• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ทำฟัน...เสี่ยงเอดส์แค่ไหน

ทำฟัน...เสี่ยงเอดส์แค่ไหน


“พ่อ ทำไมไม่ไปทำฟันสักทีล่ะ” แม่บ้านถามด้วยความเป็นห่วง

“ยังหรอก อีกสักพักหนึ่ง ไม่ค่อยว่าง” พ่อบ้านตอบ ลากเสียงยาวๆ ตอนท้าย

“เอ...แต่นี่หมอเขามีจดหมายมาตั้งเดือนและนะ” แม่บ้านย้ำเสียงหนักๆ

“ก็รู้แล้ว...แต่ว่า...” พ่อบ้านตอบแบบไม่ค่อยเต็มเสียงนัก

“แต่อะไรหรือคะ...ไหนว่าหุ้นตกงานน้อยลงแล้วไม่ใช่หรือคะ” แม่บ้านทำหน้าสงสัย

พ่อบ้านเงียบไปสักพักหนึ่ง แล้วแอบชำเลืองมองแม่บ้านและรอบบริเวณห้อง ซึ่งบังเอิญไม่มีลูกๆอยู่ด้วย จึงค่อยปล่อยเสียงเบาๆแทบจะกระซิบออกไปว่า “คือ...มัน...กลัวน่ะ”

“กลัว...พ่อกลัวอะไรหรือ” แม่บ้านหันมาจ้องด้วยความฉงนในตัวสามีผู้กล้าหาญอยู่เสมอ

“ก็...เอดส์ไง!” พ่อบ้านตอบเน้นคำสุดท้าย

“เออ จริงสินะ...แต่ว่ามันติดกันได้จริงหรือ...ติดได้ยังไงคะ”

ลองหันมาทางนี้สิครับ หมอจะเฉลยให้ฟัง...

การติดเชื้อเอดส์จากการทำฟันเป็นความเชื่อที่เปรียบประดุจปีศาจร้ายที่คอยหลอกหลอนจิตใจของผู้คนจำนวนมาก ให้หลีกหนีจากการไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในช่องปาก ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยปรากฏรายงานแม้สักชิ้นเดียว เกี่ยวกับการติดเชื้อเอดส์จากการทำฟันที่สามารถพิสูจน์ได้โดยการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทว่าปีศาจแห่งความกลัวก็ยังคงมีอิทธิพลต่อจิตใจผู้คนทั่วไปอยู่มากเพราะอะไร

ในยุคสารสนเทศที่ทันสมัยสุดยอดนี้ โลกทั้งใบอันมหึมาได้ถูกย่อจนเล็กแค่ฝ่ามือด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นรุ่นแล้วรุ่นเล่าแทบทุกวัน ทำให้ “ข่าวสาร” ได้รับการกระจายออกไปอย่างรวดเร็วและก่อผลสะเทือนกว้างขวางลึกซึ้งอย่างยากแก่การควบคุม

ข่าวร้ายๆ โดยเฉพาะประเภท “การติดเชื้อเอดส์” และกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ความหลงเชื่อในข่าวนั้นก็แปรเป็นอุปาทานฝังแน่นอยู่ในจิตใจของชาวโลกอย่างยากแก่การชำระถอดถอน ดังเช่น ข่าวการติดเชื้อเอดส์จากการทำฟัน (ที่จริงคือ การอุดฟันอย่างง่ายๆ เพียงครั้งเดียว) ของมิสเบอกาลิสเป็นคนไข้ของทันตแพทย์อเมริกันผู้หนึ่งซึ่งติดเชื้อเอดส์และได้เสียชีวิตลง 3 เดือนก่อนการพบเชื้อเอดส์ในเลือดของมิสเบอกาลิส

ข่าวๆ นี้ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั้ง 5 ทวีป ซึ่งข้อเท็จจริงที่แสดงออกมาในภายหลังเป็นแต่เพียงว่าจากการสอบสวนทางวาจาและเอกสารที่เกี่ยวข้องบ่งชี้ว่า คนไข้น่าจะติดเชื้อเอดส์จากการทำฟัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นตราบมาจนทุกวันนี้ก็หาได้มีหลักฐานหรือข่าวคราวใดๆ ในทำนองนี้บังเกิดขึ้นอีกแม้สักกรณีเดียว ทั้งๆ ที่มีการทำฟันอยู่ทุกวันทั่วโลกโดยทันตแพทย์ประมาณ 2 ล้านคน

เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้วางใจยิ่งขึ้นในความปลอดภัยเมื่อไปรับการทำฟัน ขอให้ลองพิจารณากรรมวิธีโดยย่อในการป้องกันการติดเชื้อในคลินิกทันตกรรม แล้วลองเปรียบเทียบกับกรรมวิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในร้านอาหารทั่วไปที่ท่านไม่เคยคลางแคลงใจเลย

เครื่องมือที่ใช้ในการทำฟัน อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะการใช้งาน คือ

1. ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ หลอดพลาสติกดูดน้ำลาย เข็มฉีดยา หลอดยาชา ซึ่งเป็นวัสดุที่มีการสัมผัสปนเปื้อนน้ำลาย เลือด และหนองได้ง่าย อีกทั้งมีราคาถูก ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาประหยัดตรงจุดนี้

2. ประเภทใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ได้แก่ กระบอกบรรจุหลอดยาชาซึ่งทำด้วยโลหะไร้สนิม เครื่องมืออุดฟัน ถอนฟันและผ่าตัด ซึ่งทำจากโลหะไร้สนิม สามารถนำไปทำความสะอาดด้วยความร้อนสูง หรือแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นเวลานานๆ ได้

มีเพียงเครื่องมืออยู่ชิ้นหนึ่งที่มักได้รับการระแวงสงสัยอยู่บ้าง นั่นคือ ด้ามกรอฟันที่สามารถพ่นน้ำและลมออกมาได้เวลากรอฟัน เครื่องมือชนิดนี้จะมีช่องว่างเล็กๆตรงส่วนหัวที่ยึดเข็มกรอฟันไว้ขณะใช้งาน กับมีท่อส่งน้ำและลมซ่อนอยู่ภายในตัวด้ามกรอ จึงชวนให้เกิดความวิตกระคนหวาดระแวงเสมอๆ ว่า ช่องว่างที่ว่านี้คงจะเป็นที่กักเก็บเชื้อโรคไว้ได้ไม่มากก็น้อย

ในความเป็นจริงอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้มากในอันดับต้นๆ ของบรรดาเครื่องมือทำฟันทั้งหลาย เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว แต่ก็ไม่เคยปรากฏรายงานว่า มันได้ก่อปัญหาการติดเชื้อขึ้นมาสักรายเดียว
เมื่อศึกษาย้อนไปครั้งที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มีความทนทานต่อการทำลายด้วยความร้อนหรือน้ำยาเคมีสูงยิ่งกว่าเชื้อเอดส์ที่โด่งดัง ชนิดที่เอดส์ยังต้องเรียก “พี่” ด้วยซ้ำไป แต่ก็หาได้พบว่า มีการถ่ายทอดเชื้อไวรัสนี้โดยเจ้าด้ามกรอฟันแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะมาตรการอันรัดกุมในการควบคุมการติดเชื้อที่ทันตแพทย์ทุกท่านยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านาน จึงมั่นใจในความปลอดภัยได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นหากเรามัวแต่หวาดระแวงต่อเจ้าปีศาจร้ายตนนี้แล้ว เราก็คงต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคในช่องปากต่อไป ทั้งๆที่สามารถรักษาให้หายได้

หากมองย้อนกลับมาที่ตัวทันตแพทย์ซึ่งคลุกคลีอยู่กับเลือดและน้ำลายของคนไข้จำนวนมากในแต่ละวัน ยังดูน่าเสี่ยงกว่าอย่างเทียบไม่ได้ เพราะเขาไม่สามารถขอตรวจเลือดคนไข้ทุกคนก่อนให้การรักษา หรือแม้จะทราบว่าคนไข้รายนั้นเป็นเอดส์ เขาก็มิอาจปฏิเสธการทำหน้าที่ได้ แต่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ก็หาได้ตื่นกลัวจนพากันละทิ้งอาชีพไป เพราะเชื่อมั่นในมาตรการควบคุมการติดเชื้อที่ตนยึดถือปฏิบัติอยู่อย่างมีเหตุมีผล

ข้อมูลสื่อ

168-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 168
เมษายน 2536