• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชอบยา

ชอบยา (ตอนที่ ๑)

 
ไม่ว่าจะในช่วงใดของชีวิต เกิด แก่ เจ็บ หรือตาย จะมีการใช้ยาอยู่เสมอ ยาจึงเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ แห่งความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ แม้แต่ในช่วงก่อนเกิด หรือยังอยู่ในครรภ์มารดาก็มีการใช้ยาที่เรียกว่า “ยาบำรุงครรภ์” ให้แก่แม่ และคาดหวังว่ายานั้นๆ จะทำให้แม่และลูกในท้องมีสุขภาพสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจให้ผลตรงกันข้าม หรือแม้แต่คนที่ตายแล้วก็มักจะมีการใช้ยา เช่น “ยาดองศพ” ไว้ไม่ให้เปื่อยเน่า หรือให้เปื่อยเน่าช้ากว่าปกติมาแต่โบราณกาล เช่น มัมมี่ (ศพที่พันด้วยผ้าชุบผ้าน้ำยา) ในสุสานของกษัตริย์อียิปต์โบราณ เป็นต้น

“ยา” จึงถูกใช้ตั้งแต่ก่อนเกิดจนกระทั่งหลังตายแล้ว ยาในที่นี้จะใช้ หมายถึง สิ่งที่ใช้กิน ใช้ทา ใช้พ่น ใช้ดม ใช้ฉีด หรืออื่นๆ เพื่อการรักษาป้องกันโรคหรือการบำรุงร่างกายเท่านั้น เพราะ “ยา ยังมีความหมายถึงสิ่งอื่นๆ เช่น

ยาพิษ หมายถึง สารพิษที่ใช้แล้วมักจะทำให้ผู้ที่ได้รับเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ยาพิษเองบางทีก็ใช้เป็นยารักษาโรคได้ เช่น สารหนูและยารักษาโรคส่วนใหญ่ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง ก็เป็นพิษถึงตายได้เช่นเดียวกัน

ยาเบื่อ หมายถึง ยาพิษ หรือสารพิษที่ใช้ทำให้เมาหรือให้ตาย เช่น ยาเบื่อปลา ยาเบื่อหนู เป็นต้น

ยาซัด หมายถึง สารที่ใช้สาดใส่ลงในเบ้าที่หลอมโลหะ เพื่อการเล่นแร่แปรธาตุ หรือซัดใส่เพื่อการทำมิดีมิร้าย เป็นต้น

ยาสั่ง หมายถึง ยาพิษจำพวกหนึ่งที่เชื่อกันว่าถ้าใครได้รับเข้าไปแล้วจะต้องตายในเวลาที่กำหนดไว้ หรือตายเมื่อไปกินอาหารหรือของแสลงที่กำหนดไว้ เป็นต้น

ยาฝิ่น หรือยาเสพย์ติดอื่นๆ หมายถึง สิ่งที่ทำให้เสพติด ยาเสพย์ติดบางอย่าง เป็นยารักษาโรคด้วย เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน แอมเฟตามีน (ยาม้า หรือยาบ้า) และยารักษาโรคหลายอย่าง เมื่อใช้เป็นประจำติดต่อกันนานๆ ก็เป็นยาเสพย์ติดด้วย

ยาสูบ ยาเส้น ยาฝอย ยาฉุน ยาตั้ง หมายถึง ใบยาสูบหรือใบไม้ที่นำไปตากแห้งและ/บ่มแล้วนำมาสูบโดยอาจหั่นเป็นเส้น เป็นฝอย หรือทำเป็นตั้งไว้ขาย เวลาสูบใช้ใบตองหรือใบจากมวนสูบ ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษมวนที่เรียกว่า บุหรี่ หรือเดิมเรียกว่า “ยากาแรต” ที่ย่อมาจาก ซิกาแรด (cigarette) นั่นเอง

ยาจก หมายถึง คนขอทาน

ยาใจ หมายถึง เป็นที่ชื่นใจ ชอบใจ

ยาไส้ หมายถึง ประทังความหิว

ยาดา หมายถึง หญิงที่เป็นสะใภ้ด้วยกัน

ยาชก หมายถึง ผู้ที่ทำพิธีบูชา หรือ พิธีบวงสรวงแทนผู้อื่นเป็นต้น

ซึ่งยาเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่ “ยา” ในความหมายที่จะกล่าวถึงในที่นี้

