• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ครอบครัวแหว่งกลาง

          ครอบครัวแหว่งกลาง 
 
          ปูเป้   เด็กชายวัย 4 ขวบวิ่งเล่นอยู่ในลานบ้านกับสุนัขตัวโปรด ขณะที่ตาแม้นและยายศรี นั่งอยู่บนแคร่หน้าบ้าน คุยกับเพื่อนบ้านอยู่ ขณะที่ผมเข้าไปแนนำตัวและทักทาย สองตายกุลีกุจอปัดกวาดแคร่ ขยับที่ทางให้ผมนั่งด้วย
 
          “พ่อกับแม่ปูเป้ ไม่ได้อยู่ด้วย หรือ ลุง “ ผมเอ่ยปากถามคุณตา หลังจากทักทายสารทุกข์สุกดิบ 
          “แม่มันทำงานอยู่กรุงเทพ เอาปูเป้มาให้เลี้ยงตั้งแต่ 4-5 เดือน” คุณตาเล่าให้ฟัง
          “ส่วนพ่อมันเลิกกับแม่ลูกสาวฉัน  ตอนนี้รู้หายหัวไปอยู่ไหน ” ยายศรีช่วยเสริม 
          “เลี้ยงหลานเหนื่อยไหมครับป้า” ผมถามต่อ
          “โอ้ย ก็เหนื่อยอยู่หรอก ดีแต่มันไม่ดื้อเท่าไร นี่แม่มันก็ส่งเงินมาให้บ้าง ไม่ให้บ้าง ฉันฏ้ลำบาก อยู่เหมือนกัน” ยายศรีโอดครวญ
          ครอบครัวแบบตาแม้น ยายศรี และปูเป็ นี้ ทางสังคมศาสตร์เราเรียกว่า ครอบครัวแหว่งกลาง คือ มีแต่ ปู่-ย่า หรือ ตา-ยาย อยู่กับหลาน
          จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2552 พบว่าประเทศไทย มีครัวเรือนแหว่งกลางแบบนี้ ถึง 7% ของครัวเรือนทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคอิสานพบมากถึง 12- 15% และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ 
          หลายคนเหล่านี้ สาเหตุหลักที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อและ หรือแม่นั้น 
          ร้อยละ 49 เนื่องจากพ่อแม่มีภาระการทำงานอยู่คนละจังหวัด
          ร้อยละ 32 พ่อแม่แยกทางกัน
          ร้อยละ 8 พ่อ หรือ แม่ เสียชีวิต 
          จากการศึกาในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงดู โดยปู่ ย่า ตา ยาย จะประสบความเสียเปรียบด้านการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่อาศัยกับพ่อ-แม่  แต่ระดับสุขภาพจะไม่แตกต่างกัน 
          ทุกวันนี้ ยังมีการสำรวจ พบอีกว่าเด็กไทยประมาณ 40 % ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อ – แม่ อยู่ด้วยกัน  เด็กที่อยู่กับแม่เพียงลำพัง (single mom ) มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 15-20 % 
            สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลง ครอบครัวจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบทกำลังเปลี่ยนแปลง ประเภทพ่อไปทาง แม่ไปทาง  ทิ้งลูกไว้กับปู่-ย่า ตา-ยาย  อยู่กับญาติบ้าง หรือผู้อื่นช่วยดูแลก็มี ปู่ย่าตายาย บางรายดูแลเรื่องเหล่านี้ไม่ไหม ปัญหาเหล่านี้ต้องการการจัดการองค์ความรู้ครอบครัวแบบใหม่ ซึ่งไม่มีในนโยบายระดับชาติ
เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับญาติหรือผู้อื่นในต่างจังหวัด ตอนยังเล็กอาจไม่มีปัญหาชัดเจนนัก แต่พอโนขั้นเข้าวัยรุ่น เด็กเหล่านี้จะมีความเสี่ยงสูงในหลายด้านนับตั้งแต่ 
          (1) เด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ
          (2) การเลือกครบเพื่อนที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืน ก่อนวัยอันควร
          (3) การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
          (4) ติดยาเสพติด
          .... ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประเทศไทยจะต้องมีการจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับครอบครัวแบบใหม่ ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวเข้มแข้ง ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ ของเด็กและอำนวยความสะดวกให้พ่อแม่มากขึ้น ส่งเสริมให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ ผู้หญิงที่ทำงานโรงงานก็มีสถานที่รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ ในหน่วยราชการ หรือ สถานที่ใกล้เคียง
ทุกวันนี้ สถาบันครอบครัวเราอ่อนกำลังลง การไม่มีเวลาเหลียวแลเอาใจใส่ลูกการทำให้ลูกขาดรัก ขาดความอบอุ่น กำลังเป็นสถานการณ์วิกฤตของครอบครัวไทย เด็กไทยจำนวนมาก จะถูกผลักใสลงไปในห้วงปัญหามากมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพคนในสังคมไทย ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน ...
 

ข้อมูลสื่อ

421-1330
นิตยสารหมอชาวบ้าน 421
พฤษภาคม 2557
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