• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เหล้าไวน์ไม่ใช่เครื่องดื่มสุขภาพ

เหล้าไวน์ไม่ใช่เครื่องดื่มสุขภาพ

ในช่วง ๒-๓ ปีนี้ เกิดวิกฤติการณ์การผลิตเหล้าองุ่นในแถบประเทศยุโรป โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรป เนื่องจากผลผลิตองุ่นที่ใช้สำหรับทำเหล้าไวน์มีมากเกินความต้องการของผู้บริโภคทั่วไป และเมื่อข้อเสนอมาตรการจำกัดพื้นที่ปลูกองุ่นในแต่ละประเทศไม่เป็นที่ยอมรับกัน จึงเริ่มเกิดนโยบายส่งเสริมให้มีการดื่มเหล้าไวน์มากขึ้น โดยพยายามขยายตลาดการขายมายังประเทศทางแถบเอเชีย ซึ่งมีกำลังซื้อสูงโดยชักจูงให้มาดื่มไวน์มากขึ้น ขบวนการหนึ่งที่ใช้โฆษณา คือประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ว่าเหล้าองุ่นหรือเหล้าไวน์นั้นมีแอลกอฮอล์ต่ำ และมีสารบางตัวสามารถป้องกันโรคหัวใจได้

คนไทยมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอยู่แล้ว เมื่อมีเหตุผลที่อ้างได้อย่างเต็มปากว่าเหล้าไวน์สามารถส่งเสริมสุขภาพได้ การดื่มเหล้าไวน์จึงเป็นแฟชั่นในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป นัยว่าต่อไปนี้ผู้ที่ดื่มเหล้าไวน์แล้วจะไม่เป็นโรคหัวใจอีกต่อไป ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

การดื่มเหล้าไวน์ มีข้อเสียเช่นเดียวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั่วๆไป และอาจมีข้อเสียมากขึ้นเมื่อคำนึงถึงทางด้านเศรษฐกิจ และพฤติกรรมที่หลงผิดว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ เริ่มมีการระบาดในวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะในหมู่นักศึกษา ซึ่งกำลังจะเป็นผู้พัฒนาประเทศชาติของเราในอนาคต

ลองมาดูข้อเสียของการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อผู้ดื่มเอง เช่น ไปทำงานสายหรือไม่ไปทำงานเลยในวันรุ่งขึ้น ขณะเมาจำไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน กระทำอะไรลงไป มีพฤติกรรมทางเพศเกิดขึ้นโดยควบคุมตนเองไม่ได้ เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือหกล้มชนถูกสิ่งกีดขวาง ไม่ยอมใช้มาตรการป้องกันกามโรค โรคเอดส์ ขณะมีเพศสัมพันธ์ ที่กล่าวมานี้ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

การดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวถูกทำลาย เสียการทรงตัว หกล้มได้ง่าย เดินสะเปะสะปะ มือสั่นจนทำงานไม่ได้ และยังหายารักษาไม่ได้ในปัจจุบัน

ฤทธิ์แอลกอฮอล์ถึงแม้จะสามารถขยายหลอดเลือดได้ชั่วคราว แต่มีผลในช่วงเวลาสั้นๆ จึงไม่อาจป้องกันโรคหัวใจได้

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่างหากทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น ลดการอุดตันของหลอดเลือดที่หัวใจ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปสู่หัวใจดีขึ้น จึงป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้แน่นอน
 ลองพิจารณาในแง่เศรษฐกิจ เนื่องจากการปลูกองุ่นในบ้านเรายังไม่แพร่หลายและองุ่นสำหรับทำเหล้า

ไวน์นั้น แตกต่างกับองุ่นที่เรากินเป็นผลไม้ เหล้าไวน์ที่ดื่มกันทั้งหมดจึงส่งเข้ามาจากประเทศทางแถบยุโรป หรือออสเตรเลีย ราคาตั้งแต่ขวดละ ๒oo บาท ถึง ๑oo,ooo บาท ราคาเฉลี่ยขวดละ ๓,ooo บาท และเหล้าไวน์เมื่อเปิดขวดแล้วต้องดื่มให้หมด เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเลย

การดื่มเหล้าชนิดใดก็แล้วแต่ อาจดื่มเป็นครั้งคราวในปริมาณน้อย เมื่อไปงานสังสรรค์ถ้าไม่ต้องขับรถแต่ไม่ใช่ทุกๆวันๆละ ๒-๓ แก้ว อย่างที่มีผู้เสนอไว้ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์จะถูกสะสมไว้เพิ่มขึ้นจนเกิดอาการเมาได้

พึงสังวรว่าการที่ชาวยุโรปนิยมดื่มเหล้าไวน์กัน เนื่องจากภูมิอากาศในแถบนั้นหนาวเย็น เหล้าทำให้ร่างกายอบอุ่นได้ และอาหารทางแถบยุโรปแตกต่างกับอาหารทางบ้านเราโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการดื่มเหล้าไวน์เวลากินอาหาร จะทำให้กระเพาะดูดซึมแอลกอฮอล์เร็วกว่าปกติ ทำให้ออกฤทธิ์เร็วขึ้น เมาง่าย ไม่ควรดื่มเหล้าในครอบครัว เพราะนอกจากจะเป็นภาระของผู้ใกล้ชิดแล้วยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อลูกหลาน ทำให้มีโอกาสติดเหล้าในอนาคตได้

การเลี่ยงจากการดื่มสุรา หรือเหล้าชนิดอื่นๆ มาเป็นการดื่มเหล้าไวน์ย่อมเป็นการหลอดลวงตัวเอง และไม่ปฏิบัติตามศีล ๕ ในทำนองเดียวกัน
 

ข้อมูลสื่อ

209-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 209
กันยายน 2539
อื่น ๆ
รศ.ประโยชน์ บุญสินสุข