• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พันธุกรรม - พฤติกรรม

พันธุกรรม - พฤติกรรม
 

หมอชาวบ้านฉบับนี้ได้นำเรื่องดาวน์ซินโดรมมาขึ้นปก สภาวะเช่นนี้เกิดจากพันธุกรรมสภาวะหรือโรคที่เกิดจากพันธุกรรมมีหลายชนิด

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมต่อต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ก็มีการประชุมพันธุศาสตร์การแพทย์แห่งเอเชียแปซิฟิกกันในกรุงเทพฯนี้เอง โรคที่เกิดจากพันธุกรรมมีมากหลาย หรือถ้าจะพูดไปโรคทั้งหลายมีพื้นฐานมาจากพันธุกรรมทั้งสิ้น

ที่เรียกว่าพันธุกรรมนี้เป็นสารที่เป็นเส้นยาวขดตัวอยู่ในส่วนกลางของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย เป็นสารที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA) ที่หนังสือพิมพ์ลงกันว่าควรจะตรวจดีเอ็นเอพระยันตระกันนั่นแหละ
ดีเอ็นเอมีสารที่เหมือนตัวอักษรอยู่ 4 ตัวเขาเรียกว่า A C G T อักษรสี่ตัวนี้สลับกันไปมาเป็นรหัสว่าให้เกิดอะไรขึ้น ดีเอ็นเอของคนมีความยาวประมาณ ๓ พันล้านตัวอักษร รหัส 3 พันล้านตัวนี้เรียงตัวกันอยู่อย่างจำเพาะที่ทำให้ชีวิตที่เริ่มต้นจากเซลล์ตัวเดียว มีพัฒนาการมาเป็นคน ถ้ารหัสบอกให้เป็นช้างก็เป็นช้าง บอกให้เป็นมดก็เป็นมด บอกให้เป็นต้นมะม่วงก็เป็นต้นมะม่วง ไม่ว่าจะเป็นคน หรือช้าง หรือมด หรือต้นมะม่วง หรืออะไรอื่นๆ ล้วนใช้อักษร A C G T เดียวกันแต่ด้วยรหัสที่ต่างกัน
ดีเอ็นเอจะถ่ายทอดจากพ่อ แม่ ไปสู่ลูก ที่จริงการพิมพ์ดีเอ็นเอ แม่นยำมาก แต่บางครั้งเกิดพลาดขึ้น แม้ตัวอักษรพลาดไปตัวเดียวจาก 3 พันล้านตัว ก็เกิดโรคร้ายแรงขึ้นมาได้
สมัยนี้ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับดีเอ็นเอก้าวหน้าไปมาก สามารถตัดต่อสารดีเอ็นเอหรือยีนได้ เรียกกันว่า พันธุวิศวกรรม

พันธุกรรมถึงจะมีผลแรง แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัยเดียวที่ทำให้ใครเป็นอย่างไร ยังขึ้นกับกรรมที่เรียกว่าพฤติกรรมอีกด้วย เช่น ถ้ามียีนเป็นโรคเบาหวาน แต่ถ้ามีพฤติกรรมการกิน และการออกกำลังที่ถูกต้อง อาจไม่เป็นเบาหวานก็ได้ พฤติกรรมจึงมีความสำคัญยิ่งต่อสุขภาพ

คนสามารถพัฒนาพฤติกรรมของตนเอง และร่วมกัน ให้เกิดสุขภาพและความสุขได้

 

ข้อมูลสื่อ

185-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 185
กันยายน 2537
ศ.นพ.ประเวศ วะสี