 
คนไข้รายที่ ๑

หญิงวัย ๕๐ ปี เดินระทดระทวยเข้ามาในห้องตรวจโรค

หญิง : “สวัสดีค่ะคุณหมอ อิฉันไม่สบายมาหลายวัน หมอฉีดยาให้หน่อยสิคะ”

หมอ : “สวัสดีครับ ที่คุณไม่สบายมีอาการอย่างไรบ้างครับ”

หญิง : “มันคล้ายจะเป็นไข้หนาวๆ ร้อนๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว แล้วก็ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวค่ะ”

หมอ : “เป็นมากี่วันแล้วครับ และมีอาการอื่นอีกมั้ย”

หญิง : “เป็นมาเกือบ ๑๐ วันแล้วค่ะ แล้วก็เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ บางครั้งก็รู้สึกเหมือนบ้านหมุนเวลาล้มตัวลงนอนและตอนลูกจากเตียง บางครั้งเวลานอนตะแคงซ้ายหรือขวาเร็วๆ ก็บ้านหมุนค่ะ”

หมอ : “คุณไม่สบายมาหลายวัน อาการมันดีขึ้น ทรุดลง หรือคงเดิมและคุณใช้ยาอะไรไปบ้างแล้ว”

หญิง : “อาการทรงๆ อยู่ค่ะ ก็กินยาพาราเซตามอลแก้ไขแก้ปวดอาการปวดเมื่อยและอาการครั่นเนื้อ ครั่นตัวก็ดีขึ้น แต่อาการอื่นๆ ไม่ดีขึ้นเลยค่ะ ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะหมอ”

หมอ : “ยาพาราเซตามอลเป็นยาลดอาการไข้และอาการปวดเท่านั้น จึงไม่อาจเบาเทาอาการอื่นๆ ได้ และยาพาราเซตามอลก็ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้คุณไม่สบายด้วย อาการของคุณจึงไม่หายไป”

หญิง : “ถ้าอย่างนั้น หมอฉีดยาให้ดิฉันหายเร็วๆ หน่อยสิคะ”

หมอ : “ขอผมตรวจร่างกายคุณก่อน แล้วดูว่าคุณจำเป็นต้องใช้ยาฉีดหรือไม่”

การตรวจร่างกายของผู้ป่วยอย่างคร่าวๆ ไม่พบความผิดปกติใดๆชัดเจน นอกจากผู้ป่วยมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนเล็กน้อยเวลาล้มตัวลงนอน เวลาลุกขึ้นจากท่านอนและเวลาให้ผู้ป่วยหันศีรษะไปทางซ้ายและขวาเร็วๆ

หมอ : “จากประวัติและการตรวจร่างกาย คุณน่าจะเป็นโรคหูชั้นในอักเสบหรือทำงานผิดปกติไป ที่บางครั้งเราเรียกว่า โรคหวัดลงหู ซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อหวัดไปทำให้หูชั้นในอักเสบหรือทำงานผิดปกติไป จึงทำให้เวียนหัวบ้านหมุน และมีอาการคล้ายไข้หวัดได้”

หญิง : “อิฉันก็กินยาแก้ไข้หวัด เช่น ทิฟฟี่ ดีคอลเจน ด้วยนะคะ ก็ไม่เห็นหาย”

หมอ : “ยาแก้ไข้หวัดที่โฆษณาขายกันในหลายชื่อหลายยี่ห้อนั้น ไม่ใช่ยารักษาโรคไข้หวัดนะครับ เป็นเพียงยาบรรเทาอาการของโรคไข้หวัดเท่านั้น

“นั่นคือ ยาเหล่านั้นเกือบทั้งหมดประกอบด้วย ยาพาราเซตามอล หรือแอสไพริน (สำหรับบรรเทาอาการไข้และอาการปวด) กับยาแก้แพ้ (สำหรับบรรเทาอาการคิดจมูก น้ำมูกไหลและอาการจาม) เท่านั้น ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อไวรัส หรือเชื้อหวัดได้

“ยาบรรเทาอาการจึงไม่ใช่ยารักษาสาเหตุ แต่โชคดีที่เชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นโรคไข้หวัดเป็นเชื้อที่ไม่รุนแรง และจะหมดแรง (หมดฤทธิ์) ไปเองเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น

“คนทั่วไปจึงหายจากไข้หวัดด้วยภูมิต้านทานของตนเอง แต่บังเอิญไปกินยาบรรเทาอาการเข้าจึงมักเข้าใจผิดคิดวายาเหล่านั้นรักษาไข้หวัดได้”

หญิง : “ก็เพราะกินยาไม่หายน่ะสิคะ อิฉันจึมาหาหมอให้หมอฉีดยาให้”

หมอ : “ยาฉีดรักษาโรคไข้หวัดก็ไม่มีเช่นเดียวกันครับ”

หญิง : “ทำไมจะไม่มีคะ อิฉันเคยไปหาหมอมาหลายแห่งเวลาเป็นหวัด เขาก็ฉีดยาให้ แล้วอิฉันก็หายทุกครั้ง”

หมอ : “หมอขอยืนยันว่า ในปัจจุบันยังไม่มียากินและยาฉีดอะไรที่รักษาโรคไข้หวัดได้ แต่ที่คุณหายหลังฉีดยา คงเป็นเพราะความประจวบเหมาะพอดี”

“นั่นคือ คุณกำลังจะหายเองอยู่แล้ว เพราะเป็นไข้หวัดมาหลายวัน แม้จะกินยาต่างๆมาหลายขนานแต่ไม่หายสักที จึงไปหาหมอ เมื่อหมอฉีดยาให้ จึงประจวบเหมาะกับที่คุณจะหายจากโรคอยู่แล้ว คุณจึงเข้าใจว่ายาฉีดทำให้คุณหายจากโรค”

หญิง : “ตกลงคุณหมอจะไม่ฉีดยาให้อิฉันหรือคะ”

หมอ : “หมอตรวจคุณแล้ว อาการของคุณยังไม่ฉุกเฉินรีบด่วน หรือเป็นมากจนต้องใช้ยาฉีด

“การใช้ยาฉีดจึงจะทำให้คุณเจ็บตัว เสียเงินเพิ่มขึ้น และที่สำคัญอาจมีอันตรายได้มากกว่ายากินหลายเท่า และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้มากกว่ายากินอย่างมากมาย”

“แม้ยาฉีดจะให้ผลเร็วกว่ายากิน แต่มักจะมีฤทธิ์สั้น (หมดฤทธิ์เร็ว) กว่ายากินด้วย ถ้าจะฉีดยาให้ได้ผลจริงๆ จึงต้องฉีดบ่อยๆ เช่น วันละหลายครั้ง ซึ่งยิ่งจะทำให้มีอันตรายมากขึ้น

“คุณยังจะให้หมอฉีดยาให้หรือไม่ครับ”

หญิง : “เอ...ถ้าอันตรายอย่างที่คุณหมอบอก แล้วทำไมหมออื่นเขาฉีดกันง่ายๆ ล่ะคะ”

หมอ : “ก็เขาคงขี้เกียจอธิบายให้ฟัง หรืออาจจะอยากตามใจคนไข้ หรืออื่นๆ จึงทำเช่นนั้น”

ตัวอย่างคนไข้รายนี้ แสดงอาการ “ชอบฉีดยา” ซึ่งเป็นอาการ “ชอบยา” ที่บาดแพร่หลายในชนบท และในกลุ่มคนเมืองบางกลุ่มที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องยาฉีดและยากิน
โดยทั่วไป ควรจะใช้ “ยาฉีด” ต่อเมื่อมีความจำเป็น เช่น

๑. ไม่มียากิน สำหรับรักษาหรือป้องกันโรคชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น เช่น วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ หรือไอกรน ยาปฏิชีวนะ (สำหรับฆ่าเชื้อโรค) บางชนิดที่ยังไม่มียากินทดแทนได้ เป็นต้น

๒. ต้องการเห็นผลเร็ว เช่น ในภาวะฉุกเฉินหรือเจ็บหนัก ยาฉีดมักจะออกฤทธิ์เร็วกว่ายากินทำให้ได้ผลในการรักษาเร็วขึ้น

๓. ไม่สามารถให้ยาทางการกินได้ เช่น คนไข้ที่คลื่นไส้อาเจียนอยู่ตลอดเวลา กระเพาะลำไส้ตันหรือไม่สามารถย่อยและดูดซึมอาหารหรือยาที่ให้กินเข้าไปได้ กระเพาะอาหารอักเสบมาก ตับอ่อนอักเสบมาก หลังผ่าตัดในช่องท้อง หรือในกรณีอื่นๆ ที่ต้องการให้กระเพาะลำไส้ได้หยุดพักหรือลดการทำงานเอง

สำหรับคนที่กินเองไม่ได้ เช่น (ปากเจ็บมาก อ้าปากไม่ขึ้น กลืนไม่ได้ เป็นต้น) ยังสามารถให้ยากินได้โดยผ่านทางสายยาง (ท่อยาง) ที่ใส่ผ่านรูจมูกลงไปสู่กระเพาะอาหารโดยตรงได้ (โดยไม่ต้องเคี้ยวและไม่ต้องกลืนเอง)

๔. จำเป็นต้องให้ยาเข้าสู่กระแสเลือดครบถ้วน เพราะการฉีดยาเข้าเส้น (เข้าเส้นเลือด หรือหลอดเลือด) จะทำให้ได้ยาครบตามกำหนดที่ต้องการจะให้ การให้กินยามักจะทำให้ได้ยาเข้าสู่กระแสเลือดไม่ครบถ้วนตามที่ต้องการ เพราะการย่อยและการดูดซึมยาในแต่ละคนจะแตกต่างกัน แม้แต่ในคนเดียวกันการดูดซึมในแต่ละภาวะ (เช่น ภาวะท้องว่างกับท้องอิ่ม) ก็จะได้ยาเข้าสู่กระแสเลือดไม่เท่ากัน แต่ความจำเป็นที่ต้องให้ยาเข้าสู่กระแสเลือด ครบถ้วนมีน้อยมาก

๕. ต้องการให้ยามีผลเฉพาะที่ (เฉพาะตำแหน่งที่ต้องการ) เช่น การฉีดยาชาเฉพาะจุดที่ต้องการให้ชา การฉีดยาแก้อักเสบอย่างแรงในจุดที่อักเสบมาก เช่น ข้อและเอ็นที่อักเสบ เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ “ยาฉีด” นอกจากจะจำเป็นดังตัวอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น เพราะ “ยาฉีด” ให้เจ็บตัว เสียค่าใช้จ่ายมาก และมีอันตรายถึงชีวิตได้มากกว่ายากินหลายเท่า

ในคนไข้รายแรกนี้ ที่จริงยาที่ใช้แก้อาการเวียนหัวบ้านหมุนที่หาง่ายและราคาถูก คือ ยากแก้เมารถเมาเรือที่ใช้กันทั่วไป นั่นคือ ยาไดเมนฮัยดรีเนต (dimenhydrinate) กินครั้งละครึ่งถึง ๑ เม็ด เวลามีอาการหรือก่อนจะมีอาการ เช่น

ถ้ารู้ว่านั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน แล้วจะเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน ก็ควรจะกินยานี้ครึ่งถึง ๑ เม็ด อย่างน้อย ครึ่งถึง๑ ชั่วโมง ก่อนไปขึ้นรถลงเรือ เป็นต้น แต่ถ้าเป็น “หวัดลงหู” ดังในคนไข้รายนี้ ก็ควรกินยาครึ่งถึง๑ เม็ด วันละ ๔ ครั้ง เช่น เช้า – กลางวัน – เย็น และก่อนนอน (จะกินก่อนอาหารสักครึ่งถึง๑ ชั่วโมงก็ได้) ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนเวียนศีรษะจนกินอาหารไม่ลง แต่ถ้าไม่คลื่นไส้อาเจียนก็ควรกินยาหลังอาหารจะดีกว่า เพราะยานี้จะทำให้ง่วง ถ้าง่วงก็เข้านอนเสียอย่าไปขับรถ ขับเรือ หรือทำอะไรก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

ส่วน “โรคหวัด” หรือ “หวัดลงหู” จะหายเองเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้นจากการพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความอบอุ่นของร่างกายให้ดี หลีกเลี่ยงจากที่แออัด อบอ้าว หรือมีการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว (เช่น เดินเข้าออกจากห้องแอร์บ่อยๆ) เป็นต้น

ข้อมูลสื่อ

228-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 228
เมษายน 2541
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์