เหตุเกิดที่แม่เมาะ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2535 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทุกแขนงได้รายงานข่าวตรงกันว่า ชาวบ้านที่ตำบลบ้านสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จำนวนหลายร้อยคน มีอาการแสบจมูก แสบคอ บางรายวิงเวียนศีรษะ ไอ จาม หายใจไม่ค่อยออก แน่นหน้าอก เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม อาการดังกล่าวจึงเบาบางลง และจนกระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดิมอีก
อันที่จริงสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น ชาวบ้านสบป้าดต้องเผชิญมานานนับหลายปีแล้วในสภาพความรุนแรงที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยความที่อำนาจต่อรองขององค์กรชุมชนท้องถิ่นหรือตัวแทนประชาชนยังไม่มากพอ เสียงสะท้อนจากหมู่บ้านจึงแผ่วเบา
เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ
ต้นเหตุสำคัญ คือ เหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เหมืองลิกไนต์ ทำให้เกิดฝุ่นละอองกระจายอย่างมาก เนื่องจากการบุกเบิกหน้าดิน การขนส่งดินและถ่านลิกไนต์ ตลอดจนการทิ้งคืน นอกจากนี้กองถ่านลิกไนต์จะเกิดการสันดาปเอง ทำให้เกิดควันและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นด้วย สำหรับโรงไฟฟ้านั้นไม่ได้ผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว หากแต่ก่อให้เกิดฝุ่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น
ปัจจัยเสริมน่าจะได้แก่ สภาพอากาศปิด มีความกดของอากาศสูงและชื้น ความผกผันของอุณหภูมิ (temperature inversion) ที่ระดับ 200-450 เมตรเหนือดิน ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดก๊าซและฝุ่นไม่สามารถกระจายผ่านสู่ชั้นบรรยากาศที่สูง และกระจายตัวออกจากแอ่งแม่เมาะได้ อีกทั้งสภาพที่เป็นแอ่ง มีลักษณะคล้ายเรือท้องแบนลำมหึมาบนพื้นที่ 150 ตารางกิโลเมตร มีภูเขาล้อมรอบทุกด้านยกเว้นด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ สภาพเช่นนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศ
ปัจจัยเสริมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การควบคุมฝุ่นละออง และก๊าซพิษต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ตัวอย่างที่ชัดเจน ก็คือ ระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม เครื่องจับฝุ่นไฟฟ้าสถิต (electrostatic precipitator) จากปล่องหน่วยที่ 2 หยุดทำงาน รวมทั้งยังมีข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-7 ไม่มีเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (ขณะนี้กำลังศึกษาระบบที่จะใช้อยู่ ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไรจะติดตั้งเครื่อง) ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 นั้น คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2535 นี้ อนุมัติให้ติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ชนิดเปียก (wet type) มูลค่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจ่ายค่าเดินเครื่องและค่าบำรุงรักษาประมาณปีละ 3,500-4,000 ล้านบาท คาดว่าการติดตั้งเครื่องจะแล้วเสร็จในอีก 3-4 ปีข้างหน้า สรุปว่าในขณะนี้ยังไม่มีเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในโรงไฟฟ้าทุกหน่วย การลดปริมาณก๊าซทำได้วิธีเดียว คือ ลดการผลิตกระแสไฟฟ้า
กระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านลิกไนต์ และการก่อมลภาวะที่ไม่พึงประสงค์
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง โดยแปรสภาพพลังงานที่สะสม อยู่ในถ่านหินให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง กล่าวโดยสรุป ก็คือ ถ่านลิกไนต์ที่ขุดได้จากเหมืองลิกไนต์จะถูกส่งมาบดในเครื่องย่อยถ่านชุดแรกจนได้ขนาดไม่โตกว่า 30 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากนั้นจึงลำเลียงโดยสายพานเพื่อตรวจสอบแยกเหล็กหรือโลหะที่ไม่พึงประสงค์ออก แล้วลำเลียงเข้าสู่เครื่องย่อยถ่านชุดที่สองจนขนาดเหลือไม่เกิน 3 ลูกบาศก์เซนติเมตร จากนั้นจึงป้อนเข้าสู่เตาเผาเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำให้กลายเป็นไอ และให้ความร้อนแก่ไอน้ำจนแห้งสนิท ส่งไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนตาม เกิดการผลิตกระแสไฟฟ้าออกมา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้าจำต้องอาศัยแหล่งถ่านลิกไนต์และแหล่งน้ำ ทั้งลิกไนต์และน้ำต้องส่งป้อนตลอดเวลาที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้มีพร้อมที่แม่เมาะ
