• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ส่องเทศ มองไทย นโยบายป้องกันเด็กอ้วน

ส่องเทศ...มองไทย...นโยบายป้องกันเด็กอ้วน
ผศ.ดร.สำอาง สืบสมาน

การระบาดของโรคอ้วนที่แพร่กระจายไปทั่วโลกเปรียบเสมือนระเบิดเวลา เพราะความอ้วนก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกายที่เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของโรคเสื่อมสังขารก่อนวัยอันควร เช่น   เบาหวาน ความดันเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

 

องค์การอนามัยโลกประกาศให้ความอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขของมวลมนุษยชาติ ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรที่จัดว่าอ้วนกว่าหนึ่งล้านล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กประมาณ 22 ล้านคน สาเหตุการเกิดโรคอ้วนมีความซับซ้อนเรื้อรังจากวัยเด็กถึงวัยผู้ใหญ่ ทั้งการรักษาที่อันตรายและยุ่งยาก ทำให้หลายฝ่ายหาหนทางป้องกันไม่ ให้มีน้ำหนักเกินมาตรฐานตั้งแต่เด็ก การป้องกันโรคอ้วนต้องอาศัยการเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวบุคคล ดังนั้นจำเป็นต้องอาศัยกลไก ในการจัดการ ให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงการดำเนินนโยบายและแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพ

 

นโยบายโรคอ้วนในเด็ก

ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วนในเด็ก ประเทศแคนาดาประกาศ บูรณาการยุทธศาสตร์การดำรงชีวิตสุขภาพ  "Healthy Living Strategy" จัดลำดับความสำคัญของนโยบายโรคอ้วน มุ่งการป้องกันปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เป็นเป้าหมายหลักที่จำเป็นอย่างยิ่ง


สหรัฐอเมริกามีอัตราความ  ชุกของโรคอ้วนมากที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วและนับเป็นกรณีตัวอย่างที่มีรูปแบบวัฒนธรรมบริโภคนิยม ทั้งการดำรงชีวิตที่อาศัย เครื่องอำนวยความสะดวกและการกินอาหารที่ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ อัตราชุกของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อเมริกาเน้นกลยุทธ์เชิงป้องกัน โดยในแผน 10 ปี สาธารณสุขบริการเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค อ้วน โดยกำหนดโครงการ "Healthy People 2000" และปัจจุบันมีโครงการ ต่อเนื่อง คือ "Healthy People 2010" โดยเน้นที่เป้าหมายการออกกำลังกาย สม่ำเสมอ และในส่วนของโภชนาการ เน้นวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรกคือ เพิ่มปริมาณประชากรที่มีน้ำหนักปกติ (BMI 19-25) ลดอัตราชุกของโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้ไม่เกินร้อยละ 5 เพิ่มสัดส่วนของโรงเรียนที่สอนด้านโภชนาการ เช่น สมดุลระหว่างการกินและการออกกำลังกาย

 

กระแสโรคอ้วนได้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งธุรกิจคลินิกลดความอ้วน ยาลดความอ้วน การผ่าตัด ดูดไขมัน ตลอดจนธุรกิจอุปกรณ์การออกกำลังกาย เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งเป็นการส่งเสริมทางอ้อมไม่ให้ตระหนักถึงปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนเท่าที่ควร  เนื่องจากรูปแบบการโฆษณาธุรกิจดังกล่าว อังกฤษเสนอร่างนโยบาย "Saving Lives : Our Healthier Nation" ในปี พ.ศ.2542 เพื่อแก้ปัญหาและยกระดับสุขภาพของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส มาตรการป้องกันโรคอ้วนในเด็ก เป็นเรื่องของการปรับปรุงด้านโภชนาการในโรงเรียน โดยมีการทบทวนนโยบายการเกษตร การปรับปรุงโภชนาการสำหรับหญิงให้นมบุตรและเด็ก
 

