“ โรคมาก รากโมกต้มกินหาย ”
ข้อความที่ยกมาข้างบนนี้ เชื่อกันว่าเป็น “ ปฎิภาณกวี ” ของท่านมหากวีสุนทรภู่ ซึ่งท่านใช้บาทแรกของโคลงสี่สุภาพนี้ ตอบปัญหาที่มีผู้มาปรึกษาว่า มีโรคหลายโรครบเร้าอยู่ ทำอย่างไรจึงจะหาย
ไม่ว่าตำนานเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อความที่ยกมาข้างต้นก็แสดงถึงภูมิปัญญาและความเป็นคน “เจ้าบทเจ้ากลอน ” ของไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการใช้คำผวน (โรคมาก - รากโมก) ซึ่งลักษณะพิเศษของภาษาไทยได้อย่างเหมาะสม และตรงตามความจริง เพราะรากของต้นโมกเป็นยาสมุนไพรจริง ๆ
โมกเป็นไม้ดอกสีขาวชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนผูกพันมากเป็นพิเศษตั้งแต่ตอนเด็กมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับพิกุลและการเวก
ความทรงจำถึงโมกต้นแรกที่รู้จัก ย้อนไปถึงช่วงเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งเรียนบนศาลาวัดประจำหมู่บ้าน ยังจำได้ว่าในบริเวณวัดซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนนั้น มีต้นไม้ปลูกอยู่หลากหลายจนร่มรื่นในจำนวนต้นไม้เหล่านี้มีประเภทไม้ดอกอยู่ด้วย ตั้งแต่ไม้ใหญ่ ๆ อย่างพิกุล จนถึงไม้พุ่มอย่างเข็ม และที่โตกว่าไม้พุ่มขึ้นมาอีกไม่มากอย่างต้นโมก
ยังจำได้อย่างชัดเจนว่า ต้นโมกในวัดมีอยู่กลุ่มเดียว เพียง 2-3 ต้น ปลูกอยู่ด้านเหนือของศาลาท่าน้ำ ต้นโมกกลุ่มนี้อยู่ชายตลิ่ง รากส่วนหนึ่งถูกน้ำชะดินออกจนเปล่าเปื่อยดูน่าสงสาร ดอกสีขาวเล็ก ๆ บางส่วนร่วงหล่นลงน้ำล่องลอยไป ไม่มีผู้ใดตามเก็บเหมือนดอกพิกุล สิ่งที่เด็กนักเรียนชั้นประถมอย่างผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ มีเพียงฝักที่มีรูปคู่โค้งคล้ายกระสวยทอผ้าแปลกกว่าต้นไม้ทั่วไปเท่านั้น
จนถึงปัจจุบัน ต้นโมกที่ขึ้นอยู่ด้านหน้าบ้านไทยของมูลนิธิฯ นั้นก่อนจะเติบโตเป็นพุ่มสูงพ้นศีรษะได้ รูปทรงงดงามอย่างนี้ ก็ผ่านการปลูกและเอาใจใส่ดูแลมานานกว่า 5 ปี ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือผู้เขียนเริ่มปลูกโมกต้นนี้ในกระถางที่บ้านอำเภอบางกรวยมาก่อนกว่า 5 ปี จากต้นเล็ก ๆ จนเติบโตจนเกินกระถาง จึงได้ย้ายมาปลูกลงดินที่มูลนิธิฯ จนถึงปัจจุบัน
โมก : ไม้ดอกพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยที่ไม่ถูกลืม
โมกเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงเต็มที่ราว 3-5 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia religiosa Benth. อยู่ในวงศ์ Apoeynaceae
เปลือกลำต้นของโมกมีสีน้ำตาลดำ มีจุดเล็ก ๆ สีขาวกระจายอยู่ทั่วไป ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว เรียงกันเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามไปตามกิ่งแขนง ใบเป็นรูปหยก โคนใบและปลายใบสอบเรียวเข้า ป่องกลาง ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร
ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่องละ 5-7 ดอก กลีบดอกมีสีขาว ปกติมี 5 กลีบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ก้านดอกเล็กเรียว ทำให้ดอกโมกห้อยคว่ำดอกลงมา
