• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดูโหวงเฮ้งจากสีสันของผู้ป่วย

ดูโหวงเฮ้งจากสีสันของผู้ป่วย

 
“คุณเป็นโรคระบบย่อยอาหารไม่ค่อยดีครับ” แพทย์จีนท่านหนึ่งพูดกับคนไข้ภายหลังจากได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยด้วยเครื่องตรวจพื้นฐาน คือ อวัยวะสัมผัสของร่างกาย ตา จมูก ปาก หู ผิวหนัง (สัมผัส) โดยยังไม่ต้องให้ผู้ป่วยได้บอกถึงปัญหาที่มาหา ในทำนองเดียวกัน ผู้อ่านคงเคยได้ยินบ่อย ๆที่แพทย์จีนมักจะทักทายคนไข้ว่า

“คุณเป็นโรคไต ไตไม่แข็งแรง ต้องบำรุงไต”

“คุณเป็นโรคตับ ไฟตับสูง... ต้องให้ยาไปลดไฟตับ”

“คุณเป็นโรคพลังพร่อง เกิดจากระบบการย่อยไม่ดี ต้องบำรุงม้าม” ฯลฯ

การตรวจร่างกายด้วยเครื่องมือที่ประจำตัวหมอ คือ ประสามสัมผัสด้วยความละเอียดอ่อนและยึดคุม ความเข้าใจของหลักปรัชญาปัญจธาตุและยิน-หยาง หลักทฤษฎีพื้นฐานของการแพทย์จีนสามารถจับเอาปรากฏการณ์ที่สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสสู่การวิเคราะห์ปัญหาของความสมดุลของอวัยวะต่างๆภายในนับว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ฉบับนี้จะนำเสนอถึงสีสันทั้ง ๕ กับความสัมพันธ์กับอวัยวะภายในร่างกาย
อวัยวะภายในทั้ง ๕ ได้แก่ หัวใจ ตับ ม้าม ปอด ไต มีความสัมพันธ์กับสีทั้ง ๕ คือ แดง เขียว เหลือง ขาว ดำ 
 


สีสันที่ปรากฏบนใบหน้าจะสะท้อนภาวะของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้อง

 คนที่มีสีสันบนใบหน้าขาวซีดร่วมกับอาการหอบเหนื่อย อ่อนเพลียง่าย เวลาเคลื่อนไหวมาก หน่อยก็เหนื่อย เหงื่อออกง่าย เป็นหวัดง่าย แสดงว่า ปอดไม่แข็งแรง

ถ้าเป็นโรคปอดสีหน้าเปลี่ยนไปทางสีดำแสดงว่าอาการของโรคดีขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสีแดง แสดงว่า อาการรุนแรงขึ้น

 คนที่มีสีสันบนใบหน้าสีดำ ร่วมกับอาการปวดเมื่อยเอวหรือเข่า เวียนศีรษะ ไม่มีกำลัง กลัวหนาว แขนขาเย็น สมรรถภาพทางเพศลดลง สตรีที่มีบุตรยาก อุจจาระเป็นน้ำ ระบบย่อยไม่ดี อาเจียนบ่อย ท้องเสียตอนเช้า เท้าบวม หายใจหอบ เหนื่อย แสดงว่า ไตไม่แข็งแรง

คนที่เป็นโรคไตถ้าสีหน้าเปลี่ยนไปทางสีขาวหรือเขียว แสดงว่า อาการดีขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แสดงว่า อาการรุนแรงขึ้น

 คนที่มีสีสันบนใบหน้าออกไปทางสีเขียวเหลืองร่วมกับอาการ หงุดหงิด ปวดแน่นสีข้าง ปวดเต้านม แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร มีน้ำย่อยมาก ในสตรีจะมีประจำเดือนไม่ปกติ มักพบในโรคเรื้อรังของตับหรือถุงน้ำดี ตับอักเสบ โรคเต้านม

ถ้าคนที่เป็นโรคตับ สีหน้าเปลี่ยนไปทางสีดำหรือไปทางแดงแสดงว่าอาการของโรคทุเลาขึ้น แต่ถ้า
เปลี่ยนเป็นสีขาว แสดงว่า รุนแรงขึ้น

 คนที่มีสีสันบนใบหน้าเป็นสีเหลืองร่วมกับมีอาการแน่นในท้อง เบื่ออาหาร ปัสสาวะสีเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังมีสีเหลืองจากภาวะดีซ่าน คันผิวหนัง ไข้ต่ำๆ แสดงว่า ม้ามมีปัญหา (ม้ามในทัศนะแพทย์จีน มีความหมายถึง ระบบย่อยดูดซึม ซึ่งรวมถึงหน้าที่บางอย่างของตับ ถุงน้ำดี ในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน)

ถ้าคนที่เป็นโรคม้าม สีสันบนใบหน้าเปลี่ยนไปเป็นสีขาวหรือแดง แสดงว่า โรคทุเลาขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นสีเขียว แสดงว่า อาการรุนแรงขึ้น

 คนที่มีสีสันบนใบหน้าเป็นสีแดงร่วมกับมีอาการหงุดหงิด ขาดสมาธิ คอแห้ง ขมคอ มีแผลในปาก ปัสสาวะเหลืองเข้ม เวลาปัสสาวะมีความรู้สึกร้อน ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลือง แสดงว่า มีไฟหัวใจแกร่ง
ถ้าคนที่เป็นโรคหัวใจที่มีไฟร้อนแกร่ง สีสันบนใบหน้าเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือเขียว แสดงว่าอาการทุเลาขึ้น ถ้าเปลี่ยนไปเป็นสีดำแสดงว่าอาการรุนแรงขึ้น การสังเกตสีสันบนใบหน้าจึงสามารถทำนายทายทักโรคและพยากรณ์โรคได้ด้วยเหตุดังนี้แล

ข้อมูลสื่อ

225-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 225
มกราคม 2541
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล