• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรื่องจริงจากห้องฉุกเฉิน

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 18
ชายไทยคู่ อายุ 56 ปี ภูมิลำเนา อยู่กรุงเทพฯ แต่ต้องเดินทางไปขาย สินค้าตามต่างจังหวัดเป็นประจำ ขณะเกิดเหตุ กำลังขายสินค้าอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ตัวร้อนรุมๆ คัดจมูก ปวดเมื่อยตามตัว วันต่อมาอาการทรุดลง จึงไปหาหมอที่คลินิก หมอสงสัยว่าจะเป็นไข้หวัด ให้ยามากิน และแนะนำให้ออกกำลังกาย
ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไปวิ่งและบริหารร่างกายด้วยการก้มๆ เงยๆ และแกว่งแขนขณะออกกำลังอยู่นั้นรู้สึกมีเสียงดังและเสียวแปลบขึ้นกลางหลัง เสียวขึ้นไปถึงสะบักจนผู้ป่วยต้องหยุดออกกำลัง และเดินกลับโรงแรมที่พัก
ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา รู้สึกขาซ้ายอ่อนแรงลง ทำให้เดินปัดๆ และอาการปวดบริเวณกลางหลังก็ยัง เป็นอยู่ ผู้ป่วยโมโหที่อาการปวดหลังไม่ยอมหาย จึงกระแทกหลังของตนกับผนังห้องหลายครั้ง อาการขาอ่อนแรงเป็นมากขึ้น เดินเซมากขึ้น
ผู้ป่วยคิดว่าคงเป็นเพราะเส้นขาพลิก วันต่อมาจึงไปหาหมอนวดแผนโบราณ แต่นวดแล้วอาการกลับทรุดลง ขาซ้ายอ่อนแรงมากขึ้น ขาขวาอ่อนแรงด้วย และเริ่มปัสสาวะไม่ค่อยออก จึงรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ผู้ป่วยมาถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในช่วงบ่ายของวันต่อมา ในสภาพที่หน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความเจ็บปวดและเอามือกุมท้องตลอดเวลา
ผู้ป่วย : “คุณหมอครับ รีบช่วยผม หน่อยครับ ผมทนไม่ไหวแล้วครับ”
หมอ : “คุณเป็นอะไรหรือครับและจะให้หมอรีบทำอะไร”
ผู้ป่วย : “รีบสวนปัสสาวะให้ผมด้วยครับ ผมทนไม่ไหวแล้ว ผมปัสสาวะไม่ออกมาตลอดคืน และตลอดเช้าวันนี้ครับ”
ผู้ป่วยพูดละล่ำละลัก พร้อมกับยกมือไหว้หมอปลกๆ หมอรีบตรวจหน้าท้องผู้ป่วย พบก้อนขนาดใหญ่อยู่บริเวณท้องส่วนล่าง ตั้งแต่ระดับสะดือถึงหัวหน่าว รูปร่างเหมือนมดลูกของหญิงตั้งครรภ์ 6 ถึง 7 เดือน (ดัง รูป) ก้อนมีผิวเรียบตึงและกดเจ็บ
เมื่อประกอบกับประวัติที่ว่าไม่สามารถถ่ายปัสสาวะมาตลอดคืนและตลอดเช้าวันที่มา ทำให้คิดว่าก้อนที่คลำได้คือ กระเพาะปัสสาวะที่โป่งพองเต็มที่จากน้ำปัสสาวะที่คั่งค้างอยู่
หมอ : “ครับ กระเพาะปัสสาวะคุณโป่งเต็มที่ หมอจะรีบสวนปัสสาวะออกให้เดี๋ยวนี้”
ผู้ป่วย : ขอบคุณมากครับ ผมทนไม่ไหวแล้ว”
หลังสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วย และคาสายยางไว้ในกระเพาะปัสสาวะผู้ป่วย ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้นทันทีเมื่อปัสสาวะไหลออกมาทางสายสวนจนหมด แล้วจึงเล่าอาการไม่สบายตั้งแต่ต้นให้แพทย์ได้รับทราบ


                                                        

แพทย์จึงได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ป่วยปวดหลัง และขาอ่อนแรง และพบว่าผู้ป่วยขยับ ขาซ้ายไม่ได้เลย ขยับขาขวาได้เล็กน้อย แต่ยกขาขวาขึ้นไม่ได้และมีอาการชา (รับความรู้สึกไม่ได้ดี) ตั้งแต่ระดับใต้ราวนมลงมา

แพทย์จึงสงสัยว่าไขสันหลังของผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการถูกเบียดกดหรือจากสาเหตุอื่น จึงส่งผู้ป่วยไปตรวจคลื่นแม่เหล็ก (MRI หรือ magnetic resonance imaging) ของกระดูกหลังและไขสันหลัง กว่าจะได้คิว (โอกาส) ตรวจคลื่นแม่เหล็กก็ตกกลางดึก เมื่อผู้ป่วยถูกพาไปเข้าเครื่องตรวจ ผู้ป่วยก็เกิดอาการตื่นกลัว เอะอะโวยวายหาว่าแพทย์กำลังจะฆ่าผู้ป่วย กำลังจะเอาผู้ป่วยไปฝังใส่โลงศพ แพทย์พยายามจะฉีดยาเพื่อสงบสติอารมณ์ผู้ป่วย ผู้ป่วยก็ไม่ยินยอม แพทย์จึงจำเป็นต้องนำผู้ป่วยออกจากห้องตรวจคลื่นแม่เหล็ก และส่งผู้ป่วยคืนไปยังห้องฉุกเฉิน ซึ่งก็ทำให้อาการตื่นกลัวของผู้ป่วยลดลง และผู้ป่วยก็ค้างอยู่ในห้องฉุกเฉินจนถึงเช้า โดยไม่ได้รับการตรวจหรือการรักษาอะไรเพิ่มเติม นอกจากการให้น้ำเกลือทดแทนการอดน้ำและอาหาร

ในตอนเช้า เมื่ออาจารย์มาตรวจเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อสอนแพทย์ประจำบ้านและนักศึกษาแพทย์ พอผู้ป่วยเห็นอาจารย์ก็รีบยกมือไหว้
ผู้ป่วย : “สวัสดีครับอาจารย์ เมื่อวานถ้าผมไม่ได้อาจารย์ คงแย่แล้วตอนนั้นปวดปัสสาวะจนทนไม่ไหวแล้ว”
อาจารย์ : “สวัสดีครับ แล้วทำไมคุณยังนอนอยู่นี่ล่ะ หมอเขาไม่ได้ตรวจรักษาเพิ่มเติมให้คุณหรือหลัง จากคาสายสวนปัสสาวะให้แล้ว”
 แพทย์ประจำบ้าน : “เมื่อคืนเราส่งคนไข้ไปตรวจ MRI แล้วคนไข้ตกใจกลัว ไม่ยอมตรวจ จะฉีดยาให้ สงบคนไข้ก็ไม่ยอมให้ฉีด ก็เลยต้องนำกลับมาให้นอนค้างที่ห้องฉุกเฉินเพราะคนไข้ไม่ยอมให้ทำอะไร” ผู้ป่วย : “ผมขอโทษครับ เมื่อคืนผมตกใจกลัวมาก เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กมันน่ากลัวมากครับ เขามัด ผมไว้กับเตียงตรวจเพื่อให้อยู่นิ่งๆ แล้ว เลื่อนผมเข้าไปในอุโมงค์แคบๆ เหมือนที่ฝังศพ ผมเลยตกใจกลัวและดิ้นจน เขาต้องเลิกทำครับ”
อาจารย์ : “แล้วตอนนี้คุณหายกลัวหรือยัง”
ผู้ป่วย : “ยังกลัวอยู่ครับ ไม่มีวิธีตรวจแบบอื่นหรือครับ”
 อาจารย์ : “มีครับ แต่จะต้องเสียเวลานัดหมอเอกซเรย์อีกหลายวันกว่าเขาจะมีเวลาฉีดสี (สารทึบแสง เอกซเรย์) เข้าไปในช่องไขสันหลังของคุณ เพื่อดูว่าไขสันหลังส่วนไหนของคุณถูกกด และการตรวจวิธีนี้มีอันตรายมากกว่าและเจ็บปวดมากกว่า วิธีตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก
 
