• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพไม่ใช่เรื่องของ โรงพยาบาล หมอ ยา

คิดใหม่ได้แล้วว่า “สุข(ภาพ)” เป็นเรื่องของทุกคน
ถ้าสุขภาพคือสุขภาวะของร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งเชื่อมโยงตัวเรากับครอบครัว สิ่งแวดล้อม และสังคมที่เป็นอยู่ทั้งหมด

ทุกวันนี้คุณคิดว่าตัวเองมีความสุขกันดีไหม?

สุขภาพ? ยาเสพติด
 
รายงานล่าสุดจากกรมสามัญศึกษาพบนักเรียนกว่า 600,000 คนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทุกวันนี้ยาบ้าได้ระบาดอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศไทย แม้รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไข ป้องปรามทุกรูปแบบ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะรับมือไหว
จากงานวิจัยของกรมราชทัณฑ์ สรุปภาพของผู้เสพยาบ้ามีอยู่ 2 ประเภท คือวัยรุ่นเสพเพื่อสนุก อยากลอง ส่วนคนทำงานเสพเพื่อจะมีแรงทำงานสร้างเงินได้มากขึ้น คนอาชีพรับจ้างทั่วไปจึงมีมากที่สุด รองมาเป็นเกษตรกรกับคนขับรถรับจ้าง ค้าขาย แล้วถึงเป็นวัยที่ยังเรียนหนังสือ

ทิศทางการพัฒนา ประเทศของเราก้าวเข้ามาเป็นตัวทำลายวิถีชีวิต ทำลายหลายครอบครัวให้แตกสลาย ใช่หรือไม่?
เรามักคิดว่าผู้เสพยามักจะมาจากครอบครัวที่แตกแยก แต่กว่าร้อยละ 60 มาจากครอบครัวที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน แต่พ่อแม่มัวทำงานหาเงิน ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอน ค่านิยม ความเชื่อที่ถูกต้องให้กับลูก

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส.) พูดถึงปัญหายาเสพติดไว้ว่า “ปัญหายาเสพติดก็เป็นรูปธรรมของทุขภาวะของสังคมอย่างหนึ่ง แสดงว่าระบบครอบครัว ระบบการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งแวดล้อม ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับครอบครัวและชุมชนมันพังทลาย จากปรัชญาการพัฒนาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง มุ่งเศรษฐกิจ “ยาเสพติดจึงเป็นทางออกของคนมีทุกข์ ของคนมีภูมิคุ้มกันไม่พอจึงไปหาทางสร้างสุขด้วยสิ่งอื่น ทั้งเรื่องเพศ วัตถุ สารเสพติด สถานบันเทิง เป็นการดับทุกข์ พยายามเข้าไปหาความสุขเพราะเข้าใจว่านั่นคือความสุข ส่วนผู้ค้าก็คิดหาเงินโดยไม่สนใจสิ่งอื่น”

ถามว่า สังคมเราต้องการยาบ้าไหม ได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้บ้าง สุขภาพของสังคมถูกบั่นทอนไปมากเท่าไหร่ กับการที่ต้องเสียคนที่ควรจะเป็นบุคลากรคุณภาพของสังคม เสียทั้งงบประมาณและพลังความคิดในการดูแลคนติดยา ป้องปราม แก้ไขปัญหายาเสพติด ไปจนถึงลงโทษ ผู้ค้าและผู้เสพยา ถ้าคุณเป็นพ่อแม่คุณมีความสุขดีไหม หรือถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่เสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติดเพราะความเหงาหรือต้องการหาทางออกให้กับชีวิตหรือเหตุผลอะไรก็ตาม ยา เสพติดช่วยได้จริงไหม
นี่เป็นเรื่องของสุขภาพ!
 
