• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระบวนทรรศน์สุขภาพแบบบูรณาการ

ขณะที่เขียนคุยกับผู้อ่านนี้ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กำลังจะจัดประชุมเกี่ยวกับการปรับ กระบวนทรรศน์ทางการแพทย์และสุขภาพของสังคมไทยครั้งที่ 2 ลึกที่สุดของการปฏิรูประบบสุขภาพคือ การปฏิรูปทิฏฐิ หรือแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งในที่นี้ใช้คำว่ากระบวนทรรศน์ ทิฏฐิหรือทรรศนะว่าอะไรคืออะไรเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการกำหนดการปฏิบัติ ถ้าทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ การปฏิบัติที่ตามมาก็เป็นสัมมาปฏิบัติ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็เป็นมิจฉาปฏิบัติ วิธีคิดของมนุษย์ในยุคต่างๆไม่เหมือนกัน จะปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ กล่าวคือ
1. การคิดตามสัญชาตญาณแบบดั้งเดิม
2. การคิดแบบไสยศาสตร์
3. การคิดเชิงวัฒนธรรม
4. การคิดเชิงวิทยาศาสตร์
5. การคิดแบบบูรณาการ
 
ขณะนี้อยู่ในยุคที่ 4 คือการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และกำลังจะเคลื่อนเข้าไปสู่ยุคที่ 5 คือการคิดแบบบูรณาการ

การคิดเชิงวิทยาศาสตร์ได้ให้ความรู้ที่คมชัด เกิดความก้าวหน้าแบบทันสมัยมากมาย แต่ก็ยังเป็นความรู้แบบแยกส่วน คือเน้นเรื่องวัตถุ หรือเป็นกระบวนทรรศน์สุขภาพแบบวัตถุนิยม คือ เน้นเฉพาะกายหรือส่วนที่เป็นวัตถุ จึงไม่ครบ เมื่อไม่ครบก็เกิดปัญหาเป็นอันมาก จำเป็นต้องปรับกระบวนทรรศน์ไปสู่กระบวนทรรศน์สุขภาพแบบบูรณาการ คือคิดถึงความเชื่อมโยงของมิติทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ซึ่งในแต่ละมิติมีปัจจัยเป็นอันมากที่เข้ามาสัมพันธ์กัน อันก่อให้เกิดดุลยภาพ (สุขภาพดี) หรือเสียดุลยภาพ (สุขภาพเสีย)

เราจึงควรร่วมมือกันสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ อันเป็นกระบวนทรรศน์ที่มีความเป็นบูรณาการ

ข้อมูลสื่อ

269-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 269
กันยายน 2544
ศ.นพ.ประเวศ วะสี