• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมี่ยงปลาช่อน

เมี่ยงปลาช่อน


“ปลาเห็นเหยื่อแต่ไม่เห็นเบ็ดคนเห็นผลประโยชน์แต่ไม่เห็นโทษ”

เป็นสุภาษิตจีนที่มีมาแต่โบราณ จะเห็นว่า มนุษย์รู้จักจับปลามาเป็นอาหารนานแล้ว จนทุกวันนี้ปลายังเป็นอาหารที่สำคัญของมนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา เพราะปลาเป็นสัตว์ที่มีประชากรมากที่สุดในบรรดาสัตว์ที่มีกระดูกทั้งหลาย แทบจะกล่าวได้ว่า “มีน้ำที่ไหน มีปลาที่นั่น"


เมื่อเทียบกับเนื้อวัว หมู และไก่แล้ว เนื้อปลาจะมีโปรตีนที่สูงกว่า และร่างกายสามารถดูดซึมได้ถึงร้อยละ ๙๖ และยังมีแคลเซียมและฟอลฟอรัสมากกว่า เนื้อสัตว์อื่นด้วย เนื่องจากช่วงนี้ยังเป็นช่วงฤดูฝน เราควรทำร่างกายให้อบอุ่นไว้ด้วยการกินอาหารที่ปรุงจากเครื่องปรุงที่มีรสร้อน เช่น พริก พริกไทย กระเทียม โหระพา ตะไคร้ ผักชี ต้นห้อม เข้าครัว ครั้งนี้เลยเสนอรายการ “เมี่ยงปลาช่อน”

เครื่องปรุงหลักก็ต้องเป็นปลาช่อน และผักแกล้มอีกหลายอย่าง สำหรับผักที่ใช้จะเป็นผักกาดหอม กะหล่ำปลี ซึ่งมีเส้นใย (Fiber) มาก ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ ช่วยการย่อยอาหาร ป้องกันอุจจาระแข็งได้ แล้วยังมีผักชีที่มีรสร้อนเล็กน้อย ช่วยขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้ดี เวลาจะกินนำผักกะหล่ำปลีมาหั่นเป็นเสี้ยว ขนาดพอคำ ถ้าเป็นผักกาดหอมก็นำมาเด็ดพอคำ ด้วยน้ำจิ้ม แกล้มด้วยต้นหอม ใบโหระพา ผักชี แค่นี้ก็ได้อร่อยเด็ดแล้วล่ะค่ะ

เครื่องปรุง

  • ปลาช่อนขนาดกลาง ๑ ตัว
  • ตะไคร้ ๑ ต้น
  • รากผักชี ใบมะกรูด
  • ซีอิ้วขาว ๒ ช้อนชา เกลือ
  • พริกไทย ๑๕ เม็ด
  • ผักกะหล่ำปลี ต้นหอม ผักชี
  • ผักกาดหอม ใบโหระพา

เครื่องปรุงน้ำจิ้ม

  • กระเทียม ๑๐ เม็ด
  • รากผักชี ๒ ราก
  • พริกขี้หนูสด ๑๓ เม็ด
  • ถั่วลิสงป่น ๓ ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว น้ำปลา


วิธีทำ

นำปลาช่อนมาขอดเกล็ด และควักไส้ออก ล้างทำความสะอาดโดยใช้เกลือป่นถูไปที่ตัวปลาจะช่วยให้หมดเมือกและหายคาวเร็วขึ้น บั้งปลา น้ำตะไคร้มาบุบตัดเป็นท่อน ใบมะกรูดฉีก และรากผักชีทั้ง ๓ อย่างรวมกันแล้วยัดใส่ปากของปลาช่อน นำซีอิ้วขาว เกลือ พริกไทยโรยและคลุกไปบนตัวปลาทั้งสองด้าน ใส่ลังถึงนึ่ง ประมาณ ๑๕ นาที ใช้ไฟขนาดกลาง นึ่งพอสุกยกลง

การปรุงน้ำจิ้ม
นำกระเทียม รากผักชี พริกขี้หนูสดโขลกให้ละเอียด แล้วใส่ถั่วลิสงป่นลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลา มะนาว

ข้อมูลสื่อ

222-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 222
ตุลาคม 2540
เข้าครัว
นาตยา