• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้นเหตุของการไม่สบาย

ต้นเหตุของการไม่สบาย


เมื่อรู้สึกไม่สบาย คนส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองเป็นโรค และเข้าใจว่าจะต้องได้รับการรักษาจึงจะหายจากโรคนั้นได้ ดังนั้น จึงอาจจะไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน (แผนตะวันตก) หรือไปหาแพทย์แผนโบราณ (แผนไทย แผนจีน) หรือบางครั้งก็ไปหาวิธีการรักษาทางไสยศาสตร์ การตัดสินใจว่าจะไปให้ใครรักษานั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อ ประสบการณ์ของตนเองในอดีต การชักจูงของผู้อื่น หรือค่านิยมในสังคม ซึ่งผลปรากฏว่าอาการไม่สบายที่เป็นอยู่นั้นอาจหายไปหรือเหมือนเดิม และบางครั้งอาจเป็นมากกว่าเดิม จึงทำให้มีการสรุปว่าผู้ที่รักษานั้นไม่เก่ง ไม่มีฝีมือ จึงตัดสินใจเปลี่ยนผู้รักษาในแผนเดียวกันหรือไปใช้บริการในแผนอื่น นี้คือ สภาพที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน

ความจริงสิ่งที่ได้มีการปฏิบัติดังข้างต้นโดยเชื่อว่าต้องมีผู้รักษาจึงจะทำให้ความรู้สึกไม่สบายนั้นหายไปได้ ซึ่งความคิดเช่นนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะความจริงแล้วตัวผู้ป่วยเองต่างหากที่เป็นผู้รักษาความไม่สบายให้หายไป โดยที่ถ้าเสียชีวิตไปแล้ว ต่อให้เป็นหมอเทวดาก็ย่อมไม่สามารถรักษาให้ฟื้นคืนชีพได้อีก

โรคและอาการต่างกันอย่างไร

ก่อนอื่นควรทราบก่อนว่าความรู้สึกไม่สบายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นโรค โรคในที่นี้คือ การเกิดความผิดปกติในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น โรคปอด โรคหัวใจ หมายถึง การเกิดความผิดปกติในโครงสร้างเนื้อเยื่อของปอด หรือของหัวใจ แต่ความรู้สึกไม่สบายอาจเนื่องมาจากการทำงานของระบบต่างๆ ไม่ปกติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นในอวัยวะหรือโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่ง ดังนั้น ความไม่สบายจึง หมายถึง หน้าที่ของระบบใดระบบหนึ่งบกพร่องไป เกิดความไม่สมดุลขึ้นภายในร่างกาย ทำให้เรารู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด ร้อนๆ หนาวๆ นอนไม่เต็มที่ การทำกิจวัตรประจำวันด้วยความเบื่อหน่าย หรือไม่อยากไปทำงานตามหน้าที่ของเรา

อาการไม่สบายกับการป้องกันและรักษา

  • อาการหวัด

ตัวอย่างของความไม่สบายที่พบบ่อย คือ อาการเป็นหวัด หลายท่านซึ่งเป็นผู้รู้คงไม่เห็นด้วยและอธิบายว่าอาการหวัดนั้นเกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย แล้วเข้าไปฟักตัวในเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์กล้ามเนื้อ เมื่อเชื้อไวรัสขยายพันธุ์โดยอาศัยกลไกของเซลล์กล้ามเนื้อแล้วก็เจาะเซลล์ออกไปเพื่อแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น ทำให้เราปวดเมื่อยไปหมดทั่วทั้งร่างกาย ถ้ามองในแง่มุมนี้การเป็นหวัดคงต้องการผู้รักษา ต้องกินยาฆ่าเชื้อไวรัสให้ตายหมด แต่ความเป็นจริงยังไม่มีใครสามารถคิดค้นยาฆ่าเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการหวัดได้ และบางครั้งโดยที่ยังไม่รู้ตัวก็ปรากฏว่าอยู่ๆ ร่างกายของคนเราก็ฟื้นหายจากหวัด โดยไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการที่แพทย์ให้ยารักษาส่วนใหญ่เป็นเพียงลดอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็ย่อมไม่เป็นหวัด แต่เมื่อเป็นหวัดแล้ว ถ้ามีการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ย่อยง่าย รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ก็จะสามารถหายจากหวัดได้ ต้นเหตุของความไม่สบายจึงเกิดจากการที่ร่างกายเราไม่แข็งแรง ไม่ระวังรักษาสุขภาพให้ดี เช่น นอนไม่ห่มผ้า หรือไม่สวมใส่เสื้อผ้าเวลานอนหลับเพื่อรักษาอุณหภูมิกาย กินอาหารไม่ครบหมู่ ออกไปเดินตากฝนตอนฝนตกปรอยๆ โดยเฉพาะเมื่อตอนเริ่มตกใหม่ๆ ทำให้หนาวสั่น หรือสูดเอาละอองดินที่คลุกเคล้ากับเชื้อโรคที่ลอยขึ้นมาเข้าสู่ร่างกาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้เป็นหวัดได้

ฉะนั้น หากไม่อยากเป็นหวัดแล้วล่ะก็ ในเวลาที่ฝนตกหนักควรเตรียมตัวโดยใส่เสื้อกันฝนหรือใช้ร่มหรือถึงแม้ร่างกายจะเปียกโชกด้วยน้ำฝน แต่การเช็ดตัวให้แห้งหลังจากเข้าสู่ที่พักแล้ว โอกาสที่จะเป็นหวัดย่อมมีน้อยมาก จะเห็นได้ว่าความไม่สบายที่เกิดจากการเป็นหวัดนั้นสามารถป้องกัน และรักษาด้วยตนเองได้ ความไม่สบายต่างๆ ในชีวิตประจำวันล้วนเกิดจากขาดการดูแลเอาใจใส่เพื่อสร้างความสมดุลของร่างกาย การปฏิบัติตนที่ถูกต้องย่อมสามารถที่จะขจัดต้นเหตุและปรับสภาพร่างกายให้เป็นปกติได้

  • หายใจขัด

อาการไม่สบายอื่นๆ นอกจากเป็นหวัด ที่พบบ่อย เช่น การหายใจขัด หายใจไม่เต็มปอด ซึ่งเกิดจากความตกใจกลัวว่าไม่มีอากาศหายใจ มลภาวะ ทำให้รู้สึกหน้ามืดเป็นลมหายใจถี่และหอบ ความจริงเราไม่สามารถเสียชีวิตโดยการกลั้นหายใจ และทางเดินหายใจส่วนต้นมีวงแหวนของกระดูกอ่อนคั่นอยู่เพื่อป้องกันการตีบตันของหลอดลม การที่เราพยายามหายใจถี่ๆ และลึก ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกกำจัดออกไปหมด เมื่อปราศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สมองจะขาดตัวกระตุ้นทำให้หยุดหายใจได้ ในกรณีที่รู้สึกว่าขาดอากาศจึงควรหายใจช้าๆ เพราะถ้าหายใจถี่และลึกเนื่องจากตกใจ จำเป็นต้องให้หายใจผ่านถุงกระดาษเพื่อให้อากาศที่หายใจเข้าไปมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากขึ้น จะได้กระตุ้นให้เข้าสู่การหายใจในระดับที่ปกตินี้ จึงเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าการที่เกิดความไม่สมดุลระหว่างก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายย่อมทำให้เกิดภาวะไม่สบายขึ้นได้

  • อาการใจสั่น ผวา

อาการใจสั่น ผวา มักเป็นอาการไม่สบายอีกอาการหนึ่งที่พบบ่อยจนทำให้หลายคนคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจ แต่ครั้นเมื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือวิธีการอื่นๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่พบความผิดปกติของหัวใจแต่อย่างใด จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ความไม่สบายนี้เกิดจากความไม่สมดุลในระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วบ้างช้าบ้าง ซึ่งมักเกิดจากความเครียด ความกังวล และจากการปรับตัวของหัวใจ เช่น เวลารถลงสะพานสูง หรือเวลาลุกขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ทำให้เลือดไหลกลับไปสู่หัวใจไม่ทัน หรืออาจเกิดในเวลานอนขณะฝันร้ายทำให้ตื่นขึ้นทันทีก็ได้ การควบคุมการเต้นของหัวใจให้ปกติทำได้โดยต้องหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายมีความตึงตัวที่จะบีบเลือดให้ไหลกลับได้ และควรปฏิบัติตนให้ไม่ตื่นเต้นหรือเครียดจนเกินไป ซึ่งจะทำให้หัวใจสามารถปรับการทำงานได้ดีขึ้น

  • อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ

อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อทั่วไปมักมีสาเหตุมาจากการที่ใช้กล้ามเนื้อหรือข้อต่อเดียวกันมากเกินไป หรือใช้น้อยเกินไป และเนื่องจากว่ากล้ามเนื้อข้อต่อต้องการอาหาร และต้องกำจัดของเสียที่คั่งค้างอยู่ ซึ่งช่วยได้โดยการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ แทนที่จะอยู่เฉยๆ หรือเกร็งกล้ามเนื้อนั้นอยู่ตลอดเวลา การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้อาจจะทำโดยการเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำ การทำท่ากายบริหารในรูปแบบที่เราเรียกว่า แอโรบิก หรือการใช้ออกซิเจน เหล่านี้จะสามารถลดอาการไม่สบายของกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ เป็นการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้กล้ามเนื้อในส่วนนั้นๆ ไม่ให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งจะเป็นการแก้ไขต้นเหตุของความเจ็บปวดได้

ต้นเหตุของความไม่สบาย มักจะเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลภายในร่างกายหรือการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ หรือการดำรงชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนและการกินอาหารที่ไม่ครบหมู่ หรือการนอนการกินที่ไม่เป็นเวลา ดื่มเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์อย่างพร่ำเพรื่อ ถ้าหากสามารถขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากชีวิตได้ ก็ย่อมขจัดต้นเหตุของความไม่สบายได้อย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลสื่อ

161-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 161
กันยายน 2535
ดุลชีวิต
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข