• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รักษาสายตาสั้นด้วยเลเซอร์

รักษาสายตาสั้นด้วยเลเซอร์

สายตาสั้นเป็นความผิดปกติของดวงตาที่สำคัญและพบบ่อย สายตาสั้นเกิดจากความไม่พอดีในการหักเหของแสงเนื่องจากลูกตามีขนาดใหญ่ หรือกระจกตาโค้งมากเกินไป ทำให้ภาพไม่โฟกัสบนจอประสาทตา ยังผลให้บุคคลผู้นั้นมองภาพไม่ชัดตลอดเวลา ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เลนส์จากภายนอกอันอาจจะเป็นแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์มาสวมทับกระจกตาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยกระจายแสงให้ไปตกบนจอประสาทตาพอดี

การสวมแว่นดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ง่าย ปลอดภัย และประหยัดที่สุด อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ป่วยสายตาสั้นทุกรายจะสามารถใช้แว่นตาได้ ในกรณีที่สายตาสั้นมากๆ การสวมแว่นตาก็อาจไม่เหมาะ เนื่องจากต้องใช้เลนส์ที่มีกำลังสูง ทำให้มีน้ำหนักมาก อีกทั้งยังทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน บางอาชีพก็ไม่ยอมรับผู้สวมแว่นเข้าทำงาน หรือแม้แต่ค่านิยมในบางสังคมก็อาจทำให้คิดว่าการสวมแว่นมีผลเสียต่อบุคลิกภาพ ผู้ป่วยรุ่นใหม่หลายรายจึงหันไปใช้คอนแทคเลนส์แทน ซึ่งก็มีวิธีการที่สลับซับซ้อนขึ้น และในเวลาเดียวกันก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถใช้คอนแทคเลนส์อันอาจเป็นเพราะมีโรคตาบางอย่างอยู่ก่อน หรือไม่สะดวกที่ต้องคอยถอดเข้าออกเป็นประจำ นอกจากนี้บางคนก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นจากการแพ้ต่อน้ำยาล้างเลนส์ หรือบางรายที่บกพร่องในการรักษาความสะอาดก็อาจเกิดการติดเชื้อโรคเป็นแผลขึ้นบนกระจกตา


การผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้น

ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงได้มีการค้นคิดหาวิธีการผ่าตัดเพื่อนำมารักษาสายตาสั้นอย่างถาวร ในภาวะปกติกระจกตาและเลนส์แก้วตาเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการหักเหแสงให้ตกลงบนจอประสาทตา การผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นจึงอาจทำที่อวัยวะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเลนส์แก้วตานั้นจะไม่ทำกัน ยกเว้นในกรณีที่มีการขุ่นมัว หรือที่เรียกกันว่าเป็นต้อกระจกเกิดขึ้น ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดลอกเอาต้อกระจกนั้นออกแล้วนำเอาเลนส์แก้วตาเทียมที่มีกำลังพอดีมาใส่แทน การผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นในปัจจุบันจึงทำที่กระจกตาเป็นสำคัญ โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำให้ความโค้งลดลง หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ทำให้แบนลงนั่นเอง เพื่อที่จะกระจายแสงให้ไปโฟกัสบนจอประสาทตาพอดี

กระจกตาเป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนหน้าสุดของลูกตา การมองเห็นที่ชัดเจนนั้นนอกจากจะต้องอาศัยกระจกตาที่มีความโค้งพอดีแล้ว จะต้องมีความโปร่งใสให้แสงผ่านโดยสะดวกอีกด้วย การผ่าตัดรักษาสายตาสั้นทุกชนิดจึงต้องคำนึงถึงคุณสมบัติอันหลังควบคู่ไปด้วยเสมอ ความจริงแล้วได้มีการคิดค้นผ่าตัดรักษาสายตาสั้นมาตั้งแต่เมื่อ 90 กว่าปีก่อน เคยมีการนำมีดคมๆ มากรีดกระจกตาบริเวณรอบนอกเป็นแฉกๆ รอบตาเพื่อให้บริเวณตรงกลางแบนลง หรือเฉือนเอาส่วนหนึ่งของกระจกตาออกมาฝนให้มีกำลังเท่าที่ต้องการแล้วเย็บกลับเข้าไปใหม่ แต่เนื่องจากวิธีการเหล่านี้ล้วนยุ่งยากและได้ผลไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้กระจกตาขุ่นมัว และอาจทำให้สายตาสูญเสียอย่างถาวรไปก็ได้  การผ่าตัดดังกล่าว จึงไม่เป็นที่นิยม

แสงเอ็กไซเมอร์เลเซอร์กับการรักษาสายตาสั้น

ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเอาแสงเลเซอร์มาใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย แสงเลเซอร์เป็นแสงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางฟิสิกส์ ทำให้มีพลังงานสูงกว่าแสงธรรมดา และมีคุณสมบัติพิเศษสามารถนำมาใช้เจาะหรือตัดแยกสิ่งของแทนมีดได้ ในทางจักษุนั้น แสงเลเซอร์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการรักษาต้อหิน และโรคของจอประสาทตาบางอย่าง เนื่องจากการรักษาด้วยแสงเลเซอร์นั้นมีข้อได้เปรียบกว่าวิธีธรรมดามาก ทั้งในแง่ความสะดวกและปลอดภัย การรักษาแบบนี้จึงได้รับความนิยมและค่อยๆ เข้ามาแทนที่การผ่าตัดแบบเก่าไป ต่อมาได้มีการค้นพบแสงเลเซอร์ชนิดใหม่เรียกกันว่า เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ เป็นเลเซอร์ที่มีพลังงานสูง ในทางอุตสาหกรรมได้นำมาใช้เฉือนสกัดผิวของวัสดุต่างๆ ให้เรียบได้อย่างหมดจด โดยพลังงานของแสงเลเซอร์จะไปทำให้ผิวบนสุดของวัสดุเหล่านั้นแยกออกเป็นอณูเล็กๆ แล้วถูกขับไล่ออกไปด้วยแรงระเบิด กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และไม่มีความร้อนเกิดขึ้นไปทำลายวัตถุส่วนที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากนี้พื้นผิวที่ถูกเฉือนออกไปนั้นจะบางมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้เอง เอ็กไซเมอร์เลเซอร์จึงถูกนำมาทดลองใช้ผ่าตัดตกแต่งผิวของกระจกตาโดยที่ยังรักษาความโปร่งใสให้คงอยู่เช่นเดิม ภายหลังจากการค้นคว้าวิจัยในห้องปฏิบัติการจนได้ผลดี เมื่อ 4 ปีก่อนก็ได้มีผู้เริ่มนำเอาเอ็กไซเมอร์เลเซอร์มาใช้ผ่าตัดสายตาสั้นในคนจริงๆ แล้วรายงานผลการรักษาว่าเป็นที่น่าพอใจ นับตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีการศึกษาทำการผ่าตัดสายตาสั้นด้วยแสงชนิดนี้ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และทางยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ เป็นต้น

หลักการทำงานของเอ็กไซเมอร์เลเซอร์

การทำงานทั้งหมดของแสงชนิดนี้จะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทุกครั้งที่ยิงแสงเลเซอร์ออกไปจะสามารถเฉือนกระจกตาได้ครั้งละประมาณ 1 ไมครอน (1 ไมครอน = 1 ในล้านส่วนของ 1 เมตร เส้นผมของมนุษย์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 ไมครอน) แต่ความสามารถนี้ก็ขึ้นอยู่กับเครื่องยิงแสงในแต่ละบริษัทซึ่งอาจจะไม่เท่ากันก็ได้ ในการรักษาแพทย์จะเฉือนกระจกตาออกทีละนิดจนถึงระดับที่ต้องการ โดยจะมีการคำนวณด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน ซึ่งการเฉือนเนื้อเยื่อกระจกตาในผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้เพราะสายตาของผู้ป่วยสั้นยาวไม่เท่ากันนั่นเอง

เนื่องจากการยิงเลเซอร์แต่ละครั้งจะเฉือนกระจกตาได้เพียง 1 ไมครอน ฉะนั้นจึงต้องยิงเป็นร้อยครั้งเพื่อเฉือนเนื้อเยื่อให้ออกมาเท่าที่ต้องการ โดยระหว่างที่ทำการยิงนั้นผู้ป่วยจะต้องมองนิ่งในจุดที่แพทย์ต้องการ มิเช่นนั้นจะผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามเครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ของบางบริษัทได้มีการได้มีการป้องกันจุดบกพร่องนี้ไว้โดยมีเครื่องมือยึดลูกตาผู้ป่วยไม่ให้กลอกไปมา ซึ่งจะทำให้การยิงแสงได้ผลเที่ยงตรงกว่า

ข้อจำกัดในการรักษาด้วยเครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์

การผ่าตัดด้วยเอ็กไซเมอร์เลเซอร์นี้ก็คล้ายกับการผ่าตัดทุกชนิดที่ใช่ว่าจะไร้ปัญหาเสียเลยทีเดียว ข้อจำกัดซึ่งอาจเป็นปัญหานั้น ได้แก่

- ถ้าทำการผ่าตัดผิดพลาดหรือมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

- ผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดแล้วได้ผลดีในระยะแรก อาจค่อยๆ มีสายตาสั้นกลับขึ้นมาใหม่ได้ในเวลาต่อมา

- ในบางรายอาจมีฝ้าขาวเกิดขึ้นบนกระจกตา ทำให้มีการมองเห็นผิดปกติไปบ้าง

- ผู้ป่วยที่มีสายตาสั้นมากๆ เช่น มากกว่า 600 (6 diopter) ขึ้นไป การผ่าตัดวิธีนี้อาจจะไม่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้แต่ทำได้เพียงช่วยให้สามารถใช้แว่นตาที่บางลงได้

- ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกระจกตา หรือมีโรคตาบางอย่างอยู่ก่อน ก็อาจไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแบบนี้ได้

- การผ่าตัดวิธีนี้ไม่เหมาะกับคนอายุน้อยที่สายตาสั้นยังคงมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องจากการรักษาผ่าตัดด้วยแสงเอ็กไซเมอร์เลเซอร์แบบนี้เพิ่งทำกันไม่นานนัก จริงอยู่ที่ว่าในปัจจุบันยังไม่พบโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่ก็คงไม่มีใครกล้ารับประกันว่าในระยะยาวข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงจะต้องมีการทำวิจัยติดตามผลการรักษาอีกต่อไป และการผ่าตัดควรให้จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นผู้ทำการผ่าตัดให้

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์

ขณะนี้ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์การแพทย์ที่รวบรวมเทคโนโลยีอันทันสมัยใหม่ล่าสุดทางการแพทย์มาไว้ที่นี่ ได้เตรียมโครงการนำเครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์เข้ามาใช้แล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ราวต้นปีหน้า สำหรับอัตราค่าบริการทางศูนย์ยังไม่ได้กำหนด แต่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปที่เปิดบริการในขณะนี้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสายตาข้างละ  25,000 บาท นอกจากการนำเลเซอร์ชนิดนี้มาใช้ผ่าตัดรักษาสายตาสั้นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาสายตายาว สายตาเอียง หรือโรคกระจกตาที่มีความผิดปกติบนผิวหน้า เช่น กระจกตาขุ่น ต้อเนื้อ เนื้องอก หรือการติดเชื้อเป็นแผลได้อีกด้วย ซึ่งประโยชน์อย่างหลังนี้นับว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการผ่าตัดรักษาสายตาสั้น เทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยแสงเอ็กไซเมอร์เลเซอร์นับวันจะพัฒนาไปและมีบทบาทในการรักษาทางจักษุมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านที่มีความผิดปกติทางสายตาท่านอาจจะคิดว่าได้ค้นพบว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาสายตาของท่านแล้วก็อยากจะขอเรียนว่า เทคโนโลยีหนึ่งอาจจะเหมาะสำหรับคนหนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้ ฉะนั้นก่อนที่ท่านจะตัดสินใจใดๆ ลงไป ควรพิจารณาและปรึกษาจักษุแพทย์ว่าดวงตาของท่านอยู่ในข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้นหรือไม่

ข้อมูลสื่อ

162-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 162
ตุลาคม 2535
เรื่องน่ารู้
นพ.ชัยวัฒน์ ทีฆเสนีย์