การก่อมลภาวะที่ไม่พึงประสงค์นั้นเริ่มที่เหมืองลิกไนต์ ตั้งแต่นำถ่านลิกไนต์เข้าสู่โรงไฟฟ้า ในขั้นตอนนี้ทำให้เกิดฝุ่นละอองกระจายบริเวณกว้าง เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ฝุ่นเหล่านี้มีผลต่อระบบหายใจของคนทำลายทัศนวิสัย และชะลอการการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้ยังเกิดการสันดาปในกองถ่านลิกไนต์ทำให้เกิดควันและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สำหรับกระบวนการก่อมลภาวะที่โรงไฟฟ้านั้น เกิดจากการเผาถ่านลิกไนต์ซึ่งจะก่อให้เกิดขี้เถ้าเบาปนไปกับก๊าซร้อนออกสู่ปล่องควัน ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องจับฝุ่นไฟฟ้าสถิต สำหรับก๊าซสำคัญที่ออกมาทางปล่องควันนั้น ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ฯลฯ การลดก๊าซพิษเหล่านี้อาจทำได้โดยปรับกระบวนการต่างๆ ในการผลิตไฟฟ้า เช่น การใช้ถ่านลิกไนต์ที่มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ต่ำ ซึ่งจะต้องสั่งจากต่างประเทศ ถ่านลิกไนต์แม่เมาะมีสารซัลเฟอร์เฉลี่ยโดยน้ำหนักสูงประมาณร้อยละ 3.3 หรือเอาสารซัลเฟอร์ออกจากถ่านลิกไนต์ โดยผสมหินปูนในกระบวนการเผาถ่านลิกไนต์ หรือการใช้เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก่อนปล่อยออกจากปล่องควัน สำหรับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์อาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อลดปริมาณลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความคุ้มทุน และความเป็นไปได้ในการดำเนินการด้วย
ทำไมต้องใช้ถ่านลิกไนต์ผลิตไฟฟ้า
คำตอบก็คือ ต้นทุนต่ำกว่าใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นนั่นเอง อีกทั้งเป็นการนำทรัพยากรถ่านหินภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ระบุว่า หากโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-13 ทำงานเต็มที่ (ขณะนี้หน่วยที่ 12 และ 13 กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง) จะสามารถผลิตพลังงานได้ปีละ 15,240 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ซึ่งทดแทนน้ำมันเตาได้ปีละ 4,225 ล้านลิตร นับว่าเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติได้จำนวนมหาศาลทีเดียว
กระแสไฟฟ้าที่ใช้อยู่ทั่วประเทศเวลานี้ ผลิตจากน้ำมันเตาและก๊าซถึงร้อยละ 58 ผลิตจากพลังน้ำร้อยละ 21 ผลิตจากถ่านลิกไนต์ร้อยละ 19 จากน้ำมันดีเซลเพียงร้อยละ 1 และอีกร้อยละ 1 ซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพการขาดแคลนน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ (เหลือน้ำเพียง 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร) จึงจำเป็นต้องสงวนน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค จึงเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากลิกไนต์เป็นร้อยละ 27 ของความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือไม่
คำตอบก็คือ ทราบอย่างแน่นอน เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ให้ข้อมูลว่า ก่อนที่จะมีโครงการพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ดำเนินการศึกษาและสำรวจด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของโครงการแม่เมาะมากที่สุดเมื่อเทียบกับโครงการพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่มีอยู่ นอกจากนี้หลังจากที่ได้ลงมือผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2521 โดยเปิดโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1 และ 2 ต่อมาในปี 2534 จึงเริ่มเปิดโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ศึกษาตรวจสอบคุณภาพอากาศในบริเวณโครงการแม่เมาะและบริเวณใกล้เคียงเป็นประจำ และต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2524 จนถึง 2531 ซึ่งในปี 2531 นั้นโรงไฟฟ้ามีทั้งสิ้น 7 หน่วย
สรุปผล พบว่า ระดับฝุ่นละอองรายวันในอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้งเกินค่ามาตรฐาน 330 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในบริเวณรอบเหมืองที่ทิ้งดินและโรงไฟฟ้าสำหรับระดับของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใน 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ค่ามาตรฐานของไนโตรเจนออกไซด์ใน 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 320 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ค่าของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินค่ามาตรฐาน 3 ครั้ง ในปี 2529 ส่วนผลการตรวจคุณภาพอากาศของบริษัทไซมอน รีซอร์ต คอนเซาต์แทนส์ (เอสอาร์ซี) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า มีระดับเกินมาตรฐาน (300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ในบริเวณโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4-8...
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศประจำวันอาจทำให้มีก๊าซมลพิษสะสม 3,400-8,400 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ที่ระดับพื้นดิน เหตุเกิดในช่วงสั้นๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในตอนเช้า ก่อน 09.00 น. และอาจเกิดขึ้นในตอนกลางคืนนับตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปจนถึงเวลาเช้าตรู่ นอกจากนั้นลักษณะภูมิอากาศบางอย่าง เช่น เวลาหมอกลงจัดหรืออากาศสงบ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปรากฏการณ์นี้เช่นกัน
สำหรับเรื่องฝุ่นละอองนั้น บริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษา ซีเทค จำกัด ได้สรุปผลการตรวจสอบว่ากิ่งอำเภอแม่เมาะได้รับฝุ่นละอองเกินกว่ามาตรฐานดังกล่าว นับตั้งแต่ปี 2526 โดยเฉพาะในฤดูหนาว ในขณะนั้นมีโรงไฟฟ้าเพียง 3 หน่วยเท่านั้น ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 3-5 ตุลาคมนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางไม่ทราบผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศ จนกระทั่งกองอนามัยสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งรถตรวจอากาศเข้าไปดำเนินการที่โรงเรียนสบป้าด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2535 เรื่อยมา จึงทำให้ทราบผลการตรวจสุขภาพอากาศ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2535 ซึ่งพบว่า สัมพันธ์กับการเจ็บป่วยของประชาชน เพราะค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงเป็น 7 เท่าของค่ามาตรฐาน (2,122 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เวลา 10.00 น.) และลดต่ำลงเหลือ 384 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อเวลา 15.00 น.
งานศึกษาวิจัยเรื่องมลพิษทางอากาศและโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กนักเรียนอายุ 10-15 ปี ของอำเภอแม่เมาะ และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง พ.ศ.2534-2535 ศึกษาโดยนายแพทย์นภดล สมบูรณ์ และคณะ ได้ข้อสรุปว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่ละเมาะ มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีอาการหรืออาการแสดงของโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าเด็กในอำเภอแจ้ห่มถึง 3 เท่า ความสัมพันธ์ของคุณภาพอากาศกับการเจ็บป่วย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2535 และงานศึกษาวิจัยดังกล่าวข้างต้น น่าจะเป็นข้อยุติถึงข้อถกเถียงหรือข้อแก้ตัวที่ว่าชาวบ้านสบป้าดเสแสร้ง
ใช้ทรัพยากรจากเหมืองแม่เมาะ ชาวแม่เมาะจะได้อะไรบ้าง
จากการสำรวจหาถ่านลิกไนต์บริเวณแม่เมาะ คาดว่าจะมีปริมาณรวมถึง 1,300 ล้านเมตริกตัน ตามโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะหน่วยที่ 1-10 รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,725 เมกกะกิโลวัตต์ ตลอดอายุของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ต้องการใช้ถ่านลิกไนต์ประมาณ 350 ล้านเมตริกตัน นั่นก็หมายความว่า ทรัพยากรจากเหมืองแม่เมาะใช้ไปได้อีกกว่า 100 ปีจึงจะหมด
ปัญหาก็คือว่า ชาวแม่เมาะจะได้อะไรบ้าง
นอกจากต้องเจ็บไข้ได้ป่วยนับพันคน วัวควายตาย 28 ตัว ป่วยอีกเกือบร้อยตัว ต้นไม้มีอาการเหี่ยวเฉา ใบไม้มีรอยไหม้ พืชผักสวนครัวเสียหาย ทั้งนี้ยังไม่นับรวมสุขภาพจิตที่ถูกกระทบกระเทือน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนระหว่างคนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกับชาวบ้าน การถูกเสนอให้ย้ายออกจากถิ่นฐาน โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกผูกพันของชาวบ้านที่มีต่อท้องถิ่น การเสนอให้ย้ายออกจากถิ่นฐาน เป็นข้อเสนอที่ทำลายระบบคุณค่าและวิถีชีวิตของชุมชนทีเดียว จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
แม้ว่าจะได้มีการกำหนดมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหาไว้แล้ว โดยมาตรการระยะสั้นเน้นการเฝ้าระวังตรวจคุณภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำการลดการผลิตไฟฟ้าลงทันที หากพบว่ามลพิษจากก๊าซและฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน สำหรับมาตรการระยะยาว คือ การติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดังกล่าวแล้ว แต่มาตรการดังกล่าวมิได้เป็นหลักประกันที่มั่นคงและยืนยาว ปัญหาเบื้องหน้า ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชุมชนท้องถิ่น องค์กรท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง (civil society) มีอำนาจทางกฎหมายในการปกป้องตนเอง ปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เขาหวงแหน มีอำนาจต่อรองกับอำนาจรัฐฯ หรืออำนาจอื่นใดที่ไม่ชอบธรรมอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ขอขอบคุณผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล : นายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์นภดล สมบูรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง นายแพทย์ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่เมาะ
- อ่าน 31,301 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้