• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฉลากอาหาร

ฉลากอาหาร


ทุกวันนี้อาหารสำเร็จรูปได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นทุกที ไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ๆเท่านั้น แม้แต่ในชนบทชาวบ้านในหมู่บ้านก็มีร้านค้าจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น โอกาสที่จะพบแม่บ้านเจียวน้ำมันหมู ตำเครื่องแกง หรือดองผักไว้กินเองก็ค่อยๆหมดไปแล้ว อาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบการ ปรุงอาหาร ทั้งในรูปของแห้ง ผง บรรจุขวด กระป๋อง ถุงพลาสติก แช่เย็น ฯลฯ ได้เข้ามาแทนกิจกรรมการทำครัวที่ยุ่งยากวุ่นวาย

ผู้บริโภคสมัยใหม่กลุ่มใหญ่ของประเทศต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยผู้ผลิต ซึ่งมีทั้งระดับอุตสาหกรรม หรือบางครั้งระดับครัวเรือน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จะมีผู้บริโภคสักกี่คนที่จะสนใจให้เวลาสัก 2 นาทีเพื่อสังเกตและอ่านฉลากที่ติดบนภาชนะบรรจุอาหารก่อนที่จะไปซื้อหาไปบริโภคและเห็นคุณค่าของข้อมูลที่ระบุไว้บนฉลากนั้น ผู้บริโภคสักกี่คนที่จะรู้ว่ากว่าฉลากอาหารจะได้ติดอยู่บนภาชนะบรรจุอาหารนั้น จะต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายที่ถูกต้องและตรวจสอบข้อความต่างๆโดยละเอียด เพื่อให้ฉลากเหล่านั้นได้แสดงข้อมูลแก่ผู้บริโภคที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อหา และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฯได้ใช้ในการตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้

ข้อมูลที่แจ้งบนฉลากที่ดี ประกอบกับการมีความรู้ทางวิชาการด้านอาหารและโภชนาการอีกเล็กน้อยจะช่วยให้เราสามารถรู้ถึงที่มาของอาหารในแง่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ความคุ้มค่าของราคา และความปลอดภัยที่จะบริโภคอาหารเหล่านั้น บทความที่จะนำเสนอในคอลัมน์นี้ในฉบับต่อๆไป จะเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านไปสำรวจตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่างๆ ที่อยู่ในท้องตลาด เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่จะทำให้ทราบถึงองค์ประกอบของอาหาร กระบวนการผลิต และผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค อันจะช่วยให้ท่านได้มีเกณฑ์ที่จะใช้ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่สำหรับฉบับนี้จะขอแนะนำถึงลักษณะฉลากที่ดีว่าควรมีข้อความใดประกอบอยู่ และข้อความเหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร เพื่อให้ท่านได้เข้าใจในหลักการก่อนที่จะทราบถึงวิธีการเลือกดูผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเสนอในครั้งต่อไป ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ได้แบ่งอาหารที่มีในท้องตลาด ออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. อาหารควบคุมเฉพาะ มีการระบุมาตรฐานทั้งในแง่ความปลอดภัยและคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ และบางครั้งแสดงคุณค่าทางโภชนาการไว้ เช่น อาหารกระป๋อง นม และผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

2. อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน มีข้อกำหนดที่หลวมกว่าอาหารควบคุมเฉพาะ มี 6 ชนิด เช่น ไข่เยี่ยวม้า อาหารที่มีสารปนเปื้อน ฯลฯ

3. อาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

4. อาหารทั่วไป ระบุว่า เป็นอาหารที่ต้องไม่มีสิ่งที่เป็นพิษต่อผู้บริโภค

อาหารประเภทที่ 1,2, และบางส่วนของประเภทที่ 4 มีการกำหนดว่าต้องมีฉลากที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องมีข้อมูล ดังต่อไปนี้

1. เครื่องหมายทะเบียนหรือเลขอนุญาตใช้ฉลากอาหาร แสดงตามแบบที่กำหนด โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อันประกอบด้วยอักษร อย. ซึ่งเป็นคำย่อของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาติดกับแถบซึ่งภายในมีตัวอักษรรหัสที่มีความหมายถึง สถานภาพของสถานที่ผลิตและประเภท

ตัวอย่างเช่น ในกรณีของอาหารควบคุมเฉพาะ

  • อักษร “ผ” หมายถึง ผลิตในประเทศ (สถานที่ผลิตเข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม)
  • อักษร “ฉผ” หมายถึง ฉลากผลิต (ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศที่ไม่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม)
  • อักษร “ส” หมายถึง อาหารที่นำหรือสั่งเข้ามาในประเทศ (ผลิตจากต่างประเทศ)
  • ในความหมาย “เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม” คือ มีเครื่องจักรตั้งแต่ 2 แรงม้าหรือคนงาน 7 คนขึ้นไป ส่วนอักษรตัวหรือชุดถัดไป หมายถึง ประเภทอาหาร เช่น “นป” หมายถึง น้ำปลา “ช” หมายถึง น้ำส้มสายชู “ซ” หมายถึง ซอสและซีอิ๊ว เป็นต้น

เมื่อนำมาประกอบกับอักษรชุดแรกก็ทำให้ได้ความหมายลึกลงไปอีก เช่น “ผช” หมายถึง น้ำส้มสายชูที่ผลิตในประเทศโดยผู้ผลิตที่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม หรือ “ฉผนป” หมายถึง น้ำปลาที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศที่ไม่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม ในกรณีของอาหารประเภทกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน และอาหารประเภททั่วไปที่ต้องมีฉลาก จะใช้ “ฉผ” นำหน้าทั้งหมด ส่วนตัวเลขที่ปรากฏในแถบ คือ เลขทะเบียนและปีที่ได้รับอนุมัติการขึ้นทะเบียน

2. น้ำหนักสุทธิหรือปริมาตรสุทธิ คือ น้ำหนักหรือปริมาตรของอาหารที่ไม่รวมภาชนะบรรจุ ในบางกรณี เช่น ผลไม้กระป๋อง เนื้อกระป๋อง มักระบุน้ำหนักสุทธิและน้ำหนักเนื้ออาหาร (drain weight) ซึ่งเป็นน้ำหนักของอาหาร ส่วนที่เป็นเนื้อหรือของแข็งซึ่งต้องกรองเอาส่วนที่เป็นของเหลวแยกออกจึงจะชั่งน้ำหนัก ซึ่งตามกฎหมายน้ำหนักเหล่านี้ต้องระบุเป็นหน่วยเมตริก

3. ชื่ออาหารภาษาไทย ต้องระบุไว้โดยใช้อักษรสีเดียวกัน

4. ส่วนประกอบที่สำคัญโดยประมาณ ต้องระบุปริมาณเป็นร้อยละของน้ำหนัก และเรียงจากปริมาณมากไปหาน้อย

5. ระบุส่วนประกอบบางประเภทหากมีการเติมลงไป เช่น การเจือสี การใช้ผงชูรส การใช้วัตถุกันเสีย การแต่งรส การแต่งกลิ่น เป็นต้น สารเคมีหลายอย่างที่ใช้เติมลงในอาหารอาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้บริโภคบางกลุ่ม จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้บริโภคที่ต้องรู้ว่ามีการเติมสารดังกล่าวลงในอาหาร

6. ระบุวันที่ผลิต หรือวันที่หมดอายุ ซึ่งตามปกติแล้วอาหารที่มีอายุการเก็บสั้น เช่น นมสดพาสเจอร์ไรซ์นมเปรี้ยว มักจะระบุวันที่หมดอายุ ส่วนอาหารที่มีอายุการเก็บยาวนาน เช่น อาหารกระป๋อง มักระบุวันที่ผลิตด้วย

7. ชื่อผู้ผลิตพร้อมที่อยู่

8. คำแนะนำในการเก็บรักษา โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องเก็บในสภาพความเย็น

9. คำแนะนำในการเตรียมเพื่อบริโภค เป็นต้น

โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ปรากฏบนฉลากอาหารที่เป็นข้อมูลที่มีความหมายในแง่มาตรฐานและความปลอดภัยนั้น การศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากข้อมูลที่ปรากฏ จะเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจของผู้บริโภคเพื่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารด้วยความมั่นใจว่าคุ้มค่าเงิน เหมาะสมต่อการบริโภคและไม่เป็นอันตราย

ประเภทของอาหารที่ถูกกำหนดให้เป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

1. น้ำแร่
2. สีผสมอาหาร
3. น้ำมันและไขมัน
4. น้ำมันถั่วลิสง
5. นมโค
6. เนย
7. เนยแข็ง
8. กี
9. ไอศกรีม
10. นมปรุงแต่ง
11. ผลิตภัณฑ์ของนม
12. เนยเทียม
13. วัตถุที่ใช้ปรุงอาหารแต่งรสอาหาร
14. อาหารกึ่งสำเร็จรูป
15. ซอสบางชนิด
16. น้ำมันเนย
17. นมเปรี้ยว
18. น้ำส้มสายชู
19. ครีม
20. น้ำมันปาล์ม
21. น้ำมันมะพร้าว
22. ชา
23. น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท
24. เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท
25. อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท
26. น้ำมันถั่วเหลืองในภาชนะบรรจุปิดสนิท
27. กาแฟ
28. น้ำแข็ง
29. วัตถุเจือปนอาหาร
30. นมผงดัดแปลงสำหรับทารก
31. อาหารทารก
32. อาหารเสริมสำหรับเด็ก
33. แยม เยลลี และมาร์มาเลดในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
34. เครื่องดื่มเกลือแร่
35. โซเดียมซัยคลาเมตและอาหารที่มีโซเดียมซัยคลาเมต
36. น้ำปลา
37. อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

ข้อมูลจาก : กองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 2534 คู่มือวิทยาการ : โครงการรณรงค์ความรู้ด้านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร

ข้อมูลสื่อ

161-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต