• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทานตะวัน : โดดเด่น งดงาม ยามต้องแสงตะวัน

เดือนธันวาคม หรือเดือนอ้ายทางจันทรคติเป็นเดือนที่งดงามสดชื่นสำหรับชาวไทย เพราะเป็นเดือนแห่งฤดูหนาวที่อากาศเยือกเย็น ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ดวงดาวเปล่งแสงเป็นประกายมองเห็นชัดเจนว่าช่วงอื่นของปี พื้นดินยังคงเขียวขจีเพราะเพิ่งหมดฝนไปไม่นาน ปีใดที่ฝนตกชุก เช่น ปี ๒๕๔๕ นี้อากาศมักจะหนาวเย็นกว่าปกติ คนไทยจะตื่นเต้นเนื่องจากหลายปีมานี้อากาศดูเหมือนจะร้อนมากขึ้นและยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีอากาศเย็นก็ถือเป็นโอกาสพิเศษที่จะได้เปลี่ยนบรรยากาศ ได้ใส่เสื้อผ้ากันหนาว ได้เห็นหมอกยามเช้า หรือหากท่องเที่ยวไปทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะบนภูเขาหรือดอยต่าง ๆ ก็อาจได้สัมผัสน้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง ให้ความรู้สึกได้เหมือนได้ไปท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีหิมะ สำหรับคนไทยที่ไม่มีโอกาส หรือไม่ต้องการออกไปเที่ยวต่างประเทศ ตามนโยบายเที่ยวทั่วไทย เงินทองไม่รั่วไหลนั้นเอง
จุดเที่ยวชมที่เด่นในช่วงหนาวซึ่งมีเฉพาะฤดูนี้อย่างหนึ่งก็คือ ทุ่งดอกบัวตองในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดในแม่ ฮ่องสอน ดอกบัวตองเป็นดอกไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ขึ้นเป็นพื้นที่กว้างขวางบนพื้นที่โล่ง จึงมักเรียกว่า ทุ่งดอกบัวตอง
สำหรับในภาคกลาง นักท่องเที่ยวก็มีจุดชมทุ่งดอกไม้เช่นเดียวกัน แต่เป็นทุ่งดอกไม้ที่เกษตรกรปลูกเอาไว้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ก็มีความงดงามเป็น เป็นผลพลอยได้ จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชื่นชมกันมากมาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจาก กรุงเทพ ฯ เพราะอยู่ห่างออกไปไม่ไกลบริเวณจังหวัด สระบุรีและลพบุรี นี่เอง ทุ่งดอกไม้ในบริเวณภาคกลางนี้ก็คือ ทุ่งดอกทานตะวัน

ทานตะวัน : ดอกไม้แห่งดวงตะวัน
ทานตะวัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus annuus Linn.ในวงศ์ Compositae เช่น เดียวกับ บานชื่น เบญจมาศ ดาวเรือง เป็นต้น
เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ ๑ -๒ เมตร ส่วนใหญ่เป็นลำต้นเดี่ยว แต่บางสายพันธุ์ก็มีกิ่งแยกออกไปจากลำต้นหลักบ้าง
ลำต้น เป็นไม้เนื้ออ่อน เปลือกหุ้มลำต้น มีเส้นใยตามยาวคล้ายต้นปอแก้ว ผิวลำต้นมีขนอ่อนปกคลุม
ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ รูปร่างกลมรี ปลายใบแหลมกว้างประมาณ ๑๐ – ๒๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ผิวใบมีขนอ่อนปกคลุม
ดอก เป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกปลายยอด และปลายกิ่งแขนง ( หากมีกิ่ง ) ดอกทรงกลม ตรงกลางมีเกสรรวมกันอยู่เกือบเต็ม ขนาดดอกรอบๆ เกสรเป็นกลีบดอกเรียง อยู่โดยรอบคล้ายเปลวรัศมีดวงอาทิตย์ กลีบดอกทานตะวันมีสีเหลือง รวมทั้งเกสรตัวผู้ก็มีสีเหลือง
ดอกทานตะวันมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดลำต้น เส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ ๑๒ – ๒๔ เซนติเมตร บางสายพันธุ์อาจจะใหญ่กว่านี้มาก 2 เท่า
ลักษณะพิเศษของดอกทานตะวันก็คือ จะหันหน้าดอกไปตามทางดวงอาทิตย์เสมอ จึงได้ชื่อในภาษาไทยว่า ทานตะวัน หรือในภาษาอังกฤษว่า sunflower นอกจากนี้ลักษณะรูปร่างสีของดอกทานตะวันยังคล้ายดวงอาทิตย์มากอีกด้วย
เมื่อดอกทานตะวันผสมเกสรแล้วกลีบดอกจะเหี่ยวแห้งไป เกสรตัวผู้จะหลุดร่วงเหลือแต่เมล็ดสีดำมากมายเรียงกันเป้นวงกลมอยู่กลางดอก ดอกที่ติดเมล็ดแล้วจะคว่ำหน้าลงสู่พื้นดิน ในเมล็ดทานตะวันจะมีเนื้อภายในเปลือกคล้ายเมล็ดแตงโม ( กวยจี๊ )