อีกอย่างก็คือ ยิ่งปล่อยให้ขาของ คุณอ่อนแรงไปนานเท่าใด โอกาสที่มันจะกลับมามีแรงเหมือนเดิมยิ่งน้อยลงไปเท่านั้น
ผู้ป่วย : “ถ้าอย่างนั้น ผมยอมตรวจคลื่นแม่เหล็กครับ แต่หมอช่วยให้ยา ให้ผมหลับหรือไม่กลัวได้ไหมครับ”
อาจารย์ : “ได้ครับ เมื่อคืนคุณหมอเขาก็จะฉีดให้คุณ แต่คุณไม่ยอมให้เขาฉีดเอง”
ผู้ป่วย : “ก็ผมคิดว่าเขาจะฉีดให้ผมหลับ แล้วจะฝังผมไว้ในเครื่องนั้น เพื่อทดลองอะไรบางอย่าง”

อาจารย์หันไปทางแพทย์ประจำ บ้านให้นัดตรวจคลื่นแม่เหล็กให้ผู้ป่วยใหม่ แพทย์ประจำบ้านโทรศัพท์ ไปที่ฝ่ายตรวจคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งตอบกลับมาว่าคิวเต็มหมดจนถึงกลางคืน ต้องรอถึงกลางคืน
 
อาจารย์จึงบอกแพทย์ประจำบ้านว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นกรณีฉุกเฉิน รอไม่ได้ ขอให้แทรกหรือแซงคิวให้ด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจคลื่นแม่เหล็ก ก็ไม่ยินยอม จนอาจารย์ต้องคุยกับหัวหน้าฝ่ายนั้น เรื่องจึงลงเอยด้วยการแซงคิวให้ผู้ป่วยได้ตรวจในตอนสายวันนั้น
 
ผลการตรวจคลื่นแม่เหล็กปรากฏว่า หมอนรองกระดูกสันหลังกลางทรวงอกของผู้ป่วยบวมยื่นออกไปกดไขสันหลัง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ขาทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วยเป็นอัมพาต และปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยจึงถูกรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และได้รับการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่กดเบียดไขสันหลังกลางอกออก
หลังผ่าตัด อาการปวดหลังหายไป แต่อาการขาอัมพาต และปัสสาวะเองไม่ได้ยังคงเดิม ซึ่งต้องใช้การบีบนวดและกายภาพบำบัดต่อไป อาจจะทำให้ดีขึ้นได้

ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ ให้บทเรียนว่า
1. การออกกำลังกายในขณะเป็นไข้หวัด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แม้ในบางคนที่เริ่มรู้สึกว่าจะเป็นไข้หวัด การออกกำลังกายให้ร่างกายร้อนและเหงื่อออก อาจจะทำให้อาการไข้หวัดหายได้ แต่ในคนส่วนใหญ่อาการไข้หวัดจะทรุดลง ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ คนเป็นไข้หวัด จึงควรงดออก กำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความอบอุ่นของร่างกายด้วยการใส่เครื่องนุ่งห่มจนรู้สึกร้อนและเหงื่อออก กินอาหารและน้ำร้อนๆให้เหงื่อออก อย่าอาบน้ำเย็น อย่านอนห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

2. หลังออกกำลังโดยเฉพาะการก้มๆ เงยๆ (เช่น ก้มลงยกของหนักแล้วเงยขึ้น) การบิดตัวแรงๆ (เช่น วงสวิงกอล์ฟ) การเข็นหรือผลักของหนักๆ เป็นต้น แล้วเกิดเสียวแปลบที่หลัง และทำให้เสียวร้าวไปที่ขา หรือทำให้ขาอ่อนแรง แสดงว่ามีการกระทบกระเทือนเส้นประสาทและ/หรือไขสันหลัง
 
ต้องหยุดออกกำลังทันที และพยายามพักหลัง โดยนอนหงายราบลงกับพื้น ให้หลังแนบพื้นเป็นเส้นตรง โดยชันเข่าขึ้น นอนพักจนหลังและขาหายปวดแล้วจึงลุกขึ้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีอาการขาอ่อนแรงจนเดินปัด เช่น ในผู้ป่วยรายนี้ในตอนแรก ต้องรีบไปโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยรายนี้คิดว่า ตนเป็นคนแข็งแรง ออกกำลังเป็นประจำ จึงพยายามรักษาตนเองด้วยการกระแทกหลังตนเองกับฝาห้อง จนอาการทรุดลง แต่ก็ยังไม่สงสัยว่าเป็นเรื่องอันตราย จึงไปหาหมอนวด ทำให้อาการทรุดลงไปอีก

