• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 13)

การตรวจรักษาอาการ “หลับไม่ปกติ” (ตอนที่ 13)


“เสียงกรน” อาจถือได้ว่าเป็นมลภาวะอย่างหนึ่งที่ก่อความรำคาญให้กับเพื่อนร่วมห้องนอนได้ไม่แพ้เสียงรบกวนอื่นๆ ที่ดังเข้ามาจากภายนอก และเพื่อเป็นการแก้ไขบรรยากาศในการนอนจากสภาพที่ดูราวกับนอนอยู่ในเรือกลไฟที่กำลังแล่นด้วยความเร็วสูง ให้เปลี่ยนมาเป็นการนอนที่น่ารื่นรมย์ยิ่งขึ้น ทั้งตัวผู้ที่มีอาการนอนกรนเอง และเพื่อนร่วมห้องต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยเริ่มต้นด้วยการที่ต้องรู้จักกับอาการนี้กันก่อน

7. การกรน (snoring) คือ การหายใจที่มีเสียงดังออกมาจากลำคออันเกิดจากการสั่นของลิ้นไก่มากระทบกับเพดานอ่อนและเนื้อเยื่อของคอหอย รวมทั้งแผ่นกั้นหลังต่อมทอนซิลในขณะหลับ หรือครึ่งหลับครึ่งตื่น โดยเฉพาะเมื่อมีการหายใจทางปาก เสียงกรนอาจจะเกิดในขณะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ได้ แต่ที่ทำให้หายใจลำบากมักเกิดจากการกรนในขณะหายใจเข้า บางคนจึงถือว่าเสียงกรน คือ เสียงที่เกิดขึ้นในช่วงหายใจเข้าเป็นสำคัญ การกรนไม่ใช่การหายใจผิดปกติ การกรนเป็นการหายใจปกติที่ผ่านทางเดินทางเดินหายใจ (คอหอย) ที่ผิดปกติในขณะหลับ แต่การกรนอาจเกิดขึ้นโดยตั้งใจกรนให้ได้ยินทั้งที่ยังตื่นอยู่ก็ได้ เช่น แสร้งทำเป็นหลับโดยกรนเสียงดัง เป็นต้น

การกรนติดต่อกัน (continuous snoring) เป็นช่วงยาวๆ และเสียงกรนดังเท่ากันตลอด เป็นการกรนที่มีอันตรายน้อยกว่าการกรนเป็นจังหวะ (intermittent หรือ cyclic snoring) จังหวะละ 1/2-1 นาที ซึ่งจะกรนอยู่ประมาณ 10-30 วินาที แล้วจะเงียบไป เพราะหยุดหายใจ (หรือหายใจไม่เข้าเนื่องจากคอหอยตีบตัน) หลังเงียบไปสักครู่ จะหายใจเข้ามีเสียงดังเฮือกใหญ่ แล้วเริ่มกรนใหม่-เงียบใหม่-หายใจเข้าเสียงดังใหม่-กรนใหม่ สลับกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ทำให้หลับไม่สนิทในเวลากลางคืนและง่วงเหงาหาวนอนมากในเวลากลางวัน (ดูรายละเอียดในเรื่องโรคหยุดหายใจในขณะหลับ คอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 150-151)

การกรนเกิดได้ในคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในคนที่อดนอนหรืออ่อนเพลียมาก ซึ่งจะกรนเป็นครั้งคราว (ไม่ทุกคืนหรือทุกครั้งที่หลับ) ส่วนคนที่กรนประจำ (habitual snorers) คือ คนที่กรนทุกคืนหรือเกือบทุกคืนนั้น มักพบในชาย (ร้อยละ 25) มากกว่าหญิง (ร้อยละ 15) และในคนอายุ 35-65 ปี มากที่สุด (ในวัยนี้ชายประมาณร้อยละ 60 และหญิงประมาณร้อยละ 40 จะกรนเป็นประจำ) หลังอายุ 65 ปีแล้ว การกรนเป็นประจำจะพบน้อยลง การกรนเป็นประจำจะพบบ่อยในคนอ้วน (คนผอมพบน้อย) คนที่รูจมูกหรือคอหอยแคบหรือตีบ เช่น รูจมูกหรือคอหอยแคบแต่กำเนิด (congenital narrowing of the nasal or oropharyngeal cavities) แผ่นกั้นรูจมูกเบี้ยว (deviated nasal septum) ริดสีดวงจมูก (hypertrophy of the turbinates) ต่อมทอนซิลโต (tonsillar or adenoid hypertrophy) คางเล็ก (micrognathia) คางหด (retrognathia) ลิ้นโต (macroglossia) ไม่ว่าจะเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นทีหลังหลังจากสาเหตุต่างๆ