สุขภาพ? ครอบครัว
...บนทางสายด่วนของการพัฒนา ความสัมพันธ์ของครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ถูกสั่นสะเทือน ไม่ได้สนิทแนบแน่นเหมือนเก่า พ่อไปทาง แม่ไปทาง เพราะต่างคนก็มีภารกิจ อยู่บ้านเดียวกันแต่เหมือนต่างคนต่างอยู่ เด็กๆในหลายครอบครัวไม่ได้รับความรักและความอบอุ่นที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้เข้มแข็ง และหนักกว่านั้นอาจทิ้งเด็กไว้กับโทรทัศน์ เกมคอมพิวเตอร์ และโลกของอินเทอร์เน็ต เด็กๆ จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจากสิ่งที่เขาเห็น

แล้วจะแปลกอะไรถ้าสังคมจะมี ข้อมูลอย่างเรื่องเด็กพันธุ์ใหม่ ที่เก็บ ข้อมูลเด็กในกลุ่มที่มีปัญหาและเที่ยว กลางคืน ซึ่งคิดประมาณ ร้อยละ 20 ของเด็กทั้งหมด แล้วพูดถึงเด็กวัยรุ่นยุคนี้ว่าเป็นเด็กคิดไม่เป็น ขี้เกียจ ขายตัว มั่วเซ็กซ์ ยาเสพติด การพนัน
 
ในงานสัมมนา มีผู้ใหญ่พยายามกะเทาะปัญหานี้ว่าสิ่งที่ทำให้เด็กต้องออกจากบ้านคือความเหงา จึงเริ่มเที่ยว คบเพื่อนและนำไปสู่การมีพฤติกรรม เสี่ยงทางเพศ และด้วยวัยที่มีพลังสังคมบีบให้เขาไม่มีทางเลือกมาก จึงแสดงออกไปในทางที่เป็นปัญหา โดยแนะพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรพยายามทำความเข้าใจเด็ก การสร้างความ รู้สึกมีคุณค่าและความรัก อาจช่วยให้เด็กมีความเข้มแข็งขึ้นและต่อสู้กับปัญหาได้
นี่เป็นเรื่องของสุขภาพ

สุขภาพ? ผู้สูงอายุ

 ...ผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ. 2543 มี 5.8 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มทวีคูณ เท่าตัวเป็น 10.5 ล้านคนในปี พ.ศ. 2549 และร้อยละ 19 ของผู้สูงอายุเหล่านี้มีปัญหาในการดำรงชีวิต
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพผู้สูงอายุในสังคมไทยคงฉายชัด ถ้ามองไปในชนบททั่วทุกภาคของประเทศ จะพบบ้านเก่าๆ ที่เกือบจะร้างผู้คน เพราะคนหนุ่มสาวหนีความอดตายมุ่งไปตายเอาดาบหน้าในเมือง เหลือเพียงคนชราชะเง้อคอยอยู่ข้างหลังกับแผ่นดินที่ว่างเปล่า แห้งแล้ง

เบื้องหลังสิ่งนี้ เราอาจมองเห็นว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมมุ่งพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม ตามทิศทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 40-50 ปีที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งเป็นแผนที่เขียนตามทิศทางที่เดินตามฝรั่ง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แล้วทอดทิ้งสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ทุนทางสังคม สังคมแล้งน้ำใจ อาชีพเกษตรกรถูกทำให้ด้อยคุณค่า ทั้งที่เมืองไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม

ขณะที่ในเมือง คนชราหลายครอบครัวก็มีสภาพไม่ต่างกันนัก สังคมเร่งรีบจนเราไม่มีเวลาพอจะดูแลกัน ลูกหลานขาดการเหลียวแลคนชรา มีช่องว่างระหว่างวัยที่กว้างเกินไปเกิดขึ้น เพราะโลกเคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วจนไม่มีเวลาเหลียวหลัง โลกของคนชราที่ถูกทำให้เห็นว่าเก่าแก่ ล้าสมัยจึงยากจะสื่อสารกับเด็กและหนุ่มสาวในโลกคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้าใจ ถามว่าทิศทางการพัฒนาประเทศของเรานั่นเองที่ก้าวเข้ามาเป็นตัวทำลายวิถีชีวิต ทำลายหลายครอบครัวให้แตกสลาย ใช่หรือไม่ ?
นี่เป็นเรื่องของสุขภาพ
 
สุขภาพ? การศึกษา
...ถ้าสถาบันครอบครัวอ่อนแอ แล้วสถานศึกษาหรือชุมชนจะพอรองรับเด็กได้ไหม เมื่อครูไม่มีความรู้เฉพาะด้านที่สอน และครูส่วนหนึ่งเป็นครูเพราะไม่มีอะไรทำ โรงเรียนสอนแต่เรื่องเก่าๆ ตามตำรา สอนให้ท่องจำ แล้วเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือไปสอบ ไม่ได้สอนวิธีคิด ไม่ได้สอนทักษะหรือความสามารถในการเรียนรู้เพื่อที่เด็กจะสามารถคิดเป็น แก้ปัญหาของตนเองเป็น และสามารถไปเรียนรู้สิ่งใดๆ ก็ได้ที่เขาสนใจ

ระบบการศึกษาที่ต้องแข่งกันท่องจำตามที่ครูสอนแบบนี้เด็กของเราจะมีความสุขไหม และจะทำให้เขาสามารถเติบโตเป็นคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้ไหม เคยมีอาจารย์ ด้านนิเทศศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่า เมื่อไปถามเด็กที่เรียนเก่ง ถึงเก่งที่สุด หลายๆคนมักตอบไม่ได้ว่าตัวเองเรียนไปเพื่ออะไร มีเป้าหมายในการดำรงชีวิตอย่างไร ระบบการศึกษาเรามุ่งสร้างแต่คนที่เรียนเก่งวิชาการ แต่ไม่อาจเชื่อมโยงเพื่อจะเข้าใจชีวิต หรือเปล่า
 
“ระบบโครงสร้างของสังคมกำหนดแยกส่วน แม้แต่การศึกษาก็แยกออกจากชีวิตจริง ต้องเข้าห้องเรียน ต้องสอบเข้า ไข่วคว้าไปได้สูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำงานได้มาก เราสนับสนุนให้คนเก่งเอาเปรียบคนอื่น สอบแข่งขันเอาเป็นเอาตาย ทำให้เกิดทุกขภาวะ ไม่ใช่สุข ทั้งที่การศึกษาคือการเรียนรู้ที่ต้องอยู่ในวิถี ชีวิต อยู่ในชุมชน และเป็นการเผื่อแผ่ ช่วยเหลือ” นายแพทย์อำพลกล่าว
นี่เป็นเรื่องสุขภาพ

สุขภาพ? กระแสโฆษณา
...ลองส่องกระจกย้อนดูพฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง เราบริโภคสินค้าด้วยความจำเป็นทุกครั้งหรือว่าซื้อเพราะกระแสโฆษณา ธุรกิจสินค้าในปัจจุบันพยายามกระตุ้นความอยาก เพื่อเพิ่มการบริโภค
จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่ยอดนิยม สำหรับนักศึกษาที่ขายตัว นอกจากความยากจนแล้ว ยังอยากจะได้อะไร เหมือนคนอื่น เขามีมือถือก็อยากมีบ้าง ส่วนหนึ่งสังคมสร้างค่านิยมที่ผิดๆ โฆษณากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายรับใช้ธุรกิจ การบริโภค

พระไพศาล วิสาโล เคยวิพากษ์ สื่อโฆษณาไว้ว่า “โฆษณาปัจจุบันเป็นตัวแทนของลัทธิบริโภคนิยม ที่เข้ามากระตุ้นต่อมความโลภ โกรธ หลง บอกเราตลอดว่าต้องเสพบริโภคเท่านั้น จึงจะมีความสุข ซึ่งเป็นอันตรายมาก ทำให้ผู้คนพากันมีทัศนคติยึดติดวัตถุ และเห็นว่าวัตถุมีความสำคัญมากกว่าคุณค่าอื่นๆ ของชีวิต โดยไม่สนใจเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม”

สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เราไกลจากความคิดแบบการพออยู่พอกินไปหลายสิบปี จนไม่แน่ใจว่าสิ่งที่พยายามพูดกันให้กลับสู่การพึ่งตนเองและกินอยู่อย่างพอเพียงเป็นแค่กระแสของการพูดหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราเข้าใจสิ่งที่พูดออกมาแค่ไหน และชีวิตประจำวันของเราได้พยายามทำอะไรแบบพอเพียงและพึ่งตนเองบ้าง
 
นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ในฐานะหัวขบวนในการสร้างกรอบกติกาทางสังคมที่จะเอื้อต่อการสร้างสุขภาพที่ดีแบบองค์รวมแสดงทรรศนะ ต่อสื่อมวลชนโดยรวมว่า”ระบบสื่อสารมวลชนในปัจจุบันเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง พยายามทำกำไรให้สูง โดยนำช่องทางการสื่อสารของสังคมทั้งโทรทัศน์ วิทยุ ไปใช้ทำธุรกิจ มีโฆษณาสินค้าเพื่อกระตุ้นการบริโภค มากมาย มีโฆษณาเหล้า เบียร์ หลายครั้งของการค้ากำไรจึงเป็นมุมกลับที่ มาทำร้ายสุขภาพคน ชุมชน สังคมทั้งที่สื่อเป็นกลไกสำคัญของสังคม ที่ควรจะเอื้อข้อมูลข่าวสารเพื่อการ เรียนรู้ของคนเพื่อพัฒนาสุขภาวะของ ครอบครัว ชุมชน และสังคม”
นี่ก็เป็นเรื่องสุขภาพ
 
สุขภาพ? มลภาวะ
...นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ผุดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว นอกจากคำของความเจริญ ทางอุตสาหกรรมที่ได้ยินกันแล้ว คำว่า “มลภาวะ” ยังเป็นผลกระทบที่ตามมาด้วยเสียงที่ดังกว่า จากครูและนักเรียนจากโรงเรียนพนัสนิคมพันพิทยาคาร “โรงงานสร้างใกล้กับโรงเรียน มีสารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศ สุขภาพแย่ลง ต้องไปหาหมอเป็นประจำทั้งที่เคยแข็งแรง

“เวลาอยู่โรงเรียน ต้องเอาผ้าชุบน้ำปิดจมูก อยู่ในห้องเรียนก็ต้องปิดหน้าต่าง ประตู แล้วอาจต้องเปิดแอร์ บางทีไม่ไหวก็กลับบ้านเลย” นักเรียนบางคนบอกว่าถ้ามีทางเลือกที่ดีกว่าก็คงจะไปอยู่ที่อื่น
ถามว่าคนเราไม่มีสิทธิที่จะมีแม้แต่อากาศที่บริสุทธิ์หายใจหรือ
นี่เป็นเรื่องของสุขภาพ

...กรณีของมาบตาพุดไม่ต่างจาก “ลำธารสายตะกั่ว” ของหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่เคยได้ชื่อว่าหมู่บ้านเลี้ยงควายมาหลายชั่วอายุคนในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งวันนี้ลำน้ำสายเดิมไม่เพียงแต่จะเลี้ยง ควายไม่ได้ แต่คนก็ยังจะอยู่ไม่ได้ด้วย
เพราะแหล่งน้ำกินน้ำใช้เพียงแหล่งเดียวของสัตว์และผู้คนในหมู่บ้าน มีสารตะกั่วถึง 14.989 ตัน นับเป็นความหนาประมาณ 1 ฟุตปูตลอดท้องน้ำที่ยาวนับสิบกิโลเมตร ซึ่งไหลบ่าลงสู่ลำน้ำอย่างเงียบๆ จากเหมืองตะกั่วที่อยู่เหนือขึ้นไปจากลำน้ำ 12 กิโลเมตร เนื่องจากระบบการดักเก็บตะกอนตะกั่วจากการถลุงแร่ไม่ได้มาตรฐาน

หลังจากที่ควายท้องแข็งตาย เพราะอวัยวะภายในแข็งไปทั้งหมด คนสุขภาพอ่อนแอลงอย่างผิดปกติ เด็กที่คลอดมามักจะพิการสมองบวม ประชาชนจึงถูกตรวจพบว่ามีสารตะกั่วในเลือดสูง ตั้งแต่ 23-40 ไมโครกรัม ต่อเลือด 1 เดซิลิตร ทั้งที่เพียงค่าตะกั่วในเลือด “เกินศูนย์” ก็คืออันตรายแล้ว
นี่เป็นผลกระทบจากโครงการต่างๆ ที่ทำขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่คำนึงถึงสุขภาพของคน
 นี่เป็นเรื่องของสุขภาพ
 
สุขภาพ? สิทธิของผู้ป่วย
...ราษฎรไทยเต็มขั้นคนหนึ่งฐานะตามมาตรฐานคนไทยทั่วไป คือ ยากจน อาชีพหาเช้ากินค่ำ วันหนึ่งเขาประสบอุบัติเหตุอย่างสาหัสจากรถยนต์ เพราะคนขับรถกินเหล้าเมาแล้วขับรถชน เคราะห์ดีที่ถูกนำตัว ส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ๆ แถวนั้น โรงพยาบาลไม่ได้ปฏิเสธการรักษาอย่างสิ้นเชิง แต่ช่วยแบบขอไปที แค่ทำแผลเบื้องต้นไม่มีการผ่าตัด แค่นั้นก็หลายพัน