3. อาการปวดปัสสาวะเพราะปัสสาวะไม่ออกเป็นอาการที่ทารุณมาก ที่จริงผู้ป่วยควรแวะโรงพยาบาล ประจำจังหวัดอุดรธานีหรือโรงพยาบาลใกล้ๆ ที่เกิดเหตุก่อนจะลดความทรมานได้มาก เพราะเพียงแค่ใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปเท่านั้น อาการปวดท้องทุรนทุรายก็จะหายได้ทันที
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยรายนี้ การรีบไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดอุดรธานีทันทีที่รู้สึกขาอ่อนแรง แทนที่จะไปหาหมอนวด หรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อาจจะทำให้อาการขาอัมพาตหายเป็นปกติได้

เพราะอาการอัมพาตจากการกดเบียดไขสันหลังต้องได้รับการผ่าตัด ภายใน 24 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 48 ชั่วโมง ถ้าผ่าตัดช้ากว่านั้น อาการขาอัมพาตมักจะดีขึ้นยาก และอาจต้องอัมพาตไปตลอดชีวิต

ในผู้ป่วยรายนี้ กว่าจะได้รับการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกที่กดไขสันหลังออก ก็เป็นเวลากว่า 3 วัน จากที่มีอาการขาอ่อนแรงแล้ว การผ่าตัดแม้จะทำได้ดี แต่ก็ไม่มีผลให้ขาที่เป็นอัมพาตดีขึ้น จึงต้องใช้รถเข็นตอนออกจากโรงพยาบาล ความเข้าใจผิดของคนทั่วๆไป ที่ชอบคิดว่าเป็นอะไรก็ต้องไปรักษาที่กรุงเทพฯจึงจะหาย ในรายนี้จึงกลับได้ผลตรงกันข้าม นี่ถ้าได้รักษาแต่เนิ่นๆ ที่โรงพยาบาลจังหวัดอุดรธานี ป่านนี้อาจจะเดินได้แล้ว เพราะการผ่าตัดเอาสิ่งที่กดไขสันหลังออกใน 24 ชั่วโมง มักจะทำให้อาการหายได้ดี

4. การไม่อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เกี่ยวกับการตรวจต่างๆล่วงหน้า อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตกใจกลัวเมื่อ ไปพบกับสิ่งที่ตนไม่คาดฝันดังเช่นผู้ป่วยรายนี้ที่กลัวเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็ก

การตรวจคลื่นแม่เหล็ก ผู้ป่วยต้องนอนนิ่งๆ ได้เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และต้องนอนอยู่ในซองหรือในอุโมงค์แคบๆ ที่ถูกล้อมรอบด้วยกรอบหนาทึบ และมีเสียงตึงๆ อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อนอาจตกใจ
 
ยิ่งในผู้ป่วยที่กำลังไม่สบายอยู่ดังเช่นผู้ป่วยรายนี้ที่กำลังตกใจกลัว เกี่ยวกับเรื่องอัมพาตของตน แล้วยังอดอาหารและน้ำมา 1 คืน กับ 1 วัน (เพราะปัสสาวะไม่ออก จึงไม่กล้าดื่มน้ำและกินอาหาร และเมื่อมาถึงโรงพยาบาล หมอก็ให้อดอาหารและน้ำต่อเพื่อเตรียมตรวจและเตรียมผ่าตัด ด้วย) ผู้ป่วยจึงอ่อนแอทั้งกายและใจ เมื่อไปเจอกับเครื่องมือที่ดูน่ากลัว จึงตกใจกลัวและไม่ยอมให้ทำ ทำให้เสียเวลากว่าจะได้รับการตรวจและการผ่าตัด โอกาสที่จะดีขึ้นหรือหายจากการเป็นอัมพาตจึงหมดไป

การตรวจรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งผู้ป่วยและญาติมักจะอยู่ในสภาพตื่นตกใจ ร้อนรน กระวนกระวาย จึงต้องการความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความพร้อมของแพทย์และพยาบาลที่จะอดทนและพูดให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยให้จงได้

ข้อมูลสื่อ

265-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 265
พฤษภาคม 2544
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์