นอกจากนั้นการดื่มสุรา การใช้ยากล่อมประสาท (ยาคลายกังวล) ยานอนหลับ หรือสารอะไรก็ตามที่กดระบบประสาท มักจะทำให้กรนมากขึ้น คนที่กรนมากเป็นประจำ นอกจากจะมีโอกาสเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea syndrome) มากกว่าคนที่กรนน้อยหรือไม่กรนแล้ว ยังมีโอกาสเป็นโรคความดันเลือดสูง และภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันเลือดสูง เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบตัน เป็นต้น มากกว่าคนที่กรนน้อยหรือไม่กรนอีกด้วย การกรนเกิดได้ในทุกระยะและทุกช่วงของการหลับ อาจเริ่มกรนได้ตั้งแต่ระยะที่ 1 แล้วจะกรนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหลับลึกขึ้นๆ และกรนมากที่สุดเมื่อหลับสนิท (ระยะที่ 4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก) แล้วการกรนจะลดลงเมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงการหลับแบบตากระตุก

ในคนที่กรนมาก มักหายใจเข้าลำบากหรือหยุดหายใจในช่วงการหลับแบบตากระตุก หรือระยะที่ 1-2 ของช่วงการหลับแบบตาไม่กระตุก ซึ่งเป็นช่วงที่การหายใจจะไม่สม่ำเสมอแม้ในคนปกติ (ดูเรื่องการหลับปกติ คอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 148-149) การที่คนกรนมากหยุดหายใจจนตื่นหรือเกือบตื่น (ตื่นแบบไม่รู้ตัว) ในขณะที่ยังครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือไม่ได้หลับสนิท (ไม่ได้หลับจนถึงระยะที่ 3-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุก) ทำให้เขาเหล่านั้นหลับไม่พอในเวลากลางคืน และจะง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน ถ้าเป็นมากก็จะกลายเป็นโรคหยุดหายใจในขณะหลับ

การรักษา : การกรนเบาๆ เป็นครั้งคราวในช่วงที่หลับสนิทเป็นสิ่งปกติ และจะพบได้ในคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหลังอดนอน หรืออ่อนเพลียมาก ไม่จำเป็นจะต้องรักษา การกรนมากเป็นประจำจนรบกวนคนอื่น หรือเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน ควรจะรักษาโดย

7.1 ลดน้ำหนักลงถ้าอ้วน โดยการลดอาหารไขมัน และอาหารแป้ง (ข้าวของที่ทำจากแป้ง ของหวาน น้ำตาล) ลง และกินผักและดื่มน้ำให้มากขึ้นแทน การลดน้ำหนักเพียง 2-3 กิโลกรัมอาจจะทำให้การกรนลดลง และถ้าลดน้ำหนักลงอีก อาจทำให้หายกรนได้

7.2 เปลี่ยนท่านอน คนส่วนใหญ่จะกรนมากในท่านอนหงาย ถ้าหัดนอนตะแคงเสีย จะกรนน้อยลง หรือหยุดกรน วิธีการง่ายๆที่จะทำให้ต้องนอนตะแคงเอง เช่น การเย็บลูกเทนนิสหรือลูกยางอย่างอื่นไว้ที่เสื้อนอนด้านหลัง ทำให้นอนหงายไม่ได้นาน ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนอนตะแคงใหม่

7.3 อย่าอดนอน หรือทำงานมากจนอ่อนเพลียเกินไป มิฉะนั้นจะกรนมาก

7.4 อย่าดื่มสุรา หรือกินยาที่ทำให้หลับมาก มิฉะนั้นจะกรนมาก

7.5 หลับให้ตื้นขึ้น โดยดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสมอยู่ การหลับตื้นๆ จะทำให้กรนน้อยลง แต่อาจทำให้นอนไม่พอ และง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวันได้

7.6 ใช้ยากระตุ้นประสาทหรือยาอื่นๆ ผลได้มักจะไม่คุ้มกับผลเสีย คือ พิษ (ฤทธิ์ข้างเคียง) ของยา และการเสพติด (การใช้ยาจนติดเป็นนิสัย ขาดยาไม่ได้) การใช้ยาจำพวกนี้จึงควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุของการกรน และการรักษาที่ถูกต้องก่อน

7.7 ใช้การผ่าตัด เพื่อเปิดทางเดินหายใจในบริเวณคอหอยให้กว้างขึ้น เช่น การผ่าตัดลิ้นไก่เพดานอ่อน (uvula-palato-pharyngoplasty) เป็นต้น ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างยุ่งยาก และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ นอกจากนั้นการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การตัดต่อมทอนซิลในกรณีที่โต การผ่าตัดแผ่นกั้นรูจมูกในกรณีที่เบี้ยว ก็อาจจะช่วยลดการกรนได้

อย่างไรก็ตาม อย่าวิตกกังวลกับการกรนจนเกินกว่าเหตุ แต่ก็ควรจะปฏิบัติรักษาตนตามข้อ 7.1 ถึงข้อ7.4 นอกจากการกรนจะดีขึ้นแล้ว สุขภาพโดยทั่วไปก็จะดีขึ้นด้วย

ข้อมูลสื่อ

160-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 160
สิงหาคม 2535
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์