• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคในช่องปากกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โรคในช่องปากกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
 

ในสมัยนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลในเลือดสูง หรือที่เรียกว่าเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน โดยทั่วไปมักคิดว่าเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุเท่านั้น ที่จริงแล้วพบได้ตั้งแต่ในคนอายุน้อยๆ ไปจนอายุมากๆด้วย

โรคนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่จำเป็นต้องใช้อินซูลิน มักพบในผู้ป่วยอายุน้อยซึ่งต้องได้รับสารที่เรียกว่า “อินซูลิน” อย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด อีกชนิดหนึ่งคือเบาหวานชนิดที่ไม่จำเป็นต้องใช้อินซูลิน มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งถ้าอยู่ในการดูแลของหมอแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็เพียงระมัดระวังควบคุมอาหาร นอกจากนี้ยังอาจพบผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานแบบชั่วคราวในหญิงตั้งครรภ์ในช่วง 6-9 เดือนได้ด้วย

ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการแสดงออกที่สำคัญ คือ กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และหิวบ่อย มักมีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นด้วย ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักลด ชาตามแขนขา ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อเป็นแผลก็มักจะหายช้า อาการที่พบในช่องปากคือ ปากแห้ง ลิ้นอักเสบ อาจมีการติดเชื้อรา หากใส่ฟันปลอมมักเกิดมีแผลได้ง่าย มีเหงือกอักเสบรุนแรง
โรคในช่องปากที่เด่นที่สุด ซึ่งในบางครั้งถึงกับใช้เป็นข้อสังเกตในการตรวจสอบเบาหวานให้ผู้ป่วย(หากไม่เคยตรวจมาก่อน) ก็คือ โรคปริทันต์(รำมะนาด)

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียสมดุลของระดับน้ำตาล รวมทั้งการไหลเวียนของเลือดเฉพาะตำแหน่งและการแลกเปลี่ยนสารอาหารลดลง ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวลดลงอีกทั้งยังทำหน้าที่บกพร่อง มีภาวการณ์ขาดวิตามินบีและซี ทั้งหมดเป็นผลให้เนื้อเยื่อปริทันต์ที่ยึดรากฟันมีความต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง ไวต่อการติดเชื้อมากขึ้น ทั้งยังเกิดหินน้ำลายเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่การหายของแผลช้าลง เนื้อเยื่อปริทันต์และกระดูกรากฟันก็ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว มักเกิดเหงือกบวม เป็นฝีหนองได้บ่อย
พบว่าผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะเป็นโรคปริทันต์มากกว่าและรุนแรงกว่าคนทั่วไป แม้จะเป็นในเด็กก็ตาม ในช่วงอายุ 13-18 ปีพบว่าเป็นโรคปริทันต์ในอัตราถึงเกือบร้อยละ 10 ทีเดียว ในขณะที่คนอายุมากขึ้นก็พบว่าเป็นมากขึ้นถึงร้อยละ 38 การเป็นโรคปริทันต์นี้ขึ้นกับอายุและปริมาณคราบจุลินทรีย์(เรียกง่ายๆว่า ขี้ฟัน) และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเอง

ในการรักษานั้นสามารถทำได้โดยเริ่มจากการไปรับการดูแลจากหมอที่รักษาโรคเบาหวาน โดยที่ผู้ป่วยต้องพยายามปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหมอ เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด จากนั้นก็ไปรับการรักษาจากทันตแพทย์ให้ทำการขูดหินน้ำลาย เกลารากฟันเพื่อทำความสะอาด และลดจำนวนเชื้อโรคลง

โดยปกติก่อนการรักษา ทันตแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะก่อนทำการรักษา 1-2 วัน และให้กินยาต่อหลังการรักษาอีกประมาณ 5 วัน การนัดหมายเพื่อรักษามักทำในตอนเช้า ในผู้ป่วยบางรายที่วิตกกังวลมาก หมออาจให้ยาเพื่อลดการวิตกกังวลก่อน โดยให้กินในตอนเย็นและตอนเช้าก่อนเวลานัด
หลังจากนั้นก็ควรจะดูแลทำความสะอาดฟันและอวัยวะในช่องปากให้สะอาดทั่วถึงตามที่หมอแนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพราะคราบจุลินทรีย์(ขี้ฟัน)เพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ในผู้ป่วยเบาหวาน

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานนั้น นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ก็ควรให้ความสำคัญกับการดูแลทำความสะอาดช่องปากด้วย ควรไปรับการตรวจดูแลจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นทุก 3 เดือนต่อครั้ง ในกรณีที่มีฝีหนองเกิดขึ้นมาแล้ว และได้รับการรักษาแล้ว จากนั้นก็อาจจะนานขึ้นเป็นทุกๆ 6 เดือน

หากมีฟันปลอมก็ต้องดูแลทำความสะอาดฟันปลอมให้ดี ถ้ามีแผลเนื่องจากฟันปลอมควรรีบไปปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อป้องกันการลุกลาม เพียงเท่านี้ผู้ป่วยเบาหวานก็จะไม่ต้องเจ็บปวดทรมานเนื่องจากโรคปริทันต์อีกต่อไป

 

ข้อมูลสื่อ

187-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 187
พฤศจิกายน 2537
หมอปุ้ย