เพราะเป็นคนเจ็บที่ไม่มีหลัก ประกันสุขภาพใดๆ มีเพียงเงินเดือนจากการเป็นลูกจ้างรายวัน โรงพยาบาล ปฏิเสธที่จะรักษาต่อเพราะคนเจ็บไม่มีเงิน นอนรอหลายชั่วโมงแล้วญาติจึงพาออกไปที่อื่น “ใจผมตอนมาถึงโรงพยาบาลก็คิดว่าคงปลอดภัยแล้วคงจะรักษาให้หายเป็นปกติเร็วๆ คืออุ่นใจ ก็ไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนี้”

นี่เป็นเรื่องสมมุติที่อาจเกิดกับใครก็ได้ โดยเฉพาะกับคนจน ในสังคมที่ระบบบริการด้านสุขภาพมีปัญหา ไม่มีระบบเชื่อมโยงทำงานรับผิดชอบสุขภาพประชาชนร่วมกันมีคุณภาพมาตรฐานที่แตกต่างกัน ขาดจริยธรรม เลือกปฏิบัติ หลายที่กลายเป็นธุรกิจค้ากำไรสร้างความทุกข์ ซ้ำเติมประชาชน และคนไทยอีกเกือบ 20 ล้านคนยังขาดหลักประกันสุขภาพ เจ็บป่วยเพียงครั้งเดียวต้องเป็น หนี้สินหรือถึงขนาดหมดตัว

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องสุขภาพกล่าวว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องเป็นเรื่องสิทธิ ไม่ใช่สิทธิที่ได้มาฟรี แต่เป็นสิทธิที่มีหน้าที่ สิทธิคือ เมื่อผู้ป่วยเข้าไปใช้บริการ ต้องเข้าไปอย่างมีศักดิ์ศรี คนรวย คนจน ต้องมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เท่ากัน ไม่ใช่คนมีเงินได้ก่อน แล้วคนไม่มีเงินให้ต้องรอ แบบนี้ไม่มีศักดิ์ศรี แต่เป็นการขอความช่วยเหลือหรือสงเคราะห์กัน ไม่ใช่การใช้สิทธิ”
นี่เป็นเรื่องสุขภาพ

สุขภาพฯ สิทธิของการบริโภค
...ถ้าคุณไปซื้อผักที่ตลาดวันนี้อาจเจอผักหลายชนิดที่มีสารเคมีจากยาฆ่าแมลงตกค้าง ในเนื้อหมูอาหารประจำบ้านจะมีสารเร่งเนื้อแดง ในอาหารทะเลที่หลายคนชื่นชอบก็จะพบฟอร์มาลินหรือสารบอแรกซ์ แต่ถ้าเป็นอาหารจำพวกไส้กรอก หมูแฮม เบคอน แหนม หมูยอ กุนเชียง ก็มักจะมีดินประสิวรวมอยู่ด้วย สารแปลกปลอมทั้งหมด ที่ว่าเป็นสารที่จะสะสมและทำให้อาจเป็นมะเร็งได้

แต่ถ้าชอบกินไก่จะมีตัวเลือกที่มากกว่า เพราะในไก่จะมีทั้งยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฮอร์โมนเพศ เช่น มีประจำเดือนเร็วขึ้น และถ้ารู้สึกว่าท้องเสียบ่อยๆอาจเป็นเพราะโซดาไฟในน้ำแข็งป่นที่พบได้ตามร้านอาหารทั่วไป และคงจะมีอะไรอย่างอื่นๆ อีกมากมาย

ขณะที่อาหารฟาสต์ฟูด อย่างแมคโดนัลล์ พิซซ่าฮัท เคเอฟซี ที่พยายามทำให้เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่นั้น ก็เต็มไปด้วยสารอาหารโปรตีนและไขมันในปริมาณที่สูงเกิน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก และมะเร็งที่สมอง แต่ถ้ากินแฮมเบอร์เกอร์ขนาด 150 กรัม ก็จะมีโซเดียมสูงถึง 850 มิลลิกรัมทั้งที่ร่างกายควรรับเพียงวันละ 300 มิลลิกรัมเท่านั้น อย่างนี้ไตก็ต้องทำงานหนัก แล้วมีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารได้อีก
นี่เป็นเรื่องสุขภาพ

สุขภาพ? ซ่อมสุขภาพ
ที่ผ่านมาเราคิดถึงเรื่องสุขภาพโดยแยกออกจากวิถีชีวิต มักมองสุขภาพกันแค่เรื่องการเจ็บป่วย แล้วก็ไปรักษาที่โรงพยาบาล สุขภาพถูกโยนเป็นเรื่องของหมอ พยาบาล ยา และเทคโนโลยีในการรักษาโรค ซึ่งตรงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องสุขภาพในด้านของระบบบริการด้านการรักษาพยาบาล เป็นเพียงเรื่องการซ่อมสุขภาพที่เสีย

ในแต่ละปีเราทุ่มงบเพื่อการซ่อม สุขภาพเสีย รวมทั้งอุบัติเหตุที่เป็นปลายเหตุไปกว่า 250,000,000,000 บาท (2.5 แสนล้านบาท) มีการขยายตึกอุบัติเหตุ เพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือ ฝึกหมอพยาบาลเพื่อรองรับการบาดเจ็บ การตาย และพิการจากอุบัติเหตุที่สูงมาก แต่สามารถลดความพิการและความตายได้น้อย
ขณะที่คนยังเป็นเอดส์มากขึ้นทุกวัน คนตายเพราะโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มขึ้น คนป่วยด้วยโรคจิตประสาทปีละ 2-3 ล้านคน ถึงขั้นฆ่าตัวตายปีละกว่า 5,000 คน การตายจากอุบัติเหตุสูงปีละกว่า 3 หมื่นคน ไม่นับรวมคนที่ต้องพิการ และบาดเจ็บอีกปีละเป็นแสน

มีคนมากมายที่เจ็บป่วยและตายแบบโดยไม่จำเป็น จากโรคและปัญหาที่ป้องกันได้ เป็นปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของคนและจากระบบ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพตั้งแต่นอกโรงพยาบาล ที่น่าสนใจก็คือมีหมอบางคนเชื่อว่า ความเครียด กำลังกลายเป็นสาเหตุสำคัญของความเจ็บ ป่วยในคนยุคปัจจุบัน

ความเข้าใจต่อสุขภาพแบบไม่เข้าใจอย่างที่เป็นอยู่ ยังทำให้สินค้าและบริการสุขภาพแขนงต่างๆ กำลังกลายเป็นธุรกิจเฟื่องฟู เพราะขณะนี้มีมูลค่าตลาดรวมอาหารเสริมสุขภาพ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 70 นำเข้าจากต่างประเทศ

ทั้งที่สังคมพยายามส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคโดยไม่จำเป็น และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล โดยเน้นให้สุขภาพเป็นเรื่องของการลงมือปฏิบัติเองมากกว่า รอการพึ่งพิงปัจจัยภายนอก
“สุขภาพถูกมองเป็นเรื่องการค้า มีผู้ขายกับผู้ซื้อ ตามโครงสร้างวิธีคิด ที่มีเศรษฐกิจเป็นหลัก มีเงินเป็นหลัก ที่เน้นการลงทุนแล้วได้กำไร ทั้งที่เรื่องสุขภาพจริงๆ ไม่ใช่มิตินั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาค้ากำไรกันได้เลย แต่ควรเป็นเรื่องของมนุษยธรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ที่คนรู้มากจะต้องช่วยคนที่มีโอกาสน้อยกว่า และร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน” ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพกล่าว
การค้าเพื่อหากำไรจึงไม่ใช่เรื่องสุขภาพ

สุขภาพเป็นเรื่องของเรา
นายแพทย์อำพล ฝากถึงประชาชนทุกคนว่าสุขภาพไม่ใช่เรื่องของคนอื่น “เป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของเราทุกคน เรามีสิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าสิ่งแวดล้อมเสีย ไม่สะอาด ไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีระบบที่ดีให้เรา สุขภาวะรอบข้างทำร้ายเรา ไม่มีภาวะที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ เป็นสิทธิที่เราถูกละเมิด จึงเป็นหน้าที่ที่เราต้องเรียกร้อง ต้องทำ

