• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดท้อง (ตอนที่ 3)

ปวดท้อง (ตอนที่ 3)

คนไข้รายที่ 3 ชายไทยม่าย อายุ 75 ปี มีอาการแน่นๆในท้องมา 5-6 วัน อาการเป็นมากขึ้นๆ จึงมาโรงพยาบาล

ชาย : “สวัสดีครับ คุณหมอ ผมแน่นๆในท้องมา 5-6 วัน กินข้าวไม่ได้ กินแล้วแน่นท้อง ต้องกินแต่น้ำข้าว น้ำหวานครั้งละน้อยๆ รู้สึกซูบลงไปมาก
หมอ : “สวัสดีครับ คุณเคยมีอาการอย่างนี้มาก่อนมั้ยครับ"                                                   

 ชาย : “เคย แต่ไม่เหมือนครั้งนี้ครับ ที่เคยแน่นท้องพอเรอหรือผายลมแล้วก็หาย แต่คราวนี้มันไม่เรอหรือผายลมเลย แน่นอืดท้องอยู่อย่างนั้น”
หมอ : “แล้วมีอาการอื่นมั้ยครับ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเดิน หรืออื่นๆ”
ชาย : “มีเบื่ออาหาร ไม่รู้สึกหิว บางครั้งคลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน ไม่ปวดท้องแต่แน่นๆในท้อง อุจจาระและปัสสาวะได้ตามปกติครับ”
หมอ : “มีไข้ตัวร้อนมั้ยครับ”
ชาย : “ไม่มีไข้ตัวร้อนครับ แต่บางครั้งรู้สึกหนาวๆ บางครั้งครั่นเนื้อครั่นตัว แต่วัดปรอทดูแล้วไม่มีไข้ครับ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น คุณขึ้นนอนบนเตียงให้หมอตรวจหน่อยครับ”

จากการตรวจร่างกาย พบว่าหน้าท้องของคนไข้โป่ง (อืด) เล็กน้อย ไม่มีการกดเจ็บ ไม่มีการปล่อยเจ็บ (ดูความหมายของคำว่า “ปล่อยเจ็บ” ในคนไข้รายที่ 1 และ 2)  เสียงท้องปกติ แต่มีก้อนประมาณไข่ไก่ที่ใต้ชายโครงขาว เคลื่อนเข้าหาชายโครงเวลาหายใจออก เคลื่อนห่างออกจากชายโครงเวลาหายใจเข้า ผิวเรียบ และหยุ่นเหมือนถุงน้ำ คนไข้ตัวเหลือง ตาเหลือง (ตาขาวเป็นสีเหลือง) ไม่มีไข้

หมอ : “เมื่อกี้คุณหมอบอกว่าอุจจาระปัสสาวะปกติ มันปกติจริงหรือ”
ชาย : “ครับ ผมถ่ายเป็นปกติ อุจจาระวันละครั้ง ปัสสาวะวันละ 4-5 ครั้งตามปกติครับ”
ชาย : “สีของอุจจาระและปัสสาวะปกติหรือเปล่าครับ”
หมอ : “อุจจาระสีซีดค่อนไปทางสีเทาๆ ขาวๆ ครับ ส่วนปัสสาวะสีเข้ม ค่อนไปทางสีส้มหรือสีแสดครับ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้นหมอคิดว่าคุณมีอาการดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง) จากท่อน้ำดีอุดตัน ทำให้น้ำดีไหลลงไปในลำไส้ไม่ได้ อุจจาระจึงมีสีซีด เมื่อน้ำดีถูกขับถ่ายไปทางลำไส้ไม่ได้ จึงไหลย้อนกลับไปนเลือด ทำให้ตัวเหลืองตาเหลืองแล้วถูกขับออกทางไต ทำให้ปัสสาวะสีเข้มขึ้นจนเป็นสีแสดหรือสีเมื่อท่อน้ำดีถูกอุดตันเช่นนี้ จำเป็นต้องผ่าตัดด่วน คุณจะยอมผ่าตัดมั้ยครับ”
ชาย : “จำเป็นต้องผ่าตัดหรือครับ เสียค่าใช้จ่ายแพงมั้ยครับ”
หมอ : “ถ้าผ่าตัดในโรงพยาบาลเอกชน คงจะแพงมากครับ คุณอยากจะไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลของรัฐมั้ยครับ หมอจะเขียนใบส่งตัวไปให้”
ชาย : “ก็ดีเหมือนกันครับ จะได้ประหยัดเงินของลูกหลาน เพราะลูกๆเขารับราชการอยู่ จะได้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้”

หมอจึงเขียนใบส่งตัวให้คนไข้ไปรับการผ่าตัดที่โรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง และเขียนบอกไปด้วยว่าคนไข้มีท่อน้ำดีอุดตัน ต้องได้รับการผ่าตัดด่วน และสาเหตุน่าจะเกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งไปทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน เพราะคนไข้ไม่ปวดท้องและไม่มีไข้ (ถ้าท่อน้ำดีอุดตันจากก้อนนิ่ว คนไข้เกือบทุกคนจะปวดท้องมาก และมักจะมีไข้สูงหนาวสั่นตามมา)

หลังจากส่งคนไข้ไปผ่าตัด หมอได้พยายามติดต่อดูว่าคนไข้ได้รับการผ่าตัดหรือยัง แต่ไม่สามารถหาคนไข้พบในโรงเรียนแพทย์แห่งนั้น จึงเข้าใจว่าคนไข้คงเปลี่ยนใจ ไม่ไปที่โรงเรียนแพทย์แห่งนั้น
อย่างไรก็ตาม 7-8 วันต่อมาคนไข้กลับมาหาหมออีกด้วยอาการทรุดหนัก ตัวเหลืองตาเหลืองอย่างมาก ซึมลง เพลีย เหนื่อย และผอมลงมาก เพราะกินอาหารไม่ได้เลยมาหลายวัน กินได้แต่น้ำหวานและน้ำเกลือแร่เท่านั้น

ชาย : “สวัสดีครับหมอ ผมไม่ไหวแล้ว...(เวลาพูดต้องหยุดเป็นระยะๆ เพราะเหนื่อย) ต้องซมซานกลับมาหาหมอใหม่...เพราะโรงเรียนแพทย์ที่หมอส่งผมไปผ่าตัด เขาไม่ยอมผ่าให้...เขาเอาแต่ส่งผมไปตรวจเลือดบ้าง...ตรวจปัสสาวะอุจจาระบ้าง...เอกซเรย์บ้าง อัลตราซาวนด์ (ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนจากท้อง) บ้าง... นัดตรวจแต่ละครั้งเสียเวลาเป็นวันสองวัน ครั้งสุดท้าย เขาส่งไปนัดตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ท้องอีก...หมอเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เขานัดอีก 3 วัน ถึงจะมีคิวตรวจให้...ผมทนไม่ไหวแล้วครับ...      หมอจัดการให้ผมได้พ้นความทรมานเร็วๆเถิดครับ...ผ่าที่นี่ก็ได้ครับ”
หมอ : “ตกลง ผมขอโทษที่ทำให้คุณและลูกๆต้องลำบาก แทนที่จะช่วยให้คุณเสียเงินน้อยลง กลับทำให้คุณเสียเงินและต้องได้รับความทรมานเพิ่มขึ้นอีก ผมเสียใจจริงๆครับ


          แพทย์เราในปัจจุบันชอบการตรวจพิเศษด้วยเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ จนไม่กล้าวินิจฉัยโรคด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย จึงทำให้คุณเสียเวลาไปหลายวันกับการตรวจพิเศษต่างๆ จนอาการทรุดลง


หมอ :  "ประเดี๋ยวผมจะปรึกษาหมอผ่าตัดให้มาดูคุณวันนี้และขอเวลาให้ผมให้น้ำให้อาหารคุณสัก 1 วัน พร้อมกับเตรียมเลือดและเตรียมผ่าตัดให้พร้อม พรุ่งนี้คงจะผ่าตัดได้และหลังผ่าตัดสำเร็จ คุณจะสบายขึ้นครับ”


คนไข้ได้รับการผ่าตัดในวันต่อมา ปรากฏว่าเป็นมะเร็งของตับอ่อนไปกดและเบียดท่อน้ำดีจนอุดตัน หมอผ่าตัดจึงได้เปลี่ยนทางเดินของท่อน้ำดีให้ไปเข้าลำไส้เล็กส่วนอื่น ส่วนมะเร็งที่ตับอ่อนไม่สามารถผ่าตัดออกได้


หลังผ่าตัด คนไข้ดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่เสียเวลาอยู่ในโรงพยาบาลเกือบ 3 สัปดาห์ (ถ้าได้ผ่าตัดตั้งแต่วันแรกๆ อาจออกจากโรงพยาบาลได้ภายใน 7-1o วัน)


ความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคจึงทำให้คนไข้ทรมานนานขึ้น และอาการทรุดลงมาก ความเสี่ยงต่อการผ่าตัดก็เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังต้องเสียเงินเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก


คนไข้รายที่ 3เป็นตัวอย่างของอาการปวดท้องที่ไม่ปวดท้อง เพียงแต่แน่นๆ ในท้องเท่านั้น แต่กลับเป็นโรคร้ายแรงและยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด มีแต่การรักษาเพื่อบรรเทาอาการดีซ่านจากท่อน้ำดีอุดตันเท่านั้น


อาการปวดท้องมากๆ หรือปวดท้องน้อยๆ จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะบอกว่าเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง เพราะหญิงบางคนอาจปวดประจำเดือน (ปวดระดู) รุนแรงมากจนดิ้นไปมา แต่ไม่มีอันตรายอะไรเลย ในขณะที่คนไข้รายที่ 3 นี้ ปวดท้องเพียงเล็กน้อยกลับเป็นโรคร้ายแรง


อาการปวดท้องที่มีอันตรายหรือไม่มีอันตราย จึงขึ้นอยู่กับอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหรือต่อเนื่องจากอาการปวดท้อง ดังที่แสดงไว้ในอาการปวดท้องฉุกเฉิน และอาการปวดท้องที่ร่วมกับอาการผอมลงอย่างรวดเร็ว อาการตัวเหลืองตาเหลือง อาการซีดลงอย่างรวดเร็ว กินอาหารไม่ได้ หรืออื่นๆ


ผู้ที่มีอาการปวดท้องแบบฉุกเฉิน และแบบไม่ฉุกเฉินที่มีอาการผอมลง ตัวเหลืองตาเหลือง ซีดลง กินอาหารไม่ได้ อาการทรุดลงเรื่อยๆ หรือมีอาการร่วมที่อธิบายไม่ได้ ต้องไปหาหมอเพื่อให้หมอช่วยหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว


ส่วนอาการปวดท้องแบบอื่นๆคนไข้มักจะวินิจฉัยและรักษาเองได้ เช่น ปวดประจำเดือน ปวดระหว่างประจำเดือน (ตอนไข่ตก) ปวดหลัง ขาดประจำเดือน (แท้ง ท้องนอกมดลูก ฯลฯ) ปวดร่วมกับตกขาวมากและเป็นหนอง (มดลูกหรือปีกมดลูกอักเสบ) ปวดกล้ามเนื้อหน้าท้อง (หลังออกกำลัง หลังหัวเราะมาก ไอมาก ฯลฯ) ปวดท้องเพราะลมในท้อง (เครียด อาหารไม่ย่อย ฯลฯ) ปวดท้องเพราะอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะแสบหรือขัด ปวดท้องเพราะอาหารเป็นพิษ (มักร่วมกับคลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเดิน) เป็นต้น


ให้ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ การวินิจฉัยและการตรวจรักษาอาการปวดท้องใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 92-97

 

                                                      ***********************************
 

ข้อมูลสื่อ

206-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 206
มิถุนายน 2539
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์