่านั้น ถ้าจะซื้อกินก็ควรพิจารณารายละเอียดและปรึกษาผู้รู้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน นอกจากนั้นรสชาติและการละลายก็อาจจะไม่ดี

ถาม คนธรรมดาหรือเด็กกินแคลเซียมสังเคราะห์โดยหมอไม่สั่งได้ไหม
ตอบ ผู้ที่ดื่มนมไม่ได้ อาจจำเป็นต้องให้ในรูปเม็ดยา สำหรับคนธรรมดาหรือเด็ก ถ้าไม่จำเป็นก็ควรกินจากอาหารจะเป็นประโยชน์กว่าในหลายๆ ด้าน เว้นแต่จะมีปัญหาการกิน หารดูดซึมหรืออื่นๆ ซึ่งควรจะปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไป หรือจะดูจากพฤติกรรมการบริโภคก็สามารถรู้ได้ว่า น่าจะเสี่ยงต่อการขาดแคลเซียม ก็สามารถหาซื้อมากินเองได้ตามความต้องการที่เหมาะสมในแต่ละเพศและวัย แต่ก็ควรจะปรึกษาผู้รู้ เช่น แพทย์ เภสัชกร โดยไม่จำเป็นที่ต้องเลือกรูปแบบที่แพงเสมอไป


ถาม แคลเซียมในผัก ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ดีเหมือนแคลเซียมจากเนื้อสัตว์หรือไม่
ตอบ แคลเซียมในผักบางชนิดที่ไม่มีสารขัดขวางการดูดซึมหรือมีน้อย เช่น ใยอาหาร ไฟเตต ออกซาเลต ร่างกายจะนำไปใช้ได้ดีพอสมควร ตัวอย่างเช่น ได้มีการศึกษา พบว่า แคลเซียมในผักคะน้าสามารถใช้ได้ดี


ถาม ถ้าเทียบแคลเซียมตามธรรมชาติกับแคลเซียมสังเคราะห์ มีประโยชน์เท่ากันหรือไม่
ตอบ แคลเซียมธรรมชาติน่าจะมีประโยชนมากกว่าโดยเฉพาะจากนม สำหรับในแคลเซียมสังเคราะห์ซึ่งอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมแลกเตรต แคลเซียมเตรมาเลต เป็นต้น และอาจมีการเติมสารอาหารบางอย่างร่วมกับแคลเซียม เช่น วิตามินดี วิตามินซี สำหรับในบ้านเราที่มีแสงแดดเพียงพออยู่แล้ว วิตามินดีสังเคราะห์อาจไม่จำเป็น เพราะถ้าได้รับวิตามินดีมากเกินไปร่างกายจะสะสมอาจะเกิดผลเสียได้ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้


ถาม ทราบมาว่าในเต้าหู้และนมก็มีแคลเซียม แต่ทำไมแพทย์จึงมักจะแนะนำให้ดื่มนมมากกว่า
ตอบ อาหารทั้ง ๒ อย่างนี้มีแคลเซียมจริง แต่ในนมจะมีมากกว่า และแพทย์ควรแนะนำให้กินทั้ง ๒ อย่าง ยกเว้นจะมีปัญหาเฉพาะบุคคลที่ทำให้แพทย์ต้องเลี่ยง เช่น บางคนอาจจะดื่มนมไม่ได้ ก็กินเต้าหู้หรือกินอาหารอื่นที่มีแคลเซียมแทน แต่ถ้าเป็นปกติดี นมและผลิตภัณฑ์จากนมยังเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด


ถาม เวลากินปลากระป๋องเรากินทั้งก้างปลาด้วย จะได้แคลเซียมด้วยหรือเปล่า
ตอบ ได้แน่นอน แต่ก็ต้องระวังก้างใหญ่จะทำให้บาดเจ็บได้ แต่ก็ไม่ควรกินเป็นประจำหรือซ้ำซาก ควรจะหมุนเวียนสลับกับแหล่งอื่นด้วย นอกจากนั้นก็มีปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งกระดูกก็เป็นประโยชน์


ถาม วิตามินดี มีส่วนสัมพันธ์กับแคลเซียมอย่างไร
ตอบ วิตามินดี เป็นตัวช่วยในการดูดซึมของแคลเซียม และรักษาสมดุลของแคลเซียมในร่างกายซึ่งมีผลต่อการสร้างกระดูก ถ้าขาดวิตามินดีการนำแคลเซียมไปใช้ในร่างกายก็ไม่ดีทำให้กระดูกไม่แข็งแรง (กระดูกอ่อน) ในเด็ก หรือทำให้กระดูกเปราะบางได้ในผู้ใหญ่ ในทางกลับกันการได้รับวิตามินดีมากเกินไปก็เป็นอันตราย (พิษ) โดยเฉพาะในเด็กทำให้มีภาวะแคลเซียมในเลือดและปัสสาวะสูง และอาจทำให้มีการสะสมของแคลเซียมตามเนื้อเยื่อต่างๆ จนเกิดอันตรายได้ ถ้าร่างกายได้รับแคลเซียมสูงในขณะทีได้รับวิตามินดีปกติ ร่างกายจะปรับให้การดูดซึมเป็นไปตามปริมาณและความต้องการ แต่ถ้าได้รับวิตามินดีสูงจะเกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่า เพราะเมืองไทยเป็นเมืองที่มีแสงแดดเพียงพอที่จะสร้างวิตามินดีขึ้นมนร่างกายได้ จึงไม่จำเป็นต้องได้รับจากการเสริม ยกเว้นผู้มีปัญหา สำหรับประเทศที่มีอากาศหนาว ซึ่งได้รับแสงแดดไม่เพียงพอตลอดปีจึงต้องมีการเสริมวิตามินดีในอาหาร


ถาม ในการประกอบ อาหารความร้อนจะทำให้แคลเซียมสลายไปหรือไม่
ตอบ การประกอบอาหารด้วยความร้อนไม่ทำให้แคลเซียมสลายได้ แต่การใช้น้ำเป็นส่วนประกอบอาจทำให้แคลเซียมละลายลงน้ำได้บ้างเล็กน้อย ถ้าทิ้งน้ำไปก็เสียแคลเซียมได้บ้าง

ถาม การดื่ม ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ มีผลไปลดการดูดซึมของแคลเซียมหรือไม่
ตอบ สำหรับกรณีนี้ อาจจะยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่มีผลต่อแคลเซียมในร่างกายแน่นอน อาจจะทำให้การสลายแคลเซียมจากกระดูกเพิ่มมากขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับการดูดซึมก็เป็นได้ ดังนั้นในทางปฏิบัติไม่ถึงกับห้ามแต่ไม่ควรดื่มมากเกินไป แต่ถ้าดื่มในปริมาณมากและประจำจะเป็นผลเสียต่อทั้งการดูดซึมและการสลายตัวแน่นอน


ถาม ทำไมหมอจึงแนะนำว่าการออกกำลังกายจะทำให้กระดูกแข็งแรง
ตอบ การออกกำลังกายมีผลต่อกระดูก เพราะการออกกำลังกายเป็นปัจจัยที่ทำให้กระดูกของคนเราต้องสร้างความแข็งแรงเพื่อรองรับแรงกระแทกหรือน้ำหนักที่จะกดทับลงบนกระดูก เป็นเหมือนสิ่งกระตุ้นให้สร้างกระดูกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านของความหนาแน่น โดยทั่วไปการออกกำลังกายทุกประเภทเป็นสิ่งดี แต่จะดีมากต่อกระดูกจะเป็นการออกกำลังกายแบบต้านแรง เช่น การยกน้ำหนักของตัวเองจากพื้นโลก หรือการยกน้ำหนักทั่วๆ ไป ตัวอย่างเช่น การวิ่ง การกระโดด หรือกีฬา เช่น ฟุตบอล, บาสเกตบอล, สำหรับการขี่จักรยานเป็นตัวอย่างของกีฬาที่ไม่ใช่แบบต้านแรง


ถาม ผู้ชายมักมีปัญหาโรคกระดูกพรุนน้อยกว่าผู้หญิงจริงหรือไม่
ตอบ ผู้ชายโชคดีกว่าผู้หญิงหลายๆ เรื่อง ปัญหาของการเกิดโรคกระดูกพรุนก็น้อย เพราะผู้ชายมีฮอร์โมนที่ต่างกับของผู้หญิง ผู้หญิงพอถึงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนที่เคยมีก็หมดไป พอฮอร์โมนตัวนั้นหมดปุ๊บก็ทำให้กระดูกเสื่อมสลายมากขึ้นแต่ไม่ใช่ว่าผู้ชายไม่มี ไม่เป็น ผู้ชายก็มีโอกาสจะมีจะเป็น แต่จะแสดงผลน้อยกว่า ช้ากว่าผู้หญิง ถ้าเขามีอายุยืนมากๆ ถึง ๑๐๐ ปีก็อาจจะเห็นผล

การวิจัยในเด็ก พบว่า พื้นฐานของเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงในวัยเดียวกัน ผู้ชายจะสะสมแคลเซียมและมีความหนาแน่นของกระดูกมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งกำลังมีความพยายามที่จะหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องส่วนหนึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ อีกปัจจัยที่สำคัญได้แก่การออกกำลังกาย เด็กผู้ชายจะเป็นประเภทที่ซุกซน ไม่อยู่นิ่ง ออกไปวิ่งเล่น ผิดกับเด็กผู้หญิงที่จะนั่งเล่นอยู่กับที่เรียบร้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกด้วย พอๆกับการได้รับอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม

จึงอยากแนะนำให้เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงได้ออกกำลังกาย เล่นกีฬาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกีฬาแบบไหน ถ้าเป็นกีฬาที่ต้านแรงโน้มถ่วงของโลกยิ่งดี เช่น เดิน วิ่ง กระโดเชือก ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เทนนิส แบดมินตัน ฯลฯ แม้ว่าจะได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูง แต่ถ้าไมได้ออกกำลังกายเลย แคลเซียมที่ได้รับก็ไม่สามารถเอาไปสร้างกระดูกได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นควรให้เด็กได้ออกกำลังกายตั้งแต่เล็ก ๆ พร้อมกับได้รับอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนเพื่อสร้างเสริมทุกส่วนของร่างกายโดยเฉพาะกระดูกให้แข็งแรงสมบูรณ์ไม่เสื่อมสลายเร็วเกินไป

ข้อมูลสื่อ

221-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 221
กันยายน 2540
บทความพิเศษ