“ขณะเดียวกันเราก็มีหน้าที่ สร้างสุขภาวะของตัวเอง ครอบครัว ชุมชน อย่าไปรอรัฐ หรือคนอื่น เพราะสุขภาพสร้างได้แต่ซื้อไม่ได้ เราจ้างให้ใครออกกำลังกายแทนไม่ได้ ถ้าเราไม่สร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวเราก็สอนลูกให้รู้จักรักคนอื่นไม่ได้ ถ้าเราอยากให้สังคมเราสงบสุข เราก็ต้องลงมือทำ เมื่อระบบสุขภาพโยงใยทั้งสังคม เป็นเรื่องของตัวเราเอง และของสังคมที่เราอยู่ เป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ของเราทุกคน”

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต มองสุขภาพไว้ในมุมของศาสนาว่า “ศักยภาพสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์คือการที่จะมีชีวิตที่ไม่มีทุกข์”

...ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะต้องมองสุขภาพใหม่ และมีส่วนร่วมสร้างสุขภาพสังคมให้ดีขึ้น

ปฏิรูประบบสุขภาพเริ่มแล้ว
รัฐต้องสร้างระบบใหม่

ขณะนี้สังคมไทยเริ่มมีการปฏิรูประบบสุขภาพขึ้นแล้วโดยมีสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส.) ที่เป็นตัวกลางในการผลักดันให้เกิดการเริ่มต้นปฏิรูปในระดับโครงสร้างของสังคม
“การปฏิรูปที่เราจะผลักดันเป็นลักษณะที่เรากำหนดให้ รัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น มาช่วยกันจัดระบบต่างๆ เพื่อเอื้อให้ประชาชนสร้างสุขภาพ สนับสนุนให้มีการรวมตัว มีกิจกรรมกลุ่ม เพื่อจะมีพลังในการช่วยสร้างสุขภาพ ซึ่งหลายเรื่องประชาชนโดยปัจเจกทำไม่ได้
 
“โดยมีการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือ คือ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ กำหนดตั้งแต่ปรัชญา หลักการ เหตุผลของการปฏิรูป กลไก ที่จะกลับไปช่วยหนุนให้เกิดการเคลื่อนไหว นำไปสู่การปรับความคิดและพฤติกรรม ดูแลสุขภาพในระยะยาวต่อไป”

สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพที่ถูกตั้งมาจะมีอายุเพียง แค่ 3 ปีเท่านั้น โดยจะยุติภารกิจในวันที่ 8 สิงหาคม 2546 แต่ 3 ปีนี้จะได้ผลผลิตที่เป็นรูปธรรมคือ กฎหมายฉบับหนึ่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฉุกคิดและเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่ว่า 3 ปีแล้วจะสามารถปฏิรูปสำเร็จโดยอัตโนมัติ เป็นแค่จุดเริ่มต้น

ณ วันนี้ พ.ร.บ. สุขภาพได้ถูกสร้างเป็นร่างกรอบกฎหมายขึ้นมาแล้ว นำไประดมความคิดเห็นจากองค์กร สมาคม ภาคี และสมาคมต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาแล้ว และจะมาพบกันในงานตลาดนัดปฏิรูประบบสุขภาพ (ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1-5 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี) เพื่อรวมความคิดความเห็น นำไปประมวลสู่การยกร่างกฎหมายปลายปีนี้ แล้วจึงกลับไปให้สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ ในเวทีของการประชาพิจารณ์อีกครั้ง
 
คนต้องคิดใหม่และรวมกลุ่ม
การจะปฏิรูปได้สำเร็จนอกจากโครงสร้างใหญ่ของสังคมต้องเปลี่ยนแล้ว คนก็ต้องเริ่มฉุกคิด และรวมพลัง ประชาชนนั่นเองจะเป็นพระเอกของการปฏิรูป ดังที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก ให้ความเห็นไว้ว่า “กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูป คือบุคคลชุดเดียวที่ก่อปัญหาที่ทำให้เราต้องปฏิรูป” โดยต้องปฏิรูปที่ความคิดและพฤติกรรมของตัวเอง ครอบครัว และชุมชน
 
