• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาบำรุงเซ็กซ์ : ส่วนหนึ่งของยาบำรุงหยาง

ที่กล่าวว่ายาบำรุงเซ็กซ์เป็นส่วนหนึ่งของยาบำรุงหยาง เนื่องจากยาบำรุงหยางมักเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ระบบความร้อนของร่างกาย ยาส่วนใหญ่จึงนำมาสร้างสมดุลของร่างกาย แล้วจึงส่งผลถึงการ รักษาภาวะเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางเพศ เช่น การหลั่งเร็ว อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก

ในฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงสมุนไพร บำรุงหยางที่รู้จักและใช้กันบ่อยๆ ได้แก่ ตู้จ้งหรือเต่าต๋ง ปู่กู่จื่อ โย่วฉงหยง ลู่โหยงหรือเขากวางอ่อน

ตู้จ้งหรือเต่าต๋ง
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนเปลือก ของลำต้นมาทำเป็นยา โดยลอกเปลือกของลำต้นระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน นำมาขูดเอาผิวที่หยาบออก แล้วตากแดดให้แห้ง หั่นเป็นชิ้นๆ นำมาใช้เป็นยาได้
ตู้จ้งมีคุณสมบัติอุ่น รสหวานวิ่งเส้นตับและไต

สำหรับสรรพคุณของตู้จ้งคือ บำรุงไต บำรุงตับ เสริมเอ็น เสริมกระดูก ป้องกันการแท้งลูก ตามตำราแพทย์แผนจีนจะนำตู้จ้งมาใช้ในการ
1. รักษาภาวะไตและม้ามพร่อง ปวดเมื่อยเข่าและเอว เอ็นและกระดูกไม่แข็งแรง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ปัสสาวะบ่อย
2. รักษาประจำเดือนมาผิดปกติ ในสตรี หรือสตรีที่มีประวัติการแท้งบ่อยๆ หรือสตรีที่มีเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ จากภาวะมีการตั้งครรภ์

นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าตู้จ้งมีฤทธิ์
1. ลดความดันเลือดสูง
2. กระตุ้นเม็ดเลือดขาวในกระบวนการกลืนเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
3. มีฤทธิ์สวนประสาท ขับปัสสาวะ

ปู่กู่จื่อ
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนผลที่สุกแล้วนำมาตากแห้งทำเป็นยา
ปู่กู่จื่อมีคุณสมบัติอุ่น รสเผ็ดขม วิ่งเส้นลมปราณไตและม้าม

สำหรับสรรพคุณของปู่กู่จื่อคือ บำรุงไต เสริมหยาง และช่วยไม่ให้ปัสสาวะบ่อย บำรุงม้าม
ตำราแพทย์แผนจีนจะนำปู่กู่จื่อ มาใช้รักษาตามอาการต่างๆ เหล่านี้
1. ไตหยางพร่อง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก เอวและเข่าปวด เมื่อยและเย็น ปัสสาวะบ่อยหรือปัสสาวะรดที่นอน
2. หยางของไตและม้ามพร่อง และอาการท้องเสียตอนหัวรุ่ง (ตี 4 ตี 5)
3. เอามาทำเป็นทิงเจอร์ สามารถรักษาโรคด่างขาว ผมร่วงเป็นหย่อมๆ

โย่วฉงหยง
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนเนื้อของลำต้นสด เอามาตากแดดให้แห้ง หั่นเป็นแผ่นทำเป็นยา
โย่วฉงหยงมีคุณสมบัติอุ่น รสหวาน เค็ม วิ่งเส้นลมปราณไต ลำไส้ใหญ่

สำหรับสรรพคุณของโย่วฉงหยง คือ บำรุงไต เสริมหยาง บำรุงสารจิง และเลือด หล่อลื่นลำไส้ทำให้ระบายอุจจาระ
ตามตำราแพทย์แผนจีนจะนำโย่วฉงหยงมาใช้รักษาโรคและอาการต่างๆ เหล่านี้
1. ไตหยางพร่อง สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ปวดเมื่อยเอวและเข่าในสตรี ตั้งครรภ์ยาก (มีบุตรยาก)
2. คนสูงอายุที่มีอาการท้องผูกเนื่องจากร่างกายอ่อนแอ ไตพร่อง ทำให้เกิดอาการท้องผูก ลำไส้ใหญ่ขาดการหล่อเลี้ยง นอกจากนี้ยังใช้กับคนที่อ่อนแอหลังป่วยไข้ สตรีหลังคลอดที่มีอาการท้องผูก
 
นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าโย่วฉงหยง ยังมีฤทธิ์ลดความดันและกระตุ้นการ ผลิตน้ำลาย

ลู่โหยงหรือเขากวางอ่อน
เป็นสมุนไพรจีนที่ใช้ส่วนของเขากวางอ่อนมาทำเป็นยา (ที่ยังไม่มีการเกาะตัวของแคลเซียมจนแข็ง) มักจะเลื่อยเอาส่วนเขากวางอ่อนในช่วง ฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง ผ่านกระบวนการทำให้แห้ง หั่นเป็นแผ่นหรือบดเป็นผง
ลู่โหยงมีคุณสมบัติอุ่น รสหวาน วิ่งเส้นตับ ไต
 
สำหรับสรรพคุณของลู่โหยงคือบำรุงไต บำรุงหยาง บำรุงสารจิงและเลือด เสริมความแข็งแรงของเอ็นและกระดูก ตามตำราแพทย์แผนจีนจะนำลู่โหยงมาใช้รักษาโรคและอาการต่างๆ ดังนี้
1. ไตหยางพร่อง สารจิงและเลือดน้อย มีอาการคือ อาการแขนขาหนาว อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ฝันเปียก มดลูกเย็นทำให้ตั้งครรภ์ยากปัสสาวะบ่อย ปวดเอวและเข่าหรือมีอาการอ่อนแรง เวียนศีรษะ เสียงดังในหู ใบหน้าไม่มีชีวิตชีวา
2. หยางของตับและไตพร่อง มีอาการคือ กระดูกเอ็นไม่แข็งแรง เด็กที่เจริญเติบโตช้า เด็กที่เดินได้ช้า กว่าปกติ ฟันขึ้นช้าหรือกระหม่อมปิดช้า
3. สตรีที่พร่องเย็น บริเวณมดลูก ท้องน้อย มีอาการคือ ตกขาวมาก มีประจำเดือนมากผิดปกติ ปวด ท้องประจำเดือน
4. ใช้รักษาฝีหนองที่อยู่ส่วนลึกเรื้อรัง ไม่ลุกลามมาที่ผิว เพราะเขากวางอ่อนเป็นยาร้อน มีคุณสมบัติให้ ความร้อน จึงกระตุ้นให้ฝีมาที่ผิว ทำให้รักษาง่ายและหายเร็ว

นอกจากนั้น ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าลู่โหยง
1. มีฤทธิ์บำรุงร่างกาย กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เร่งการหายของแผล กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด เพิ่มความเข้มข้นเลือด
2. เพิ่มการบีบตัวของหัวใจ ชีพจรการเต้นของหัวใจ และปริมาณเลือดออกจากหัวใจ
3. กระตุ้นการทำงานของต่อมเพศ

จะเห็นได้ว่ายาบำรุงหยางเป็นยาที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงไตหยางเป็นหลัก แต่มีสรรพคุณบำรุงหยางของตับหรือหยางม้ามบ้าง ตามแต่คุณสมบัติเฉพาะของสมุนไพร นอกจากนั้นบางตัวจะมีฤทธิ์ช่วยระบายอุจจาระได้ด้วย

ในอาการปวดเมื่อยเอวและเข่า รวมทั้งภาวะแขน-ขาเย็น โดยเฉพาะเมื่อกระทบเย็นก็สามารถใช้ยาบำรุง ไตหยางมารักษาได้

ข้อควรระวัง
ยาบำรุงหยางเป็นยาที่ร้อนและแห้ง ทำลายสารยิน และเพิ่มไฟในร่างกาย คนที่ยินพร่องแล้ว เกิดไฟต้องระมัดระวังการใช้ ไม่ควรซื้อกินเอง เพราะจะเป็นอันตรายได้บางรายจำเป็นต้องใช้ยาอื่นเสริม หรือ ปรับให้สอดคล้องกับสภาพ จึงควรปรึกษาผู้รู้ก่อนใช้ยากลุ่มนี้

ข้อมูลสื่อ

269-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 269
กันยายน 2544
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล