• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กุ้งยิง

กุ้งยิง


 

ข้อน่ารู้

1. กุ้งยิง หมายถึง ตุ่มฝีเล็กๆ ที่ขอบเปลือกตา ซึ่งอาจพบได้ที่เปลือกตาบนหรือล่าง เกิดจากต่อมขับไขมันในบริเวณนั้นมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบและบวมนูนเป็นตุ่มฝี

2. กุ้งยิงแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดหัวผุด และชนิดหัวหลบใน

กุ้งยิงชนิดหัวผุด (ภาษาอังกฤษเรียกว่า extemal hordeolum หรือ stye) เป็นการอักเสบของต่อมจับไขมันบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา จะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจนตรงบริเวณขอบตา มีลักษณะสีเหลืองตรงกลาง รอบๆ นูนแดง และกดแดง

กุ้งยิงชนิดหัวหลบใน (ภาษาอังกฤษเรียกว่า intemal hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมขับไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตา (เนื้อเยื่อสีชมพูที่อยู่ลึกจากขอบตาเข้าไปต้องปลิ้นเปลือกตาจึงจะเห็น) หัวฝีจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา คนไข้จะรู้สึกปวดที่เปลือกตา เมื่อใช้นิ้วคลำกดดูจะพบตุ่มแข็งและเจ็บ เมื่อปลิ้นเปลือกตาจะเห็นหัวฝีมีลักษณะสีเหลืองๆ

บางครั้งต่อมขับไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตานี้ อาจมีการอุดตันของรูเปิดเล็กๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวอยู่ภายในต่อม กลายเป็นตุ่มนูนแข็งๆ ไม่เจ็บปวดอะไร ภาษาหมอเรียกว่า ชาลาเซียน (chalazion) ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ตาเป็นซิสต์” บางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายกุ้งยิงชนิดหัวหลบไม่ได้

3. สาเหตุที่ทำให้เป็นตากุ้งยิง ก็คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย (เชื้อหนอง) ซึ่งอาจแปดเปื้อนจากมือ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า น้ำ หรือฝุ่นละอองในอากาศได้

4. กุ้งยิงเป็นโรคที่พบในเด็กและผู้ใหญ่ เด็กอายุ 4-10 ขวบ มีโอกาสเป็นกุ้งยิงได้บ่อย เป็นเพราะยังไม่รู้จักรักษาความสะอาด เช่น อาจเล่นคลุกฝุ่นแล้วใช้มือที่สกปรกขยี้ตา เมื่อโตขึ้นแล้วไม่ควรเป็นบ่อย

คนที่เป็นกุ้งยิงบ่อยๆ อาจมีปัจจัยส่งเสริม ดังนี้

(1) มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตาเข เป็นต้น ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าทำไมคนเหล่านี้มีโอกาสเป็นกุ้งยิงได้ง่าย สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากเปลือกตาต้องทำงานมากกว่าปกติ เช่น ต้องขยี้ตา หรี่ตา หรือเพ่งตามากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นชัด

(2) สุขภาพทั่วไปไม่ดี เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ขาดอาหาร ฟันผุ ไซนัสอักเสบ อดนอน เป็นต้น

(3) ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำทำให้ติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เบาหวาน กินยาสตีรอยด์นานๆ เป็นต้น

(4) ความเชื่อที่ว่ากุ้งยิงเกิดจากการไปแอบดูใครมานั้นเป็นเรื่องราวที่ชาวบ้านนำมาล้อกันเล่น ความจริงกุ้งยิงเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่วนการแอบดูนั้นไม่น่าจะทำให้เป็นตากุ้งยิง นอกเสียจากว่าการกระทำนั้นมีลักษณะที่ทำให้เกิดการแปดเปื้อนเชื้อโรคที่เปลือกตาเข้า

5. กุ้งยิงถือเป็นโรคพื้นๆ ที่ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพและดวงตาแต่อย่างใด นอกจากทำให้มีอาการเจ็บปวดน่ารำคาญ การรักษาตนเองแต่เนิ่นๆ จะทำให้โรคหายขาดได้ภายในไม่กี่วัน

6. การป้องกันมิให้ตาเป็นกุ้งยิงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจให้คำแนะนำเป็นแนวทางกว้างๆ ดังนี้

(1) รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

(2) หลีกเลี่ยงการถูกฝุ่นถูกลม แสงแดดจ้าๆ และควันบุหรี่

(3) หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาดเช็ดตาหรือขยี้ตา

(4) ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับสายตา ให้แก้ไขโดยการสวมแว่น

(5) รักษาโรคเรื้อรัง เช่น ฟันผุ ไซนัสอักเสบ เบาหวาน ให้ได้ผล


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

ตาเป็นกุ้งยิงเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่ายๆ คนไข้จะมีอาการปวดที่เปลือกตา มีลักษณะปวดตุบๆ เฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง ยิ่งก้มศีรษะต่ำว่าระดับเอว จะปวดมากขึ้นและพบว่าบริเวณนั้นขึ้นเป็นตุ่มแข็ง แตะถูกเจ็บ โดยมากจะขึ้นเพียงตุ่มเดียว อาจเป็นเปลือกตาบนหรือล่างก็ได้ น้อยคนอาจเกิดพร้อมกัน 2-3 ตุ่มก็ได้
อาการเปลือกตาบวมนั้นบางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

1. ถุงน้ำตาอักเสบ (dacryocysitis) ตุ่มจะนูนและเจ็บตรงขอบตาล่างที่บริเวณหัวตา (ข้างจมูก) เมื่อใช้นิ้วกดจะมีหนองไหลออกมาตรงหัวตาและตุ่มจะยุบลง แต่ต่อมาก็กลับนูนขึ้นดังเดิมอีก สาเหตุเกิดจากท่อน้ำตามีการอุดตัน และมีเชื้อโรคเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อในถุงน้ำตา หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์

2. เปลือกตาอักเสบ (blepharitis) เปลือกตาบนจะมีอาการปวดบวมแดงทั่วไป กดถูกเจ็บ แต่จะคลำไม่ได้ตุ่มแข็งแบบกุ้งยิง หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์

3. ตาเป็นซิสต์ (chakazion) จะมีตุ่มแข็งเท่าเมล็ดถั่วเขียวเกิดขึ้นที่เยื่อบุเปลือกตา โดยไม่มีอาการเจ็บปวดอะไร ส่วนมากจะพบที่หนังตาบน ถ้าให้คนไข้หลับตาจะสังเกตเห็นว่าบริเวณนั้นนูนกว่าปกติ และถ้าคลำดูจะรู้สึกว่าเคลื่อนไปมาได้เล็กน้อย อาการนี้อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่รู้ตัว หรือสังเกตพบหลังจากรักษาอาการกุ้งยิงตาหายแล้ว แต่ตุ่มยังไม่ยอมยุบสนิท โรคนี้ไม่มีอันตรายอะไร แต่อาจทำได้รำคาญและแลดูไม่สวย แพทย์จะรักษาด้วยผ่าตัดเอง


เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ควรไปพบแพทย์เมื่อ

1. ดูแลรักษาตัวเอง 3 วันแล้วอาการยังไม่ทุเลา

2. ตุ่มฝีมีขนาดใหญ่กว่า 0.5 เซนติเมตร หรือมีอาการเจ็บปวดมาก หรือตาบวมมาก

3. เปลือกตามีลักษณะบวมแดงไปมั่ว

4. เป็นๆ หายๆ บ่อย หรือตุ่มไม่หายยุบอยู่เป็นแรมเดือน

5. มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

แพทย์จะทำอะไรให้

ในรายที่ตรวจพบว่า เป็นกุ้งยิงในระยะแรก นอกจากให้การดูแลรักษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) โคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) หรือ เตตราชัยคลีน (tetracycline) กินประมาณ 4-5 วัน

ในรายที่ฝีไม่ยอมยุบ (ไม่มีอาการเจ็บปวดแล้ว) หรือตาเป็นซิสต์ แพทย์อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยใช้มือกรีดและขูดเอาหัวออก

ในรายที่เป็นกุ้งยิงเป็นๆ หายๆ บ่อย อาจต้องตรวจหาปัจจัยส่งเสริม เช่น ตรวจดูโรคเบาหวาน ไซนัสอักเสบ ฟันผุ ตรวจวัดสายตา เป็นต้น แล้วให้การแก้ไขตามสาเหตุที่พบ

โดยสรุป ตาเป็นกุ้งยิงเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายอะไร ควรให้การดูแลรักษาตนเองตั้งแต่เริ่มเป็น จะสามารถช่วยให้หายขาดได้ภายในไม่กี่วัน ส่วนคนที่กำเริบบ่อยก็ควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ส่งเสริมให้เป็นกุ้งยิงบ่อย

ข้อมูลสื่อ

171-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 171
กรกฎาคม 2536
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