นายแพทย์อำพลกล่าวถึงการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่สังคมใหม่ ที่มีสุขภาวะอย่างที่คาดหวัง “เรามองว่ามนุษย์มีความฉลาด มีสติปัญญา และคนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใครในเรื่องความคิด ความสามารถในการเรียนรู้ เราสามารถเริ่มคิดได้ว่าเราจะมีสังคมใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร เชื่อว่าคนไทยจะคิดนำไปสู่สิ่งดีๆ ได้

“ตอนนี้มีหลายชุมชน หลายกลุ่ม ทั่วประเทศไทย ที่เริ่มมองเห็นปัญหา จนเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มประชาคม มีกิจกรรม มานั่งคุยนั่งคิด มีจิตใจสาธารณะ และไม่สยบยอมต่อปัญหา แต่ช่วยกันคิดหาทางออกร่วมกัน ไม่พ่ายต่อระบบทุนที่ให้เราแยกเป็นเสี่ยง แต่เข้ามารวมกลุ่ม

“เช่นชุมชนที่หมู่บ้านสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการรวมตัวเป็นชมรมรวมพลังผู้บริโภค สมาชิกเป็นร้อยคนเห็นว่าอาหารที่กินมีพิษภัยมาก ทั้งในพืชผัก เนื้อ เครื่องปรุงรส จึงติดต่อขอชุดตรวจอาหารจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อไปตรวจอาหารจากตลาดในชุมชนที่อาจปนเปื้อนสารพิษโดยไม่ต้องรอคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นระบบใหญ่ แต่รวมกลุ่มตรวจกันเอง

“เมื่อตรวจรู้แล้วจึงมีการบอกกันต่อๆ ว่าของที่ไหนมีสารพิษ ชาวบ้านก็็ไม่ซื้อไม่ใช้ เพราะต่างก็กลัวอันตราย และยังมีการรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในชุมชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการบริโภค แล้วประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
“เดิมถ้ามีปัญหาเล็กๆ น้อยเขาจะปล่อยปละละเลย แต่เมื่อมีการรวมตัวเขาจะมาร้องเรียนให้เราติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การรวมตัวทำให้เรามีพลังมากขึ้น และกลุ่มของเราจะไม่โดดเดี่ยว ยังมีชุมชน มีเพื่อน มีสถาบันต่างๆ มีนักกฎหมาย ที่จะคอยช่วยเหลือกัน” แกนนำของชมรมบอกเล่า
 
นี่จึงเป็นหนึ่งกิจกรรมเล็กๆ ที่เห็นเป็นรูปธรรมว่าประชาชนสามารถทำได้ และทำแล้ว ยังมีพลังของประชาชนอีกมากมายที่เกิดขึ้นแล้วเต็มแผ่นดิน

สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส.) และองค์กรต่างๆ ที่ทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะของสังคม ร่วมผนึกกำลัง จัดงานตลาดนัดปฏิรูประบบสุขภาพขึ้น เพื่อขยายความคิดการปฏิรูประบบสุขภาพในภาคประชาชนที่ได้ทำขึ้น มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ทั้งความรู้ และพักผ่อน แบบ Adutainment เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขของตนเอง และสร้างสุขภาวะของสังคมร่วมกัน

อีกส่วนหนึ่งยังต้องการระดมความคิดจากประชาชนทุกคนที่ร่วมอยู่ในสังคมเดียวกันนี้ เพื่อไปสร้างกรอบความคิดการปฏิรูประบบสุขภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จากที่มีการร่างกรอบความคิดชั้นแรกขึ้นมาแล้ว โดยในงานตลาดนัดปฏิรูประบบสุขภาพครั้งนี้จะมีตัวแทนจากกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและภาคประชาชนทั่วประเทศมาระดมความคิดร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตรที่จะร่วมเดินทางสู่การสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน

ใครที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ และต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ หรือต้องการแบ่งปันความคิดเห็นต่อทิศทางสุขภาวะของสังคมไทย ติดต่อได้ที่ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส.) อาคารด้านทิศเหนือสวนสุขภาพ ภายในกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 0-2590-2305-10 หรือ ตู้ ปณ. 9 ปณฝ. ตลาดขวัญ 11002

ข้อมูลสื่อ

269-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 269
กันยายน 2544
กองบรรณาธิการ