ผลเป็นฝักยาวกลมหัวท้ายเรียวแหลม เป็นฝักคู่โคนฝักเชื่อมติดกันตรงขั้ว กลางฝักโค้งออกแล้วสอบเข้าหากันตอนปลาย ฝักยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดรูปกระสวยจำนวนมาก มีขนปุยสีขาว ช่วยให้ปลิวตามลมไปได้ไกล ๆ
ดอกโมกมีกลิ่นหอมเย็น ในตอนค่ำจะมีกลิ่นหอมแรงกว่าตอนกลางวัน โมกออกดอกได้ติดต่อกันตลอดปีหากยู่ในสภาพเหมาะสม
ในประเทศไทยพบโมกขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าดงดิบ และป่าที่มีความชุ่มชื้น คนไทยนิยมปลูกโมกมานานแล้ว ทั้งตามวัดและบ้าน ดังชื่อชนิดของโมกคือ Religiosa แสดงว่าเกี่ยวกับศาสนา หรือพบตามศาสนถาน และหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ. 2416 บรรยายว่า “ โมก : เป็นต้นไม้อย่างหนึ่ง มีดอกหอม คนมักปลูกไว้ริมเรือนชุมนั้น ” แสดงว่าคนกรุงเทพฯสมัย 128 ปีก่อนโน้น ก็นิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้าน
คนไทยมีชื่อเรียกโมกหลายชื่อ คือ โมก โมกบ้าน โมกดอกหอม โมกกอ โมกช้อน (ดอกช้อน) และหลักป่า (ระยอง) เป็นต้น
โมกกันคนไทยปัจจุบัน
ในด้านสมุนไพร คนไทยใช้รากโมกมาทำยารักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนังต่าง ๆ เช่น ตำราบางเล่มกล่าวว่า “ รากโมก : รสเมามัน แก้โรคผิวหนัง โรคเรื้อน คุดทะราด ” เท่าที่ลองค้นตำรายาไทยหลายเล่ม พบว่าคนไทยใช้เฉพาะส่วนรากของโมกเท่านั้นเป็นยาสมุนไพร ซึ่งตรงกับข้อความที่ยกมาขึ้นต้นว่า “ โรคมาก รากโมก ต้มกินหาย ” นั่นเอง
โมกนับว่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีรูปทรงงดงามชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะใบที่ดกเหมาะเป็นใบประดับที่ดีมาแต่อดีต ไม่ว่าจะปลูกตามวัด ตามบ้าน หรือสวนสาธารณะ ปัจจุบันโมกมีทั้งชนิดดอกชั้นเดียว (โมกลา) โมกหลายชั้น (โมกช้อน) และโมกใบด่างขาวที่ใบอ่อนขาวทั้งใบ และใบแก่ขาวปนเขียว
โมกเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงทนทาน ปลูกง่ายมากชนิดหนึ่ง จึงนิยมตัดหรือตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ประดับสถานที่ หรือปลูกในกระถางเป็นไม้แคระ (บอนไช) ก็เหมาะสมและได้รับความนิยมมากในระดับต้น ๆ ของต้นไม้ที่คนไทยนำมาทำบอนไช
ชื่อ “ โมก ” นั้นมีเสียงพ้องกับคำว่า “ โมกข์ ” ในภาษาบาลี หรือ “ โมกษ์ ” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำศัพท์ในศาสนาพุทธ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับนิพพานนั่นเอง
ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ โมกจึงเป็นมงคลนามอันหมายถึงจุดหมายสูงสุดในชีวิต เป็นหน้าที่หลักของการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ตามหลักธรรมที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติติดต่อกันมานานนับพันปี
ครั้งต่อไปที่ท่านผู้อ่านได้พบเห็นต้นโมกไม่ว่าที่ไหน นอกจากชื่นชมกับรูปทรงอันงดงาม กลิ่นหอมอันสดชื่น ฯลฯ แล้ว ก็ขอให้นึกถึงชื่ออันมีความหมายสูงส่ง ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้นำไปตั้งชื่ออารามจากเดิมว่าวัดธารน้ำไหล เป็นสวนโมกขพลารามนั้น
- อ่าน 19,783 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้