เมื่อเพื่อนของสมศักดิ์ปวดหลัง
นอกจากผมจะต้องนวดให้ผู้ป่วยที่มีคนรู้จักแนะนำต่อๆ กันมาแล้ว ผมยังต้องให้คำแนะนำแก่ลูกศิษย์ลูกหาและคนรู้จัก โดยพยายามแนะนำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองก่อน ถ้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว จึงค่อยทำการนวดหรือรักษาด้วยวิธีการอื่นต่อไป
สมศักดิ์เคยเรียนนวดกับผมเมื่อหลายปีที่แล้ว คราวนี้เขาแวะไปหาผมที่สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย (วัดสามพระยา) เขาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนของเขามีอาการปวดหลังมาก ได้ไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์ให้ฉายเอกซเรย์ที่กระดูกสันหลังส่วนเอว พบว่ามีหินปูนเกาะและกดทับเส้นประสาท ต้องผ่าตัดจึงจะหายปวด ปัญหามีอยู่ว่าเพื่อนของเขาไม่ยอมผ่าตัดเพราะกลัว จึงโทรศัพท์บอกให้เขาไปช่วยนวดให้ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่กล้านวด
ปัญหาแบบนี้ผมเองก็พบอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการแบบนี้ ลูกหลานมักจะไม่กล้าเสี่ยงกับการผ่าตัด ถ้ามาพบผม ผมจะแนะนำท่าดัดตนให้กลับไปทำ ซึ่งพบว่าได้ผลดีไม่น้อย อย่างเช่นกรณีแม่ของสารี สารีเคยพาแม่ไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วพบว่า กระดูกสันหลังช่วงเอวมีหินปูนเกาะและกดทับเส้นประสาท มีอาการปวดมาก เนื่องจากสารีจบการศึกษาด้านพยาบาลมา เธอรู้สึกไม่สบายใจมากที่จะต้องให้แม่ซึ่งอายุมากแล้วเข้ารับการผ่าตัด เธอจึงพาแม่มาพบผม หลังจากได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดัดตนแก้ปวดหลัง (รายละเอียดหาอ่านจากหมอชาวบ้านฉบับที่ 152) เธอให้แม่ปฏิบัติทุกวันประมาณ 1 สัปดาห์อาการก็ดีขึ้นจนสามารถกลับบ้านที่ปักษ์ใต้ได้ จนทุกวันนี้ผมก็ได้รับทราบว่า คุณแม่ของเธอยังสบายดีอยู่
ในกรณีเพื่อนของสมศักดิ์ เขาแนะนำให้เพื่อนดัดตนแบบโยคะในท่าพนมเท้า โดยให้นั่งกับพื้น เอาฝ่าเท้าประกบเข้าหากัน ใช้มือทั้งสองกุมฝ่าเท้าที่ประกบกันไว้ หายใจเข้าให้สุด แล้วผ่อนลมหายใจ พร้อมกับก้มศีรษะลงไปจรดเท้า ข้อศอกทั้งสองแตะพื้น นิ่งไว้ชั่ว 3 หายใจเข้าออก ปรากฏว่าในครั้งแรกไม่สามารถทำได้ จึงให้เพื่อนนั่งในท่าขัดสมาธิ ใช้มือทั้งสองช้อนเท้ายกขึ้นจนถึงระดับอก โดยทำทีละข้างแล้วกลับไปทำในท่าพนมเท้าอีก ปรากฏว่าคราวหลังนี้ทำได้ดีขึ้น หลังจากนั้นเพื่อนของสมศักดิ์ดัดตนในท่าพนมเท้าวันละ 3 ครั้ง ใช้เวลา 3 วัน อาการก็ดีขึ้น และหายเป็นปกติในที่สุด
ดูเหมือนสมศักดิ์จะดีใจมากที่คำแนะนำที่เขาได้รับจากผมสามารถนำไปใช้ได้ผลกับเพื่อนของตนเอง ถ้าใครจะนำประสบการณ์ที่เล่ามานี้ไปใช้บ้าง ก็ขอให้ปฏิบัติสมาธิร่วมด้วย โดยกำหนดจิตไว้บริเวณที่มีอาการปวด ลดความกังวลว่าจะหายหรือไม่หาย ในขณะที่ปฏิบัติถ้ามีอาการปวดมากขึ้นให้หยุดทำ อย่าฝืน เพราะอาการปวดเป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับเราว่าร่างกายกำลังได้รับบาดเจ็บมากขึ้น และอย่าใจร้อนปฏิบัติ อย่าหักโหมเพื่อให้หายเร็วๆ อีกทั้งควรระมัดระวังอย่าให้ผู้ไม่ชำนาญทำการดัดดึง เพราะถ้าดัดดึงไม่ถูกต้อง อาจทำให้อาการยิ่งเป็นมากขึ้นได้
- อ่าน 4,008 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้