• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้หญิงกับบุหรี่ความงามกับควันพิษ

ผู้หญิงกับบุหรี่ความงามกับควันพิษ

บุหรี่มีพิษภัยต่อผู้สูบอย่างไรนั้น เกือบทุกคนในสังคมตระหนักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
แต่คุณทราบมั้ยว่า ร้อยละ 70 ของเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม มาจากครอบครัวที่พ่อแม่สูบบุหรี่
คุณทราบมั้ยว่าองค์การยูนิเซฟได้คาดคะเนว่า ถ้าผู้หญิงทุกคนในประเทศที่พัฒนาแล้วหยุดสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ จะมีผลให้อัตราการตายของทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ และการเสียชีวิตของทารกขณะคลอดลดลงถึงร้อยละ 10 จากปัจจุบัน
คุณทราบมั้ยว่า ในภาคเหนือสถิติการสูบบุหรี่ของทั้งเพศหญิงและเพศชายสูงกว่าภาคอื่นๆ และพบว่าทารกแรกเกิดในภาคนี้มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยต่ำกว่าทารกแรกเกิดในภาคอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง
นี้เป็นเพียงสัญญาณบางส่วนที่ตอกย้ำให้สังคมเห็นถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้สูบบุหรี่เป็นผู้หญิง

ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่น้อย แต่...
จากการสำรวจสถิติการสูบบุหรี่ของประชากรทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2534 พบว่ามีหญิงไทยสูบบุหรี่จำนวน 837,900 คน ขณะที่ผู้ชายไทยสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10,563,900 คน หรือคิดเป็นผู้หญิงสูบบุหรี่ร้อยละ 3.8
เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการสูบบุหรี่ของผู้หญิงของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศตะวันตก ซึ่งสูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 20-30 จะเห็นว่าอัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ในต่างประเทศ พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นหญิงจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ที่พยายามขยายตลาดไปยังเพศหญิงที่ยังมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำ โดยผลิตบุหรี่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เมื่อบวกกับแนวโน้มการสูบบุหรี่ในหมู่วัยรุ่นไทยที่กำลังเพิ่มขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าหากไม่มีการรณรงค์อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ จำนวนหญิงไทยที่สูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้หญิงสูบบุหรี่...น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ นอกจากจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ได้เช่นเดียวกับเพศชายแล้ว ยังมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
ผลการศึกษาของสมาคมโรคมะเร็งสหรัฐๆ พบว่า หญิงที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่หรือผู้หญิงที่เลิกสูบบุหรี่แล้วถึงร้อยละ 25 โดยพบว่า การสูบบุหรี่ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมลดลง ทำให้โอกาสเกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากการวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในเซลล์ปากมดลูก ทำให้มีการติดเชื้อไวรัสแปปปิวโลมาบริเวณปากมดลูกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง มีผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสแปปปิวโลมาได้ง่าย ซึ่งปากมดลูกที่ติดเชื้อไวรัสตัวนี้ จะมีอัตราการกลายไปเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้นกว่าหญิงทั่วไปถึง 4 เท่า

นอกจากนั้น การสูบบุหรี่ยังมีผลให้เกิดความผิดปกติด้านการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงอย่างมากอีกด้วย ผู้หญิงที่สูบบุหรี่เป็นประจำจะมีรอบเดือนมาไม่เป็นปกติมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 3 เท่า และถึงวัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติประมาณ 2 ปี ซึ่งมีผลโดยตรงต่อภาวะกระดูกผุหรือเปราะมากขึ้นเมื่อมีอายุสูงขึ้น ทำให้กระดูกเชิงกรานหักง่ายเมื่อหกล้ม
ส่วนผู้หญิงที่สูบบุหรี่และกินคุมกำเนิดเป็นประจำจะมีโอกาสเกิดอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันหรือหัวใจวายสูงขึ้น 39 เท่า และมีอัตราการตายมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ที่กินยาคุมกำเนิดถึง 3 เท่าตัว ทั้งนี้เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายได้รับสารพิษที่ทำปฏิกิริยากับยาคุมกำเนิด มีผลให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้น และเกิดการอุดตันของหลอดเลือดง่ายขึ้น โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง สำหรับผู้หญิงที่ใช้ห่วงคุมกำเนิด จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการอักเสบทางอุ้งเชิงกรานมากขึ้นด้วย

บุหรี่..ทำลายความงาม
นอกจากสารพิษจากการสูบบุหรี่จะสะสมเพื่อรอการแสดงอาการของโรคร้ายต่างๆ แล้ว ผลเสียของการสูบบุหรี่ที่มีต่อความสวยงามก็มีมากไม่แพ้กันทีเดียว
จากการวิจัยพบว่า ใบหน้าของผู้สูบบุหรี่มานานพอสมควรจะมีริ้วรอยลึกที่สังเกตเห็นได้ง่าย และมักจะมีผิวสีหมองคล้ำมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ริ้วรอยที่เหี่ยวย่นนั้นมักจะปรากฏเป็นรอยตีนกาที่หางตา และเป็นร่องรอยเหี่ยวย่นที่มุมปาก รวมถึงอาจมีเส้นลึกที่โหนกแก้มอีกด้วย ทั้งนี้เพราะผู้ที่สูบบุหรี่มักจะต้องหรี่ตาเวลาพ่นควันออกมา เพื่อกันไม่ให้ควันบุหรี่เข้าตา นานๆเข้าจึงทำให้เกิดตีนกาขึ้นได้

สำหรับริมผีปากของผู้สูบบุหรี่ โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะมีสีคล้ำกว่าปกติ จนถึงสีเขียวคล้ำ ทั้งนี้เพราะนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายหดตัวตลอดเวลา ทำให้เกิดรอยเหี่ยวย่นตามผิวหนังเร็วขึ้น และมีผลให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนังรวมทั้งริมผีปากน้อยลง ขณะเดียวกันเลือดของผู้ที่สูบบุหรี่ก็นำออกซิเจนได้น้อยกว่า ทำให้เลือดมีสีคล้ำกว่าเลือดของคนที่ไม่สูบบุหรี่ ผลก็คือริมผีปากของคนที่สูบบุหรี่จะคล้ำกว่าและผิวหนังกร้านกว่าคนทั่วไป
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่สูบบุหรี่จนติด อวัยวะทุกระบบจะเสื่อมหรือแก่เร็วขึ้นประมาณ 10 ปี ผู้ที่ติดบุหรี่จึงมีใบหน้าที่แก่กว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

ผู้หญิงกลุ่มไหนสูบบุหรี่มากที่สุด


ไม่สูบ...ก็ป่วยได้

นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ แต่แต่งงานกับผู้ชายที่สูบบุหรี่ เพราะการได้รับควันบุหรี่อย่างต่อเนื่องทุกวันๆ มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพเช่นกัน
จากรายงานทางการแพทย์พบว่า ผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ แต่แต่งงานกับผู้ชายที่สูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้หญิงที่แต่งงานกับคนไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 เท่า และเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 ปี ซึ่งความเข้มข้นของสารเคมีนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น หากมีสมาชิกคนอื่นบ้านสูบบุหรี่ด้วย
ยิ่งกว่านั้นปัจจุบันผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย การได้รับควันบุหรี่ในที่ทำงานก็เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้หญิงเช่นกัน

ผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ หากได้รับควันบุหรี่ในอัตราวันละ 3 ชั่วโมงขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่ลำคอมากกว่าผู้ไม่ได้รับควันบุหรี่ถึง 3 เท่า และมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งอื่นๆ มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ 2 เท่า
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ และโรคหืด รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ควันบุหรี่จะทำให้อาการของโรคดังกล่าวกำเริบขึ้นโดยฉับพลัน
นอกจากนี้ ควันบุหรี่ยังทำให้ระคายเคืองนัยน์ตา จาม เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ รวมทั้งก่อให้เกิดความรำคาญ ทำให้เสื้อผ้าและผมมีกลิ่นบุหรี่อีกด้วย

เราจะร่วมกันรณรงค์ได้อย่างไร
หากคุณเป็นผู้สูบบุหรี่
⇒   พยายามเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง และสมาชิกในครอบครัว
⇒   หากยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในบ้านหรือในที่ที่มีเด็กอยู่
   งดสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ ในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ หรือในสถานที่ที่มีเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่

หากคุณเป็นผู้ไม่สูบบุหรี่
⇒  รณรงค์ให้สมาชิกในครอบครัวเลิกสูบบุหรี่ โดยใช้วิธีที่นุ่มนวล ไม่บังคับ และเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาอย่างใกล้ชิด
⇒  จัดบ้านให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยเก็บที่เขี่ยบุหรี่ที่เคยวางอยู่ในที่ต่างๆของบ้าน อาจติดสัญลักษณ์ เครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ไว้ภายในบ้านหรือหน้าประตูบ้าน และบอกแขกที่มาเยี่ยมว่าบ้านนี้เป็นเขตปลอดบุหรี่
   ดูแลบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันมิให้ไปริเริ่มการสูบบุหรี่
⇒   ติดสติ๊กเกอร์เครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ไว้ในที่ทำงาน เพื่อแสดงให้ผู้มาติดต่อทราบว่าที่นี่เป็นเขตปลอดบุหรี่
⇒  หากบริษัทของคุณยังไม่มีการจัดเขตปลอดบุหรี่ให้ชัดเจน คุณอาจเสนอให้ผู้บริหารกำหนดนโยบายจำกัดการสูบบุหรี่ โดยประกาศห้ามสูบบุหรี่ในห้องหรือบริเวณที่ทุกคนใช้ร่วมกัน เช่น ห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องอาหาร ห้องน้ำ หรือในลิฟต์
  พยายามพิทักษ์สิทธิของคุณด้วยการดูแลมิให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ และหากมีการฝ่าฝืน ก็บอกเขาอย่างสุภาพว่า “ที่นี่เป็นเขตปลอดบุหรี่”
⇒  หากไปกินอาหารนอกบ้าน ให้มองหาร้านอาหารปลอดบุหรี่ หรือเลือกสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่

เลิกบุหรี่อย่างไร...ไม่ให้อ้วน
จากประสบการณ์ที่เหมือนกันทั่วโลกระบุชัดว่า ผู้หญิงประสบความสำเร็จในการหยุดสูบบุหรี่ได้น้อยกว่าผู้ชาย สาเหตุที่สำคัญเนื่องจากผู้หญิงมักจะกังวลต่อน้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มขึ้นหลังหยุดสูบบุหรี่มากกว่าผู้ชาย หลายรายกังวลเกินเหตุ เช่น เมื่อหยุดสูบบุหรี่ไปได้สองสัปดาห์ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ๒ กิโลกรัม ก็เกิดความกังวลใจต่อไปว่าถ้าเช่นนั้นภายในสามเดือนน้ำหนักตัวจะเพิ่มอีก ๑๐ กิโลกรัม ก็เลยหันกลับไปสูบบุหรี่อีก

ทำไมหลังจากหยุดสูบบุหรี่ น้ำหนักตัวจึงเพิ่มขึ้น

สารพิษหลายชนิดในควันบุหรี่จะทำให้ต่อมรับรสตามลิ้นไม่สามารถรับรู้รสชาติอาหารได้เหมือนปกติ แต่เมื่อหยุดสูบบุหรี่ การทำงานของต่อมรับรสอาหารจะกลับคืนสู่ปกติ ทำให้กินอาหารอร่อย กินได้มากขึ้น และอาหารที่เข้าสู่ร่างกายก็ถูกเผาผลาญในอัตราปกติ ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่จึงมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ควบคุมอาหาร
แต่จากการวิจัยพบว่า หนึ่งในสามของผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ น้ำหนักตัวจะไม่เพิ่มขึ้นเลย หนึ่งในสามมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คือ 1-2 กิโลกรัม และหนึ่งในสามจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่า 2 กิโลกรัม แต่จะมีเพียงหนึ่งในสิบเท่านั้นที่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากๆ คืออาจจะถึง 10 กิโลกรัม แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะพบว่า ในผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ส่วนใหญ่น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น 2-3 กิโลกรัมเท่านั้น

จะป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหลังหยุดสูบบุหรี่ได้อย่างไร
หลักง่ายๆคือ ภายหลังหยุดสูบบุหรี่ ให้ระวังอย่ากินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารว่าง หรือของจุบจิบประเภทขนมหรือของหวาน พร้อมๆกับการระวังเรื่องอาหาร ให้เพิ่มการออกกำลังกาย โดยการเดินหรือวิ่ง เพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
จากการวิจัยพบว่า ในผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ได้สำเร็จนั้น ล้วนเป็นผู้ที่แก้ปัญหาทีละเปลาะ โดยในขั้นแรกต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง หยุดสูบบุหรี่ให้ได้เสียก่อนโดยไม่ไปกังวลกับเรื่องน้ำหนักตัว เมื่อหยุดสูบบุหรี่สำเร็จแล้วจึงค่อยหันมาแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถลดน้ำหนักลงมาได้

วิธีเลิกบุหรี่
1. รบรวมความตั้งใจให้เข้มแข็งเข้า และกำหนดวันที่จะเลิกอย่างเด็ดขาด
2. เมื่อถึงวันนั้น ทิ้งบุหรี่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้หมด พร้อมให้สัญญากับตัวเองว่าจะไม่ไปหามาสูบอีก
3. หากหงุดหงิด อยากสูบบุหรี่ ให้ดื่มน้ำ หรือสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ
4. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
5. งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
6. อย่าหวั่นไหว คิดว่าสูบเพียงนิดหน่อยไม่เป็นไร
 

                                             ผลของการสูบบุหรี่ต่อลูกน้อย

ทารกที่มารดาสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วจะพบว่า
- มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าทารกปกติประมาณ 170-200 กรัม
- ความยาวเส้นรอบศีรษะและช่วงไหล่ อาจสั้นกว่าทารกปกติ
- เด็กกลุ่มนี้อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท และอาจเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ทำให้เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กได้
ที่เป็นเช่นนี้เพราะนิโคตินจากการสูบบุหรี่ทำให้หลอดเลือดบริเวณรกหดตัว และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงทารกมีออกซิเจนน้อยลง ผลก็คือทารกในครรภ์จะได้รับทั้งเลือดและออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ทำให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติ และจะมีทารกจำนวนหนึ่งมีโครงสร้างของสมองไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะมีผลต่อระบบความคิดที่บกพร่อง อ่อนแอ มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังสูงอีกด้วย
ดังนั้นการสูบบุหรี่ของแม่ระหว่างตั้งครรภ์ จึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ทารกที่คลอดออกมาเป็นเด็กพิการทางปัญญาหรือปัญญาอ่อนได้

คุยกับนางสาวไทยน้องป๊อป – อารียา สิริโสภาหนึ่งในคณะทำงานโครงการหญิงไทยไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ถึงแม้ป๊อบจะเติบโตที่เมืองนอกและพบเห็นคนสูบบุหรี่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม แต่ป๊อปก็ไม่เคยคิดจะสูบบุหรี่เลย เพราะคุณแม่จะสอนป๊อปอยู่เสมอว่าเป็นผู้หญิงไทยต้องไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี เป็นการทำลายสุขภาพ และทำให้บุคลิกเสียไปด้วย แต่ป๊อบก็แปลกใจและตกใจมากที่พบว่ามีผู้หญิงจากเมืองไทยที่ไปเรียนต่อที่อเมริกา ซึ่งเป็นคนมีฐานะดี แต่เขาสูบบุหรี่ด้วย ป๊อปตกใจมากขนาดต้องโทร.ไปถามคุณแม่ทันทีเลยว่าทำไมผู้หญิงไทยคนนี้เขาถึงสูบบุหรี่ คุณแม่บอกว่า เป็นการสูบบุหรี่ตามแฟชั่นยุโรปและอเมริกามากกว่า”

                         ผู้ไม่สูบบุหรี่ฟ้องร้องเป็นคดีแรกของสหรัฐอเมริกา

ดอนนา ซิมพ์ พนักงานของบริษัทโทรศัพท์เบลล์ ซึ่งมีประวัติการทำงานดีมานาน 15 ปี เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะภูมิแพ้อย่างหนัก แม้ว่าจะทำงานอยู่ในบรรยากาศที่มีควันบุหรี่เบาบางก็ตาม ดอนนาทำงานที่บริษัทแห่งนี้จนถูกย้ายไปอยู่ในสำนักงานใหม่ที่มีระบบระบายอากาศไม่ดี และมีพนักงาน 7 คนจากจำนวน 13 คน เป็นนักสูบบุหรี่จัด ทำให้อาการภูมิแพ้ของเธอรุนแรงขึ้น หลังจากที่เธอได้ทำเรื่องเสนอถึงผู้บริหารถึงความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว เธอก็ได้รับข้อเสนอให้เปลี่ยนงาน ซึ่งตำแหน่งและเงินเดือนลดลง เธอปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และได้ฎีกาเรื่องถึงศาลสูงในนครนิวเจอร์ซี่
ผลการพิพากษา คือ ให้บริษัทเบลล์จัดสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยแก่ดอนนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามมิให้มีการสูบบุหรี่ในสำนักงานและบริเวณที่ให้บริการแก่ลูกค้า ข้อเท็จจริงหลักที่จูงใจให้ศาลพิพากษาให้เป็นไปตามความประสงค์ของดอนนา ก็คือ บริษัทโทรศัพท์เบลล์มีข้อบังคับห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ใกล้กับเครื่องมือที่ทันสมัย
ผู้พิพากษากล่าวว่า “ถ้ากฎดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อให้ความปลอดภัยและเพื่อคงประสิทธิภาพของเครื่องมือจากการที่ไม่ให้เครื่องมือได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ได้ ศาลคิดว่าทำไมกฎนั้นจะสร้างขึ้นเพื่อมนุษย์ไม่ได้”
กฎดังกล่าวนับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของหลักการ มิใช่กำหนดขึ้นเพื่อดอนนา ซิมพ์เท่านั้น แต่เป็นหลักการของกฎหมายทั่วไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ทุกคน
การพิพากษาคดีนี้กลายมาเป็นคดีตัวอย่าง และเป็นต้นแบบของกฎหมายในอเมริกาในช่วงต่อมา

 

ข้อมูลสื่อ

191-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 191
มีนาคม 2538
บทความพิเศษ
กองบรรณาธิการ