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของทานตะวัน อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือด้านตะวันตก ชาวยุโรป นำมาปลูกในประเทศสเปน ประมาณ ๔๕๐ ปี มาแล้ว และมีบันทึกว่าชาวญี่ปุ่น นำทานตะวันเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัย สมเด็จพระนารายณ์ มหาราช ประมาณ ๓๒๐ ปี มาแล้ว ทานตะวันคงเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะมีปรากฏในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖ ว่า “ ทานตะวัน เปนชื่อต้นดอกไม้อย่างหนึ่ง เช่น ดอกทานตะวัน มันหันดอกรับตะวัน “

น่าสังเกตว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนไทยภาคกลางยังเรียก ดวงอาทิตย์ว่า ดวงตะวัน ( หรือดวงตาวัน ) จึงเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า ดอกทานตะวัน หากพืชชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทยช่วงหลังจากนี้ อาจจะได้ชื่อว่า ดอกทานอาทิตย์ก็ได้ เช่น เดียวกับเพลงลาวดวงเดือน ก็อาจได้ชื่อว่า ลาวดวงจันทร์แทน
ทางภาคเหนือเรียกทานตะวันว่า บัวผัดหรือบัวตอง ซึ่งชื่อบัวตองนี้ เป็นพืชพื้นบ้านที่ขึ้นอยู่ตามที่โล่งบริเวณภูเขาอย่างที่กล่าวมาตอนต้นแล้ว สันนิษฐานว่าเนื่องจากลักษณะดอกและลำต้นของทานตะวันมีความคล้ายคลึงกับต้นบัวตอง ชาวบ้านจึง เรียกทานตะวัน ว่าบัวตองไปด้วย ซึ่งในทางพฤกษศาสตร์ ทั้งทานตะวันและบัวตอง ก็อยู่ในวงศ์เดียวกัน อาจเรียกบัวตองว่าทานตะวันป่า หรือทานตะวันพื้นบ้านก็ได้ ในทางกลับกันก็อาจเรียกทานตะวันว่า บัวตองเทศ เช่นเดียวกับมะเขือเทศ หรือกระถินเทศ แต่ก็คงไม่ไพเราะได้ความหมายเหมือนทานตะวัน
ชื่อของทานตะวันที่เรียกกันในภาคกลางคือ ทานตะวันหรือชอนตะวัน ส่วนในภาคใต้เรียก ทานหวัน

ประโยชน์ของทานตะวัน
ประโยชน์หลักของทานตะวันในปัจจุบันก็คือ การปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น การปลูกในจังหวัด สระบุรี และลพบุรีของประเทศไทย ทานตะวันปลูกกันทั่วโลกในเขตร้อนและกึ่งร้อน เพราะอุตสาหกรรมอาหารต้องการเมล็ดทานตะวันเป็นจำนวนมาก เมล็ดทานตะวันมีเนื้อในเม็ดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นับเป็นอาหารบำรุงสุขภาพชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงรู้จักดีในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ ด้วยอาหารธรรมชาติ ในประเทศไทย เราจะพบเมล็ดทานตะวันอบแห้งสำหรับใช้เป็นของว่าง เช่นเดียว กับเมล็ดแตงโม เพราะเชื่อว่าเมล็ดทานตะวันมีคุณค่าทางโภชนาการและสมุนไพรสูงกว่าเมล็ดแตงโม

ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดทานตะวันที่พัฒนามากกว่าเมล็ดแตงโมคือ เมล็ดทานตะวันไร้เปลือก (เนื้อในเมล็ดทานตะวัน ) อบแห้งบรรจุถุงมีจำหน่ายแพร่หลายแล้ว แต่ยังไม่พบเมล็ดแตงโม ในลักษณะนี้ พบแต่เมล็ดฟักทอง
เมล็ดทานตะวันมีน้ำหนักอยู่มาก จึงมีอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันจากเมล็ดทานตะวันเพื่อนำมาประกอบอาหาร เช่นเดียวกับน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด แต่น้ำมันทานตะวันมีราคาแพงกว่าน้ำมันพืชที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นคนไทยทั่วไปจึงไม่ค่อยคุ้นเคย ที่จะใช้น้ำมันทานตะวันแพร่หลายนัก
จากเมล็ดทานตะวันที่สกัดน้ำมันออกแล้วก็ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดีเช่นกับกากถั่วเหลือง เปลือกของลำต้นทานตะวันแม้จะไม่เหนียวพอสำหรับทำเชือก แต่ก็ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำกระดาษได้ดี
ลำต้นทานตะวันมีสรรพคุณ แก้ปัสสาวะขัด น้ำนมคัด และทำให้ชุ่มคอ

ประโยชน์หลักของทานตะวันอีกอย่างหนึ่งคือ ด้านการเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่มีความโดดเด่นงดงาม เนื่องจากดอกทานตะวันเป็นดอกที่มีขนาดใหญ่และชูดอกอยู่บนปลายยอดของลำต้นจึงดูเด่นแลเห็นได้ชัดเจน นอกจากนั้นยังหันหน้าไปดวงอาทิตย์อยู่เสมอ จึงมีดอกที่เงยหน้าขึ้นและไปในทิศทางเดียวกันหมดแตกต่างจากดอกไม้อื่น ๆ ยิ่งเมื่ออยู่รวมกันมาก ๆ เต็มท้องทุ่งก็ยิ่งงดงาม เพราะมองเห็นแต่ดอกทานตะวันสูงลอยขึ้นมาเหนือลำต้นและใบ รวมทั้งหันหน้าดอกไปทางเดียวกันทุกดอก ภาพของดอกทุ่งทางตะวันจึงดึงดูดผู้ชมให้มาชื่นชมได้มากมาย แม้ว่าจะเป็นพันธุ์ทานตะวันที่ปลูกเพื่อเก็บเมล็ด ไม่ใช่พันธุ์ที่คัดเลือกมาสำหรับดูดอกโดยเฉพาะก็ตาม

ปัจจุบันมีการผสมพันธุ์และคัดเลือกทานตะวันเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับโดยเฉพาะมากมายหลายพันธุ์มีทั้งชนิดดอกโตต้นสูง กลีบใหญ่ สีสีสันหลากหลาย ไม่มีเฉพาะสีเหลืองเท่านั้น เหมือนทานตะวันพันธุ์เมล็ดที่คนไทยคุ้นเคย บางพันธุ์ก็ต้นเล็กเตี้ยเหมาะสดำหรับปลูกในกระถาง บางชนิดแตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ยามออกดอกพร้อมกันดูงามแปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง

ทานตะวันเป็นพืชแข็งแรงทนทาน และปลูกง่ายมากชนิดหนึ่งมีพันธุ์ให้เลือกปลูกได้หลากหลายในราคาไม่แพง นับเป็นดอกไม้ที่น่าปลูกอย่างยิ่งในฤดูหนาวนี้

 

 


 

ข้อมูลสื่อ

284-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 284
ธันวาคม 2545
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร