• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคอ้วน : อันตรายเทียบเท่าบุหรี่

เมื่อเร็วๆนี้สมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่า ภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือโรคอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเทียบเท่ากับปัจจัยเสี่ยง เช่น บุหรี่ ความดันเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง การขาดการออกกำลังกาย
หมายความว่า โรคอ้วนเพียงประการเดียวก็สามารถทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (ต่อไปก็เรียกสั้นๆว่า โรคหัวใจ)ได้

ก่อนหน้านี้วงการแพทย์ยังถือว่า โรคอ้วนเป็นเพียงปัจจัยที่เสริมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ (เช่น บุหรี่ ภาวะไขมันในเลือดสูง) ในการทำให้เกิดโรคหัวใจ แต่จากหลักฐานการศึกษาวิจัยในช่วงหลัง พบว่า โรคอ้วนมีอันตรายร้ายแรงเทียบชั้นกับบุหรี่ได้

สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศข่าวนี้ออกมาเพื่อเตือนภัยชาวอเมริกันที่มีภาวะน้ำหนักมากเกินกันมากมาย (พบว่า ในปัจจุบันผู้ใหญ่อเมริกันมีภาวะน้ำหนักตัวเกินถึงร้อยละ ๕๔ และเด็กอเมริกันมีภาวะน้ำหนักตัวเกินถึงร้อยละ ๒๕)

นายแพท์โรเบิร์ต เอกเคล รองประธานกรรมการฝ่ายโภชนาของสมาคมโรคหัวใจ แห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “ความอ้วนนับว่าเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่อาจเป็นนานตลอดชีวิต มันไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาเรื่องความสวยงามหรือบุคลิกภาพเท่านั้น แต่มันกำลังกลายเป็นเสมือนโรคระบาดร้ายแรงชนิดหนึ่งไปเสียแล้ว”

สาเหตุของโรคอ้วน ก็คือ การบริโภคอาหารที่มีแคลอรีสูง (เช่น ไขมัน แป้ง น้ำตาล ของหวาน) และการขาดการออกกำลังกาย
อันตรายของโรคอ้วน นอกจากโรคหัวใจแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคของถุงน้ำดี โรคข้อเสื่อม และโรคมะเร็งบางชนิด

สำหรับคนไทยเรานั้นก็มีการสำรวจพบว่า คนที่มีอายุมากกว่า ๑๕ ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักตัวเกินร้อยละ ๒๐ และในคนที่มีอายุมากกว่า ๔๐ปีขึ้นไปมีถึงร้อยละ ๓๐-๓๕ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คนไทยหันมานิยมบริโภค อาหารที่มีแคลอรีสูง เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ดตะวันตกกันมากขึ้น และมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น

เห็นทีจะต้องช่วยกันร้องเพลง “ไม่อ้วนเอาเท่าไร” พร้อมกับรณรงค์ให้หันกลับมากินอาหารไทย ซึ่งเป็นอาหารสุขภาพ และส่งเสริมการออกกำลังกายกันให้มากขึ้น
ท้ายที่สุดนี้ ได้แถมวิธีคำนวณ “ค่าดัชนีความหนาของร่างกาย” เป็นการประเมินน้ำหนักตัวไว้ด้วยแล้ว

ดัชนีความหนาของร่างกาย =  น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม
                                                         (ส่วนสูงเป็นเมตร)
ปกติต้องมีค่าอยู่ระหว่าง ๒๐-๒๔.๙ กิโลกรัมต่อเมตร
ถ้าต่ำกว่า ๒๐ ก็ถือว่าผอมไป
ถ้ามากกว่า ๒๕ ขึ้นไปก็ถือว่าน้ำหนักเกิน
ยิ่งเกินมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้นเท่านั้น

 

ข้อมูลสื่อ

233-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 233
กันยายน 2541
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