การขจัดอาหารขาด คุณภาพ การลดปริมาณเกลือในอาหาร รัฐดำเนินการประชุมร่วมกับภาอุตสาหกรรมในการลดเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของความดันเลือดสูง สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความจริงจังในการแก้ปัญหาโรคอ้วน มีระบบประสานความร่วมมือระดับชาติคือ โครงการ"วิถีชีวิตสุขภาพ" และมีโครงการ "Trim and Fit (T.A.F)" เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2535  เพื่อลดจำนวน เด็กอ้วนในโรงเรียน หลังจากการดำเนินการมา 10 ปีกว่า โรคอ้วนในเด็กนักเรียนลดลงจากร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 10 นับว่าเป็นผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในระดับที่น่าพอใจ ในขณะที่ T.A.F. มีบทบาทสำคัญ โครงการคู่ขนานอื่นที่ดำเนินการโดยกระทรวงศึกษาธิการก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมการลดปัญหาโรคอ้วน อย่างได้ผล

 

ปัจจุบันมีรางวัล Championing Efforts Resulting in Improved School Health
(C.H.E.R.I.S.H.)
ให้แก่โรงเรียนที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ที่ดีในการดูแลเด็กทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจเพื่อการมีวิถีสุขภาพที่ดี ยิ่งโรงเรียนบรรลุเป้าหมายและได้รับรางวัลมากขึ้นย่อมยกระดับมาตรฐาน ให้ดีขึ้น ประเทศไทยเริ่มมีความตื่นตัวและพยายามหาวิธีควบคุมและป้องกันโรคอ้วนในเด็ก มีการกำหนดแนวนโยบายลดปัญหาโภชนาการที่สำคัญของประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อลดทั้งปัญหาโภชนาการขาดและเกิน ในส่วนของโภชนาการเกินมีการจัดค่ายฤดูร้อนสำหรับเด็กท้วมและอ้วน จัดโครงการ "กินพอดี ไม่มีอ้วน" ส่งเสริมการออกกำลังกายภายใต้โครงการขยับกายสบายชีวี เช่น โครงการ "เด็กไทยแข็งแรง"

 

อย่างไรก็ตามยังขาดการกำหนดแนวทางการควบคุมและป้องกัน โรคอ้วนอย่างชัดเจน เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาภาวะโภชนาการ ทั้งในทางขาดสารอาหารและภาวะโภชนาการเกิน อีกทั้งการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพในเรื่องการบริโภคอาหารกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพยังแยกส่วนไม่มีการบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างชัดเจน ควรปลูกฝังความตระหนักของพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีต่อการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่เด็ก เสริมสร้างวินัยในการกินอาหาร และส่งเสริมการกินอาหารร่วมกันภายในครอบครัวให้ได้ภายในแต่ละสัปดาห์ตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว

 

ประเด็นสำคัญอีกประการ หนึ่ง เกี่ยวกับอาหาร คือประเทศเรามีนโยบายให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร โลก เป็นครัวของโลก ถ้าหากผู้ผลิตอาหารโลกคือประชาชนคนไทยยังประสบปัญหาสุขภาพ ทั้งโรคอ้วน ความดัน เบาหวาน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ มาจากอาหารและพฤติกรรมการกินแล้ว จะอ้างได้เต็มปากเต็มคำได้อย่างไรว่า อาหารไทยคืออาหารสุขภาพ เพื่อเป็นการพิสูจน์อาหารไทยคืออาหารสุขภาพ  คนไทยควรมีสุขภาพดีด้วย

 

ในส่วนของนโยบายการส่งเสริมกีฬานอกจากจะเน้นความเป็นเลิศแล้ว ควรเน้นการกีฬาเพื่อสุขภาพเป็นหลัก เพราะทุกคนไม่สามารถเป็นเลิศด้านกีฬาได้ทั้งหมด แต่ทุกคนสามารถออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ได้ เสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการมีวิถีชีวิตสุขภาพ
 ลดกิจกรรมที่ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากนี้ควรมีการพิจารณา มาตรการควบคุมโดยใช้ปัญหาด้านสุขภาพเป็นตัวบ่งชี้ของมาตรการอีกทางหนึ่ง

 

นโยบายด้านการตลาดและการ โฆษณา ปัจจุบันภาครัฐและเอกชนกำลังตื่นตัวเพื่อประสานความร่วมมือ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพเด็ก ระหว่างคณะกรรมการ อาหารและยา สำนักงานคุ้มครอง  ผู้บริโภค และสมาคมธุรกิจโฆษณาแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร
เพื่อหาทางออกในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการหาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมที่ทุกฝ่ายคำนึงถึงเป้าหมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเด็กไทยอันเป็นอนาคต ที่สำคัญยิ่งของชาติ

ข้อมูลสื่อ

302-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 302
มิถุนายน 2547