• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บัตรทองกับความเป็นหมอชาวบ้าน

“ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ” ของรัฐบาลมีข้อดีคือ ให้โอกาสแก่คนไทยทุกคนสามารถไปใช้บริการตรวจรักษาโรคโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเลียค่ารักษา (แพง) ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ขณะนี้พบว่า โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งมีจำนวนคนไข้ที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทำให้แพทย์มีเวลาตรวจคนไข้แต่ละคนน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล

ประชาชนตามหมู่บ้าน แต่เดิมทีเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย มักซื้อยากินเอง หรือไม่ก็ไปหาหมอที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน หลังจากมี “ บัตรทอง ” ตาม “ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ” ก็พากันแห่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในระดับอำเภอหรือจังหวัดตามสิทธิที่ระบุไว้ใน “ บัตรทอง ”

โครงการนี้จึงดูเหมือนจะส่งเสริมให้ผู้คนหันมาพึ่งที่โรงพยาบาลมากขึ้น พึ่งตนเองและสถานบริการใกล้บ้านน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับหลักการที่ควรจะเป็น

ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์เช่นนี้คงจะเป็นอยู่ชั่วคราว โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ของการดำเนินโครงการ
ทราบมาว่าจังหวัดต่าง ๆ ได้มีความพยายามในการพัฒนา “ ศูนย์สุขภาพชุมชน ” (primary care unit หรือ PCU) โดยขยายจาก “ สถานีอนามัย ” (ในชนบท) และ “ ศูนย์บริการสาธารณสุข ” (ในเขตเมือง) ที่มีอยู่เดิม ให้ขีดความสามารถในการให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพจนเป็นที่พึ่งแบบ “ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ” ที่แท้จริงสำหรับประชาชนทุกคน

ความพยายามดังกล่าวคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง กว่าจะเห็นผล เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลไก โครงสร้าง และบุคลากรอย่างขนานใหญ่

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปตระหนักในเรื่อง 2 เรื่อง ต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

เรื่องแรก รณรงค์ลดการใช้ยาฟุ่ยเฟือยเกินจำเป็น แต่เดิมทีสถานพยาบาลมีการเรียกเก็บค่ารักษาในรูปของค่ายาเป็นส่วนใหญ่ จึงมีให้ยา (ทั้งกินทั้งฉีด) ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้คนไข้รู้สึกว่าจ่ายยาแยะๆ ราคาไม่แพง จนสร้างความเคยชินว่า เวลาหาหมอจะต้องมียาแยะๆ ตัวอย่างเช่น ไข้หวัด ให้ยาบรรเทาไข้อย่างเดียวก็เพียงพอ แต่หมอจะต้องจ่ายยาแก้น้ำมูก ยาแก้ไอ และยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลือง และบางครั้งยังทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้อีกด้วย

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จำเป็นต้องปรับวิธีการรักษาให้ตรงตามหลักวิชา เหตุผลไม่เพียงแต่เพื่อการประหยัด แต่ยังต้องการสร้างความปลอดภัยแก่คนไข้ แต่ถ้าหากไม่มีการรณรงค์ลดการใช้ยาฟุ่มเฟือยอย่างจริงจัง ประชาชนอาจไม่เข้าใจเมื่อได้รับยาน้อยกว่าที่เคยได้ และอาจสร้างกระแสความไม่พอใจและความขัดแย้งขึ้นได้

เรื่องที่สอง จะต้องพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานและกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพให้มีความเข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนรู้จักป้องกันโรค สร้างสุขภาวะทุกด้าน และดูแลรักษาตนในยามเจ็บป่วย มิใช่ปล่อยปละละเลยให้เกิดการเจ็บป่วย ด้วยรู้สึกว่ามี “ บัตรทอง ” รักษาฟรี (ราคาถูก) ได้ทุกโรค ไม่จำเป็นต้องพึ่งตนเองอีกต่อไป

จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนเป็น “ หมอชาวบ้าน ” รู้จักพึ่งตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีกันต่อไป ส่วน “ บัตรทอง ” นั้นควรเก็บไว้ใช้ประโยชน์เมื่อถึงคราวจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

 

ข้อมูลสื่อ

274-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 274
กุมภาพันธ์ 2545
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